• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลักษณะของเด็กสิบเอ็ดเดือนถึงหนึ่งขวบ

                          

 

 


สภาพแวดล้อม



238.ป้องกันอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กวัยใกล้ 1 ขวบ มี 3 อย่างคือ ตกจากที่สูง ถูกของร้อน และกินของแปลกปลอมเข้าไป

อุบัติเหตุตกจากที่สูงมีมากเพราะเด็กวัยนี้รู้จักปีนป่ายได้แล้ว บางทีเผลอแผล็บเดียวตกโครมลงมาจากบันได บางครั้งปีนขึ้นไปบนเก้าอี้ซึ่งคุณแม่ไว้ใกล้หน้าต่าง แล้วโผล่หัวพุ่งหลาวออกไปข้างนอก เด็กบางคนปีนลูกกรงชั้นบนแล้วหล่นตุ้บลงไปชั้นล่าง

ช่วงเวลาที่เด็กคลาดสายตาคุณแม่บ่อยที่สุด คือเวลาที่เด็กตื่นจากนอนกลางวันเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้นตอนเอาลูกนอน คุณแม่ควรดูให้แน่ใจว่าถ้าเด็กตื่นขึ้นมาและเคลื่อนไหวไปไหนเองเด็กจะต้องปลอดภัย ควรให้นอนในเตียงเด็กซึ่งมีลูกกรงกั้นสูงๆ หรือให้นอนในคอกเด็กเล่น (baby circle หรือ playpen) ถ้าให้นอนบนพื้นในห้อง ต้องปิดประตูห้องน้ำห้องส้วมให้สนิท อย่าให้เด็กเปิดเองได้ บริเวณที่เด็กนอนไม่ควรวางของที่เป็นอันตรายเอาไว้

ถ้าคุณแม่อยู่กับลูกซึ่งกำลังเล่นอยู่ในห้อง และบังเอิญมีแขกมากกดกริ่งเรียก อย่าปล่อยเด็กไว้คนเดียว อุ้มไปด้วยปลอดภัยกว่า

อุบัติเหตุถูกของร้อนนั้น ถ้ารุนแรงอาจทำให้เกิดแผลเป็นไปตลอดชีวิตและทุกครั้งที่แม่เห็นแผลเป็นของลูก คงรู้สึกสะท้านในอก คุณแม่ขาดความระมัดระวังเพียงครู่เดียว แต่ต้องช้ำใจไปเป็นเวลานานแสนนาน เมื่อเด็กนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับคุณพ่อคุณแม่ได้ เวลาวางของร้อนบนโต๊ะ ต้องระวังอย่างที่สุด ไม่ควรวางกาน้ำร้อนบนโต๊ะ ถ้าใช้เครื่องปิ้งขนมปังบนโต๊ะกดสวิตซ์เมื่อไหร่ต้องมีใครคนหนึ่งคอยเฝ้าดูเด็ก เวลารับประทานอาหารประเภทหม้อไฟ หรืออาหารที่ปรุงบนโต๊ะร้อน ๆ ต้องตั้งไว้ให้ไกลมือเด็กที่สุด กระติกน้ำร้อนควรใช้ชนิดที่น้ำร้อนไม่หกออกมาเวลาล้ม

บางครั้งคุณพ่ออาจนึกสนุกให้ลูกกินอาหารชิ้นใหญ่ ๆ และย่อยยาก (เช่นหนวดปลาหมึก) หลังจากนั้นสัก 4-5 ชั่วโมง เด็กเกิดร้องปวดท้องขนาดหนักจนกระทั่งคุณพ่อคุณแม่ตกใจนึกว่าเป็นโรคลำไส้กลืนกันก็มี อุบัติเหตุกินของแปลกปลอมเกิดขึ้นเพราะคุณแม่ไม่เก็บของให้เรียบร้อย นอกจากบริเวณพื้นห้องและลิ้นชักโต๊ะเครื่องแป้งแล้วคุณแม่ต้องระวังของอันตรายที่อยู่สูงกว่านั้นด้วย เพราะเด็กวัยนี้บางคนเดินได้หรือเกือบได้แล้ว แถมยังปีนป่ายเก่งอีกด้วย ถ้วยชาม ช้อนส้อม ต้องเก็บเอาไว้ในที่ที่เด็กเอาไม่ถึง
เด็กบางคนดื่มน้ำยาต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้แล้วเผลอวางทิ้งไว้ ของอันตรายเหล่านี้ต้องเก็บทันทีที่ใช้เสร็จแล้ว

คุณแม่บางคนสะอาดมากใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดมือบ่อย ๆ ต้องระวังอย่าลืมเก็บขวดแอลกอฮอล์ไว้บนที่สูงทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่บางคนเป็นโรคนอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับช่วยเป็นประจำ อย่าวางกล่องยาไว้หัวนอนเป็นอันขาด กล่องยาควรเป็นกล่องที่เด็กไม่สามารถเปิดเองได้ บางบ้านคุณย่าคุณยายใช้ยาย้อมผม ไม่ควรใส่ขวดยาย้อมผมไว้ในลิ้นชักโต๊ะ เครื่องแป้งหรือวางไว้ในบริเวณที่เด็กหยิบถึง

 

 

 

 

 

239. ภูมิอากาศ
เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน อากาศร้อน มักทำให้เด็กเบื่ออาหาร เด็กที่ไม่ชอบนมวัวจะไม่ค่อยยอมกินนม ถ้าเด็กไม่มีไข้ แข็งแรงร่าเริงดีอยู่ก็ปล่อยตามใจแกได้ ในช่วงฤดูร้อน โรคที่เด็กเป็นง่ายคือท้องเสียและโรคตุ่มเม็ดพองในปาก (ดูหัวข้อ 185 หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 47 )

คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเที่ยวทะเลได้ ให้เล่นน้ำทะเลก็ได้ในเวลาแดดอ่อน แต่ไม่ควรให้เด็กแช่น้ำนานเกินไป และระวังอย่าให้ผิวเด็กถูกแดดจัด เพราะผิวหนังบริเวณนั้นอาจแดงอักเสบจนเด็กเป็นไข้
เวลาพาเด็กเดินทางไกล ถ้าไปด้วยรถไฟหรือรถเมล์ น่าจะเตรียมของเล่นและหนังสือภาพไปด้วย เพื่อไม่ให้เด็กรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ไม่ควรใช้วิธีป้อนขนมหรือผลไม้ตลอดเวลาเมื่อเด็กร้อง

ถ้าพาลูกไปเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัว และไปในสถานที่ที่ยังไม่เคยไปคุณพ่อคุณแม่อาจเพลินกับทิวทัศน์แปลกตาจนบางครั้งลืมดูลูก ก่อนออกเดินทางควรกำหนดตัวผู้รับผิดชอบดูแลเด็กไว้ให้เรียบร้อย โดยเฉพาะเวลาจอดรถพักผ่อนกลางทุ่งหรือริมเขากลางทาง ต้องระวังเด็กเป็นพิเศษ

ระหว่างฤดูฝน บางวันฝนตกตอนเย็นซึ่งเป็นเวลาที่เด็กเคยออกไปเล่นนอกบ้าน เด็กจะรู้สึกหงุดหงิด คุณแม่ต้องบริการลูกโดยเล่นกับแกให้มากหน่อย พวกแมลงต่างๆ เช่น มดชอบบุกขึ้นบ้านในฤดูฝน ยุงก็มีมาก ต้องระวังโรคไข้เลือดออก ในช่วงเปลี่ยนฤดู เด็กมักเป็นหวัดง่าย เวลานอนต้องคอยดูแลสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นอย่างเพียงพอ หวังพึ่งผ้าห่มไม่ค่อยได้เพราะเด็กชอบเตะผ้าห่มออกจากตัวอยู่เสมอ
เวลาอากาศหนาว เด็กจะฉี่บ่อยกว่าปกติ ถ้าไม่อยากให้ลูกฉี่รดที่นอนและอยากให้แกนอนหลับสบายไม่เปียกแฉะ คุณแม่อาจใช้ผ้าอ้อมกระดาษช่วย

 

 

สภาพผิดปกติ

 

 

240.ฟันยังไม่ขึ้น
ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะทำใจได้ว่าเด็กบางคนฟันขึ้นเร็ว บางคนฟันขึ้นช้า แต่ถ้าลูกอายุเกือบจะหนึ่งขวบอยู่แล้ว ยังไม่มีฟันโผล่ออกมาสักซี่เดียวคุณคงชักจะร้อนใจ เมื่อเปิดตำราดู เห็นเขียนเอาไว้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ฟันขึ้นช้าเพราเด็กขาดวิตามินดี และเป็นโรคกระดูกอ่อน ใจคุณแม่เลยร้อนเป็นไฟ อยากหาซื้อวิตามินให้ลูกกินขึ้นมาทันที

เด็กที่ได้รับแสงแดดอ่อนอยู่เสมอจะไม่ขาดวิตามินดี ถ้าเด็กเป็นโรคกระดูกอ่อนจนฟันขึ้นช้า เราจะเห็นอาการผิดปกติอย่างอื่นด้วย เช่น กระดูกบริเวณอื่นงอโค้ง รูปร่างศีรษะผิดประหลาดจนใครใครต้องออกปากว่าเด็กคนนี้แปลก เด็กที่แข็งแรง ร่าเริงเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ถึงแม้ฟันจะขึ้นช้า คุณแม่รอได้ไม่ต้องเป็นห่วง

ถ้าซื้อวิตามินดีมาให้เด็กกินอย่างไม่ระมัดระวัง กลับจะทำให้เด็กได้รับวิตามินมากเกินไป เด็กจะเกิดอาการเบื่อนม อยากแต่น้ำหรือน้ำผลไม้ ต่อมามีอาการอาเจียนหรือท้องผูก ฉี่มากและบ่อย ฯลฯ
ต้องหยุดให้วิตามินอาการจึงจะหาย

การให้เด็กกินแคลเซียมก็ไม่ได้ช่วยให้ฟันโผล่ขึ้นมาเร็ว ที่จริงเด็กมีฟันอยู่ใต้เหงือกเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่โผล่พ้นเหงือกออกมาช้าเท่านั้น ซึ่งสาเหตุเรายังไม่ทราบ ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าพาลูกไปให้หมอฉีดยาเร่งให้ฟันขึ้นเป็นอันขาด
ถึงฟันของลูกยังไม่ขึ้น แต่ถ้าเด็กชอบกินข้าวสวยมากกว่าข้าวต้ม ก็ให้กินข้าวสวยได้

 

 

 

 

 

241.มีไข้สูง
คุณแม่เห็นลูกท่าทางไม่ค่อยร่าเริงจึงเอามือแตะหน้าผากดู ปรากฏว่าร้อนจี๋ และเมื่อวัดด้วยปรอทก็รู้สึกว่าไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่พาลูกไปหาหมอเป็นดีที่สุด ถ้าดูจาสถิติ เด็กวัยนี้มักเป็นไข้ตัวร้อนเพราะหวัด หรือทอนซิลอักเสบด้วยเชื้อไวรัสมากที่สุด การพาลูกไปให้หมอตรวจและรับยามากินไม่ได้เป็นการฆ่าเชื้อไวรัส แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คุณแม่ควรให้หมอตรวจอาการของลูก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงจำพวกไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นโรคจำพวกนี้ เรารีบรักษาเร็วเท่าไรยิ่งดี แต่ในความเป็นจริงเด็กที่ร่างกายแข็งแรง โภชนาการดี มักไม่เป็นโรคร้ายแรงพวกนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กหนึ่งคนในพันคนหรือหมื่นคนที่เป็นโรคร้ายแรงเหล่านี้ ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรรักษาลูกเองด้วยความรู้งู ๆ ปลา ๆ ในเวลาที่เด็กมีไข้ แต่คุณแม่ก็ควรทราบเอาไว้ว่าเด็กอายุใกล้หนึ่งขวบนี้ถ้ามีไข้อาจเป็นโรคอะไรบ้าง จะได้ไม่กังวลจนเกินเหตุ เพราะกลัวว่าลูกจะเป็นโรคร้ายแรง

สำหรับเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้มาก่อนเลยตั้งแต่เกิด และเป็นเป็นครั้งแรกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศา ก่อนอื่นให้นึกถึง โรคส่าไข้ (ดูหัวข้อ 168 หมอชาวบ้าน 41) ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ควรนึกถึงโรคตุ่มเม็ดพองในปาก (ดูหัวข้อ 185 หมอชาวบ้าน ฉบับ 47 ) และสำรวจดูในปากของเด็กว่ามีตุ่มพุพองหรือไม่ในกรณีที่เคยเป็นแล้วทั้งโรคส่าไข้และโรคตุ่มเม็ดพองในปาก และในบ้านมีผู้แสดงอาการเป็นหวัด เด็กคงได้รับเชื้อหวัด แต่ถ้าหากเด็กมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น ไอแค้ก ๆ ติด ๆกัน เป็นชุด หรือหายใจฟี๊ดฟ๊าดอย่างหืดหอบ เบื่อนม เบื่ออาหาร ฯลฯ ควรรีบพาไปหาหมอโดยเร็วที่สุด

 

 

 

 

 

242.ท้องเสีย
ในกรณีที่เด็กท้องเสีย มีไข้ และอารมณ์ไม่ค่อยดี แสดงว่าคงมีเชื้อโรค (เช่น เชื้อบิด ทัยฟอยด์ ท้องร่วง ฯลฯ) ปะปนอยู่ในอาหาร ถ้าอุจจาระมีมูกหรือมีเลือด หรือเป็นฟองและมีกลิ่นเหม็นยิ่งน่าสงสัยที่สุด ต้องรีบพาเด็กไปหาหมอโดยเร็ว โรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียนั้น ถ้าได้รับยาฆ่าเชื้อเร็วอาการจะไม่หนัก เพราะฉะนั้นคุณแม่พาลูกไปหาหมอเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี

บางครั้งเด็กกินนมอาหารมากจนเกินไป หรือกินผลไม้มากเกินไปก็ทำให้ท้องเสียได้ ถ้าคุณแม่ทราบดีว่าเป็นเพราะสาเหตุนี้ ก็ลดอาหารลูกหนึ่งวัน ให้แต่ข้าวต้มและงดของมัน ๆ เพียงวันเดียวอาการท้องเสียก็จะหายไป แต่ถึงแม้คุณแม่จะคิดว่าลูกท้องเสียเพราะกินมากเกินไป ในกรณีที่มีอาการอาเจียนหรือมีไข้ร่วมด้วย และเด็กซึมไม่ร่าเริงเหมือนปกติ เบื่ออาหาร อุจจาระมีมูกเลือดปน อย่ามัวรักษาเอง พาลูกไปหาหมอดีกว่า

บางครั้งเด็กก็ท้องเสียทั้ง ๆที่ไม่ได้กินอะไรผิดปกติหรือมากเกินไป และคุณแม่เองก็มั่นใจในเรื่องความสะอาดปราศจากเชื้อ แต่เด็กอาจท้องเสียเพราะเวลานอนร่างกายไม่อบอุ่นเพียงพอ นอนเปิดหน้าอกหน้าท้องอยู่ตลอดคืนจนตัวเย็นก็เป็นได้ กรณีเช่นนี้ตัวต้นเหตุของโรคท้องเสียมักเป็นเชื้อไวรัส คุณแม่จะป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรคได้เฉพาะเชื้อที่เข้าทางปากโดยระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่มและเครื่องใช้ไม้สอย แต่เชื้อไวรัสที่เข้าไปทางจมูกโดยการหายใจนั้น คงจะป้องกันไม่ได้
 

เด็กบางคนอึเหลวตลอดเวลา คุณแม่กลุ้มใจมากเมื่อเห็นเด็กคนอื่นเขาอึเป็นก้อน จึงให้ลูกกินแต่ข้าวต้มกับอาหารเหลว อาหารอ่อน เด็กร่าเริงแข็งแรงดี แต่ตัวไม่โตและน้ำหนักน้อย เพราะถูกคุณแม่จำกัดอาหารอยู่ตลอดเวลา เด็กถูกพาไปหาหมอคนแล้วคนเล่า ทุกครั้งที่เปลี่ยนหมอ ก่อนอื่นหมอจะแนะนำให้ใช้วิธีลดอาหารเมื่อทราบว่าเด็กถ่ายเหลวเด็กจึงไม่โตสักที เด็กแบบนี้ถ้าคุณแม่ตัดสินใจให้ข้าวต้มที่เข้มข้นขึ้นและค่อย ๆเปลี่ยนเป็นข้าวสวย อุจจาระจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น กับข้าวควรให้กินไข่ กินปลา กินเนื้อบด ด้วยจึงจะดี ขอให้คุณแม่หลับตาอย่าดูอึลูก และระวังเรื่องการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวดเวลาปรุงอาหาร แล้วให้เด็กกินข้าวกินกับเหมือนเด็กปกติ ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (เฉลี่ยประมาณวันละ 5-10 กรัม) ก็เป็นอันว่าใช้วิธีนี้ได้ต่อไป เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มอุจจาระค่อย ๆ แข็งเป็นก้อนแล้ว แสดงว่าที่แล้วมาเด็กอึเหลวเพราะคุณแม่จำกัดอาหารมากเกินไปนั่นเอง
 

ข้อมูลสื่อ

67-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527