• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กอายุหกเดือนถึงเจ็ดเดือน

เด็กอายุหกเดือนถึงเจ็ดเดือน (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                           




สภาพผิดปกติ


168. โรคส่าไข้ 
(ต่อ) (Roseola Infantum)
ถ้าเด็กเป็นโรคส่าไข้หลังจากอายุ 8 เดือนขึ้นไป เด็กบางคนจะมีอาการชักตอนไข้สูง ซึ่งมักจะเป็นการชักครั้งแรกของลูก เล่นเอาคุณพ่อคุณแม่ใจหายใจคว่ำ แต่ไม่ต้องตกใจอาการชัดจากไข้สูงนี้ แก้ไขได้ไม่ยาก (ดู “หมอชาวบ้าน” ปีที 1 ฉบับที่ 11 “อาการชักในเด็ก” )

โรคส่าไข้นี้ เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยังไม่รู้แน่นอนว่าเป็นไวรัสชนิดไหน และไม่ค่อยได้ยินว่ามีการระบาดของโรคนี้ในสถานเลี้ยงเด็กหรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่าเนอสเซอรี่ (nursery) ระยะฟักตัวของโรคนี้คาดว่าประมาณ 10-14 วัน โรคส่าไข้นี้ไม่มีวิธีรักษาพิเศษพิสดารอะไร เพราะไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส และโรคนี้ไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจึงไม่ต้องกินยาป้องกันโรคแทรกซ้อน เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องให้ยาอะไรเลย แต่เพราะว่าในวันสองวันแรก เรามักนึกว่าเป็นหวัดหรือทอนซิลอักเสบ เด็กส่วนใหญ่จึงต้องกินยาหรือถูกฉีดยารักษาโรคหวัด แต่ถึงจะกินยาเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร เพียงแต่กินเข้าไปก็ไม่ให้ผลอะไรเท่านั้น

ถ้าเด็กเป็นเมื่ออายุเกิน 7 เดือนขึ้นไป และตัวร้อนจัดต้องให้ยาลดไข้และเช็ดตัว โดยเฉพาะเด็กที่เคยชัก จะต้องกินยากันชักด้วย ในกรณีที่เด็กไม่อยากนม ชงนมให้จางลงเล็กน้อย ถ้าเด็กไม่ยอมกินนมแต่ยอมกินน้ำผลไม้ ก็ให้กินน้ำผลไม้เยอะ ๆ ได้ ถ้าเด็กชอบกินขนมปังหรือก๋วยเตี๋ยวมากกว่านมก็ให้กินได้ ประมาณวันที่ 3 อุจจาระจะเหลว แต่ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ นอกจากชงนมให้จางลงเท่านั้น และเมื่อผื่นยุบหมดแล้วก็อาบน้ำให้ได้

เวลาเด็กออกผื่น คนสมัยก่อนมักเตือนไม่ให้ออกไปกระทบลมข้างนอก แต่เด็กที่ออกผื่นโรคส่าไข้นี้ ถึงจะพาออกไปถูกลมข้างนอก อาการก็คงไม่เลวลงแต่อย่างใด ถ้าหากคาดไว้ว่าเด็กจะเป็นโรคส่าไข้ แต่ถึงวันที่ 4 แล้วไข้ยังไม่ยอมลดและเด็กไม่มีอาการผิดปกติอย่างอื่น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรคส่าไข้ชนิดที่ผื่นขึ้นช้าไปวันหนึ่ง โรคอื่นที่อาจจะเป็นได้ถ้ามีไข้สูงเกิน 4 วันก็มี เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (เด็กมักจะมีอาการอาเจียน ร้องไห้ไม่หยุด เพราะปวดศีรษะ หรืออาจชักหมดสติ) โรคปอดบวม (จะมีหายใจหอบ) หรือโรคลำไส้อักเสอจากเชื้อบิด (จะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด) และโรคโลหิตเป็นพิษ (จะมีอาการหนาวสั่นวันละหลายครั้ง)
โรคส่าไข้นั้นเมื่อเป็นครั้งหนึ่งแล้วจะไม่เป็นอีก และเด็กที่ไม่เคยเป็นเลยจนกระทั่งอายุถึง 2 ขวบ จะไม่เป็นโรคนี้อีกแล้วเมื่อโตขึ้นกว่านั้น






 

169. ฉีดยาและกินยา (ยาลดไข้)
เด็กเมื่ออายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งจะเป็นไข้ตัวร้อนขนาด 38 องศาเซลเซียสเล็กน้อย แต่เด็กยังกินได้เล่นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกใจรีบพาไปหาหมอ บอกว่า “คุณหมอคะ เป็นไข้ตัวร้อนค่ะ” คุณหมอได้ยินดังนั้นพลอยทำให้รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องลดไข้ให้หายตัวร้อน จึงฉีดยาลดไข้ให้ ซึ่งมักจะทำให้เกิดก้อนแข็งตรงที่ถูกฉีดยา อันที่จริงหมอควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาลดไข้จะดีกว่า เหตุผลก็คือ เด็กอ่อนไม่เดือดร้อนเรื่องมีไข้ตัวร้อนเหมือนผู้ใหญ่ ถึงแม้ตัวจะร้อนเด็กก็ไม่ค่อยอยากนอกพัก

นอกจากนั้น โรคที่ทำให้เป็นไข้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส โรคแบบนี้แสดงอาการไข้ตามแบบฉบับของมัน อาการไข้จะบอกให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร รุนแรงแค่ไหน เปรียบเสมือนบาโรมิเตอร์ของโรค
ถ้าฉีดยาลดไข้เข้าไป ลักษณะของอาการไข้ที่ปรากฏตามธรรมชาติจะถูกทำลาย เหมือนกับจับเข็มของเครื่องวัดโรคที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดอยู่เฉย ๆ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เราจำเป็นต้องวินิจฉัยให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร แล้วรักษาไปตามอาการเพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโรคให้ได้จึงสำคัญกว่าการลดไข้ ถ้าวินิจฉัยโรคไม่ได้จะทำให้เด็กต้องฉีดยาหรือกินยาอย่างสะเปะสะปะโดยไร้ประโยชน์ ยิ่งกว่านั้น เด็กอ่อนจะกลัวเข็มฉีดยาจนร้องลั่น เมื่อถูกฉีดยาเข้าครั้งหนึ่งจะจำได้ คราวต่อไปพอเข้าห้องตรวจโรคเท่านั้น แผดเสียงทันที ทำให้ไม่รู้ว่าเด็กอารมณ์ดีตามปกติหรือผิดปกติ โดยเฉพาะโรคที่มีอาการปวดท้องอย่างเดียว อย่างโรคลำไส้กลืนกัน ถ้าเด็กร้องไม่หยุดหย่อน จะทำให้วินิจฉัยโรคผิด

เพราะฉะนั้น เวลาเด็กเป็นไข้ตัวร้อน หมอที่ตั้งใจจะดูแลรักษาเด็กต่อไปมักจะไม่อยากฉีดยา เพราะว่ายาลดไข้บางชนิดทำให้เกิดอาการช็อคได้ และยาบางอย่างดูดซึมไม่ดี กลายเป็นก้อนแข็ง ทำให้เจ็บกล้ามเนื้อ ในระยะหลังนี้พบว่ามีคนเป็นโรคกล้ามเนื้อต้นขาหดสั้นกันมาก (มีอาการงอหัวเข่ายาก เดินลากเท้า หกล้มง่าย) และเริ่มทราบกันว่าสาเหตุของโรคนี้คือการจับเด็กฉีดยาที่ต้นขา
เด็กอายุ 7 เดือนขึ้นไปที่ตัวร้อนเกิน 39 องศาเซลเซียส อาจมีอากาชัก หมอจะให้ยาลดไข้และเช็ดตัวด้วยน้ำก๊อก ถ้าไม่ยอมกินยาลดไข้ อาจต้องให้แบบเหน็บก้น
เวลาให้เด็กกินยาผง คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะนิ้วชี แล้วใช้นิ้วชี้แตะยา ป้ายที่กระพุ้งแก้มด้านใน แล้วให้กินนมหรือน้ำต้มสุก (ใส่น้ำตาลก็ได้) ตามเข้าไปสำหรับยาน้ำที่ตกตะกอนที่ก้นขวด ต้องเขย่าให้ดีเสียก่อนจึงจะให้เด็กกินตามปริมาณที่กำหนด






 

170.ท้องผูก
เด็กอายุเกิน 6 เดือนที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก อยากจะให้แก้ด้วยอาหารเสริมชนิดต่าง ๆ เพราะเด็กเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น และหลายชนิดขึ้นถ้าให้เด็กกินนมเปรี้ยว แล้วได้ผล ก็ให้นมเปรี้ยวต่อไป
อาหารเสริมในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นอาหารย่อยง่ายไม่ค่อยมีกาก ไม่ค่อยกระตุ้นลำไส้ จึงทำให้ท้องผูกง่าย เด็กบางคนพอได้กินอาหารเสริมมากขึ้น กลับทำให้ท้องยิ่งผูกก็มี ในกรณีนี้ควรให้ของที่ย่อยยากกินบ้าง ที่ดีที่สุดคือ ผัก ใบตำลึง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ต้มให้กินหรือใส่ลงไปในข้าวตุ๋น ถ้าหากเด็กไม่ยอมกินผักก็ให้ผลไม้มากขึ้นหน่อย ถ้าให้กินส้ม กล้วย แล้วยังไม่หาย ลองให้กินแตงโม สับปะรด มะละกอ ดูบ้าง

ถ้าเด็กอุจจาระสองวันครั้งหนึ่งโดยไม่ทรมานเวลาถ่ายก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ควรใช้ยาถ่ายโดยไม่จำเป็น การสวนทวารถึงจะไม่มีโทษ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าจำเป็นต้องสวน ควรสวนให้ออกภายในครั้งเดียว เด็กที่ออกกำลังกายไม่พอ อาจมีอาการท้องผูกได้ ควรให้เด็กได้เล่นกลางแจ้งอย่างพอเพียง
สำหรับสมุนไพรหรือวิธีแก้ท้องผูกที่ได้ผลสำหรับผู้ใหญ่ เช่น ดื่มน้ำเกลือ 1 แก้วหลังตื่นนอนตอนเช้า ไม่ควรนำมาใช้กับเด็กทารก
 

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

42-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 42
ตุลาคม 2525