• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หญิงตั้งครรภ์ดื่มมาก ระวัง! เสี่ยงต่อการแท้ง



น.พ. หทัย ชิตานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์เผยว่า ปัจจุบันปัญหาสาธารณสุขที่เพิ่มความสำคัญคือ ผลจากการดื่มสุราที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสูบบุหรี่คือ การดื่มสุรา พบว่าประชากรวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรามากขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือวัยนี้จะดื่มถึงร้อยละ 26 ชายร้อยละ 40 จะดื่มสุรา ขณะที่หญิงร้อยละ 7 และร้อยละ 60 ของทุกครัวเรือน จะมีผู้ดื่มสุราอย่างน้อย 1 คนชายไทยจะดื่มสุรามากกว่าหญิงเป็นสัดส่วน 7.3 ต่อ 1 ประชากรในวัยทำงานเฉลี่ยต่อคนสามารถดื่มสุราถึง 25 ขวดต่อปี และเบียร์ 5 ขวดต่อปี

สำหรับผลเสียของการดื่มสุรา น.พ. หทัยกล่าวว่า มีผู้ป่วยปีหนึ่งถึง 55,000 รายโดยเจ็บทางกาย 5 หมื่น ทางจิต 5 พันราย และที่พบมากที่สุดคือโรคพิษสุรา คิดเป็นร้อยละ 70 นอกนั้นเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็งจากพิษสุราและอาการทางจิต หญิงมีครรภ์หากดื่มสุราเป็นประจำมีผลต่อบุตรในครรภ์ คือเสี่ยงต่อการแท้ง หรือเด็กเกิดมาพิการ เป็นโรคพิษสุราแต่แรกเกิดในอัตราส่วนถึง 1 ใน 3 และยังเป็นเป็นผลเสียในแง่สังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าด้านชีวิตหรือทรัพย์สิน

ตามสถิติในสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เนื่องจากดื่มสุราถึงร้อยละ 38 ในเมืองไทยก็สูงถึงร้อยละ 33 และเมืองไทยยังควบคุมกันน้อย กำหนดโทษไม่รุนแรง เป็นเรื่องจำเป็นที่ส่วนราชการจะต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างรีบด่วน

ต่อคำถามที่ว่า การรณรงค์ในเรื่องนี้จะขัดต่อนโยบายรัฐบาลหรือไม่อย่างไร เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสุราจำนวนมหาศาล น.พ. หทัยตอบว่า ก็เหมือนกับเรากำลังพายเรือทวนน้ำ แต่เราก็ต้องค่อย ๆ ทำไป แต่เมื่อพิจารณาถึงผลได้ผลเสียแล้ว รัฐบาลควรจะคิดหารายได้จากฐานภาษีอื่น ๆ มากกว่า ทั้งนี้เพราะการรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่ก็ทำกันอย่างได้ผลมาแล้ว

 

ข้อมูลสื่อ

111-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
ข่าว