• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นสาวแล้วนี่

เป็นสาวแล้วนี่



“เป็นสาวแล้วนี่” ได้ยินเสียงนี้จากโต๊ะขวามือในร้านอาหาร จึงเหลือบตาไปดู “สาวน่ะ สวยแค่ไหน
จริง ๆ ด้วยนะ เด็กผู้หญิงที่นุ่งกางเกงขายาวสีขาวทรงทันสมัยกับเสื้อยืดสีฟ้าเข้มคนนั้น เป็นสาวแล้วจริง ๆ จากรูปร่างที่มองเห็นส่วนเว้าส่วนโค้งนั้น แถมหน้าตายังน่ารักอีกด้วย

คะเนเอาว่าอายุก็คงจะราว ๆ 14 ปี อาจจะเรียนอยู่ในชั้น ม.2 หรือ ม.3 นั่นหละ และแน่นอน การเจริญเติบโตทางร่างกายที่มองเห็นนี้ก็พอจะบอกได้ว่า สาวน้อยคนนี้คงจะเริ่มมีประจำเดือนแล้ว
ประจำเดือน รอบเดือน ระดู หรือ เมน หมายถึง การที่ผู้หญิงมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนหรือเกือบทุกเดือนนับตั้งแต่เริ่มเข้าวัยสาว (puberty) จนถึงเข้าวัยหมดระดู (menopause) คืออายุประมาณ 14 ปีถึง 45 ปี (อาจจะก่อนหรือหลังจากนั้นหลายปีก็ได้) ยกเว้นแต่ในเวลามีครรภ์หรือเวลาเด็กยังกินนมแม่อยู่ (lactation)


⇒ มันมาแล้ว
เมื่อเด็กผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยสาวการเจริญเติบโตทางร่างกาย สมอง จิตใจจะเปลี่ยนไป คือ ต่อมธัยรอยด์ จะโตขึ้นพร้อมทั้งหลอดเสียงก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสียงแหลมและเพราะขึ้น อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน เช่น มดลูก ซึ่งแต่เดิมในวัยเด็กมีตัวมดลูกสั้นและปากมดลูกยาวจะเปลี่ยนเป็นตัวมดลูกยาวปากมดลูกสั้น (ตัวมดลูกยาวประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความยาวของมดลูกทั้งหมด) เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นและจะลอกหลุดเป็นเลือด ระดูเมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม หลอดมดลูกที่เคยเป็นหลอดขดงอจะใหญ่ขึ้นและยืดออก รังไข่ใหญ่ขึ้น ผิวบางและมีการตกไข่ (ovalation)

                     

ในขณะเดียวกันนี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ คือนิสัยที่เป็นเด็กจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นความรู้สึกและคิดอ่านอย่างหญิงสาว มีอารมณ์รุนแรงอ่อนไหว(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่33)
โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุย่างเข้า 12-14 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าอัตราการเจริญเติบโตของผู้หญิงจะสูงสุดเมื่อเริ่มมีประจำเดือนดังนั้น ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วจะมีส่วนสูงต่ำกว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนช้า


⇒มันมาได้ยังไงกัน
ปกติไข่จะตกจากรังไข่เพื่อผ่านเข้าสู่ปีกมดลูกและมดลูกทุกเดือนถ้าไม่มีการผสมจากเชื้ออสุจิ ไข่ก็จะสลายและถูกขับออกมาพร้อมกับเยื่อบุโพรงมดลูกที่ลอกหลุดออกมาเป็นเลือดทางช่องคลอด ผู้หญิงวัยนี้จึงต้อง “ขี่ม้าขาว” กันทุกคน

 

                    


⇒อะไรเอ่ย ...มาแล้วมาทุกเดือน
ระยะเวลาของประจำเดือนโดยทั่วไปจะห่างกันประมาณ 28 วัน(จะไม่เหมือนกันทุกคน) นับตั้งแต่วันแรกของการมีเลือดออก จนถึงวันก่อนมีเลือดออกของเดือนต่อไป แต่อาจจะเร็วหรือช้าไปได้ไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับอารมณ์และสิ่งแวดล้อมมีส่วนทำให้เร็วหรือช้าได้
ประจำเดือนจะมาครั้งหนึ่ง ๆ ประมาณ 3-7 วัน โดยจะออกมาน้อยก่อนในวันแรก ๆ และจะออกเพิ่มมากขึ้นในวันต่อมา และจะลดน้อยลงในวันท้าย ๆ

เลือดที่ออกมาไม่ได้ไหลออกตลอดเวลา แต่จะออกเป็นระยะ ๆ จำนวนเลือดที่ออกโดยทั่วไปประมาณ 30-150 ซี.ซี.(เทียบง่าย ๆ ประมาณ 2-10 ช้อนโต๊ะ) นอกจากเลือดแล้ว ยังมีน้ำเหลืองปนกับเยื่อบุโพรงมดลูกและเซลล์ของเยื่อบุช่องคลอดออกมาด้วย สีจึงออกคล้ำ ถ้าออกเป็นสีแดงสดหรือมีก้อนเลือด (ลิ่มเลือด) ก้อนโต ๆ ปนอยู่ด้วยแสดงว่าเลือดออกมากผิดปกติ ควรจะหาสาเหตุ


⇔ มีก็ปวด
ในวันแรกจะมีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วยมากน้อยแล้วแต่คน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม ปวดบีบที่ท้องน้อยและหัวเหน่า ปวดร้าวบริเวณสันหลัง บั้นเอว และก้นกบ ตึงบริเวณหน้าอก ใจคอหงุดหงิด ถ้าอาการที่กล่าวมีมากเรียกว่าปวดประจำเดือน(Dysmenorrhea)


⇔ ไม่มีก็...
เมื่อผู้หญิงอายุย่างเข้า 45-55 ปี จะเข้าสู่ระยะหมดประจำเดือน(menopause) ระหว่างที่อยู่ในระยะจะหมดนั้นจะมีอาการมากน้อยแล้วแต่คน แต่ส่วนมากจะมีอาการ ร้อน ๆ หนาวๆ ร้อนวูบวาบตามหน้าและตามตัว ตกใจง่าย ท้องผูก ท้องอืด เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ หวุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ บางรายอาจจะมีขนขึ้นที่หน้าทำให้หน้าตากระเดียดไปทางผู้ชาย อาการทั้งหมอนี้เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เพราะรังไข่เหี่ยวลง และเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและต่อมอื่น ๆด้วย

                 

สำหรับสาวน้อย
1.ระหว่างที่มีประจำเดือนทุกครั้ง ควรทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน ไม่ควรวิตกกังวลหรือมีอารมณ์ขุ่นมัว

2.ทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอนามัยควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยน้ำสบู่ หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เวลาทำความสะอาดต้องเช็ดจากหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากทวารหนัก) และเวลาอาบน้ำไม่ควรแช่ในแม่น้ำลำคลอง

3.พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากระหว่างมีประจำเดือนร่างกายมีการเสียเลือด อาจทำให้อ่อนเพลียได้

4.กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว เครื่องในสัตว์ และนมสดเพื่อบำรุงเลือด

5.ออกกำลังกายตามปกติ แต่ไม่ควรหักโหม

6.ถ้ามีอาการปวดประจำเดือนแต่ไม่มาก ให้วางกระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อย และให้ยาแก้ปวดแอสไพริน ครั้งละ 2 เม็ดเวลาปวด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าปวดมากให้ยาแอนตี้สปาสโมติก เช่น ยาเม็ดบาราลแกน ครั้งละ 1-2 เม็ดแทน


สำหรับวัยที่ใกล้หมด
1.เตรียมจิตใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งทุกคนไม่อาจฝืนได้ คนที่อยู่ใกล้เคียงควรรับฟังการระบายทุกข์ ให้กำลังใจ และคำแนะนำ ให้ความมั่นใจ ว่าไม่ได้เจ็บป่วยอะไรร้ายแรง

2.หมั่นออกกำลังกายทุกวัน ทำจิตใจให้สงบและเบิกบาน

3.ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ท้องอืดให้ยาธาตุน้ำแดงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือต้มน้ำขิงดื่ม ถ้าเบื่ออาหารซีดให้อาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ ถ้านอนไม่หลับให้ยาไดอะซีแพม(2 หรือ 5 มิลลิกรัม) หรือเมโปรบาเมตครั้งละ 1-2 เม็ดก่อนนอน

4.อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอยู่ 1-2 ปี เมื่อผ่านพ้นระยะนี้ก็จะหายไปเอง

5.ถ้าประจำเดือนหยุดไปแล้วเกินกว่า 6 เดือน แล้วมีขึ้นมาอีก ถือได้ว่าเป็นเลือดที่ออกมาผิดปกติ ควรได้รับการตรวจโดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุ.
 

ข้อมูลสื่อ

43-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 43
พฤศจิกายน 2525
เนตรนภา ขุมทอง