• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์


15. เสริมสร้างจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็ก
ผมมีลูก 3 คน คนโตเป็นผู้ชาย อายุ 16 ปี นับได้ว่าผมเองก็เป็นพ่อที่กำลังรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกอยู่เช่นกัน ธุรกิจการงานของผมยุ่งมาก หาเวลาไม่ค่อยได้ดังใจ แต่ผมก็พยายามดูแลลูกตามที่ผมเห็นควร
เวลาจะสั่งสอนลูก ผมมักหวนคิดถึงอดีตของตนเองอยู่เสมอ โดยคิดทบทวนว่าในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ คุณแม่ของผมเคยเลี้ยงดู สั่งสอนผมมาอย่างไร พยายามรำลึกถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยได้รับการอบรมจากคุณแม่ แล้วนำมาผสมผสานกับความคิดของตนเอง เพื่ออบรมสั่งสอนลูกอีกทีหนึ่งเป็นต้นว่า นโยบายของคุณแม่ที่สนับสนุนให้ลูกมุมานะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ผมก็นำมาใช้กับลูกผมเอง ลูก 3 คนของผม แต่ละคนมีความสนใจต่างกัน มีทั้งรถบังคับด้วยวิทยุ การฝึกฝีมือและคอมพิวเตอร์ บางครั้งเด็ก ๆ ถึงกับละเลยการเรียนทางโรงเรียน เพราะมัวหมกมุ่นอยู่กับของชอบของพวกเขา

ผมเองคิดว่าแบบนี้ดีแล้ว แน่นอน หากถึงกับทำให้พวกเขาสอบตก ย่อมมีปัญหา แต่ถ้าเขาทำคะแนนพอใช้ได้ ผมก็ปล่อยตามใจลูก เพราะผมคิดว่าการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เขาชอบ เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายมากสำหรับเด็ก เราสามารถดุว่าบังคับให้ลูกเรียนวิชาต่าง ๆ ได้ก็จริง แต่จะกลายเป็นการเด็ดยอดหน่อของพลังสมาธิและพลังความคิดของเด็กไปเสีย เพราะผมคิดว่าเด็กที่ขาดสมาธิในการเล่นย่อมขาดสมาธิในการเรียนด้วยเช่นกัน บ้านผมต่างกับบ้านอื่นตรงที่มีกิจกรรมค่อนข้างพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีการบ้านให้เด็ก ๆ ทำเป็นประจำ นอกเหนือจากการบ้านของโรงเรียน เป็นการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของสมาชิกครอบครัวสัปดาห์ละครั้ง ทุกวันอาทิตย์

โดยทั่วไป บ้านอื่นเขาจะสั่งให้ลูกทำการบ้านหรือสั่งให้ไปเรียนกวดวิชา แต่บ้านผมแทนที่จะสั่งให้ลูก ๆ ทำอย่างนั้น ผมกลับสั่งให้ลูกคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ระเบียบของเราคือ ทุกวันอาทิตย์ เราจะมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์กันภายในบ้าน โดยมีสมาชิกทุกคนของครอบครัวเข้าร่วม ในระหว่างสัปดาห์แต่ละคนจะต้องคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ของตน และนำมารายงานในวันประกวด เรามีกฎอยู่ว่า ใครจะคิดทำอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาเอง ไม่ลอกเลียนแบบของที่ปรากฏอยู่ในวารสาร หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์เป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม ผมมิได้เข้มงวด ถึงกับบังคับฝืนใจเด็ก ๆ หากใครไม่มีความคิดสำหรับสัปดาห์นี้ และรายงานสิ่งประดิษฐ์ใหม่ไม่ได้ ผมก็มิได้ดุว่า เพราะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้
สมาชิกทั้ง 5 ของครอบครัว รวมทั้งลูกคนที่คิดสิ่งใหม่ยังไม่ได้ จะประชุมกันในวันอาทิตย์ เพื่อดูสิ่งประดิษฐ์ของแต่ละคนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งจะกระตุ้นให้ลูกคนที่คิดอะไรไม่ออก เกิดความรู้สึกอยากคิดประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ออกมาประกวดบ้างในสัปดาห์หน้า

ตัวอย่างเช่น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของบ้านผมคราวก่อน ลูกคนหนึ่งตั้งหัวข้อเรื่อง “เข็มทิศ” หัวข้อเรื่องสำหรับการค้นคว้านี้ ลูก ๆ ก็ตั้งกันเอง พ่อแม่ไม่ได้ตั้งให้ เจ้าตัวต้องทำทุกอย่างเอง ไม่มีใครยุ่งเกี่ยว และไม่มีคนช่วยด้วย ลูกคนที่ตั้งหัวเรื่อง “เข็มทิศ” มีการสอบที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น แต่แกไม่สนใจดูหนังสือสอบเลย มุ่งคิดแต่เรื่อง “เข็มทิศ” เท่านั้น เข็มทิศเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ให้เขียนวงกลมก็ได้ ใช้วัดความยาวก็ได้ ใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์และภูมิศาสตร์ ใช้ในการออกแบบ หรือจะใช้เล่นก็ยังได้ อย่างไรก็ตามเข็มทิศในปัจจุบัน ยังมิใช่ของสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ เราควรค้นคว้าหาประโยชน์และข้อบกพร่องของเข็มทิศซึ่งเรายังไม่รู้คิดหาวิธีการปรับปรุงเข็มทิศให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น เด็กต้องค้นคว้าสิ่งเหล่านี้โดยการหาตำรามาอ่าน รวบรวมข้อมูลและพยายามคิดประดิษฐ์เข็มทิศของตนเองขึ้นมา ระหว่างนี้เด็กต้องใช้พลังสมาธิสูงมาก เรื่องการสอบทางโรงเรียนจึงไม่เหลืออยู่ในสมองของแกเลย

แต่ผมคิดว่าคนหัวดีนั้น เราต้องดูที่พลังความคิด พลังสมาธิ และจินตนาการสร้างสรรค์ ส่วนความจำ ประเภทที่ว่า สมัยเอโดะเริ่มจากปีอะไร ? สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อปีใด ? นั้น หากเราฝึกให้สมอง มีพลังสมาธิดี เราก็จำสิ่งเหล่านี้ได้เร็ว หรือถ้าจำไม่ได้ก็เปิดตำราค้นเอาได้ ผมคิดว่าแทนที่จะมาเสียเวลานั่งท่องจำของพวกนี้ เราใช้เวลาฝึกให้เด็ก สมองดีจะมีประโยชน์กว่า ที่ผมจัดให้มีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในบ้านก็ด้วยจุดประสงค์นี้แหละครับ เด็กจะมีโอกาสคิดด้วยตนเอง พยายามหาความคิดดี ๆ เพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ กล่าวคือ ผมต้องการฝึกให้ลูกมีจินตนาการสร้างสรรค์ จึงเอาการคิดสิ่งประดิษฐ์มาเป็นเครื่องเล่นกับลูก เมื่อผมเริ่มจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นในบ้าน เด็ก ๆ พากันหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้มาก เพราะการที่เขาต้องคิดอะไรเอง และต้องบุกเบิกสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเองนั้น ทำให้เขารู้สึกสนุกมาก จินตนาการสร้างสรรค์ ซึ่งถูกบ่มเพาะขึ้นมาในระหว่างนี้ ทำให้เขาสนใจงานอดิเรกยิ่งขึ้น และมิใช่เป็นความสนใจงานอดิเรกยิ่งขึ้นและมิใช่เป็นความสนใจชั่วครั้งชั่วคราว ประเภทเห่อพักเดียวก็เบื่อ หากเขาสนใจรถบังคับด้วยวิทยุ เขาจะพยายามคิดหาทางปรับปรุงของเล่นของเขาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและเก๋ไก๋มากขึ้น

การเรียนในโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาจำสมการใหม่ได้ เขาก็จะหาทางนำสมการนั้นมาใช้แบบพลิกแพลง เขาจะไม่เรียนโดยอาศัยแต่การท่องจำเท่านั้น ดังนั้นเวลามีการทดสอบประเภทนำสิ่งที่เรียนมาแล้วไปประยุกต์ใช้ เขาจะทำได้ดีกว่าเด็กอื่น ๆ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ในบ้านนี้ยังมีประโยชน์อีกประการหนึ่งเป็นของแถม กล่าวคือ ตามปกติวันธรรมดาผมแทบไม่มีเวลากินอาหารกับลูก ๆ แต่เมื่อมีการประกวดทำให้ผมและลูกต้องคิดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ เท่ากับเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพ่อลูกไปในตัวด้วย ตามปกติเมื่อลูกโตขึ้นระดับหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกแทบจะไม่มี แต่การประกวดสิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยดำรงความสัมพันธ์ของครอบครัวเอาไว้อย่างแนบแน่นตลอดไป เป็นการยิงทีเดียวได้นกสองตัว คือทั้งสร้างจินตนาการสร้างสรรค์และสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วย
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )
ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นกประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า

ข้อมูลสื่อ

112-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า