• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามขวบ ถึงสี่ขวบ

                               

 

 


 

338. อาการอาเจียนเป็นระยะ
อาการอาเจียนเป็นระยะ หรืออาการเป็นพิษในตัวนี้ เคยเขียนไว้แล้วในหัวข้อ 282. (ดูหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 82 เดือนกุมภาพันธ์ 2529 หน้า 62)
อาการอาเจียนเป็นระยะจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอ่อนเพลียมากหลังจากไปเที่ยว หรือประสบเหตุการณ์ตื่นเต้น เด็กที่เคยมีอาการนี้มีโอกาสเป็นได้อีก ถ้าทุกครั้งที่เป็น ผู้ใหญ่ในบ้านพากันตกอกตกใจ โวยวาย รีบพาเด็กไปให้น้ำเกลือ เด็กจะฝังใจว่าตนจะต้องได้รับน้ำเกลือทุกครั้งที่อาเจียน ทั้ง ๆ ที่อาการนี้หากให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เพียงวันเดียวก็หาย เมื่องดอาหาร และได้แต่น้ำเกลือ ร่างกายก็ยิ่งอ่อนแอลง เสียเวลาถึง 3-4 วันกว่าจะหานเป็นปกติดังเดิม และเสียเงินด้วย

หากไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เวลาเด็กอาเจียนโดยไม่มีไข้และท้องไม่เสีย ทั้งยังรู้ว่าก่อนหน้านั้นเด็กมีเรื่องตื่นเต้นจนเหนื่อยอ่อน ก็สั่งให้นอนพักผ่อน พวกผู้ใหญ่ในบ้าน อย่าเอะอะโวยวาย โดยเฉพาะคุณตา คุณยายซึ่งมักจะห่วงหลานมาก ต้องอธิบายให้ท่านเข้าใจเอาไว้ เพราะอาการอาเจียนเป็นระยะ มีลักษณะเช่นเดียวกับอาการหืดหอบในเด็ก กล่าวคือ ถ้าเด็กถูกทะนุถนอมเสียจนอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ ก็ยิ่งหายยาก

 

 

 

339. โรคหืดในเด็ก
เด็กซึ่งมีอาการออยู่นาน จนกระทั่งแม่เกิดความกังวลว่าลูกจะไม่ได้เป็นหวัดธรรมดาเสียแล้ว จึงพาไปหาหมอ เมื่อหมอตรวจพบว่ามีเสียงหวีดในอก หมอจะบอกว่าเป็น “โรคหืดในเด็ก” ทำให้เด็กตกใจมาก บางกรณี แม่ก็เป็นฝ่ายวินิจฉัยโรคเสียเอง เมื่อเห็นลูกไอตอนเช้า หลังตื่นนอน และตอนกลางคืนก่อนนอนติดต่อกันเป็นเวลานาน พออากาศเย็นลงก็มีเสียงฟืดฟาดในอก เหงื่อออกมากจนผมแฉะ และร้องไห้ทุรนทุราย ทำให้แม่คิดว่าลูกคงเป็นโรคหืด ไม่ว่าหมอหรือแม่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคหืดก็ตามที ความจริงอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กมาตั้งแต่วัยทารกแล้ว กล่าวคือ เด็กมีเสมหะมากมานานแล้ว มิใช่จู่ ๆ เพิ่งมีในวัยนี้

โรคหืดของผู้ใหญ่กับอาการมีเสมหะมากในวัยเด็กนั้น เป็นปัญหาคนละอย่างกัน ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหืด มักคิดอยู่เสมอว่าตนเป็นหืด แต่เด็กวัยสามขวบที่มีเสมหะมากนั้น ไม่คิดเลยว่าตนเป็นคนป่วย ข้อแตกต่างนี้สำคัญมากเพราะ “โรคหืด” นั้น หากเจ้าตัวคิดว่าตนเป็นคนป่วย อาการป่วยจะหนักขึ้น และไม่สามารถออกไปนอกบ้านเพื่อฝึกร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้
หากไม่ต้องการให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีโรคหืดติดตัวแล้วไซร้ จงทำให้เด็กมั่นใจว่าตนเองเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงดี เด็กวัย 3 ขวบนี้ หากถูกผู้ใหญ่รุมล้อมด้วยสีหน้าวิตก กังวล และพาไปฉีดยาบ่อย ๆ เด็กจะคิดว่าตัวเองป่วยหนักและยึดแม่เป็นที่พึ่ง เวลามีเสมหะมากเด็กจะอ้อนแม่ ไม่พยายามไอเอาเสมหะออกมาด้วยตนเอง ทำให้มีเสมหะมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การดูแลเด็กเหมือนคนป่วย จะทำให้เด็กที่มีเสมหะมากเป็นปกติวิสัย กลายเป็นโรคหืดจริง ๆ ในภายหลัง

มีเด็กจำนวนมากมายที่มีเสมหะมาก หากทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เด็กจะหายอาการนี้ในวัยประถม ครอบครัวที่มีลูก 5-6 คน มักไม่มีใครเป็นโรคหืด แต่มีลูกโทนจำนวนมากที่เป็นหืด แสดงว่า “โรคหืด” อาจเกิดจากความห่วงใยเกินไปของผู้เป็นแม่ เวลาอากาศเย็นลงอย่างกะทันหัน เด็กมักจะมีเสมหะมากขึ้น ควรให้เด็กได้รับความอบอุ่น และอย่าอาบน้ำเย็น พยายามให้เด็กทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อมิให้เด็กคิดพึ่งแม่อยู่เรื่อยไป ตอนกลางคืน หากเด็กมีอาการทุรนทุรายเพราะหายใจไม่ออก จะให้ยาซึ่งขอมาจากหมอเตรียมเอาไว้แล้วก็ได้ แต่ก่อนให้ยา น่าจะจับให้เด็กนั่งและปลอบใจว่าไม่เป็นไร แล้วให้ดื่มน้ำอุ่นช้า ๆ และบอกให้เด็กหายใจด้วยท้อง ถ้าพ่อแม่ใจเย็น ไม่ตื่นตกใจ เด็กก็จะใจเย็นอยู่ได้ และอาการหอบหายไปโดยไม่ต้องกินยา ไม่ควรใช้ยาพ่นโดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะยาทำให้รู้สึกสบายขึ้นก็จริง แต่ก็ติดเหมือนยาเสพติดได้ และไม่ดีต่อหัวใจด้วย

อากาศเป็นพิษ สภาพแวดล้อมสกปรก ทำให้คนเป็นหืดกันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น ควันบุหรี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน ถ้าลูกมีอาการหืดหอบ พ่อไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน สาเหตุที่ทำให้เด็กหายใจฟืดฟาดเหมือนเป็นหวัดนั้นมีหลายประการ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแพ้สารบางชนิด เราต้องพยายามกำจัดสารต่าง ๆ ที่คาดว่าเด็กอาจจะแพ้ เช่น ไม่เลี้ยงสัตว์เล็ก ๆ กำจัดฝุ่นละอองและตัวไรในบ้าน ใช้ลูกเหม็นกันสัตว์ในตู้เสื้อผ้า เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

113-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531