• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 3 ชีวิตความเป็นอยู่ (สภาพแวดล้อม)ที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง


21. สร้าง “ห้องเล่น” ให้ลูก

เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะสะอาดเรียบร้อยอยู่ทั้งวัน เวลาเด็กเล่นดิน เล่นทราย แกก็เล่นสนุกจนเลอะเทอะไปทั้งตัว เวลาเล่นดินน้ำมัน พื้นห้อง หรือฝาผนังจะเปรอะเปื้อนสักแค่ไหน เด็กก็ไม่สนใจ
แต่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพี่เลี้ยง คุณแม่หรือคุณย่าคุณยายมักทนเห็นเด็กและบ้านช่อเลอะเทอะไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงการที่เด็กง่วนอยู่กับการเล่นอย่างเพลิดเพลินเช่นนี้ เป็นผลดีต่อพัฒนาการทางสมองที่สุด
เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ สมัยนี้ ถูกผู้ใหญ่จับแต่งกายเสียสวยงาม ทำให้เด็กไม่กล้าเล่นเพราะกลัวเสื้อเปื้อน ผู้ใหญ่ก็ชอบใจ ไม่เปลืองแรงซักผ้าและทำความสะอาด แต่เลี้ยงเด็กแบบนี้ จะทำให้เด็กหัวดีได้อย่างไร เพราะเด็กไม่มีสมาธิในการเล่น มัวแต่ห่วงเรื่องเสื้อเปื้อนอยู่ตลอดเวลา

สมัยผมยังเด็ก นอกจากห้องดูหนังสือส่วนตัวแล้ว ผมยังมีห้องเล่นหรือห้องทำสิ่งประดิษฐ์อีกห้องหนึ่ง ความกว้างประมาณ 10 ษุโบะ (1 tsubo = 3.3 ตารางเมตร) ห้องนี้ผมจะทำสกปรกอย่างไรก็ไม่มีใครว่า เพราะเป็นปราสาทส่วนตัวของผมและมีความสำคัญสำหรับผมมาก เป็นสถานที่ที่ผมคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ มีอุปกรณ์เครื่องมือมากมาย ผมหมกมุ่นอยู่กับการประดิษฐ์เครื่องบินจำลองในห้องนี้ อุปกรณ์ถ่วงศูนย์อัตโนมัติ และเครื่องบินแบบพับขาล้อได้โดยอัตโนมัติ ก็ถือกำเนิดจากห้องนี้ อาจกล่าวได้ว่าสมองของผมพัฒนาขึ้นมาเพราะห้องนี้ ผมคิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จากห้องนี้แหล่ะครับ
ถ้าอยากมีลูกหัวดีลองสร้าง “ห้องเล่น” ซึ่งเด็กมีอิสระเสรีที่จะทำสกปรกได้ตามใจชอบให้แกสักห้องซีครับ

ผมพูดอย่างนี้ บางคนอาจมีปัญหาเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก็ได้ แต่อย่าเพิ่งท้อใจครับ เราสามารถดัดแปลงให้บ้านเรามี “ห้องเล่น” สำหรับเด็กได้เสมอ ยกตัวอย่างบ้านผมเองก็ได้ ผมกับภรรยาและลูกอีก 3 คน อยู่รวมกันในบ้านแบบห้องชุด (แฟลต) เรามีห้องจำนวนจำกัด และพยายามดัดแปลงจนกระทั่งสามารถแบ่งเป็นห้องดูหนังสือให้ลูก ๆ ได้คนละห้องแต่ถ้าจะสร้างห้องเล่นส่วนตัวให้อีกคนละห้อง ผมต้องมีห้องอีกถึง 3 ห้อง ซึ่งบ้านแบบห้องชุดที่ผมอยู่นี้ทำไม่ได้แน่ ผมจึงเกิดความคิดที่จะสร้างห้องส่วนตัวให้ลูก ๆ เป็นทั้งห้องเรียน ห้องนอน และห้องเล่น อยู่รวมกันในห้องเล็ก ๆ ซึ่งมีพื้นที่พอวางเตียง วางโต๊ะเขียนหนังสือเท่านั้น

ความคิดที่จะประดิษฐ์ห้องเล่นให้ลูกนี้ วาบเข้ามาในสมองเมื่อผมจ้องมองเตียงซึ่งวางกินพื้นที่อยู่ในห้องแคบ ๆ นั้น เพราะมันทำให้สูญเสียเนื้อที่โดยเปล่าประโยชน์ น่าเสียดายจริง ๆ
สิ่งที่ผมทำคือ ต่อขาเตียงให้สูงขึ้นจนเกือบจรดเพดาน ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ว่างเปล่าใต้เตียงขึ้นมาทันที ผมวางโต๊ะสำหรับทำสิ่งประดิษฐ์ไว้ใต้เตียง และใต้โต๊ะก็คือ กล่องเครื่องมือเท่านั้นลูกผมก็มีทั้งห้องเรียน ห้องนอน และห้องเล่นส่วนตัวอย่างพร้อมมูล พ้นที่ใต้เตียงนี้คือ เขตแดนอิสระของลูก ๆ ใครจะทำสกปรกสักแค่ไหน เขียนฝาผนังเล่นเลอะเทอะสักเท่าไร เฉพาะพื้นที่บริเวณนี้พ่อแม่จะไม่บ่นว่าเป็นอันขาด ห้องเล่นแคบ ๆ เนื้อที่เท่าเตียงนอนนี้จึงเปรียบเสมือนปราสาทส่วนตัว ซึ่งจะช่วยพัฒนาสมองของพวกเขาด้วย

ลูกชายคนโตอายุ 16 ปีของผมกำลังหมกมุ่นอยู่กับการสร้างซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ลูกชายคนเล็กอายุ 11 ปี ก็หลงใหลของเล่นที่ใช้วิทยุบังคับและเครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ เขาใช้ห้องเล่นเป็นที่ประกอบวิทยุบ้าง ใช้คอมพิวเตอร์ร่างภาพต่าง ๆ บ้าง วุ่นทั้งวันเหมือนกันครับ
ส่วนลูกสาวอายุ 14 ปีของผม ก็ทำสิ่งประดิษฐ์ของเด็กผู้หญิงบ้าง วาดรูปบ้าง ใน “ห้องนั่งเล่น” ของเธอ เนื่องจากห้องนี้เป็นห้องที่พ่อแม่อนุญาตไว้แล้วว่าจะทำสกปรกสักแค่ไหนก็ได้ ความรู้สึกของเด็กเวลาเล่น หรือทำงานอยู่ในบริเวณนี้ จึงแตกต่างกับเวลาที่เขานั่งโต๊ะเขียนหนังสืออย่างลิบลับทั้ง ๆ ที่ความจริงก็อยู่ในห้องเดียวกันนั่นเอง

ตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นตัวอย่างของครอบครัวผมเท่านั้น คุณสามารถดัดแปลงให้เข้ากับสภาพของบ้านคุณเองได้ หากบ้านไหนไม่มีห้องเด็กเลย ก็อาจจัดมุมระเบียงมุมใดมุมหนึ่งให้เป็น “ห้องเล่น” ของเด็ก ถ้ากลัวผนังเปื้อน ก็กรุผนังด้วยกระดาษปิดผนัง หรือวัสดุอื่นที่ทำความสะอาดง่ายก็ได้ ขอให้เด็กได้มีปราสาทส่วนตัวที่เขามีอิสระเสรีอย่างเต็มที่เท่านั้น พื้นที่จะกว้างหรือแคบไม่สำคัญ เด็กจะได้ใช้สถานที่นี้เล่นคนเดียว เพื่อสร้างพลังความคิด พลังสมาธิ และพลังสร้างสรรค์เป็นสมบัติติดตัวสืบไป
 


( อ่านต่อฉบับหน้า )

ถ้าอยากมีลูกหัวดีจากหนังสือKODOMO NO ATAMA YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

ข้อมูลสื่อ

118-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า