• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กฮาร์ด

เด็กฮาร์ด

 

⇒ ทำไม ทำไม ถึงต้องเรียก เด็กฮาร์ด
อันนี้เราคงต้องมาดูคำว่า ฮาร์ด ก่อน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า H A R D ที่แปลเป็นไทยว่า ยาก ลำบาก หนัก จริง ๆ แล้วที่เรียกว่าเด็กฮาร์ดนั้นมันมี 2 แง่ เป็นศัพท์สแลงก็ได้ เป็นความหมายของคำว่าฮาร์ดจริง ๆ ก็ได้

ศัพท์สแลงก่อนเป็นเด็กฮาร์ดนั้น มาจากพวกนักร้องที่เรียกว่า ฮาร์ด เฮวี่ร็อค หรือฮาร์ดร็อค คืออังกฤษเป็นต้นตำรับ วัยรุ่นเขาคลั่งเพลงกันอย่างมากก็คงทราบดี เป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นที่ชอบโก้ ชอบเด่น เมื่อคลั่งเพลงก็จะแต่งตัวตามสไตล์ของนักร้องไปด้วย เพราะถือว่าโก้ แฟชั่นพวกนี้ก็จะมีการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแปลก ๆ ย้อมผมสีต่าง ๆ และก็ไปกันเป็นกลุ่ม ร้องกรี๊ดกร๊าดกันไป

แฟชั่นฮาร์ดอันนี้มันอยู่นานกว่าแฟชั่นอื่น เพราะมันไม่เจ็บตัว ไม่เหมือนแฟชั่นอื่น เช่น พวกพั๊งค์ (PUNK) พวกนี้มักแต่งตัวให้เจ็บ เจาะหู เจาะจมูก ใส่โน้น ใส่นี้ มันเจ็บตัวเลยอยู่ได้ไม่นานคนไม่นิยม
แฟชั่นฮาร์ดนั้น วัยรุ่นไทยเราเห็นว่าสวยดี แปลกดี อันนี้คิดโดยความหมายมันก็น่าจะเท่านั้น
สำหรับฮาร์ดจริง ๆ ที่แปลว่าเด็กฮาร์ด เด็กลำบาก เด็กปรับตัวยาก ที่มีคนเข้าใจนั้น อาจมาจากสแลงในภาษอเมริกัน ฮาร์ดกาย (HARD GUY) ฮาร์ดกายก็แย่แล้ว ฮาร์ดคิดยิ่งแย่ใหญ่ เป็นเด็กที่มีปัญหาทั้งหลายแหล่

แต่สำหรับเมืองไทยเราที่เรียกเด็กฮาร์ด ๆ นั้น ถ้ารวมจริง ๆแล้วผมคิดว่าอาจเป็นเด็กมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาก็ได้ เพราะวัยรุ่นไทยของมันได้ได้ฮาร์ดขนาดนั้น ส่วนใหญ่แต่งตัวเป็นแฟชั่นกันเสียมาก
เมืองไทยเราเป็นเมืองสยาม ไม่เคร่งเครียด แม้แต่คำว่าฮาร์ดก็ออกมาในแง่โจ๊กครับ ไม่ได้หมายถึงเด็กที่มีปัญหาจริง ๆจัง ๆ ก็เลยตามมาด้วยผู้ใหญ่ฮาร์ด อาจารย์ฮาร์ด ทุกอย่างฮาร์ดหมดเลย บางคนหาอะไรมาคาดหัวหน่อย เอาเชือกมาคาดแขนหน่อยก็บอกว่าเป็นเด็กฮาร์ด เป็นเรื่องเล็กน้อยไป ที่ดูเหมือนวุ่นวายกันขณะนี้เกี่ยวกับเด็กฮาร์ด ก็เพราะว่า พอดีมีเพลงออกมาเน้นความมีปัญหาของเด็กฮาร์ด

เด็กฮาร์ดในความเห็นของผม ถ้าแต่งตัวเฉย ๆ ผมคิดว่าไม่ใช่เด็กมีปัญหาหรอก เพียงแต่แต่งตัวตามสภาวะของความอยากเด่นอยากโก้ตามวัยรุ่น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเขาก็จะเลิกแต่งไปเอง
ปกติผมแบ่งเด็กวัยรุ่นออกเป็น 2 แบบ พวกใฝ่ดีกับพวกใฝ่เลว หรือจะพูดว่า


⇒ แบ่งเด็กฮาร์ออกเป็น 2 แบบก็ได้ ก็เป็นฮาร์ดสุ กับฮาร์ดโส
ฮาร์ดสุ คือฮาร์ดสุภาพ พวกนี้พูดจาดี แต่งตัวสะอาด ชอบโก้ ชอบแต่งตัว แต่เป็นเด็กที่หนังสือหนังหา อยากทำให้ตัวเองเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เป็นไรอันนี้ถือว่าปกติ เป็นฮาร์ดสุภาพ อย่างนี้เรียกว่าใฝ่ดี วัยรุ่นที่ใฝ่ดี ก็จะต้องใฝ่ศึกษาด้วย ต้องรู้สถานะการเปลี่ยนแปลงตามวัย ขณะนี้เรามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เปลี่ยนแปลงนั้นมาจากอะไร จากทางฮอร์โมนของร่างกาย ทางจิตใจ ทางสังคม อึดอัดมากน้อยแค่ไหน ความอึดอัดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นจากการฝืนธรรมชาติหรือเปล่า เพราะเราฝืนธรรมชาติเต็มที่เลยทำให้เราอึดอัดมากหรือเปล่า

ขณะเดียวกันวัยรุ่นหลายคนบ่นเหลือเกินว่า หาตัวอย่างดี ๆในสังคมไทยเราค่อนข้างยาก ก็บอกเลยว่าสิ่งที่วัยรุ่นคิดว่าดี ๆ นั้น คือสิ่งที่เขาฝันซึ่งอาจหาไม่ได้เลย ไม่ว่าในประเทศไทยหรือว่าเมืองนอก เพราะคนเราจะต้องมีดีและไม่ดีปนกัน เพราะฉะนั้นขอให้มองแต่อย่างกลาง ๆ เช่นคนที่เขาเอาตัวรอดได้, ช่วยตัวเองรอดได้,ช่วยสังคมได้ด้วยก็พอแล้ว การใฝ่ฝันและดูตัวอย่างที่ดีในชีวิตที่เป็นจริง จึงเป็นแบบอย่างที่น่ากระทำ ไม่ใช่มัวแต่มองแต่ความฝัน

ขณะเดียวกัน ในช่วงวัยรุ่น ถ้ามันว้าวุ่นมากนัก สับสนมากนัก มันเหนื่อยมากนัก เราจะเห็นว่ามันเกิดจากพลังงานที่มันสูงขึ้นเองตามธรรมชาติตามวัย เราจึงจำเป็นจะต้องจ่ายพลังงานที่มันมีมากมายนั้น ซึ่งมีทั้งร่างกายและจิตใจ ออกไปหากิจกรรมที่จำเป็นสำหรับตัว จะเห็นว่า คนแก่เล่นกีฬามาก ๆ จะเหนื่อย แต่วัยรุ่นไม่ค่อยเหนื่อย เพราะพลังงานมันมีมาก เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายกับวัยรุ่นมันจึงควรเป็นของคู่กัน เป็นการลดพลังงานที่มีมากลงไปด้วย

การออกกำลังกายแบบไหนก็ได้หรือถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็วิ่ง ตื่นเช้าวิ่งทุกเช้าง่ายดี วิ่งทุกวัน ร่างกายและจิตใจจะดี คนไม่หล่อก็จะหล่อ คนไม่สวยก็จะสวย เพราะร่างกายแข็งแรงจิตใจดี แววตาเป็นประกาย เนื้อหนังมังสามันก็เต่งตึงและดูสวยงามหล่อไปเองด้วย
สำหรับฮาร์ดโส คือฮาร์ดโสโครกหรือวัยรุ่นที่มีจิตใจใฝ่เลว พวกนี้มักจะทำอะไรแปลก ๆ ติดยาเสพติด เป็นเด็กที่มีปัญหาทั้งหลาย แต่งตัวก็เพื่อเรียกร้องความสนใจในทางลบ หรือพฤติกรรมที่ออกมาเรียกร้องความสนใจในทางลบ

วัยรุ่นเหล่านี้ ต้องทำความเข้าใจและช่วยตัวเองอย่างมาก ที่เขาใฝ่เลวนั้นเราเชื่อว่าเป็นนิสัยหรือสันดาน อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ดีด้วย หรือเวลาเกิดมาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี ทำให้สร้างรอยจารึกที่ไม่ดีขึ้นมาในชีวิต มองดูชีวิตนั้นมันแร้นแค้น มันลำบากเหลือกเกิน
เขามองดูชีวิตไม่ดีตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เลยกระโจนลงสู่ความไม่ดีนั้นตลอดไปเพราะคิดว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็เลยทำการต่อต้านตลอดไป หรือว่าปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำเหมือนสวะ ไม่มีหางเสือ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าเขาทำให้สังคมเดือดร้อน เขาก็ต้องถูกลงโทษด้วยกฏหมาย หรือด้วยสังคม
นอกจากว่าเขาจะเกิดการกลับใจหรือทำใจเกิดใฝ่ดีขึ้นมาบ้าง ก็อาจมีโอกาส เช่น พยายามมองดูตัวอย่างดี ๆ ในชีวิต รับความจริงในชีวิตได้ ชีวิตต้องมีดีทั้งไม่ดี,ผิดหวังได้ ,สมหวังได้ เราต้องอดทน, ต้องคอยบ้าง 

อันนี้เป็นของปกติ กับผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่ที่ให้ความสนใจเป็นมิตรได้ ก็จะช่วยเหลือเขาได้ ให้เกิดกำลังใจในการที่อยากจะพัฒนาชีวิตต่อไป ทำให้ชีวิตมีคุณค่าขึ้นมา ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสได้เหมือนกัน
อันนี้ก็แล้วแต่บางคน บางคนอาจจะลำบากตั้งแต่วัยเด็ก แต่เขาก็มีจิตใจใฝ่ดี เขาก็จะต่อสู้เพื่อลดความลำบาก กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมไปก็เยอะ


⇒ วัยรุ่นที่ชอบแต่งตัวตามแฟชั่น
อันนี้ถือว่าเป็นความปกติของวัยรุ่น วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่อยากแสวงหาความเด่นใส่ตัว เนื่องจากตัวเองเป็นเด็กก็ไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ ไม่อยากเป็นเด็ก อยากเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็เด่นสู้ผู้ใหญ่ไม่ได้ ทั้งทางการงาน, การเงิน หรือการวางตัว เพราะขาดประสบการณ์และทำไม่เป็น เพราะฉะนั้น เขาจึงมักฝันและเรียนลัด ถ้าใครที่มาเป็นสื่อความหมายให้เขาเกิดอารมณ์เพริดว่า เขาเก่งได้ เด่นได้ เขามักจะเอาตาม อย่างเช่นเวลาเขาดูทีวี ดูละครหรือดูภาพยนตร์ จะเห็นว่า ตัวเอก พระเอก นางเอก มักจะเป็นคนเด่นที่เก่งเกินมนุษย์ หรือนักร้องทั้งหลายแหล่ แหม...เขาเก่งกันเหลือเกิน เวลาอยู่บนเวทีคนปรบมือมากมาย งั้นเขาก็ฝันว่าเขาน่าจะได้เป็นอย่างดาราหรือนักร้องเหล่านั้นด้วย
 
จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมวัยรุ่นจึงคลั่งดารา คลั่งนักร้อง เพราะดารา, นักร้อง หรือนักดนตรีนั้นสามารถเป็นสื่อความหมายให้เขาผสมโรงฝันตามได้ ฝันเป็นคนเก่ง ฝันเป็นซุปเปอร์แมน ซึ่งอันที่จริงดาราหรือนักร้องก็คือคนธรรมดา แต่เขาไปคลั่งบทบาทที่เขาเล่นบนเวทีหรือในจอ
วัยรุ่นจึงพยายามเรียนแบบนักร้องบ้าง ดาราบ้างที่เขาชื่นชอบ การแต่งตัวตามแฟชั่นซึ่งโดยมากมาจากดารา นักร้อง จึงเกิดขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นความปกติของวัยรุ่น


⇒ บางคนอาจบอกว่าทำไมแกไม่คลั่งพ่อคลั่งแม่แบบคลั่งดาราหรือคลั่งเพื่อน ๆ บ้างล่ะ
อันนี้อาจเป็นเพราะเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น เขาเริ่มเห็นว่า พ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดามากขึ้น ตอนเล็ก ๆ เขาเห็นพ่อแม่เป็นเทวดา พ่อเก่งแม่เก่ง เวลาเขาจะเอาอะไรพ่อแม่มักหาให้ได้ เวลาเขาหกล้มเจ็บร้องไห้ แม่บอกว่าเดี๋ยวหาย เดี๋ยวหายจริง ๆ

พอเป็นวัยรุ่นขึ้นมา ร่างกายเติบโตขึ้นสมองพัฒนาขึ้น เขาไม่ต้องการแต่เพียงท็อฟฟี่อันเดียวหรือขนมชิ้นเดียว เขาต้องการมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นความต้องการปกติ เช่น ต้องการเพื่อนสนิทสักคน พ่อแม่ก็ช่วยหาให้ไม่ได้ เรื่องความรักและการเรียน จะเห็นชัดว่าพ่อแม่โดยมากช่วยเขาไม่ได้เต็มที่แล้วเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็เริ่มเห็นพ่อแม่เป็นคนธรรมดามากขึ้น แถมเขาเริ่มเห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนเก่งตามความคิดที่เขาฝันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ เขาอาจเริ่มผิดหวังพ่อแม่ เขาก็เริ่มมองคนอื่นที่คิดว่าอาจจะเก่งกว่าหรือควรจะเก่งกว่าพ่อแม่ ที่จริงเขาก็ฝันอีกนั่นแหละ จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เลยก็ได้ มองไปทั้งชาติก็ผิดหวังต่อไป เพราะจะไม่มีใครในโลกนี้ที่เก่ง จริง ๆ หรือดีจริง ๆ หรอก

อย่างที่คลั่งดารา หรือนักร้องพอเขาเรียนรู้มากขึ้น เขาก็จะเห็นว่าจริง ๆแล้วดาราหรือนัก
ร้องหรือวีรบุรุษหรือนักการเมืองที่เขาคลั่งไคล้ ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ ที่มีชีวิตตามธรรมดา ๆ จนได้,แค้นได้ ,โกรธได้, หรืออื่น ๆ ที่ไม่เข้าท่าได้เหมือนกัน เขาก็ผิดหวังคนที่เขาคลั่งแล้ว ก็อาจหาใหม่อีก ผิดหวังใหม่อีก เพราะเขาฝันว่าคนในอุดมคติต้องเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ไปทุกอย่าง แต่จริง ๆ มันเป็นไปไม่ได้

ในช่วงคลั่งไปก็เหงาไปผิดหวังไป เขาทำอย่างไร เขาพูดให้ผู้ใหญ่ฟัง ผู้ใหญ่โดยมากก็ไม่เข้าใจ ว่าไม่เข้าท่างั้นเขาจึงมองหาคนที่คล้าย ๆกัน เพื่อพูดถึงความฝันหรือความผิดหวังหรือความหวังในชีวิตกึ่งฝัน ๆให้ฟัง ซึ่งก็ได้แก่เพื่อนวัยรุ่นด้วยกันนั่นเอง อันนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำไมวัยรุ่นจึงดูเหมือนคลั่งวัยรุ่นด้วยกัน วัยรุ่นรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะความรู้สึกว่าตัวเองมีความคล้าย ๆ กัน หลงทางคล้าย ๆ กัน คลั่งของคล้าย ๆกัน ผิดหวังคล้าย ๆกัน และมีความรู้สึกว่าผู้ใหญ่มองดูเขาแปลกๆ คล้ายๆกันอีกด้วย
วัยรุ่นจึงมักใช้คำว่า ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขา และวัยรุ่นจึงรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่


⇒ สิ่งที่ต้องการมันเป็นความฝัน จึงเกิดความจริงมาก เมื่อความเป็นจริงไม่ได้ดังฝันเลยเบื่อ
วัยรุ่นนั้นเบื่อง่าย เป็นธรรมชาติปกติของจิตใจที่ชอบแสวงหาความตื่นเต้น เพราะเขาอยู่กับความฝัน สิ่งที่อยากจะได้ก็มักเป็นสิ่งที่เกินความจริงทั้งหลาย แต่สิ่งที่เขาได้ที่เป็นความจริงทั้งหลาย จึงดูน้อยกว่าสิ่งที่เขาอยากได้ ก็เลยกลายเป็นความเบื่อหน่าย
เดี๋ยวก็เบื่อไอ้นั่นเดี๋ยวก็เบื่อไอ้นี่ จะเรียนจะเล่นอะไรก็จะให้เป็นเร็ว ๆ เช่น บางคนเล่นดนตรี 3 วัน 3 คืน ยังไม่ได้เรื่องก็เลยเบื่ย อันที่จริงผู้ใหญ่ยังใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ แม้แต่การเล่นดนตรี

ความเบื่อหน่ายทั้งหลายแหล่นี้จะเป็นสิ่งหรือตัวการอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดการล้มเหลวในชีวิตได้ ถ้าวัยรุ่นไม่รู้จักประเมินตัวเอง เมื่อเกิดความเบื่อขึ้นมาทั้งหลาย เราควรถามตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม เป็นความจริงไหม หรือมันสูงเกินไปไหม เราฝันมากไปหรือเปล่า
ต้องหัดเตือนตัวเองและหัดรับให้ได้ว่าสิ่งที่เราต้องการจริง ๆนั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ เป็นวิทยศาสตร์และมีเหตุมีผล ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน พอไม่ได้ก็จะโกรธด้วย เบื่อด้วย เซ็งด้วย เพราะอยากได้ แต่ไม่ได้เราควรหยุดคิดว่า สิ่งที่เราต้องการนั้นฝันไปหรือเปล่า ลดมันลงเสียบ้าง อยู่กับความจริงเสียบ้าง พอคิดอย่างนี้ได้ ความเบื่อหน่างมันก็ลดลง

ที่พูดนี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็พูดไว้เป็นแนวให้วัยรุ่นที่ชอบคิด ซึ่งปกติก็ชอบคิดชอบฝันอยู่แล้ว ให้ลองพัฒนาความคิดของตัวเองบ้าง เราฝึกบ่อย ๆ เราก็จะเริ่มมีเหตุมีผลได้ แล้วเรื่องที่ว่ายากก็จะกลายเป็นง่ายเข้า


⇒ ผู้ใหญ่ควรช่วยเหลือวัยรุ่นอย่างไรเกี่ยวกับการชอบฝันของวัยรุ่น
ลักษณะความฝันของวัยรุ่น ถ้าหากเราปล่อยวัยรุ่นผิดหวังซ้ำ ๆ จมอยู่ในสภาวะที่ไม่มีคนสั่งสอน อบรมหรือชักจูงชี้แจงให้เห็นถึงสังคมที่เป็นจริงของโลก เขาก็อาจจะจมอยู่ในกลุ่มของเขาเอง ซึ่งอาจจะมีหัวหน้ากลุ่มที่เป็นคนต่อต้านสังคมแล้วก็เป็นวัยรุ่นที่มีลักษณะอันธพาลแต่อาจจะพูดเก่ง ก็จะชักจูงกันไปทำอะไร ๆให้เสียหายได้ และอาจซึมแน่นเป็นสันดาน กลายเป็นบุคลิกภาพที่แก้ไขลำบาก มองโลกในด้านไม่ดี คิดว่าทุกคนไม่เข้าใจเขา ซึ่งอันนี้ก็ต้องอาศัยภูมิหลังและสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาตั้งแต่วัยเด็กด้วย

ผู้ใหญ่จึงมีบทบาทต่อการช่วยเหลือวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเขาก็คงหนีไม่พ้น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนรุ่นพี่ ถ้าผู้ใหญ่ทั้งหลาย รู้ลักษณะปกติของวัยรุ่น และอนุญาตให้เขาได้แสดงความปกติของเขาบ้าง เขาจะถือว่าผู้ใหญ่คนนั้นคือ บางส่วนของชีวิตเขา เขาจะยอมรับผู้ใหญ่เหล่านั้นได้
แต่ถ้าผู้ใหญ่มีอคติตั้งป้อมหรือล้อมกรอบเขาเอาไว้หมด ใครเขาไว้ผมยาวหรือแต่งตัวแปลก ๆ ก็ว่าเป็นเด็กมีปัญหาแล้ว วัยรุ่นจะมีความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเขาและจะไม่ยอมรับผู้ใหญ่ เขาจะมีปฏิกิริยาต่อต้านทันที กลายเป็นศัตรูกัน

ครูบาอาจารย์ที่นึกถึงกรอบมากไป นึกถึงสิ่งที่ควรจะเป็นมากไป โดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน เพราะตัวเองผ่านวัยรุ่นมาแล้ว ตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว อยากจะให้เด็กวัยรุ่นเรียนลัด และทำตัวได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่เขาทำไม่ได้หรอกครับ นึกถึงหัวอกเขาหัวอกเราบ้าง กว่าเราจะทำได้อย่างนี้ช้าเหลือเกินกว่าจะรู้สึกตัว มันผ่านมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จึงจะรู้ได้ เราต้องใช้เวลากันนานกว่าจะปรับตัวให้เป็นแบบผู้ใหญ่ได้
อันนี้เราต้องเข้าใจวัยรุ่น เวลาเกิดปัญหา ต้องให้แต้มต่อเขาบ้าง เขาทำไปโดยความไม่รู้, การโจมตีอย่างรุนแรงหรือการไม่ให้อภัยหรือการไม่เข้าใจจะทำให้ช่องว่างนั้นกว้างขึ้น


⇒ ไม่ใช่ถือว่าวัยรุ่นแล้วไม่ควรมีการลงโทษกัน

วัยรุ่นบางคนทำผิด อ้างเลยว่า “ผมเป็นวัยรุ่น ผมก็ต้องซ่าส์อย่างนี้แหละครับ” อันนี้แหละครับ เป็นเรื่องที่บางทีเขาต้องการกฏเกณฑ์ของสังคมบังคับเหมือนกัน
ผมก็บอกแล้วไงว่า วัยรุ่นก็มีสภาวะของความเป็นคน งั้นอะไรที่ทำให้สังคมเกิดควมผิดปกติหรือไม่สงบสุข เขาควรจะต้องถูกภาคทัณฑ์ ถูกตักเตือน หรือแม้แต่ลงโทษตามสถานะที่
เหมาะสม เพียงแต่จะลงโทษเขาแบบไหนเท่านั้นทางกาย ทางใจ หรือทางสังคม แล้วแต่ความเหมาะสม อันนี้ผมคิดว่าต้องมี

ผมคิดว่า ผู้ใหญ่ที่สร้างกฏขึ้นมาจะต้องบอกให้เขารู้ จะต้องเคารพกฏเกณฑ์อันนั้น โดยกฏเกณฑ์ที่ออกมานั้นจะต้องให้เหมาะสมกับสภาวะของวัยรุ่น แต่การทำผิดแล้วไม่ลงโทษ อย่างพอทำผิดขึ้นมาก็ว่า “เธออย่าทำผิดอีกนะ” แต่พอทำผิดอีกก็ไม่ลงโทษ เพราะถือว่าเป็นวัยรุ่น อันนี้ผมไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเลย ต้องมี ไม่ใช่เป็นเยาวชนแล้วลงโทษไม่ได้ ภาคทัณฑ์ตลอด นี่ผมไม่เห็นด้วย เพียงแต่จะลงโทษแบบไหน สถานไหนเท่านั้น การตัดสิทธิบางอย่างจะต้องมี จำเป็นต้องมี ให้เขารู้ว่านี่คือการลงโทษ เวลาลงโทษควรบอกเขาว่าอันนี้คือการลงโทษ ตรงไปตรงมาเพื่อจะให้เจ็บจะได้จำ

คนที่ลงโทษก็ควรจะมีสติ อย่าลงโทษโดยใส่อารมณ์เคียดแค้น หรือโกรธ แต่บอกเลย อันนี้ผิดนะ ด้วยเหตุผลอะไร เพราะฉะนั้นต้องลงโทษ ถ้าทำอีกก็ต้องลงโทษอีก เป็นการสร้างเงื่อนไขติดตามไปด้วย
การลงโทษที่ขาดสติ เอาความเคียดแค้นลงไป เด็กจะรู้สึกว่ามันคุ้มแล้ว คือผิดแล้วถูกลงโทษแล้ว พ่อแม่ครูบาอาจารย์เดือดแค้นเหลือเกินแม้แต่ใคร ๆ ก็เคียดแค้นเขา เพราะฉะนั้นก็เจ๊ากันไป วันหลังทำใหม่คนเราจริง ๆแล้วไม่อยากถูกลงโทษ อยากได้รับการยกย่อง นอกจากพวกผิดปกติทางจิต
เมื่อลงโทษแล้ว ก็ควรจะมาคุยกันให้เข้าใจว่า พวกเขาทำผิดอย่างนี้อีก อาจผิดหนักเพิ่มขึ้น เขาจะถูกลงโทษด้วยสังคมซึ่งแรงกว่านี้ ติดคุกโดนยิงเป้าโดนตีหัว สังคมไม่ยอมรับ หางานทำไม่ได้ และอื่นๆ
ก็สังคมมันเป็นอย่างนี้ก็เลยทำให้ผมเป็นอย่างนี้

ครับ เราให้โอกาสเขา โทษเขาเหมือนกันนิด ๆ หน่อย ๆ นาน ๆทีแต่ไม่ใช่โทษสังคมตลอด
อย่างที่บอกแล้ว ถ้าหากเป็นวัยรุ่นที่ใฝ่ดี ก็ควรมองสังคมและหัดเลือกสังคมด้วยซิ ถ้าสังคมไม่ดี เราก็เลือกสังคมกลุ่มเล็กขึ้นมา ที่มันเหมาะสมกับตัวเราที่มีลักษณะใฝ่ดีขึ้นมา รณรงค์ขึ้นมาในกลุ่มให้มีวินัย ช่วยตัวเอง ให้รักตัวเองให้เป็นแต่ไม่ใช่เห็นแก่ตัวนะ รักตัวเองให้เป็น คือ ทำตัวเองให้ดี ให้น่ารัก ให้มีค่า เลิกเอาแต่การโทษสังคม โทษพ่อ โทษแม่เสียที วัยรุ่นถือว่าเป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาเต็มที่ ร่างกายเจริญเต็มที่ แข็งแรง พลังกายสูง พลังใจสูง ควรผนึกพลังกายและพลังใจให้เข้มแข็งในการสร้างสรรค์ช่วยตัวเองให้มาก อย่ามัวนั่งโทษนั่น โทษนี่อยู่เลย เพราะหากยิ่งนั่งโทษ จะโทษได้มากกว่าชาวบ้านเพราะพลังเยอะ พลังความคิดที่จะโทษมันก็เยอะ แต่การช่วยตัวเองหรือการพัฒนาตัวเองก็จะไม่เกิดเสียที


⇒ หน้าที่หลักของวัยรุ่นคืออะไร
การขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว เพื่อจะเป็นหนทางหรือต้นทุนที่ว่าเราจะออกไปประกอบอาชีพ ช่วยตัวเองให้ได้ อันนี้เป็นหน้าที่หลัก หน้าที่รองคือช่วยเหลือพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่เอาแต่เรียนอย่างเดียว หรือเอาแต่กิจกรรมอย่างเดียว หน้าที่เรียน หน้าที่ช่วยพ่อแม่ หน้าที่ทำตัวเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีโอกาสจึงเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง

บางคนคิดว่าต้องมีกิจกรรมมาก ๆ ทิ้งเรียนหมด ผมว่าไม่ไหว บางคนเหลิงไปเลย บางคนทิ้งการเรียนสอบตกโดนไล่ออกก็มี เสียอนาคตไปเลย วัยรุ่นจึงควรรู้จักหน้าที่ของตัวเองให้มาก อย่าเรียกร้องมากนัก เพราะบางคนชอบว่าเหลือเกินว่าพ่อแม่มีหน้าที่สร้างเขาให้เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องขวนขวายหาเงินมาช่วยเขา เขามีหน้าที่เรียนอย่างเดียว สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง อันนั้นเขาเรียกว่าคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้
จริง ๆแล้วเราไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ แล้ว พ่อแม่มีหน้าที่ช่วยจริง ๆ นั้นในช่วง 10 ปีแรก 10 ปีแรกถ้าไม่ช่วยเราตาย เพราะเราเป็นเด็กเล็ก ช่วยเองไม่ได้ พอ 10 ปีที่ 2 ถึงไม่ช่วยก็ไม่ตาย

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีหน้าที่ช่วยพ่อแม่บ้าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นลักษณะของการฝึกความมีคุณธรรมในจิตใจเราเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วย ไม่ให้เกิดการเรียกร้องมากจนเกินไป เราต้องช่วยทำงานในบ้าน ไม่ว่าจะช่วยกวาดบ้าน ถูบ้าน เลี้ยงน้อง ปลูกต้นไม้ดายหญ้า หรืออื่น ๆ ต้องช่วยด้วย

เมื่อเรารู้หน้าที่หลักแล้ว เราก็ต้องทำไม่ใช่เพียงแต่รู้เฉย ๆ บางคนบอกว่ารู้หมด แต่ผมไม่ได้ทำเสียที
นอกจากนั้นก็ควรรู้หน้าที่ของตัวเองง่าย ๆ บางอย่าง เช่น รู้ว่าเราเป็นใคร พ่อแม่เป็นใคร เรากำลังทำอะไรอยู่ เรามีความเป็นลูก เรามีความเป็นมนุษย์ เรามีความเป็นวัยรุ่นและอื่น ๆ และต้องทำตัวให้เหมาะสมกับสภาวะเหล่านั้นด้วย


⇒ วัยรุ่นบางคนถามผมว่า เกิดมาหาอะไร
ผมเคยถูกวัยรุ่นถามว่า เกิดมาหาอะไร ผมก็ว่าเกิดมาเพื่อหน้าที่
เด็กก็มีหน้าที่
วัยรุ่นก็มีหน้าที่
ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่
พอเป็นวัยรุ่นปั๊บ จะเอาแต่สนุกสนานอย่างเดียวไม่ได้ ความสนุกสนานนั้นไม่ใช่หน้าที่ของวัยรุ่น แต่ความสนุกสนานนั้นมันอานเป็นสิ่งที่วัยรุ่นต้องการ แต่คนอื่นเขาก็ต้องการด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราคิดว่าเราเป็นมนุษย์อยู่รวมกันในโลกนี้ เราก็ต้องรู้จักหน้าที่ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่สิ่งที่เราอยากจะเอาอย่างเดียว


⇒วัยรุ่นมักมีความยากรู้เรื่องความรักเหลือเกิน
ผมว่าวัยรุ่นจริง ๆแล้วเป็นวัยอยากรู้เรื่องความรักกับเพื่อนต่างเพศทั้งนั้น แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่รู้ว่าความรักมันเป็นอย่างไรก็ได้ วัยรุ่นนั้นเขาอยู่กับตัวเองสูง โลกของเขาก็มีตัวเขา พ่อแม่ หลังจากพ่อแม่ ก็เพื่อนเพศเดียวกัน พอหลังจากเพื่อนเพศเดียวกันก็โผล่มีเพื่อนต่างเพศ มันแปลกทันทีเลย มันรู้สึกแปลก ๆ น่ากลัวหน่อย ๆ พอทักทายกันก็ตื่นเต้นนิด ๆ

ถ้าสังเกตดูวัยรุ่นแรก ๆ มักจะไม่ลงเอยเพื่อนต่างเพศกันมากนัก มักจะมีลักษณะแบ่งพวกกัน
หลังจากนั้น เมื่อเขาได้ยินคำพูดเข้าหูบ่อย ๆ ว่า เออ...เขาเป็นแฟนกันนะ หรือผู้ชายผู้หญิงต้องเป็นแฟนกันนะ จึงเกิดความรู้สึกอยากจะสัมผัส สัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศในแง่ของความรู้สึก เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีอะไรก็แล้วแต่ ที่สื่อหรือส่อให้เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์กับต่างเพศได้ อันนั้นคือความตื่นเต้นใหม่ คือความแปลกใหม่ของเขา ความรักของวัยรุ่นนั้น ผมคิดว่ามันคือความตื่นเต้น แปลก ๆ กลัว ๆ กล้าที่ได้สัมผัสของใหม่ ๆ ทางความรู้สึก ยกเว้นเด็กที่แก่แดดมาก ๆ ที่ช่ำชองบางคนซึ่งอันนี้ก็จะไม่เกี่ยวกับความรัก มักจะไปรู้เรื่องเพศเสียเยอะ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้วัยรุ่นคิดว่านั้นแหละคือ ความรัก เพราะฉะนั้นมันจึงมีโอกาสเกิดได้ง่าย จบได้ง่าย สะดุดได้ง่าย และหลงได้ง่าย แต่ว่าเขาไม่เข้าใจจริง ๆ ก็ไม่เป็นไรหรอกก็เจอกันทุกคน แล้วก็ค่อยๆ เรียนไป รู้ไปก็แล้วกัน ใครอยากเกิดก็เกิด ใครไม่อยากเกิดก็ยังไม่ตัองเกิด
มีตัวอย่างเหมือนกัน วัยรุ่นไปหลงรักอาจารย์ฝึกสอน เขาก็ทำตัวดี อาจารย์ก็ดีด้วย เขาก็ดี เขาก็แอบรักอาจารย์ไป แอบรักไป โดยอาจารย์ไม่รู้ วันดีคืนดีเขาก็บอกรักอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า อาจารย์เป็นอาจารย์นะ แล้วก็อาจารย์ก็มีแฟนแล้วด้วย ทันทีเลย เขารู้สึกผิดหวังอย่างแรง เขาไปผูกคอตาย
จริง ๆ ก็น่าเห็นใจเหมือนกัน มันเกิดการช็อค คือ เด็กเขาไม่มีประสบการณ์ก่อน เขาคิดซื่อ ๆว่า การทำดีแล้วจะต้องได้ดี

การรักใครสักคน เขาจะต้องรักตอบ
การทำดีกับใคร เขาจะต้องดีตอบ
แต่เขาหารู้ไม่ว่าครูที่ดีต่อเขานั้นดีตอบกับเขาในฐานะเขาเป็นเด็กดี ครูก็ดีตอบ แต่เขาคิดว่านั่นคือความรัก แล้วเขาก็ทนไม่ได้เพราะว่า เขาคิดว่ารักใครแล้ว เขาจะต้องได้สิ่งนั้นตอบแทน เพราะเขาจำกัดประสบการณ์และความคิดของเขาเพียงเท่านั้น เลยหาทางออกโดยหนีตัวเอง
วัยรุ่นจึงต้องเข้าใจว่า ความรักที่เราคิดนั้น ถ้ามันเกิดก็เกิดไป ถ้ามันอยู่ก็อยู่ จะจากก็จากไป ถ้าเราอกหักเสียบ้างมันก็ปกติ ก็หัก ๆ เสียบ้าง มันก็ดีเหมือนกัน มันจะได้ทน ชีวิตเราจะต้องเจออะไร ๆ อีกเยอะที่หนักกว่าการอกหักเสียอีก ขอให้รู้หน้าที่หลักของเราก็แล้วกันว่า คืออะไร ไม่ใช่เรื่องความรักเป็นหลัก


⇒ จงจำไว้ว่าจะไม่มีวันกลับไปเป็นสภาพวัยรุ่นได้อีก
ความภูมิใจที่ว่าเราเคยหนุ่ม เคยสาว เคยเด่น เคยเท่ห์ เคยสวย เคยฮาร์ด เคยร็อค เคยพั้ง เคยแฟชั่นทั้งหลายแหล่มันจะไม่มีอีกแล้วเมื่อวันผ่านไป 5 ปี 10 ปี จะเห็นเลยว่า เราจะค่อย ๆ มีความเหี่ยวความย่นเข้ามาแทนที่ ขอให้มองดูดารา หรือนักร้องที่เคยว่า หล่อแสนหล่อ สวยแสนสวยเหลือเกิน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้เป็นอย่างไร เราจะมีโอกาสยิ่งกว่าดารา หรือนักร้องเหล่านั้นเมื่ออีก 10 ปีข้างหน้า
เพราะฉะนั้น การสะสมความรู้ ความสามารถเฉพาะตัว เพื่อการเอาชีวิตรอกให้ได้นั่น น่าจะมีความหมายและความสำคัญยิ่งใหญ่กว่าหลงรักรูปร่างหน้าตาของเราเอง

การรักรูปร่างหน้าตานั้น ถือว่าเป็นความปกติของมนุษย์ แต่การหลงและคลั่งกับมันอย่างเดียวจนไม่ทำหน้าที่ของชีวิตนั้น เท่ากับเราผ่านชีวิตของเราไปอย่างสวะลอยน้ำ เราควรมองหาถึงเนื้อหาของชีวิตเรา ว่าเราควรจะใส่เนื้อหาเข้าไปอีกไหม นอกเหนือจากการที่เราจะทำร่างกายของเราให้มันดี หวังว่าแต่งเนื้อแต่งตัวให้มันดี

อย่างเราห่อของขวัญ เราห่อข้างนอกเสียสวย แต่ข้างในไม่มีอะไรเลยไม่ใช่อย่างนั้น ต้องใส่เนื้อหาด้วย พยายามมองเนื้อหาซึ่งกันและกัน มองเนื้อหาบนความเป็นมนุษย์ และเราก็มีหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

42-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 42
ตุลาคม 2525
อื่น ๆ
นพ.วิทยา นาควัชระ