• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แม่หนูนอนไม่หลับ

การนอน ถ้าใครคิดว่าไม่สำคัญหละก็คิดผิดไปแล้วไม่ว่าจะนอนมากเกินไป นอนน้อยเกินไป นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท นอนฝันร้าย นอนละเมอ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญญาของการนอนที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆ หรือบางทีตัวท่านเองก็อาจจะประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ได้ ปัญหาเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดก็ตามดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าอภิรมย์เลย แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เราพูดกันบ่อยๆ
ในเด็กเล็กล่ะมีบ้างไหม?

ถ้าท่านอยู่ในช่วงที่กำลังเลี้ยงเจ้าหนูน้อยตัวเล็กๆอยู่ ท่านก็จะตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามี ว่ากันตามความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่เกือบทุกคนที่ต้องเลี้ยงลูกเองต้องประสบปัญหาเรื่องการนอนของลูกอยู่เสมอไม่มากก็น้อย บางทีก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร

ลองติดตามดูสิครับเพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาในการนอนของเด็กเล็ก รวมทั้งวิธีการที่จะช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

ปกติเด็กนอนอย่างไร
ก่อนที่เราจะบอกว่าอะไรเป็นปัญหาของการนอน มีความจำเป็นที่ต้องทราบว่าปกตินั้นเด็กนอนอย่างไร
ในเด็กแรกคลอดโดยเฉพาะในเดือนแรกของชีวิต เด็กจะใช้เวลานอนถึงวันละประมาณ 20 ชั่วโมง และการนอนก็ยังไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่านอนกลางวันหรือกลางคืน หรือจะหลับๆตื่นๆ ตลอดเวลา เด็กบางคนก็หลับตอนกลางวัน ตื่นบ่อยตอนกลางคืน

ต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้นอายุประมาณ 3-6 เดือน เด็กก็จะจัดจังหวะการนอนได้เองตามธรรมชาติคือ ตื่นในตอนกลางวันมากขึ้นและหลับในตอนกลางคืนมากขึ้น แต่ก็จะตื่นมาดูดนมหนึ่งถึงสองครั้งแล้วจะหลับต่อ

อายุ 1 ปี ครึ่งถึง 4 ปี เด็กจะนอนกลางวันเพียงครั้งเดียว หลังจากอายุ 4 ปีไป เด็กจะไม่นอนกลางวัน โดยเฉพาะเมื่อเข้าวัยเรียนคือ เมื่อเริ่มประถมปีที่ 1 เด็กสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ง่วง และหลับสนิทในเวลากลางคืน

ที่กล่าวมาแล้วเป็นลักษณะปกติของการนอนในเด็กทั่วๆ ไป
แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างที่เด็กเติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น ผู้ที่เป็นพ่อแม่จะพบกับอุปสรรคปัญหานานับประการ
ปัญหาการนอนในเด็กเล็กเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในอีกหลายๆ อย่าง

โอ๊ย...ปวดหัวกับการนอนของลูกจัง
ปัญหาของการนอนในเด็กเล็กที่พบบ่อยๆ มีอะไรบ้าง
1. ถึงเวลานอนไม่ยอมเข้านอน
เด็กเป็นจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการเข้านอนจะขอต่อรอง จุกจิก งอแง ต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ ซึ่งผลสุดท้ายลงเอยด้วยการที่พ่อแม่จะต้องนอนเป็นเพื่อนจนกว่าลูกจะหลับลงได้เมื่อพ่อแม่ต้องนอนเป็นเพื่อนทุกคืนๆ ในที่สุดเด็กจะนอนคนเดียวไม่ได้

2. นอนตื่นบ่อยๆ

บางทีตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วไม่ยอมนอน ลุกขึ้นมานั่งเล่นของเล่นส่งเสียงเป็นที่รบกวน เด็กบางคนพอตื่นขึ้นมากลางดึกจะปีนขึ้นมานอนกับคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมกลับไปที่นอนของตน

3. ตื่นเช้าเกินไป

หลายรายที่ตื่นแต่เช้ามากเกินไปประมาณตีสี่หรือตีห้า ก็จะตื่นแล้วไม่ยอมนอนอีกแล้ว
ทั้งสามข้อนี้เพียงแต่เป็นปัญหาทางการนอนไม่ใช่ความผิดปกติของการนอน (ความผิดปกติของการนอนเช่น นอนละเมอ ฝันร้าย หรือการนอนไม่หลับจะไม่ขอกลาวถึงในที่นี้เพราะพบได้น้อยในเด็กเล็ก)

ทำไมถึงไม่ยอมนอน

จากปัญหาดังกล่าวแล้วถ้าเราทราบสาเหตุจะเป็นการง่ายของการแก้ไข ปัญหาของการนอนในเด็กเล็กมีหลายประการ

1. เด็กมีอาการเจ็บปวดทางกาย

เช่น เป็นไข้หวัด ไอ ตัวร้อน เป็นหัด เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะรู้สึกอึดอัด ปวดศีรษะ ไม่สบายตัว งอแง หงุดหงิด และมีความประพฤติเป็นเด็กกว่าวัย เด็กพวกนี้จะนอนยาก นอกจากนี้พบว่า ถ้าเด็กหิว แน่นท้อง อากาศร้อน หรือหนาวจนเกินไปแล้ว เด็กจะนอนไม่หลับ

2. เมื่อเด็กต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่

เช่น ในกรณีที่คุณพ่อต้องไปราชการต่างจังหวัด แม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดน้อง หรือคุณพ่อคุณแม่ต้องฝากไว้กับคนอื่นแล้ว ตนเองไปทัศนาจรไกลๆ เด็กจำต้องแยกจากคุณแม่คุณพ่อจะมีความวิตกกังวลสูง

3. เด็กแปลกที่

ถ้ามีการเปลี่ยนที่หลับที่นอน เช่น ต้องไปค้างที่อื่น หรือย้ายห้องนอน ก็จะมีความรู้สึกแปลกที่ อย่าว่าแต่เด็กเลยนะครับ ผู้ใหญ่เองเมื่อต้องไปนอนที่อื่นก็จะรู้สึกมีอาการนอนหลับยากได้

4. เด็กที่มีความวิตกกังวล

เด็กที่มีวามวิตกกังวลและหวาดกลัวมากเกินไป ทำให้มีปัญหาการนอนได้ เช่นเด็กที่คุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงขู่ ขู่ว่าจะทิ้งไป ขู่ว่าตุ๊กแกจะมากินตับ ขู่ว่าจะไปฟ้องคุณครู ขู่ว่าจะพาไปให้หมอฉีดยา มีหลายอย่างทำให้เด็กหวาดกลัวเช่น พี่เลี้ยงหลอกว่ามีผีอยู่หลังบ้าน หรือดูภาพยนตร์เรื่องผีจากโทรทัศน์ เป็นต้น

5. กลางวันให้นอนมากเกินไป

บางทีพี่เลี้ยงหรือคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม อยากให้ลูกนอนหลับในตอนกลางวันเพื่อจะได้ทำงาน เมื่อเด็กนอนกลางวันได้มาก ในเวลากลางคืนตาจะสว่างไม่ยอมนอน

6. เด็กที่ขาดการออกกำลัง

มักจะนอนหลับยาก ตามธรรมดาเด็กเป็นวัยที่ไม่หยุดนิ่ง เขาจะหยิบโน่นทำนี่ วิ่งเล่น ออกกำลังอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นเด็กจะเหนื่อยและหลับได้ บางครอบครัวทะนุถนอมเด็กมากเกินไปไม่ยอมให้เล่น ไม่ยอมให้ทำอะไรกลัวเด็กจะเจ็บ กลังเด็กจะเป็นอันตราย เด็กเหล่านี้ไม่เคยรู้จักคำว่าเหนื่อยเด็กจะหลับยาก เหมือนกับในผู้ใหญ่ถ้าได้ทำงานหนักออกกำลังอย่างมาก คืนนั้นจะหลับสนิท

7. เด็กตื่นเต้นมากเกินไป

โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน สมัยนี้คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อเศรษฐกิจของครอบครัว บ่อยครั้งต้องกลับบ้านค่ำ เมื่อกลับมาแล้วมักมีความคิดว่าได้ทิ้งลูกไว้ทั้งวัน จะต้องชดเชยความสุขให้กับลูก ทั้งๆที่เป็นเวลานอน ก็จะไปฉุดเด็ก ดึงเด็กขึ้นมาเล่น เด็กเองตาสว่างผลก็ไม่ยอมนอน

8. มีเสียงรบกวนมากเกินไป

ในสังคมปัจจุบันที่อยู่อาศัยคับแคบ ดังนั้นภายในห้องนอนอาจมีทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ โต๊ะหนังสือรวมอยู่ในห้องเดียวกัน คุณพ่อหรือคุณแม่ซึ่งต้องพักผ่อน ดูโทรทัศน์ หรือฟังเครื่องเสียงในยามค่ำคืนก็จะมีผลกระทบต่อการนอนของลูก เด็กบางคนถึงกับขอร้องต่อคุณพ่อของเขาว่าอย่าเปิดโทรทัศน์เลย เขากำลังจะนอน

9. เป็นพฤติกรรมตรงกันข้ามของเด็ก

ในเด็กเล็กและวัยอนุบาลถือเป็นวัยที่เด็กชอบประพฤติตรงกันข้าม ดังจะเห็นว่าเด็กชอบพูดคำว่า "ไม่" ถ้าเราบอกว่า "อย่า" เขาก็จะทำ บอกให้ทำ ก็จะไม่ทำ ดังนั้นเกี่ยวกับการนอน เด็กอาจแสดงพฤติกรรมตรงกันข้ามได้ เช่นกัน เมื่อคุณแม่บอกว่าถึงเวลานอนแล้วเขาก็จะบอกว่า "ไม่" และยังดื้อดึงเล่นของเล่นต่อไปอีก

เมื่อได้ทราบสาเหตุของเด็กที่มีปัญหาการนอนแล้ว การแก้ไขก็ไม่ใช่สิ่งยากเย็นอะไรนัก เพียงแต่แก้ไขสาเหตุเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น เช่น เด็กที่ขาดการออกกำลังกายก็ให้เล่นมากขึ้น ในรายที่มีเสียงอึกทึกเกินควรก็ทำห้องนอนให้เงียบลง ท่านที่เคยเล่นทำให้ลูกตื่นเต้นเกินควรในเวลานอนก่อนนอนก็เปลี่ยนมาแก้ไขสาเหตุแล้ว ให้ท่านใจเย็นๆ สักนิด ในไม่ช้าการนอนของเด็กก็จะกลับมาเป็นปกติได้เอง
 

 

ข้อมูลสื่อ

51-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 51
กรกฎาคม 2526
ใจเขาใจเรา