• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กเจ็ดเดือนถึงแปดเดือนสภาพผิดปกติ

187. ลิ้นแผนที่ (Lingua geographica)
เมื่อเด็กนั่งให้คุณแม่ป้อนข้าวได้ คุณแม่มีโอกาสเห็นลิ้นของลูก และอาจตกใจเมื่อเห็นบนลิ้นของลูกเป็นลายขาวๆ คล้ายแผนที่ คือมีแผ่นดินใหญ่เป็นสีขาวๆ และมีอ่าวมีทะเลสาบเป็นสีแดงของลิ้น

คุณแม่กลัวว่าจะเป็นโรคอะไรเกี่ยวกับลิ้นพาไปหาหมอ หมอบอกว่า "ลิ้นแผนที่" และไม่ต้องรักษาอะไรทั้งนั้น แต่อีก 2-3 วันปรากฏว่าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะทวีปเกิดเคลื่อนที่ แผนที่เปลี่ยนรูปร่างไปหมด คุณแม่ชักไม่สบายใจอีกแล้ว

ที่จริง อาการนี้เปรียบเสมือนการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวของลิ้น ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด เด็กบางคนจะเห็นแผนที่บนลิ้นได้ชัด บางคนก็ไม่เห็น ปกติเราจะเห็นแผนที่บนลิ้นตั้งแต่เด็กอายุได้ 2-3 เดือน แต่ระยะนั้นคุณแม่มักให้เด็กดูดนม จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้คอยสังเกตดูลิ้นเด็ก

เด็กบางคนมีแผนที่บนลิ้นจนถึงชั้นประถม เรื่องนี้เราไม่รู้สาเหตุ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กแบบนี้อ่อนแอกว่าปกติ อาการนี้ถึงจะให้กินยาหรือใช้ยาทาก็ไม่หาย เป็นลักษณะเฉพาะของเด็กเหมือนกับเด็กที่เป็นผดง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มี "ลิ้นแผนที่" จะเป็นผดง่ายไปด้วย

ลักษณะของเด็ก
188. ลักษณะของเด็ก 8-9 เดือน
พอถึงวัยนี้คุณแม่จะปล่อยให้เด็กคลาดสายตาไม่ได้แล้ว เพราะเด็กเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ไปไหนๆ ในห้องได้คนเดียว จึงมีอันตรายมาก นอกจากนั้น เด็กในวัยนี้ส่วนมากพอคุณแม่เดินจากไปมักจะร้องให้ไม่ยอมให้ไป

เด็กนั่งได้นานขึ้นโดยไม่ต้องใช้อะไรพยุง หลายคนคลานได้แล้ว บางคนเกาะยืนได้แล้ว และมีน้อยคนที่เดินได้ในวัยนี้

เด็กใช้มือได้อย่างอิสระขึ้น ฉีกหนังสือพิมพ์ได้ (บางคนเคี้ยวกินเลย) สามารถเอาของเล่นจากมือซ้ายใส่มือขวาบ้างเอามือทุบโต๊ะปังๆ บ้าง เวลาเห็นเชือกห้อยอยู่จะชอบดึงเล่น ถ้าทำช้อนตกจากโต๊ะอาหารจะพยายามก้มหาเอง

เด็กสามารถเลียนแบบสิ่งง่ายๆ ได้ เวลาคุณแม่ป้อนอาหารแล้วร้อง "อ้าม" เด็กก็จะร้อง "อ้าม" ตาม เวลาส่งคุณพ่อไปทำงานก็ "บ้ายบาย" ได้ หรือจะสอนกวักมือเรียกคน "ไล้ ไล้" ก็ได้ (แต่การสอนให้ทำอย่างนี้ได้เร็วไม่ได้ช่วยเร่งให้เด็กปัญญาดีขึ้นหรอก)

เด็กวัยนี้ยังพูดภาษาไม่ได้ แต่สามารถออกเสียงต่างๆ ได้บ้างแล้ว เช่น อ้าม จ้ะ มา ปา ฯลฯ เด็กฟังภาษาเข้าใจมากขึ้น พอเรียกชื่อสิ่งที่เด็กคุ้นเคย เด็กก็จะมองหาหรือหยิบส่งให้ได้

เด็กบางคนชอบให้เล่นแรงๆ เวลาถูกจับโยนจะหัวเราะชอบใจ บางคนชอบเล่นจ๊ะเอ๋ บางคนปีนเก่ง ถ้าไม่กั้นเตียงเตี้ยอาจปีนตกลงมาได้

เด็กจำหน้าพ่อแม่ได้ดีแล้ว และถ้าเด็กคนไหน "แปลกหน้า" คนง่าย พอเห็นคนแปลกหน้าจะร้องดังลั่นยิ่งกว่าเดือนที่แล้ว เด็กจะแปลกหน้าคนเก่งหรือไม่นั้น แล้วแต่นิสัยของเด็กแต่ละคน เด็กบางคนไม่ว่าเจอหน้าใครก็ยิ้มให้ทั้งนั้น เป็นที่ชื่นชอบของคนรอบด้าน

เด็กที่ชอบดนตรี เวลาได้ยินเสียงดนตรีจะขยับร่างกายตามไปด้วย
เด็กวัยนี้ยังเล่นกับเด็กอื่นไม่ได้ แต่ชอบดูเด็กอื่นเล่นและทำท่าสนุกสนานไปด้วย

ระยะเวลาการนอนมักไม่แตกต่างจากเดือนที่แล้วนัก เด็กส่วนใหญ่จะนอนช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ช่วงละหนึ่งถึงสองชั่วโมงครึ่ง เด็กบางคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง อาจจะไม่นอนช่วงเช้า และมักจะนอนน้อย เด็กประเภทนี้เป็นคนประเภท "แอคทีฟ" (ไม่ชอบอยู่เฉยๆ) และพักผ่อนน้อยก็พอเพียง กลางวันก็นอนน้อย แถมกลางคืนยังไม่ค่อยยอมนอนอีก คุณแม่ของเด็กประเภทนี้มักจะกลัวว่าลูกจะนอนไม่พอ

เด็กวัยนี้มักจะนอนตอน 3 ทุ่ม และลุกขึ้นตอน 7-8 โมงเช้า แต่มีน้อยคนที่จะนอนรวดเดียวถึงเช้าโดยไม่ตื่นเลย ส่วนใหญ่จะตื่น 2-3 ครั้ง เพราะฉี่เปียก ซึ่งบางคนก็หลับต่อได้เลย บางคนต้องดูดนมแม่นิดนึงจึงหลับ บางคนต้องกินนมครึ่งขวดจึงจะหลับก็มี

เด็กที่กลางคืนตื่นแล้วนอนยาก ถ้านอนแยกกับคุณพ่อคุณแม่ จะต้องลุกไปกล่อมบ่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดต้องพามานอนข้างๆ ก็มี

เด็กบางคนนอนดิ้นมากนนอนเตียงเด็กไม่ได้ เพราะหัวฟาดขอบเตียงบ่อยๆ ดังนั้นพอถึงวันนี้มีหลายบ้านทีเดียวที่ต้องย้ายเด็กมานอนกับคุณแม่
 

ข้อมูลสื่อ

49-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 49
พฤษภาคม 2526