• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รองเท้าของลูก


จากการทดลองพบว่า เด็กจะออกแรงกระแทกเท้าในการวิ่งแต่ละก้าว มากกว่าผู้ใหญ่ คือโดยปกติแล้ว ผู้ใหญ่จะกระแทกเท้าด้วยแรงประมาณ 2 เท่าครึ่งของแรงจากน้ำหนักตัวในเวลาวิ่ง

เวลาคุณจะซื้อรองเท้าให้กับลูก ควรจะพิถีพิถันสักหน่อยในการเลือกซื้อของที่มีคุณภาพ อย่าคิดเพียงว่า แค่รองเท้าเด็ก ๆ หรือใช้ไปไม่เท่าไหร่ก็ต้องซื้อใหม่ เพราะเท้าโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องรองเท้า ไม่ว่าจะรองเท้ากีฬาหรือรองเท้าธรรมดาของลูกก็ตาม ลองอ่านข่าวต่อไปนี้แล้วคุณจะรู้ถึงเหตุที่กล่าวเช่นนี้

มีผู้ทดลองพบว่า เด็กจะออกแรงกระแทกเท้าในการวิ่งแต่ละก้าวมากกว่าผู้ใหญ่
การทดลองรายแรกใช้เด็ก 28 คน ในระดับอายุ 2, 4 และ 6 ขวบ โดยให้ทั้งหมดวิ่งไปบนพื้นวิ่งชนิดอยู่กับที่ และคอยวัดแรงกระแทกของฝ่าเท้าใน 3 ทางคือ แรงที่ลงแรงที่ไปข้างหน้าและข้างหลัง และแรงไปทางซ้ายและขวา ผลปรากฏว่า เด็ก 2 ขวบวิ่งได้ช้ามากจนไม่เกิดแรงกระทบที่สูงพอ ส่วนเด็ก 4 และ 6 ขวบ กระแทกเท้าลงบนพื้นวิ่งด้วยแรงโดยเฉลี่ยคิดเป็น 3 เท่าครึ่งของแรงจากน้ำหนักตัวเด็กเหล่านี้

โดยปกติแล้วผู้ใหญ่จะกระแทกเท้าด้วยแรงประมาณ 2 เท่าครึ่งของแรงจากน้ำหนักตัวในเวลาวิ่ง
เวอร์จิเนีย ฟอร์ตนีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย แห่งมหาวิทยาลัยเพนสเตต กล่าวว่า “อันที่จริงเด็กวัย 4 ขวบใช้เท้าฟาดไปบนพื้นวิ่งในการทดลองเลยทีเดียว”
ห้องปฏิบัติการวิจัยของบริษัทรองเท้าไนกี้ เป็นอีกรายหนึ่งที่ทดลองเรื่องนี้ โดยได้ทดลองกับเด็กโตกว่าในวัยตั้งแต่ 6 ถึง 13 ปี ปรากฏว่าได้ผลคล้าย ๆ กัน กล่าวคือ เด็กจะออกแรงกระแทกเกือบ ๆ 3 เท่าครึ่งของแรงจากน้ำหนักตัว

เหตุผลที่เด็กออกแรงกระแทกเท้าเวลาวิ่งมากกว่าผู้ใหญ่นั้น ดร.ทอม คลาร์ก ผู้อำนวยการวิจัยรองเท้าของบริษัทไนกี้กล่าวว่าเป็นเพราะ “เด็ก ๆ ยังไม่รู้จักประสานการทำงานของร่างกายได้ดีเท่าผู้ใหญ่” ยิ่งเด็กเล็ก ๆ ละก็ แกจะยิ่งไม่รู้จักยั้งและประสานการทำงานของรองเท้าในการออกแรงวิ่ง ทำให้เกิดแรงกระแทกลงไปบนเท้ามากขึ้น

ทั้งฟอร์ตนีย์และคลาร์กจึงแนะนำให้คุณคุณแม่เลือกซื้อรองเท้าที่มีคุณภาพสำหรับลูกวัยน้อย ๆ แม้-ว่าเท้าของแกจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนใช้รองเท้าคู่เก่าได้ไม่คุ้มค่าพอก็ตาม
ดร.คลาร์กให้เหตุผลว่า “การที่มีแรงตึงเครียดที่เท้ามาก ๆ เป็นเวลานานติดต่อกันจะเป็นผลเสียต่อการเติบโตของกระดูกได้”
(จาก American Health ฉบับกันยายน 1987 หน้า 28)

 

ข้อมูลสื่อ

109-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531