• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์


19. เมื่อเด็กอายุ 5 ขวบ ควรเสริมสร้างพลังสมาธิ

ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า พลังสมาธิเป็นเงื่อนไขสำคัญเพียงไรในการช่วยให้เด็กหัวดี
ทีนี้มาถึงปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร เด็กจึงมีพลังสมาธิดี? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ หัดให้เด็กมีสมาธิเป็นนิสัยตั้งแต่เล็ก เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำได้ยากมาก การสร้างนิสัยให้เด็กมีสมาธินั้น ยิ่งเริ่มทำเร็วเท่าไรก็จะทำได้ง่ายเท่า นั้น แต่ถ้าปล่อยไว้จนถึงมัธยมปลาย แล้วมาบังคับเด็กเอาตอนนั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังทำให้เด็กเกิดอารมณ์ต่อต้านขึ้นมาด้วย

การปลูกฝังนิสัยให้เด็กเล็ก ๆ มีสมาธินั้นเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด แต่ใช้ท่าทีชี้นำแทน
เด็กเล็ก ๆ มีความสนใจต่อสิ่งรอบกายอย่างมากมาย แต่ก็เบื่อง่าย โดยเฉพาะเด็กระดับปฐมวัย ซึ่งยังไม่เข้าโรงเรียนอนุบาล นิสัยนี้เราจะเห็นได้ชัด พ่อแม่ต้องไม่บังคับให้ลูกทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว ควรปล่อยให้ลูกทำสิ่งที่สนใจไปเรื่อย ๆ

พอถึงอายุประมาณ 5 ขวบ เด็กจะเริ่มมีสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษ หรือถ้าเด็กยังค้นหาด้วยตนเองไม่พบ พ่อแม่อาจจะช่วยได้โดยการให้เด็กทดลองทำในสิ่งที่คิดว่าเขาชอบมากกว่าอย่างอื่นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งค้นพบสิ่งที่เขาชอบเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น หากคิดว่าลูกสนใจเครื่องบิน ก็พาไปเที่ยวสนามบิน ให้ดูเครื่องบินแบบใหม่ ๆ หรือให้แท่งไม้บ้าง ดินน้ำมันบ้าง บอกให้ลองสร้างเครื่องบินจำลอง จุดสำคัญคือ ให้เด็กลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ซื้อเครื่องบินสำเร็จรูปมาให้ไขลานเล่น หรือดูเล่นเท่านั้น เมื่อเด็กสร้างเครื่องบินลำแรกได้สำเร็จ คราวนี้ เราก็สนับสนุนให้สร้างลำใหม่ที่ดียิ่งกว่าลำเก่า เมื่อเด็กหมกมุ่นอยู่กับการสร้างเครื่องบินจำลองไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มคิดเอง ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ เพื่อสร้างเครื่องบินแบบเก๋ไก๋กว่าเก่า เป็นการกระตุ้นให้มีจินตนาการสร้างสรรค์และพัฒนาพลังสมาธิด้วย
การฝึกสมาธิให้เด็กมีสมาธินั้น ก่อนอื่นต้องทำให้เด็กสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างจริงจังเสียก่อน ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องเป็นสิ่งที่เด็กชอบ การจ้างครูพิเศษมาสอนภาษาอังกฤษ ให้ลูกตั้งแต่เล็ก เพื่อให้เด็กจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเป็นการบังคับให้เด็กเรียนโดยที่เด็กไม่สนใจ และเด็กจะไม่มุมานะเรียนด้วยใจหรอกครับ

ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “เอมิล” (Emile) ของเขาว่า “หากจะสร้างคนเก่ง เราต้องสร้างเด็กซน” ผมขอกล่าวเพิ่มเติมตามความเข้าใจของผมว่า เด็กทุกคนมี “ต้นหน่อ” ของพลังคิด พลังสมาธิ และพลังสร้างสรรค์อยู่ในตัว และสิ่งเหล่านี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ตามแรงกระตุ้นของสภาพแวดล้อม แต่พ่อแม่มักเข้าใจผิดตรงจุดนี้ คือ ต้องการให้ลูกเก่งเร็ว ๆ อย่างเห็นผลได้ชัด จึงยัดเยียดวิชาความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก การได้รับความรู้สำเร็จรูปเหล่านี้ กลับกลายเป็นตัวทำลาย “ต้นหน่อ” ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เสียไป

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า “การเล่น” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็ก เด็กเล็ก ๆ จะเกิดความสนใจสิ่งต่าง ๆ โดยผ่านการเล่น พ่อแม่ไม่ควรถอน “ต้นหน่อ” เหล่านั้นทิ้งเสีย โดยการห้ามลูกเล่นนู้นเล่นนี่ และหากรู้ว่า ลูกสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษ ควรส่งเสริมให้ “ต้นหน่อ” นั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกสนใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้งจริงจัง และช่วยให้เด็กมีสมาธิจนติดเป็นนิสัย เมื่อเด็กพุ่งความสนใจทั้งหมดไปยังสิ่งที่เขาชอบ เขาคิดหาทาง ทำให้มันสนุกยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างพลังคิด และเมื่อสั่งสมความคิดของตนเองมากขึ้น ก็จะเล่นสนุกขึ้น และเกิดจินตนาการสร้างสรรค์ขึ้นตามมาด้วย

กล่าวได้ว่า เด็กจะพัฒนาพลังสมาธิ พลังคิด และพลังสร้างสรรค์ ได้โดยผ่านการเล่น
สมัยนี้บางคนคิดว่า “การศึกษาควรเริ่มจาก 3 ขวบ” หรือ “ควรให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ 5 ขวบ” แต่ผมคิดว่าเป็นการถอน “ต้นหน่อ” ของเด็กมากกว่า หากท่านผู้อ่านอยากมีลูกหัวดี แทนที่จะบังคับให้ลูกเรียนโน่นเรียนนี่ตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่าสนับสนุนให้ลูกได้เล่นในสิ่งที่เขาชอบอย่างสมใจ เพื่อพัฒนาพลังสมาธิ พลังคิด และพลังสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ จะดีกว่า

*Jean Jacques (1712-1778) นักปราชญ์ ชาวฝรั่งเศส เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เช่น Le Contrat Social (1762), Rmile (1762), Les Confessions (1731)
 

 

(อ่านต่อบับหน้า )

ถ้าอยากมีลูกหัวดีจากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR.YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า
 

ข้อมูลสื่อ

116-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า