• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 3 ชีวิตความเป็นอยู่ (สภาพแวดล้อม)ที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง


23. ใช้สีห้องพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง

สำหรับบ้านที่มีลูกหลายคน บ่อยครั้งที่น้องตัวเล็ก ๆ ไปเล่นในห้องของพี่ชายหรือพี่สาวของแก แล้วไปนอนหลับอยู่ที่นั่น ทั้งนี้เพราะเด็ก ยังไม่รู้จักแยกแยะว่าห้องไหนเป็นห้องของเขา ห้องไหนเป็นห้องของพี่ชายหรือพี่สาว เด็กเล็ก ๆ จะเห็นห้องทุกห้องเป็นเหมือนห้องเดียวกัน และทุกห้องในบ้านเป็นของทุกคนในครอบครัว

หากเด็กยังคิดแบบนี้ เขาจะไม่รับผิดชอบห้องของตัวเอง ความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ไม่พัฒนา
ดังนั้น ผมคิดว่าห้องเด็กแต่ละห้องควรมีลักษณะเฉพาะของเจ้าของ การเอาของเล่นที่เด็กโปรดวางไว้ในห้องของเขา ก็เป็นวิธีการระบุลักษณะเฉพาะแบบหนึ่ง เช่น ห้องของลูกคนโตจะมีรถบังคับวิทยุ ซึ่งเป็นของโปรดของเขาวางอยู่ ห้องของลูกคนเล็กอาจมีตุ๊กตาหมีซึ่งเขาชอบกอดเวลานอนวางอยู่บนเตียง เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้จะทำให้คนรู้ทันทีว่าห้องนั้นเป็นห้องของใคร
อย่างไรก็ตาม ของเล่นเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ ลูกคนเล็กอาจหอบเอาตุ๊กตาหมีตัวโปรดไปเล่นในห้องพี่ชายและหลับอยู่ที่นั่นก็ได้ หากเป็นเช่นนี้ ความแตกต่างของห้องก็ยังไม่มีเช่นเดิม

สำหรับบ้านผม เลือกใช้วิธี แยกลักษณะห้องด้วยสีของผนังห้อง โดยให้เจ้าตัวเลือกสีและลายของกระดาษปิดผนังด้วยตนเอง ลูกชายคนโตเลือกลายสีฟ้า ลูกสาวเลือกลายสีเหลือง ส่วนลูกชายคนเล็กกลับเลือกสีขาวล้วน การทำเช่นนี้ทำให้ลูกชายคนสุดท้องของผมเข้าใจชัดเจนว่า ห้องไหนเป็นของใคร ความแตกต่างนี้ยังช่วยพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอีกด้วย นอกจากนั้น ฝาผนังห้องยังต่างกับของเล่นตรงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ และเปลี่ยนใหม่บ่อย ๆ ไม่ได้

ในกรณีที่เป็นเด็กฝาแฝด ซึ่งถูกเลี้ยงมาด้วยกัน ของใช้ส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน หน้าตาคล้ายคลึงกัน และอายุก็ไม่แตกต่างกันนั้น เด็กจะแยกเป็นอิสระจากกันและกันได้ยาก เพราะฉะนั้น นอกจากจะทำให้สีห้องแตกต่างกันแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ เช่น ชุดนอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดเท้า ควรใช้คนละสีด้วย เช่น ของคนหนึ่งสีฟ้า อีกคนหนึ่งสีเขียว โดยเลือกสีที่เจ้าตัวเขาชอบ เมื่อเด็กเห็นชุดสีของตนวางแหมะอยู่ เขาจะรู้ทันทีว่าเป็นของเขา และรู้จักเก็บให้เรียบร้อย ความเป็นตัวของตัวเองนี้ เราต้องสร้างให้เป็นนิสัยติดตัวเด็กมาตั้งแต่เล็ก โดยทำให้เขารู้จักแยกแยะของของตัวเองจากของคนอื่น


34. ห้องที่ช่วยให้เด็กหัวดี ห้องที่ทำให้เด็กโง่

ห้องเด็กนั้นมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กมากเพียงใดคงจะพอเข้าใจกันแล้วนะครับ และไม่เฉพาะแต่เด็กเล็กเท่านั้น “ห้อง” มีความสำคัญมากต่อการใช้สมองของนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วด้วย

เด็กมัธยมบางคน เรียนเต็มเวลาที่โรงเรียน แล้วยังต้องไปเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน แต่คะแนนการเรียนก็ไม่ดีขึ้นเลย ผมคิดว่าห้องของเด็กแบบนี้คงมีหนังสือการ์ตูน และหนังสืออ่านเล่นอยู่มากมาย ข้าวของในห้องคงจะกระจัดกระจาย รกรุงรังด้วยกระมังครับ
แม้ว่าเด็กจะพยายามเรียนอย่างขยันขันแข็งนอกบ้าน แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน ย่างเท้าเข้าห้องของตัวเองเมื่อไร ทั้งสมองและหัวใจหันหลังให้กับการเรียนทันทีละก็แย่แน่ ๆ ครับ อาจเป็นไปได้ว่าที่เด็กเป็นอย่างนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจ เด็กอยากหนีจากการศึกษาเล่าเรียนอยู่แล้ว แต่ผมว่าสาเหตุอื่นย่อมมีแน่นอนครับ

ผมกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า ห้องบางห้องทำให้เด็กอยากเรียน บางห้องทำให้เด็กหมดอารมณ์ดูหนังสือ กล่าวคือ สภาพแวดล้อมในห้องมีอิทธิพลของสมองของเด็กเป็นอันมาก ต่อให้ไปเรียนพิเศษ ไปกวดวิชามากสักแค่ไหน หากห้องในบ้าน ทำให้หมดอารมณ์เรียน พอกลับถึงบ้านเด็กก็ไม่ดูหนังสือ เมื่อขาดการทบทวน และการเตรียมบทเรียนที่ดี คะแนนการเรียนย่อมดีไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมของห้องเด็ก จึงส่งผลต่อการเรียนด้วย ผมขอย้ำว่า มีห้องที่ช่วยให้เด็กหัวดีขึ้น และห้องที่ทำให้เด็กโง่ลงแน่นอนครับ
สิ่งสำคัญที่สุดต่อการเรียนคือ “พลังสมาธิ” เพราะฉะนั้นห้องที่ดี ต้องเป็นห้องที่ทำให้เด็กมีสมาธิ แม้ว่าเด็กจะหัวดี แต่ถ้าขาดสมาธิผลการเรียนย่อมไม่ดีขึ้น ห้องในอุดมคติคือ ห้องที่ย่างเท้าเข้าไปเมื่อใด หัวสมองแจ่มใสทันที เกิดความอยากทำงาน เกิดพลังสมาธิ และสมองแล่นดี หากมีห้องแบบนี้ล่ะก็เลิศที่สุดละครับ

คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่าห้องแบบนี้จะมีหรือ ?
ผมของบอกว่ามีครับ เวลาผมทำงาน สมองของผมแจ่มใส มิฉะนั้นผมจะทำงานไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงสร้างห้อง 2 ห้องขึ้นในบ้าน เพื่อทำให้สมองแล่น ห้องหนึ่งคือห้องที่มีสวนญี่ปุ่น ผมเรียกว่า “ห้องสงบ” เป็นสวนญี่ปุ่นขนานแท้ที่มีหินก้อนใหญ่วางไว้ และมีสนามทรายเป็นลายน้ำ เข้าไปอยู่ในห้องนี้แล้วเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นการพักสมองและทำให้จิตใจสงบ

อีกห้องหนึ่งเป็นห้องที่มีเครื่องยนต์กลไก ซึ่งผมเรียกว่า “ห้องแล่น” (สมองแล่น) เพดานห้อง ผนังห้อง ผมทาสีดำสนิท หน้าต่างก็มีม่านกั้น มีจอภาพยนตร์ มีวีดีโอ มีเครื่องเล่นเทป เครื่องแสงเครื่องเสียงอยู่ในห้องนี้ทั้งหมด วิธีใช้ห้อง 2 ห้องของผมคือ ก่อนอื่น ผมจะเข้าไปอยู่ใน “ห้องสงบ” เพื่อพักสมอง และทำใจให้สงบ เมื่อจิตสงบและมีสมาธิดี ผมก็ย้ายไป “ห้องแล่น” พอเข้าห้องนี้ ผมก็ใช้เครื่องเสียง ซึ่งมีลำโพง 14 ตัว กรอกหู พลิกสมอง เพื่อสร้างจินตนาการใหม่ ๆ ขึ้นมา หลังจากนั้น ผมก็กลับไป “ห้องสงบ” เพื่อใครครวญความคิดต่าง ๆ และสรุปหาคำตอบออกมา

ผมทำอย่างนี้ได้ผลดีมากครับ การย้ายไปมาระหว่างห้องสองห้องนี้ ทำให้ผมมีพลังสมาธิ เกิดพลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์ก็หลั่งไหลออกมา แต่การสร้างห้องแบบนี้เสียค่าใช้จ่ายสูง และเปลืองสถานที่ด้วย แม้จะทำให้ลูกหัวดีขึ้นก็คงลงทุนไม่ไหว อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำห้องเด็กให้เป็น “ห้องสงบ” และ “ห้องแล่น” ได้โดยไม่ต้องเอาหินมาวาง หรือเอาเครื่องเสียงราคาแพงมาติดตั้ง เพียงแต่แบ่งห้องให้เป็น “เขตสงบ” และ “เขตแล่น” ก็ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

ข้อมูลสื่อ

120-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า