• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะให้เป็นผู้หญิงก็โตไป จะให้เป็นผู้ชายก็เล็กไป เฮ้อ!


“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นชายยิ่งยากว่าหลายเท่า......” แต่เกิดเป็นชายที่ไม่ค่อยจริง เกิดเป็นหญิงที่ไม่ค่อยแท้ ยิ่งยากดับเบิ้ลยาก

ฉบับนี้เราจะคุยกันเรื่อง กะเทยเทียมหญิง
กะเทยเทียมเพศหญิงก็คือ คนที่มีโครโมโซมเป็น เอ็กซ์เอ็กซ์ ไม่มีอัณฑะ แต่อวัยวะเพศภายนอกมีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง หรืออวัยวะภายในของเพศหญิง (มดลูก, ท่อมดลูก) มีลักษณะการเจริญผิดปกติ

เอากันง่ายๆ กะเทยเทียมเพศหญิงส่วนใหญ่ที่รู้จักกันดี ก็คือ ผู้หญิงที่คลิตอริสโต จนดูไม่ออกว่าเป็นคลิตอริสหรือเป็นอวัยวะเพศชายกันแน่ และ “แคม” ซึ่งหมายถึงเนื้อหนังสองข้างของช่องคลอด มีลักษณะคล้ายๆ ถุงอัณฑะของผู้ชาย

ในประสบการณ์ชีวิตเกือบครึ่งศตวรรษของผม ผมมีข้อสรุปว่าผู้หญิงมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าผู้ชายมาก แต่เรื่องกะเทยเทียมเพศหญิงนี่ง่ายกว่าเรื่องกะเทยเทียมเพศชายมากนัก

มีสองกลุ่มเท่านั้น

ครับกะเทยเทียมเพศหญิง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มเท่านั้น
คือกลุ่มที่เกิดจากการกระตุ้นโดยฮอร์โมนเพศชาย กับกลุ่มที่เกิดจากเหตุอื่น

กระตุ้นแล้วโต

คงจำกันได้นะครับ ว่าทารก เพศหญิงปกติ ไม่มีโครโมโซมวาย จังไม่มีอัณฑะ ไม่มีฮอร์โมนเพศชายอวัยวะเพศภายนอกไม่ถูกฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นก็จะเล็กลง กลายเป็นคลิตอริส และไม่มีถุงอัณฑะ

ทารกเพศหญิง หากได้รับฮอร์โมนเพศชายมาจากที่ไหนก็ตาม ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้ตุ่มเพศโต จนมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย และเนื้อหนัง 2 ข้างช่องคลอดคล้ายถุงอัณฑะด้วย
กะเทยเทียมเพศหญิงเกือบทั้งหมดเกิดจากโอนฮอร์โมนเพศชายกระตุ้น

                                                  

การกระตุ้นนี้ต้องกระตุ้นกันตั้งแต่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในท้องแม่นะครับจึงจะมีผลมาก
และยิ่งกระตุ้นตอนทารกในครรภ์อ่อนเท่าไหร่ ผลยิ่งมาก เช่น ถ้ากระตุ้นตอนทารกยังเล็กมากๆ นอกจากคลิตอริสโตแล้ว ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของมดลูกและช่องคลอดด้วย ทำให้ช่องคลอดกับช่องปัสสาวะกลายเป็นช่องเดียวกัน

ฮอร์โมนเพศชายมาจากไหน
ทารกหญิงปกติเขาไม่ผลิตฮอร์โมนเพศชายกัน แล้วกะเทยเทียมเพศหญิงได้เอาฮอร์โมนเพศชายนี้มาจากไหน
ผลิตเองครับ หรือมะฉะนั้นก็แม่ให้
ใช่แล้วครับ กะเทยเทียมเพศหญิงกลุ่มที่เกิดจากโดนฮอร์โมนเพศชายกระตุ้น เกิดจากความผิดปกติ 2 แบบ คือ แบบที่มีการสร้างฮอร์โมนเพศชายในตัวเอง กับ แบบที่แม่สร้างฮอร์โมนเพศชาย

                                                        

                                   

ความซ่าของต่อมหมวกไต
เราคงไม่มาบรรยายเรื่องต่อมหมวกไตโดยละเอียดกันที่นี่นะครับ เอาเป็นว่ามีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ถึง 6 ชนิด ที่ทำให้ทารกมีต่อมหมวกไตโตผิดปกติ และ 3 ใน 6 ชนิดนี้ทำให้เกิดกะเทยเทียมเพศหญิงได้

ทั้ง 6 ชนิดเกิดจากความบกพร่องของเอ็นซัยม์ ครับ...ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบด้อยออโตโสมัส
ตามปกติต่อมหมวกไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด และในจำนวนฮอร์โมนหลายชนิดนี้ มีฮอร์โมนที่มีผลออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศชายอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วทารกหรือผู้ใหญ่เพศหญิงนี้ก็มีฮอร์โมนเพศชายด้วยนะครับ แต่ก็มีไม่มากนัก

ขั้นตอนการสร้างฮอร์โมนต่างๆ ในต่อมหมวกไตมันยุ่งยากพิลึก พิสดารอย่าบอกใคร แต่ก็ไม่พ้นฝีมือมนุษย์ครับ นักวิจัยศึกษารู้หมดแล้วว่ามีกี่ขั้นตอน อาศัยเอ็นไซม์ต่างๆ 8 ชนิด

ความบกพร่องของเอ็นซัยม์ 3 ใน 8 ชนิดนี้แหละครับ ที่ทำให้ต่อมหมวกไตมันโตขึ้น แล้วก็ผลิตฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า เทสโตสเตอโรนออกมามาก ถ้าทารกเป็นหญิงก็เกิดกระบวนการ “กระตุ้นให้โต” กลายเป็นกะเทยเทียมเพศชาย

เอ็นไซม์ 3 ใน 8 ชนิดนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติเฉพาะฮอร์โมนเพศชายนะครับ ยังอาจทำให้มีการขาดการเกินของฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ด้วย ได้อีก แล้วแต่ชนิดของเอ็นซัยม์ที่บกพร่อง เพราะฉะนั้นกะเทยเทียมกลุ่มนี้จะมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ขาดเกลือแร่ ซึ่งจะไม่สาธยายละครับ

ขอย้ำอีกทีว่าความผิดปกติทางกรรมพันธุ์แบบนี้ในทารกเพศชายก็มีแต่ไม่เกิดความผิดปกติเรื่องเพศ มีแต่ความผิดปกติที่เกิดจากการขาดการเกินของฮอร์โมนอื่น
 

ข้อมูลสื่อ

57-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 57
มกราคม 2527
นพ. วิจารณ์ พานิช