• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์


14. พ่อแม่มีหน้าที่ปลูกฝัง “วิญญาณแข่งขัน”
ถ้าอยากมีลูกหัวดี มีสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่คือ การปลูกฝัง “วิญญาณแข่งขัน”
ครอบครัวญี่ปุ่นสมัยนี้มีลูกเฉลี่ยครอบครัวละ 1.7 คน ส่วนใหญ่จะมีลูกเพียง 2 คนหรือมีลูกคนเดียวเท่านั้น สมัยก่อนเรามีพี่น้อง 5 คน เป็นเรื่องธรรมดา แต่สมัยนี้กลายเป็นสิ่งแปลกถ้าใครมีลูกมากขนาดนั้น อาจเป็นเพราะพ่อแม่มีลูกน้อยนี่เอง ที่ทำให้ทะนุถนอมลูกมากเกินไป โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกชายโทน แม่มักจะเลี้ยงดูด้วยความระมัดระวังอย่างผิดปกติ ซึ่งกลายเป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตของเด็กการทะนุถนอมเด็กเกินไปนั้น ไม่ดีเลย เราต้องปลูกฝังให้เด็กมีวิญญาณของนักสู้ รู้จักการแข่งขัน

“วิญญาณแข่งขัน” ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเด็กเอง มีใช่ความอยากชิงดีชิงเด่นของพ่อแม่ ประเภทเห็นเด็กข้างบ้านบวกเลขเป็นก็เร่งให้ลูกของตัวเองหัดบวกเลขบ้าง หรือเห็นเด็กชายจอนเรียนไวโอลีน ก็สั่งให้ลูกเรียนบ้าง แบบนี้ไม่เรียกว่าวิญญาณแข่งขันของเด็ก กลายเป็นวิญญาณแข่งขันของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ยัดเยียดวิญญาณแข่งขันของตนเองให้กับลูก เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงของตนเอง จะมีผลลบต่ออุปนิสัยของเด็ก

การเรียนการสอนในชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยนั้น ทำให้เด็กตกอยู่ในวังวนของการแข่งขันการสอบคือ การแข่งขัน (competition) อย่างหนึ่ง แม้แต่เด็กหญิงเด็กชายซึ่งเคยใช้ชีวิตอย่างสบายในวัยเรียน ก็จะต้องผจญกับการแข่งขันอย่างมากมาย ซึ่งรออยู่ในสังคมของผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เด็กคุ้นเคยกับการแข่งขัน โตขึ้นจึงจะเข็มแข็งพอที่จะผ่านการแข่งขันของสังคมได้ การแข่งขันนอกจากจะช่วยให้มีพลังจิตที่เข้มแข็งแล้ว ยังช่วยให้รู้จักคิดหาวิถีทางเอาชนะคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นการฝึกสมองที่ดีมาก ช่วยสร้างพลังความคิด จินตนาการสร้างสรรค์ และพัฒนาความสามารถของเด็ก
 เด็กที่มี“วิญญาณแข่งขัน” (competition spirit) หากวิ่งแข่ง 50 เมตร ได้ที่ 2 จะพยายามฝึกและพัฒนาตนเองเพื่อคว้าตำแหน่งชนะเลิศในการแข่งขันครั้งต่อไป และเมื่อจบการศึกษาออกสู่สังคม หากบริษัทคู่แข่งออกสินค้าใหม่ซึ่งมีคุณภาพดี เขาจะไม่ยอมแพ้จะพยายามผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งดีกว่าคู่แข้งออกสู่ตลาดให้ได้

การสร้างเครื่องบินจำลองของผมก็เช่นเดียวกัน การแข่งขันก่อให้เกิดประโยชน์มากที่เดียว หากเครื่องบินจำลองเป็นของแปลกใหม่ซึ่งผมสร้างเล่นสนุก ๆ แม้จะชอบสักแค่ไหน ผมก็คงสนุกอยู่ได้มานานนักแต่การสร้างเครื่องบินจำลองของผมมีคู่แข่งที่น่ากลัวมาก เพราะเป็นลูกพี่ซึ่งมีอายุมากกว่าผมถึง 3 ปีลูกพี่ลูกน้องของผมบ้าเครื่องบินจำลองก่อนผม อายุก็มากกว่า ประสบการณ์ก็เหนือกว่า ยิ่งกว่านั้นฝีมือยังละเอียดกว่า เด็กเล็กอย่างผมไม่มีอะไรเทียบเขาได้เลย แต่ผมไม่ยอมแพ้หรอกครับ พี่ก็พี่เถอะ ผมก็สร้างเครื่องบินจำลองเป็นเหมือนกัน ใจผมระอุไปด้วย “วิญญาณแข่งขัน” แม้ว่าอายุยังน้อยนิดเดียว พอพี่คนนั้นสร้างเครื่องบินลำใหม่ ผมก็ไม่ยอมแพ้สร้างขึ้นมาบ้าง ใจอยากจะสร้างเครื่องบินทีดีกว่าของเขา บินเครื่องที่ร่อนได้สูงกว่า ไกลกว่า เร็วกว่า และสวยกว่าด้วย ผมพยายามคิดด้วยสมองน้อย ๆ ของเด็ก 5 ขวบ และหมกมุ่นอยู่กับการปรับปรุงเครื่องบินจำลองเพื่อเอาชนะเขาให้ได้

การที่ผมแข่งกับรุ่นพี่อายุมากกว่า 3 ปีเป็นสิ่งที่ดีมาก หากคู่แข่งอายุน้อยกว่า ผมก็คงคิดว่า ตัวเองอายุมากกว่า ย่อมเอาชนะได้เป็นธรรมดา แต่เมื่อคู่แข่งเป็นพี่ ผมต้องคิดอยู่เสมอว่าคู่แข่งรู้มากกว่า มีฝีมือเหนือกว่า และมีความสามารถสร้างเครื่องบินใหม่ ๆ แบบเก๋ไก๋ได้ดังใจด้วยเหตุนี้วิญญาณแข่งขันของผมจึงคุกรุ่น เหราะเป้าหมายคือคู่แข่งขันซึ่งมีความสามารถเหนือกว่า และผมต้องการเอาชนะเขาให้ได้เสียด้วย และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา นี่คือพื้นฐานของการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงการทำสิงแรกที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณแข่งขันเป็นรากฐาน แต่กว่าผลลัพธ์จะออกมาย่อมมีอุปสรรคนานัปการ โดยทั่วไปแล้วการประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ มักไม่ประสบความสำเร็จในระยะแรก จะต้องถูกวิจารณ์เอาบ้าง หรือถูกคู่แข่งดึงแข้งดึงขาเอาไว้บ้าง ฯลฯ

สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถผ่าวิกฤตการณ์เหล่านั้นมาได้คือ “วิญญาณแข่งขัน” เพราะฉะนั้นเราต้องปลูกฝัง “วิญญาณแข่งขัน” เอาไว้ตั้งแต่วัยเด็ก
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )
ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า
 

ข้อมูลสื่อ

111-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า