• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อลูกนั่งอยู่หน้าจอ

 

                        

 

ปัญหาของพ่อแม่ในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกปัญหาหนึ่ง คือนิสัยการดูโทรทัศน์ของลูก พ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังหาวิธีจัดการกับอุปกรณ์ที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษนี้ไม่ได้
ในบ้านเรา มีการอภิปรายเปิดกว้างถึงเรื่องเด็กกับโทรทัศน์ ไม่ต่ำกว่าปีละ 6 ครั้ง และครั้งย่อย ๆ อีกนับไม่ถ้วน แล้วก็ได้แต่หวังกันว่า จะสามารถผ่อนคลายสถานการณ์อันตรายจาก “สิ่งเสพติดชนิดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” ตามที่ผู้เขียนให้สมญาจองบงการเด็ก ๆ ที่ทำให้ตื่นขึ้นมาแต่เช้าได้โดยไม่งอแง (ทำได้ดีกว่าพ่อแม่ซะอีก) ทำให้เด็ก ๆ ไม่ยอมนอนจนดึกดื่น และสิ่งแรกที่ทำเมื่อกลับจากโรงเรียนก็คือการนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์

ในทางจิตวิทยา เด็กยิ่งดูโทรทัศน์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้มีเพื่อนน้อยลงมากเท่านั้น เพราะดูเหมือน ว่าโทรทัศน์จะสามารถสร้างอารมณ์อย่างที่ได้จากคนจริง ๆ เช่น หัวเราะ ร้องไห้ สนุก กลัว หรือแม้แต่ประหม่า แถมยังไม่ต้องคอยนึกถึงจิตใจใครอีกด้วย ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการเข้าสังคมขึ้น(และจริง ๆ แล้วเด็กควรจะได้ไปวิ่งเล่นบ้างในตอนเย็น เพื่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม) ทำให้เด็กเพียงแค่รู้จักคิดอย่างในโทรทัศน์ มาสามารถใช้ความคิดหรือทฤษฎีที่เรียนรู้จริงๆของตัวเองได้เลย เด็ก ๆ แทบจะไม่ได้ฝึกอะไรเลย เมื่อนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ผิดกับเด็กที่พ่อแม่เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน เด็กฟังเสียงแล้วจะเรียนรู้ภาพได้ร้อยละ 13 ส่วนที่เหลือเด็ก ๆ จะจินตนาการเป็นภาพในสมองอีกครั้ง สำหรับการปล่อยให้เด็ก ๆ นั่งดูโทรทัศน์นั้น เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากภาพร้อยละ 76 จากเสียงอีกร้อยละ 13 รวมแล้วเกือบร้อยละ 90 ของการเรียนรู้ตามหลักจิตวิทยา ทำให้การคิดเองน้อยลงมาก นานเข้าอาจจะมีอาการมึน คือ คิดไม่ออกหรือสับสน พ่อแม่บางรายที่ช่างสังเกตจะเห็นอาการเหล่านี้ได้หลังการดูโทรทัศน์นาน ๆ ของลูก ๆ

วิธีการแก้ปัญหาที่เด็ก ๆ ใช้ ก็มักจะลอกเลียนมาจากพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่เห็นในโทรทัศน์ แม้จะไม่ได้ทำเด็กๆ ก็มีโอกาสเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เช่น การที่ต้องดื่มเหล้าเมื่อเกิดความเสียใจ เป็นต้น และยังพบว่าวิธีการรุนแรงในโทรทัศน์มีผลกับเด็ก ๆ มากกว่า ความอ่อนโยนที่แสดงในโทรทัศน์อย่างแน่นอน
จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่า เด็กไทยใช้เวลาว่างดูโทรทัศน์วันละ 3-4 ชั่วโมงในวันธรรมดา ในวันหยุดมากกว่า 5 ชั่วโมง เรียกได้ว่าดูเรื่อยไปจนไม่มีสิทธิ์เลือกรายการว่าจะดูหรือไม่ดูรายการไหน เด็ก ๆ ส่วนมากจึงได้ดูรายการทุกประเภท รวมทั้งโฆษณาผลิตภัณฑ์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของฟุ่มเฟือยและสิ่งมอมเมาต่าง ๆ ตลอดเวลา

ในประเทศที่มีผู้ผลิตรายการ ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างจริงจังที่จะใช้โทรทัศน์สร้างค่านิยมใช้ประชาชน มักจะมีการสร้างภาพพจน์ผ่านทางภาพยนตร์โทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกล้าหาญหรือวีรกรรมของหมอ พยาบาล ครู นักกีฬา หรือแม้แต่ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จชีวิต ที่สุขสดชื่นเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดผลจริงมากมายและแผ่ขยายเป็นวงกว้างไปในหมู่คนที่ดูโทรทัศน์ และที่สำคัญคือกับเด็กเพราะเป็นการสร้างค่านิยมขึ้นมาในสมองเล็ก ๆ ของแกด้วย ดังนี้เราจึงพูดได้เต็มปากว่า ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มีอิทธิพลอย่างมากในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่น่าตื่นตัวกันอย่างมาก เพราะปัจจุบันโทรทัศน์ไม่ได้ผลิตรายการขึ้นมาเพื่อจำลองโลกที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นมาให้เห็นเท่านั้น แต่กลับมีผู้ผลิตรายการที่พยายามสร้าง “โลกใหม่” ขึ้นมา เป็นโลกที่มีความเชื่อใหม่ บุคลิกภาพใหม่ เมื่อเด็กและผู้ใหญ่รับเข้าไปแล้ว ทัศนคติที่ดีอาจจะเปลี่ยนไปได้ง่าย ๆ ทางออกและคำตอบที่แท้จริงสำหรับเครื่องมือที่มีทั้งข้อดี ข้อเสียนี้ไม่ใช่การเนรเทศโทรทัศน์ ออกจากบ้านหรือให้พ้นไปจากลูก ๆ แต่ควรเป็นการใช้โทรทัศน์ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด พ่อแม่ควรจะหาโอกาสสำรวจดูรายการโทรทัศน์ที่ลุก ๆ ดูอยู่อย่างน้อยเพื่อการหาวิธีคุยกับลูก ๆ และมีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การพูดคุย ไม่ใช่เป็นการที่ต่างคนต่างดูหรือแค่เป็นการนั่งกินอาหารเย็นหน้าจอโทรทัศน์

คำพูดที่พ่อแม่ควรจะใช้เพื่อนำไปสู่การอธิบายความเป็นจริงในโทรทัศน์ ไม่ควรเป็นการอธิบายซ้ำซากหรือสั่งสอนยืดยาว รวมทั้งห้ามปรามอย่างรุนแรง แต่ควรจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ วิจารณ์ “มายา” จากโทรทัศน์ เพื่อให้เด็ก ๆ มีโอกาสคิดเอง และกลับเข้าสู่โลกของความเป็นจริงได้ด้วยตนเอง ควบไปกับการกระตุ้นให้เด็ก ๆ สนใจเรื่องอื่น ๆ ที่จะทำให้ได้เคลื่อนไหว ทั้งทางด้านร่างกาย และความคิด อย่าให้ลูก ๆ มีแค่โทรทัศน์เท่านั้นที่เป็นทางเลือก
ที่สำคัญกว่านั้นคือพ่อแม่อย่ามัวติดคำว่า “ไม่มีเวลา” หรือไม่ก็ติดโทรทัศน์เสียเองเท่านั้นเป็นพอ

(รวบรวมจากสรุปการสนทนาประกอบการดูวีดีโอ เรื่อง “สอนลูกให้ดูทีวี” จัดโดยโครงการสร้างสรรค์ชีวิต และสังคมเพื่อเด็ก มูลนิธิเด็ก)

ข้อมูลสื่อ

117-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
นานาสาระ