• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กอายุหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เด็กอายุหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                          

 


สภาพผิดปกติ



171.ผื่นแพ้ (Eczema) และผดผื่นคัน (strophulus)
เด็กส่วนใหญ่เมื่ออายุเกิน 5 เดือน ผดผื่นคันจะลดน้อยลง แต่เด็กบางคนอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ยังเป็นผื่นอยู่ก็มี มีผื่นแดงตามหลังใบหู ซอกคอ ลำคอด้านหลัง ซอกรักแร้ ฯลฯ ทำให้คัน การอาบน้ำเวลาเป็นผื่นมีผลต่อเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าหากอาบน้ำแล้วผื่นไม่เห่อขึ้นมา ก็อาบให้เด็กได้ แต่ไม่ควรใช้สบู่ตรงที่เป็นผื่น อาหารการกินก็เช่นกัน ถ้าหากให้กินไข่แล้วไม่เป็นผื่นคันไปทั้งตัว ก็ไม่ต้องงดไข่

เด็กที่รู้สึกคันมาก ควรทาครีมแก้คันประเภท ครีมเพร็ดนิโซโลน (PREDNISOLONE CREAM) ให้วันละ 3 ครั้ง โดยใช้แต่น้อย ทาบาง ๆ และถูเบา ๆ ให้ซึมเข้าไปในผิวหนัง เมื่ออาการดีขึ้นเล็กน้อย ลดให้เหลือวันละ 2 ครั้ง แล้วก็เป็นวันละ 1 ครั้ง วันเว้นวันครั้ง และอาทิตย์ละ 2 ครั้งตามลำดับ ควรเลิกใช้ยาโดยเร็วที่สุด เด็กบางคนใช้ติดต่อกัน 2 เดือน จะมีขนขึ้น

ส่วนผดผื่นคัน (Strophulus) นั้น มีลักษณะเป็นเม็ดสีแดง ขนาดครึ่งเมล็ดข้าว มีปรากฏตามข้อมือหรือข้อเท้า 2-3 เม็ด เด็กจะรู้สึกคันมาก บางครั้งตรงหัวจะเป็นน้ำใส ถ้าเกิดที่ฝ่าเท้า ตรงหัวที่เป็นน้ำใสจะแข็ง บางครั้งจะเป็นที่หน้าอกหรือท้องก็มี กล่าวกันว่าเป็นผื่นแพ้ประเภทหนึ่ง
สาเหตุ เราไม่ทราบแน่นอน บางครั้งเด็กเป็นหลังจากกินไข่หรือกินปลาที่ไม่เคยกินมากก่อน จึงอาจเป็นเพราะอาหารที่กินเข้าไปก็ได้

นอกจากนั้น หลังจากเด็กถูกยุงหรือแมลงกัด จะเกิดผดผื่นคันขึ้นหลายเม็ด และอาจเกิดตรงที่ไม่ได้ถูกกัดก็ได้ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการต่อต้านพิษแมลงก็ได้ เม็ดเหล่านี้ปล่อยทิ้งไว้จะไม่อักเสบ
ถ้าหากกินไข่หรือปลาแล้วเป็น วิธีรักษาก็คือ งดอาหารพวกนี้เสียชั่วคราว และใช้ครีมเพร็ดนิโซโลนทา อาบน้ำให้เด็กได้ และต้องคอยตัดเล็บให้สั้น เวลาเด็กเกาจะได้ไม่อักเสบเพราะเชื้อโรคเข้าไป




 

172. ตาเข
เด็กอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าตาเข ต้องพาไปหาหมอตา เด็กอายุเกิน 6 เดือนจะต้องใช้ตาสองข้างดูของ ถ้าตาเขก็แสดงว่าผิดปกติ
สาเหตุของตาเขมีหลายอย่าง อาจเป็นเพราะสายตาข้างหนึ่งไม่ดี , ตาเอียง, การปรับภาพไม่ดี (สายตาสั้น, สายตายาว) กล้ามเนื้อตายาวไม่เท่ากันตั้งแต่กำเนิด ฯลฯ คุณแม่อย่าคิดว่าปล่อยไว้แล้วจะหายเองเมื่อโตขึ้น เพราะเด็กตาเข จะใช้สายตาข้างเดียว ข้างที่ไม่ได้ใช้ สายตาจะเลวลงทุกที ถึงแม้เจ้าตัวจะรู้ตัวว่าตาเข เมื่อโตขึ้นแล้วให้หมอผ่าตัดให้ตรง สายตาก็จะผิดปกติตามเดิม ดูภายนอกตาอาจไม่เข แต่ในความเป็นจริงใช้ตาข้างเดียว จึงเรียกว่าหายเป็นปกติไม่ได้ การรักษาที่แท้จริงคือ ต้องทำให้ดูเป็นปกติทั้งจากภายนอก และทำให้ใช้สายตาได้ทั้งสองข้างเหมือนปกติด้วย การรักษาตาเขไม่ใช่ผ่าตัดแล้วจะหายได้ง่ายๆ อาจต้องใช้แว่นตา และฝึกให้ใช้ตาทั้งสองข้างเวลาดูสิ่งต่าง ๆ บางคนหายได้ด้วยการฝึกโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่หากฝึกแล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องผ่าตัดช่วย บางครั้งต้องผ่าตัดหลายครั้งและต้องฝึกใช้สายตาหลังผ่าตัดด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องให้กำลังใจเด็กซึ่งมักเบื่อง่ายเวลาฝึก

สำหรับระยะเวลาที่ควรเริ่มฝึกหรือผ่าตัด ต้องให้หมอตาเป็นผู้กำหนด หมอทั้งหลายยังไม่เห็นพ้องกันว่าควรผ่าตัดอายุเท่าใด คนที่เห็นว่าควรทำเร็วอาจเริ่มตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 1 ขวบ บางคนให้ผ่าตัดหลัง 3 ขวบขึ้นไป คนที่ให้ผ่าตัดช้าเพราะคิดว่าหลังผ่าตัดแล้ว หากเด็กไม่ยอมฝึกสายตาจะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม หากลูกคุณตาเข ควรพาไปปรึกษาหมอก่อนอายุ 1 ขวบ
เด็กตาเขนั้น มีทั้งตาเขตลอดเวลา และตาเขเป็นบางเวลา โดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน หรือเวลาถูกแสงแดดถึงจะตาเขเป็นบางเวลา ก็ต้องพาไปปรึกษาหมอตา

อยู่ดี ๆ ก็ร้องอย่างกระทันหันเหมือนเจ็บปวด
ดู หัวข้อ 131 ร้องจ้าอย่างกระทันหัน และ 132 ลำไส้กลืนกัน (ในหมอชาวบ้านปีที่ 3 ฉบับ30,31)

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

43-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 2525