• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเด็กอันตราย ใครรับผิดชอบ


“เด็กไทย คือ หัวใจของชาติ”

“ลูก คือ หัวใจของพ่อแม่

คำพูดเหล่านี้คงจะเป็นที่คุ้นหู และซาบซึ้งอยู่ในใจแต่ละคนเป็นอย่างดี ทุกคนจึงอยากจะมอบสิ่งดี ๆ ให้กับเด็ก ไม่ว่าผู้ที่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายหรือสังคมโดยรวม
เด็กไทยนั้นมีอยู่ถึง 18 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรทั้งประเทศ หากมองภาพรวม ๆ โดยทั่วไป เราอาจพบว่าสุขภาพของเด็กไทยดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราการตายของทารกแรกเกิด ในปี พ.ศ. 2503 ลดลงจาก 101 คน (ต่อทารกที่เกิด 1,000 คน) มาเป็น 41 คน ในปี พ.ศ. 2529 (ในญี่ปุ่นอัตราการตายของทารก = 6 คนต่อทารกที่เกิด 1,000 คน) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กทั้งในส่วนของรัฐและเอกชนพบว่า เด็กไทยจำนวนไม่น้อย ยังเป็นโรคขาดสารอาหาร อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจึงมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย และเมื่อลูกเจ็บป่วย พ่อแม่ย่อมต้องหาหยูกยาให้ลูกหลานกิน

 

ยาเด็กอันตราย : ยังมีขายกันเกลื่อนประเทศ

ยาไม่เฉพาะแต่มีคุณอนันต์เท่านั้น แต่บางชนิดเมื่อใช้กับเด็ก อาจเป็นโทษมหันต์ถึงตายได้ หรือไม่ก็ไปทำลายพัฒนาการทางร่ายกายและสมองของเด็ก
จากการศึกษาสภาพการใช้ยาในเด็กของประชาชน ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง โดยกลุ่มเภสัชกร โรงพยาบาลชุมชน และคณะทำงานด้านเด็ก พบว่ามีการใช้ยากับเด็กอย่างไม่เหมาะสมมากมาย เช่น การใช้ยาผิดประเภท (นำยาปฏิชีวนะมาเป็นยาแก้ไข้) ใช้ยาที่เป็นพิษสูง (เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พวกไดไพโรน,, ยาที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง) ใช้ยาพร่ำเพรื่อมากเกินความจำเป็น (เช่น ให้ลูกกินยาเพื่อให้เจริญอาหาร เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ทำให้เด็กต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตรายดังกล่าวเช่น

1. ยาสำหรับเด็กที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมากที่เสี่ยงต่อความเป็นพิษ ไม่ควรจะใช้กับเด็ก เช่น ยาจำพวกคลอแรมเฟนิคอล เตตราซัยคลีน หรือยาที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง

2. ฉลากยาหรือเอกสารกำกับยาเขียนไว้ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ได้บอกคำเตือน คำแนะนำ หรือสรรพคุณที่เป็นจริง

3. รูปแบบยาไม่เหมาะสม เช่น เป็นผง ทำให้แบ่งขนาดยาลำบาก ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับยามากหรือน้อยเกินไป หรือทำเหมือนขนมทำให้เกิดการหยิบผิดได้

4. การโฆษณายา ซึ่งให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ชัดเจน และกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคยาเกินความจำเป็น

5. การควบคุมการจำหน่ายไม่เป็นไปตามกฎหมายที่วางไว้ เช่น ยาอันตราย ซึ่งเป็นยาที่ขายได้โดยเภสัชกรเท่านั้น แต่กลับมีวางขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด แม้กระทั่งร้านขายของชำในหมู่บ้าน
จากปัจจัยดังกล่าว เมื่อผนวกกับการขาดโอกาสในการได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ทำให้พ่อแม่ป้อนยาที่เป็นพิษให้ลูกหลานของตน

 

สังคมช่วยเด็กอย่างไร

ต่อปัญหานี้ ได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ร่วมกันจัดตั้งโครงการรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสมขึ้น เพื่อศึกษาข้อมูลและรณรงค์เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งเสนอให้รัฐมีมาตรการในการแก้ไข
ที่ผ่านมาได้มีการเสนอรายงานพิเศษเรื่อง “คลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีน : ยาเด็กอันตราย ขายเกลื่อนประเทศ” ลงในนิตยสารหมอชาวบ้านฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530 และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “การใช้ยาในเด็ก : ปัญหาและทางออก” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ที่ประชุมดังกล่าวได้เสนอว่า เรื่องเร่งด่วนของการแก้ไข ปัญหาการใช้ยาในเด็กในขณะนี้คือ การเร่งทบทวนและปรับปรุงตัวยา และสูตรตำรับยาที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับให้กำจัดการใช้ หรือยกเลิกยาดังกล่าวไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเตตราซัยคลีน และยาสำหรับเด็กที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป

ในส่วนของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาสุขภาพเด็กนั้น ได้มีการพิจารณาเพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาคลอแรมเฟนิคอลในรูปแบบยาผงบรรจุซอง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมียาที่ไม่เหมาะสมอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และปล่อยให้ขายอยู่เกลื่อนประเทศ

 

เตตราซัยคลีน : ถึงเวลาแล้วหรือยัง

เตตราซัยคลีนเป็นยาปฏิชีวนะที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อบางชนิดในผู้ใหญ่เท่านั้น และจัด เป็นยาอันตราย แต่ในบ้านเรามีความนิยมใช้กันในหมู่ประชาชนกันเองอย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้กันอย่างผิด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เป็นยาลดไข้ในเด็ก ยานี้มีการผลิตเพื่อใช้เป็นยาสำหรับเด็กในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาผงบรรจุซอง ยาน้ำเชื่อม ยาเม็ด และยาแคปซูล (ตารางที่ 1) ยาประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้กันมาก ทั้งนี้เพราะแรงโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางวิทยุเอเอ็ม, ประกอบกับการหาซื้อได้ง่าย เพราะมีวางขายอยู่โดยทั่วไป แม้ กระทั่งแผงขายของอยู่ในหมู่บ้าน

   

เตตราซัยคลีนก็เช่นเดียวกับคลอแรมเฟนิคอล ที่แพทย์จะไม่ใช้ในเด็กเนื่องจากเป็นยาที่มีอันตรายเกินไป และในกรณีที่จำเป็นต้องใช้รักษาโรคติดเชื้อบางชนิดก็มียาอื่นแทนได้ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การใช้เตตราซัยคลีนในเด็ก จะทำให้ฟันเป็นสีเทาอย่างถาวร ซึ่งนอกจากจะทำให้ฟันไม่สวยแล้วยังทำให้ฟันเปราะกว่าปกติ และยานี้ก็ไปอยู่ตามกระดูกส่วนต่าง ๆ ด้วย ยิ่งกว่านั้น ถ้ากินยานี้ซึ่งหมดอายุแล้ว อาจเป็นพิษต่อไต ทำให้ไตเสียได้ในต่างประเทศนั้นมีการควบคุมการใช้ยานี้อย่างเข้มงวด (ตารางที่ 2 )เพราะเล็งเห็นว่าเป็นยาที่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อเด็กอย่างมาก

   

*( ที่มา องค์การสหประชาชาติ "รายชื่อยาที่ถูกถอนหรือห้ามใช้ในประเทศต่างๆ " พ.ศ.2529 )

ในประเทศไทยนั้นมาตรการเกี่ยวกับการใช้ยานี้ มีเพียงการให้ระบุคำเตือนบนฉลากว่า “ไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์ ระยะให้นมบุตร หรือเด็กต่ำกว่า 6 ปีเป็นระยะยาวนาน เพราะจะทำให้ฟันของเด็ก เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและผุกร่อน”   มาตรการดังกล่าวไม่สามารถป้องกันและแก้ปัญหาอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กได้แต่ประการใด เพราะผู้ผลิตและจำหน่ายยาซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนนั้น ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องนี้แต่ประการใด ยิ่งกว่านั้นสลากยายังมีการโน้มน้าวให้ใช้กับเด็กอีกด้วย เช่น ใช้คำว่า ยาผงเด็ก พร้อมทั้งระบุขนาดที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-6 ปี ไว้ด้วย

 

มาร่วมกันมอบสิ่งดี ๆ ให้เด็กไทยกันเถอะ

เตตราซัยคลีนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของยาอันตรายที่ยังใช้กับเด็กไทยอย่างกว้างขวาง ผู้ที่รับผิดชอบต่อสุขภาพเด็กไทย นอกเหนือจากคุณพ่อคุณแม่ผู้รักลูกดั่งดวงใจแล้ว กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการเลือกสรรยาดี ๆ เพื่อเด็กไทย ก็นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เป็นที่น่ายินดีว่า กระทรวงสาธารณสุขในยุคปัจจุบันได้เน้นนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังเห็นได้จากกรณีควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำปลาปลอมที่เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อเร็ว ๆ นี้

ก็หวังว่ากระทรวงสาธารณสุข จะได้มีการทบทวนการขึ้นทะเบียนสำหรับยา และเร่งเพิกถอนยาอันตรายที่เป็นพิษภัยสำหรับเด็ก เพื่อลูกหลานของเราในวันนี้จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า

 

 ตอนนั้นไม่มียาอะไรใช้เราก็ใช้ยานี้กันมาก พอรู้พิษรู้ผลที่

 ตกค้างของมันก็เลยไม่ใช้

 

 ศ.น.พ. ประสงค์ ตู้จินดา
 นายกสมาคมสวัสดิการเด็ก

 

 


“ยาเตตราซัยคลีนนี้ขายอยู่ทั่วไปได้อย่างไร เป็นยาอันตราย ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน สำหรับหมอนั้นไม่ใช้ในเด็กเล็กเลย คุณใช้ไปโดนฟ้องเลย ถ้าลูกเขาฟันเสีย ก่อนนั้นไม่มียาอะไร ต่อมามียาแทนที่ดี ยาสำหรับเด็กนี้ ไม่ว่าที่อเมริกา หรือที่ไหนก็ตามเลิกใช้แล้ว เราจะพบคนอายุราว ๆ 30 ปี ฟันสีเทาเพราะตอนนั้น มันไม่มียาอะไรใช้ เราก็ใช้ยานี้กันมาก พอรู้พิษของมัน รู้ผลที่ตกค้างของมัน ก็เลยไม่ใช้ แต่โอกาสที่ใช้ยานี้ยังมี แต่ใช้ในผู้ใหญ่ อย่าใช้ในเด็กเล็ก
ยาเตตราซัยคลีนเป็นยาซองนี้ น่าเป็นห่วง ยิ่งมีการใส่รสช็อกโกแล็ตด้วย เมื่อยานี้เสียไม่มีใครรู้เพราะยาเตตราซัยคลีนเมื่อหมดอายุจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กินเข้าไปจะมีผลเสียต่อไต เราต้องป้องกันสำหรบเด็ก เพราะเด็กไม่รู้ ผู้ใหญ่เอาให้เท่านั้น เด็กไม่รู้พ่อเขาให้”

 

 อย่าว่าแต่ยาอันตรายที่ต้องขายในร้านขายยาที่ต้องมี

 เภสัชกรเลย ที่ประกาศว่ายกเลิกแล้วยังมีขายเช่นเดิมใน

 ชนบท

  

 พ.ญ. สุพัตรา ศรีวณิชชากร
 ประธานชมรมแพทย์ชนบท

 

 
“เรื่องปัญหาการใช้ยาเด็กเมื่อเจ็บไข้ เป็นเรื่องที่พบบ่อยมาก ที่เป็นอยู่มียาขายเกลื่อนกลาดในตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นยาผงบรรจุซองที่ชาวบ้านหาซื้อใช้ได้ง่าย และเป็นยาอันตรายไม่ปลอดภัย
บางอย่างเป็นยาปฏิชีวนะ ประเภทเตตราซัยคลีน ซึ่งไม่เหมาะสมในการใช้กับเด็ก และที่ขายอยู่เป็นรูปยาผงบรรจุซอง ซ้ำชาวบ้านมักจะนำไปใช้ลดไข้
จริง ๆ แล้วรูปแบบนี้ควรยกเลิกไปเลย ที่ผ่านมาถูกติงทีก็เปลี่ยนรูปแบบนิด ๆ หน่อย ๆ ในเรื่องซอง การควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นอย่าว่าแต่ยาอันตรายที่ต้องขายในร้านขายยาที่ต้องมีเภสัชกรเลย ยาที่ประกาศว่ายกเลิกแล้ว ยังมีขายอยู่เช่นเดิมในชนบท
คนชนบทไม่มีความรู้เรื่องยา ข่าวต่าง ๆ ไปไม่ค่อยถึง แต่ยาเสื่อม ๆ เสีย ๆ ไปถึง อยากให้หน่วยงานที่ควบคุมยาเอาใจใส่มากกว่านี้”

 

 กุมารแพทย์ร้อยละ 99.99 %ไม่ใช้เตตราซัยคลีนในเด็ก

 แล้วไม่ว่าจะเป็นชนิดผงหรือชนิดแค็ปซูล

 

 

 ศ.พ.ญ. จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์
 นายกสมาคมกุมารแพทย์

 

 


“กุมารแพทย์ร้อยละ 99.99 ไม่ใช้เตตราซัยคลีนในเด็กไม่ว่าจะเป็นชนิดผง น้ำหรือแคปซูล เลิกใช้นานแล้ว ที่เลิกใช้ก็เพราะว่า ยานี้ไม่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดทำให้เกิดฟันเทาดำและทำให้ชั้นเคลือบฟันขรุขระ ฟันเจริญไม่ดี นอกจากนี้ยังมีผลต่อกระดูกทั่วร่างกายด้วย
ปัจจุบันจะพบว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี มีฟันสีเทาดำ เพราะสมัยก่อนเตตราซัยคลีนเข้ามาใหม่ ๆ มีการใช้แพร่หลายมาก ที่น่ากลัวคือ ถ้ายาหมดอายุ จะทำให้ไตพิการ ซึ่งในสมัยนั้นเราพบมากยาเตตราซัยคลีนเมื่อหมดอายุจะมีสีน้ำตาล ถ้านำยาไปผสมช็อกโกแลต จะไปปิดบังสีของยาหมดอายุได้ ทำให้ไม่รู้ว่ายาหมดอายุหรือยัง ที่ฉลากยาผงเด็กเตตราซียคลีนยี่ห้อหนึ่งที่เขียนไว้ว่า แก้ทอนซิลอักเสบ โรคติดเชื้อ แผลเป็นหนอง พุพอง ท้องเสีย หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ปอดบวมอักเสบ ก็ไม่จริง เราไม่ใช้ยานี้รักษาเด็กแล้ว มียาอื่นที่แทนได้ อันตรายจังเลย ปล่อยให้ขายได้อย่างไร”

 

 พูดโดยหลักวิชาการแล้วรูปแบบผงเป็นแบบไม่คงตัว เป็น

  ยาที่เสียได้ง่ายมากและเมื่อยาเสื่อมก็เป็นอันตรายมาก

  

 ภก. สุพล ลิมวัฒนานนท์
 ประธานกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

 

 

“ยาผงเด็กที่เข้าเตตราซัยคลีน ชาวบ้านเขานำไปเป็นยาแก้ไข้ เพราะรูปแบบยาจะเช่นเดียวกับยาซองลดไข้ทั่ว ๆ ไปทุกอย่าง
พูดโดยหลักของวิชาการแล้ว รูปแบบผงเป็นรูปแบบไม่คงตัว เป็นยาที่เสียได้ง่ายมากและเมื่อยาเสื่อมก็เป็นอันตรายอย่างมาก ผมว่าต่างประเทศไม่มีในรูปยาน้ำยาผงสำหรับเด็กใช้แล้ว โดยเฉพาะแบบผง เป็นรูปแบบยาที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสม
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรต้องมองในแง่พฤติกรรมชาวบ้านจริง ๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาแต่ตัว หนังสือมาพูดกันถึงแม้บอกว่าเป็นยาอันตราย แต่ก็หาง่ายตามหมู่บ้าน ร้านขายของชำ อันนี่เป็นเรื่องของกลไกในตลาดที่รัฐควรควบคุมดูแล ปัญหาเรื่องยาไม่ใช่เกิดจากพฤติกรรมอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของหลักกฎหมายด้วย เมื่อตระหนักว่าเป็นปัญหา ทางแก้คือการตัดต้นตอ คือไม่ให้มีการผลิตออกมา”

  

 

 

 ศ.น.พ. อารี วัลยะเสวี
 หมอแมกไซไซ ปี 2530

 

 


“เราคงทราบดีว่า เตตราซัยคลีนมีข้อเสียโดยเฉพาะในเด็ก เด็กอยู่ระหว่างเจริญเติบโต ฟันและกระดูกกำลังก่อตัวยานี้เข้าไปจับทำให้เปลี่ยนสี ฟันควรขาวกลับไม่ขาว ยานี้ถ้าหมออายุเป็นเรื่องใหญ่ มีอันตรายต่อไต ทำให้ไตอักเสบ ทีนี้ทำไมยังใช้กันอยู่ เราต้องยอมรับ ถ้าใช้ในผู้ใหญ่อาจบอกไม่ได้เพราะฟันก่อรูปเรียบร้อยแล้วเตตราซัยคลีนในเด็กใม่ควรใช้ จะต้องการให้การศึกษาประชาชนเรื่องนี้ส่วนหน่วยงานรับผิดชอบควรจะทำอย่างไร การทำเป็นน้ำเชื่อมหรือผงใส่เป็นซองไม่ควรให้มีจะช่วยได้มาก”

 

 

  

ร.ศ.ท.พ. ประทีป พันธุมวนิช
คณะทันตแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

“เรารู้ผลเสียมา 17-18 ปีแล้ว เมื่อมีรายงานการใช้เตตราซียคลีนในต่างประเทศ ตอนนั้นเมืองไทยของเรายังไม่เห็นผลเสียเท่าไร แต่ก็มีการทำวิจัยโดยนำฟันเด็กที่ถอน มาฉายแสงอัลตราไวโอเล็ตดู ก็เห็นเป็นจุด ๆ ในเนื้อฟัน ซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น กว่าจะเห็นผลว่ากินยาเตตราซัยคลีนแล้วมีผลต่อฟันต้องใช้เวลา 6-7 ปี เนื่องจากฟันแต่ละซี่ใช้เวลาสร้างยาว ดังนั้น ถ้าเด็กกินยาเข้าไปจะไม่เห็นผลตอนนี้ แต่อีก 6-7 ปี จึงจะเห็นเมื่อฟันโผล่ออกมา

เด็กเล็ก ๆ ที่ไม่สบาย พอกินยานี้เข้าไป เตตราซัยคลีนจะเข้าไปในส่วนที่เป็นเนื้อฟัน ไปทดแทนส่วนที่เป็นโปรตีน ทำให้แร่ธาตุเกาะฟันไม่ได้เต็มที่ ฟันก็ไม่แข็งแรง เท่าฟันปกติ ข้อเสียคือฟันไม่สวยและเปราะได้ง่าย ที่เห็นชัดก็บริเวณขอบเหงือกจะเป็นสีเทาดำ และไม่ได้เข้าเฉพาะฟันแต่จะเข้าไปตามกระดูกด้วย แต่เรามองไม่เห็น ทางทันตแพทย์เราไม่ถือว่าเป็นโรค แต่ถือว่าเป็นสภาวะไม่ปกติ ที่สำคัญเป็นปมด้อยอย่างมาก ไม่ค่อยกล้ายิ้ม ถ้าเปลี่ยนแปลงต้องครอบฟันซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง

เมื่อก่อนเราพบลูกหมอเป็นกันมาก จึงพูดกันว่า เด็กฟันดำเป็นลูกหมอหรือไม่ ก็มีญาติเป็นหมอ เพราะก่อนนั้น หมอให้กินยานี้กันมาก เพราะยังไม่ทราบผลเสีย อยากเสนอว่าควรเลิกทำยาเตตราซัยคลีนออกมาในรูปให้เด็กเล็กใช้ ไม่ว่าเป็นผง น้ำ หรือเม็ด เพราะในเด็กมีผลเสียตามมา ในผู้ใหญ่นั้นไม่เป็นไรฟันเจริญเต็มที่แล้ว”
 

 

ข้อมูลสื่อ

116-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
อื่น ๆ