• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสิบเอ็ดเดือนถึงหนึ่งขวบ


                                

 
 


ลักษณะการเลี้ยงดู

 


230.อาหารของเด็กวัยนี้
เมื่ออายุใกล้ 1 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะกินอาหารเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ไม่จำเป็นต้องทำอาหารให้เป็นพิเศษ นับได้ว่าเด็กเป็นสมาชิกของครอบครัวอย่างเต็มตัวแล้วในเรื่องอาหารคือ ผ่านพ้นวัยที่มีนมเป็นอาหารหลักเข้าสู่วัยหย่านมโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ถึงจะหย่านมแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องงดนมอย่างเด็ดขาด เด็กจะเติบโตได้เนื้อหนังมังสาต้องเพิ่มมากขึ้น และเลือดเนื้อของคนเรานั้นสร้างมาจากโปรตีน เด็กจึงขาดโปรตีนจำพวเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่ว ไม่ได้ แต่มีเด็กหลายคนที่ทนกินปลา เนื้อ ไข่ ติดต่อกันไม่ไหว หรือบางคนก็ไม่ชอบเอาเสียเลย แต่มีโปรตีนอย่างหนึ่งซึ่งเด็กน้อยคนที่จะรังเกียจ และเป็นโปรตีนที่กินได้ทุกวันโดยไม่เบื่อ นั่นคือ โปรตีนจากนม จะเป็นนมวัวหรือนมถั่วก็ได้ เด็กดื่มได้โดยไม่เสียเวลา ส่วนราคาก็ค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนชนิดอื่น โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง ถ้าทำเองราคาถูกมาก ดังนั้น ถึงเด็กจะหย่านมแล้ว ก็ไม่ควรงดนมอย่างเด็ดขาด

สำหรับปัญหาที่ว่า เราควรให้เด็กดื่มนมวันละเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเด็กกินปลา กินไข่ กินเนื้อ มากน้อยแค่ไหน ถ้าเด็กไม่ชอบของพวกนั้นเลยก็ต้องทดแทนด้วยนมเด็กฝรั่งนั้นดื่มนมเป็นประจำและดื่มมากกว่าเด็กไทยอาจจะเป็นเพราะเด็กฝรั่งตัวโตจึงดื่มมากกินมาก เรื่องตัวโตดีหรือตัวเล็กดีหรือจะเอาแบบ “ตัวเล็กรสโต” ถึงจะดี ก็ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นเด็กไทยทั่ว ๆ ไป ถ้าคนไหนดื่มนมมากมักจะกินน้อย โดยที่การดื่มนมเป็นเหตุมากกว่าผล คือไม่ใช่เพราะเด็กเกลียดไข่ เกลียดเนื้อ จึงต้องให้ดื่มนมแทน แต่กลับเป็นเพราะเด็กดื่มนมมากและดื่มบ่อยทั้งวัน จนไม่มีเวลาหิวข้าว.
เด็กควรได้รับอาหารตามวัยจึงจะดีที่สุด ถ้าถึงวัยนี้แล้วเด็กยังดื่มแต่นมจะทำให้อวัยวะของร่างกายบางส่วนเช่น ฟัน คาง กระเพาะ ลำไส้ ไม่ได้รับการฝึกเท่าที่ควร เพราะไม่ได้เคี้ยว บด ย่อยอาหารตามวัย ปริมาณนมแต่ละวันของเด็กวัยเกือบจะหนึ่งขวบนี้ ควรอยู่ในระดับวันละ 2-3 ขวด (ประมาณ 500-600 ซีซี.)

ตัวอย่างอาหารของเด็กวัยนี้

เช้า             ขนมปังครึ่งแผ่น ไข่ 1 ฟอง น้ำผลไม้หรือซุปผัก
กลาวัน        ข้าว (ครึ่งถ้วย) เนื้อ ผัก นม 1 ขวด
บ่าย            ผลไม้หรือขนม นม 1 ขวด
เย็น             ข้าว (ครึ่งถ้วย) ปลาหรือเนื้อ ผัก ผลไม้
ก่อนนอน     นม 1 ขวด

 
 


 


 


231.หย่าขวด

นมของเด็กวัยนี้ คุณแม่เริ่มเปลี่ยนจากนมผงมาเป็นนมสดได้แล้ว และไม่จำเป็นต้องต้มเสียก่อน ให้ดื่มจากกล่องหรือถุงด้วยหลอดได้เลย หรือจะเทใส่ถ้วยให้ดื่มก็ได้ คุณแม่ควรเริ่มหัดให้เด็ก “หย่าขวด” ได้แล้วโดยทำอย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เริ่มจากนมหลังมื้ออาหาร ให้ลูกหัดดูดจากหลอดหรือดื่มจากถ้วย และเมื่อลูกทำได้ คุณแม่ต้องแสดงความดีใจ ชยเชยว่าลูกเก่งมาก เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจและยินดีที่จะเปลี่ยนจากขวดมาเป็นถ้วย แต่สำหรับนมมื้อก่อนนอนนั้น คุณแม่ต้องใช้ความพยายามมากหน่อยกว่าจะ “หย่าขวด” ได้สำเร็จ อาจกินเวลาหลายเดือน และจะยากมากสำหรับคุณแม่ที่เคยใช้ขวดนมเป็น “ตัวแทน” ของคุณแม่บ่อย ๆ โดยทิ้งให้ลูกนอนดูดนมจนหลับคาขวดไปเอง ในขณะที่คุณแม่ถือโอกาสใช้เวลาช่วงนั้นทำธุระต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ต้องพยายาม“หย่าขวด” ให้สำเร็จ อย่างน้อยก่อนเด็กเข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่ชาวไทยเราค่อนข้างจะไม่สนใจ เราจึงเห็นภาพคุณแม่หิ้วตะกร้าใส่นมของลูกฝากครูโรงเรียนอนุบาลเอาไว้เป็นแถว

ที่เราจำเป็นต้องให้เด็ก“หย่าขวด” ก็เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องฟัน ฟันของเด็กกำลังกำลังงอกโผล่ออกมาขึ้นทุกวัน เด็กที่นอนหลับไปกับขวดนมนั้น มีปัญหาเรื่องฟันมาก โดยเฉพาะเด็กที่คุณแม่ยอมให้ดูดนมหวานหรือให้ดูดนมรสช็อกโกแลตหรือรสอื่นๆ ก่อนนอน เด็กบางคนฟันผุทันทีที่ฟันขึ้นและผุหมดทั้งปาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมีผลกระทลไปถึงฟันแท้และมีผลกระทบต่อการกินอาหารและโภชนาการของเด็กด้วย เด็กที่ปวดฟันบ่อย ๆ บางคนอาจถึงขยาดที่จะกินอาหารเหนียว ๆ จำพวกเนื้อสัตว์ซึ่งต้องใช้ฟันเคี้ยว.
สิ่งสำคัญที่สุดในการ “หย่าขวด” คือคุณแม่นั่นเอง ถ้าคุณแม่เข้าไปแทนที่ขวดได้สำเร็จ ก็จะทำให้ลูกหย่าจากขวดได้สำเร็จ เมื่อคุณแม่ค่อย ๆ เปลี่ยนให้ลูกดูดนมจากกล่องก่อนนอนแทนการดูดจากขวด ระยะแรกคุณแม่ควรนอนกับลูก เล่านิทานให้ฟังหรือกล่อมจนลูกหลับ ถ้ามีคุณแม่อยู่ด้วย เวลานอน เด็กส่วนใหญ่จะลืมขวดได้ และเมื่อทำได้ติดต่อกันระยะหนึ่ง คุณแม่ก็เก็บขวดไว้ได้เลย อย่าให้ลูกเห็นเป็นอันว่าคุณแม่ “หย่าขวด” ให้ลูกได้สำเร็จ







232.การให้ผลไม้
เด็กวัยใกล้จะหนึ่งขวบนี้ ส่วนใหญ่จะกินผลไม้ได้โดยไม่ต้องบดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เด็กชอบที่จะกัดผลไม้ชิ้นใหญ่ ๆ ในมือของตัวเองมากกว่ากินผลไม้บด ไม่มีผลไม้อะไรที่ดีเด่นเป็นพิเศษสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ผลไม้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือผลไม้ที่อยู่ในฤดูกาลเพราะสด อร่อย และราคาถูก ผลไม้ที่มีเมล็ดเช่น น้อยหน่า ละมุด ส้ม องุ่น แตงโม ควรต้องเอาเมล็ดออกเสียก่อน
สำหรับละมุดนั้น บางคนถือว่าเป็นของแสลง ไม่ค่อยให้เด็กเล็ก ๆ กิน แต่ถ้าให้ในปริมาณน้อยก็ไม่น่าจะเป็นอะไร โดยเฉพาะเด็กที่ท้องผูก ถึงจะให้กินละมุด สับปะรด มะละกอ ก็ไม่ถ่ายเหลว กลับช่วยให้ถ่ายสะดวกดีเสียอีก

ผลไม้กระป๋อง นั้นให้เด็กกินได้ แต่ราคาแพงและให้ประโยชน์น้อยกว่าผลไม้สดมาก นอกจากนั้น เมืองไทยเรายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของกระป๋องบรรจุอีกด้วย เด็กที่กินมะเขือเทศหรือแตงโมเข้าไป เวลาถ่ายอุจจาระจะมีของพวกนั้นปนออกมา และมีสีแดง ซึ่งไม่ใช่อาการของอาหารไม่ย่อย มีเด็กบางคนที่เกลียดทั้งผักและผลไม้ คุณแม่ต้องให้วิตามินซีวันละ 30 มิลลิกรัมแทน
 

 





223.ไม่ยอมกินข้าว
สมัยนี้มีน้อยบ้านที่จะให้ลูกกินข้าวทั้ง 3 มื้อ เช้า กลาวัน เย็น มีครอบครัวไม่น้อยที่อาหารเช้าคือขนมปัง หรือปาท่องโก๋ มื้อกลางวันเป็นก๋วยเตี๋ยวและกินข้าวแค่มื้อเดียวคือมื้อเย็น ปริมาณข้าวในแต่ละมื้อ
ก็ลดน้อยลง เพราะเรากินกับข้าวกันมากขึ้น คุณย่าคุณยายมักจะบ่นว่าหลานไม่ยอมกินข้าวเลยวันหนึ่ง ๆ กินข้าวแค่ถ้วยเดียว โดยที่คุณยายลืมนึกไปว่าหลานกินทั้งเนื้อ ทั้งไข่ และผักมากมาย
คนเราไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยข้าว ประโยชน์ที่ได้จากข้าวคือ แป้ง น้ำตาบ และโปรตีน เรากินขนมปังหรือก๋วยเตี๋ยว ก็ได้แป้งและน้ำตาลเหมือนกัน ส่วนปลา ไข่และเนื้อสัตว์นั้นให้โปรตีนมากกว่าข้าวเสียอีก เพราะฉะนั้น ถึงเด็กจะไม่ชอบกินข้าว แต่ถ้าได้อาหารอื่นอย่างเพียงพอก็ไม่มีปัญหา

แต่ปัญหาจะมีสำหรับเด็กที่ไม่ยอมกินข้าวเอาแต่กินขนมทั้งวัน เรื่องนี้เป็นความผิดของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้ฝึกวินัยในการกินอาหารให้เป็นเวลามาตั้งแต่ลูกยังเล็ก อาหารพวกขนมนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และมีน้ำตาลในปริมาณที่สูงจึงทำให้เด็กรู้สึกอิ่มไม่ค่อยอยากอาหาร เด็กพวกนี้จึงมักจะขาดอาหารพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นเด็กที่อ้วนแต่ไม่แข็งแรง เรื่องกินขนมไม่เป็นเวล่ำเวลานี้เด็กไทยเราเป็นกันมาก และคุณพ่อคุณมักจะตามใจลูกเสียด้วย
อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องเด็กไม่ยอมกินข้าว ขนมก็ไม่ค่อยกิน อะไร ๆก็ไม่ค่อย กินทั้งนั้น คือเป็นเด็กที่กินน้อยมาตั้งแต่เกิดแล้ว ตัวก็เล็กนิดเดียว เด็กพวกนี้คุณพ่อคุณแม่มักจะกลุ้มใจมาก ใคร ๆก็อยากให้ลูกตัวโต ๆ อ้วนท้วนสมบูรณ์ คุณแม่บางคนพยายามให้ลูกกินจนกระทั่งอาเจียนออกมา เลยยิ่งแย่ใหญ่ แทนที่จะกินได้บ้าง ของที่กินเข้าไปแล้วก็พลอยออกมาหมด ถ้าลูกของคุณเป็นแบบนี้ คุณแม่อย่าเพิ่งกลุ้มใจ ขอให้สังเกตดูว่า ลูกของคุณถึงจะตัวเล็กแต่ก็ซนเป็นเซียน อยู่ไม่ค่อยจะสุข ร่าเริ่งดีหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนี้ล่ะก็ แปลว่าไม่มีปัญหา ถึงลูกคุณจะตัวเล็กก็ “เล็กพริกขี้นหนู” สู้กับพริกหยวกที่อ้วนใหญ่กว่าได้สบายมาก

แต่ถ้าลูกของคุณไม่ค่อยยอมกินอะไร โดยที่ทั้งวันเด็กได้แต่นั่งเฉย ๆ อยู่กับที่ ซึมมากกว่าซน และนอนก็เก่ง แปลว่าเด็กได้ออกลังกายน้อย ร่างกายจึงไม่ต้องการพลังงานมากนัก ถ้าคุณแม่ยุให้ลูกได้คลานเล่น วิ่งเล่นมากขึ้น เช่น ชวนลูกเล่นไล่จับกับคุณแม่อย่างสนุกสนาน ลูกคุณจะกินได้มากขึ้นโดยที่คุณแม่ไม่ต้องบังคับเลย มีเด็กไทยเป็นจำนวนมากที่กินน้อยด้วยสาเหตุประการหลังนี้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะคนไทยเรามีประเพณีนิยมที่จะเลี้ยงลูกผู้หญิงเป็นเด็กเรียบร้อย นี่งนิ่ง ๆยิ่งอยู่เฉย ๆ ได้ยิ่งดี เราลืมนึกไปว่าการที่เด็กได้เล่นซนนั้น เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งของเด็ก เด็กที่คุณพ่อคุณ แม่หรือคุณย่าคุณยายที่เข้มงวดมาก ๆ ไม่ค่อยยอมให้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านมักจะเป็นเด็กซึม กินน้อย ไม่ค่อยมีแรงและป่วยบ่อย ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น คุณแม่ต้องลองสังเกตว่าลูกของคุณไม่ยอมกินข้าวเพราะอะไร จึงจะแก้ปัญหาได้ถูก
 

ข้อมูลสื่อ

65-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527