• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลเสียเมื่อเด็กเครียด



การที่แม่หรือพ่อหย่าร้าง หรือเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตล้วนแต่เป็นสาเหตุที่อาจจะบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกันในลูกได้ทั้งนั้น แม้แต่การนำลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือนไปให้คนอื่นเลี้ยงก็พึงระมัดระวังว่าอาจจะเกิดผลเสียแก่ระบบภูมิคุ้มกันของลูก นอกเหนือจากผลเสียทางจิตใจ

เด็กที่ต้องตกอยู่ในภาวะเครียด แม้เพียงระยะสั้น ๆ อาจประสบปัญหาทางสุขภาพเป็นเวลายาวนานได้
นี่คือข้อสรุปจากการศึกษาของนักวัยแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งได้ทดลองพรากลูกลิงอายุ 6 เดือน (ซึ่งเทียบได้กับเด็กวัยตั้งไข่) จากแม่ลิงเป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง เพื่อจะดูว่าจะก่อให้เกิดผลเสียเช่นไร ต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูกลิง

ปรากฏว่าเวลาที่ลูกลิงไม่ได้อยู่กับแม่ขอมันนานเพียง 24 ชั่วโมง นี้เป็นเหตุให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า แม็คโครเฟก (macrophage) ในลูกลิงมีการทำหน้าที่ผิดปกติไปนาน อย่างน้อยหนึ่งเดือนทีเดียว ลูกลิงที่ถูกพรากจากอกแม่จะมีความรู้สึกเครียด ความเครียดนี้จะไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวแม็คโครเฟกให้ผลิตซูเปอร์ออกไซด์ (super oxide) มีผลเสียคือ ทำให้ร่างกายป้องกันตนเองจากเชื้อแบคทีเรียได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ดร.คริสโตเฟอร์ โค นักจิตวิทยาและประธานห้องปฏิบัติการศึกษาเรื่องลิง แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอน-ซิน กล่าวว่า “เป็นไปได้ว่าหากลูกลิงต้องพรากจากแม่เป็นเวลานานกว่านี้ ยีนในเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวแม็คโครเฟก คงจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะไป ซึ่งอาจจะทำให้ลูกลิงง่ายต่อการเป็นโรคในระยะยาวได้”
ดร.โคเปิดเผยว่า จากผลการศึกษาในคนเกี่ยวกับการที่ลูกเล็ก ๆ ไม่ได้อยู่กับแม่ มีบางกรณีที่ชี้ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างความเครียดกับโรคหลายชนิดในลูก อย่างเช่น โรคหืด ข้ออักเสบ และโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

อาจจะกล่าวได้ว่า ยิ่งการพรากจากแม่ (หรือพ่อ) เกิดขึ้นกับลูกในวัยเล็กมากเพียงใด ผลเสียก็จะมีมากเพียงนั้น ดร.โคกล่าวว่า “การที่แม่ หรือพ่อหย่าร้าง หรือเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่อาจจะบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกันในลูกได้ทั้งนั้น แม้แต่การนำลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือนไปให้คนอื่นเลี้ยง เช่น ให้สถานเลี้ยงเด็กตอนกลางวันเลี้ยง ก็พึงระมัดระวังว่า อาจจะเกิดผลเสียแก่ระบบภูมิคุ้มกันของลูกได้ นอกเหนือจากผลเสียทางจิตใจ”

ดร.โคได้ตั้งสมมติฐานอธิบายเรื่องนี้ว่า คงเป็นเพราะในวัยทารก จิตใจกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ดร.โคจึงแนะนำให้พ่อแม่พยายามเลี้ยงดูลูกให้มี ความมั่นคงทางอารมณ์ให้มากที่สุด เพื่อที่ว่า สุขภาพกายและใจของลูกจะได้สมบูรณ์ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรพ่อแม่โดยเฉพาะแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านขระลูกยังแบเบาะ จึงจะมีโอกาสอยู่กับลูกได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในแต่ละวัน

คำตอบต่อปัญหานี้เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่ายไม่เพียงแต่แม่และพ่อเท่านั้น
(จาก American Health ฉบับมีนาคม 1988 หน้า 48)

 

ข้อมูลสื่อ

109-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531