• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่เดือนถึงห้าเดือน (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

                                        
 

 

 

การเลี้ยงดู

 

 

119.เลี้ยงด้วยนมแม่
เด็กในช่วงอายุ 4-5 เดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่แล้วกินนมเก่ง น้ำหนักเพิ่มดี (เฉลี่ยวันละ 15-20 กรัม) และตัวเด็กพอใจกับนมแม่ ไม่มีทีท่าว่าต้องการอาหารอื่น คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริม นอกจากน้ำผลไม้ รอให้เด็กอายุ 5 เดือนก่อนแล้วค่อยเริ่มก็ได้

ถ้าดูเหมือนว่านมแม่เริ่มไม่พอ และลูกร้องหิวเร็วกว่าเมื่อก่อน คุณแม่ควรให้นมวัวเพิ่ม ถ้าน้ำหนักเด็กเพิ่มเพียง 100 กรัม ใน 10 วัน ต้องให้นมวัววันละ 2 มื้อ สำหรับเด็กที่เคยกินแต่นมแม่ เวลาชงนมให้ ควรชงให้จางกว่าที่เขียนไว้ข้างกระป๋องเล็กน้อย (ลดนมผงลงสัก 1/3 ช้อน) และไม่ต้องเติมแป้งหรือน้ำตาลในนม ไม่ควรให้นมวัวตามหลังนมแม่ แต่ให้นมวัวล้วนๆ หนึ่งมื้อในช่วงที่นมแม่ไม่ค่อยไหล ถ้าเด็กยอมกินนมวัวดี สัก 5-6 วัน จึงค่อยให้นมตามปริมาณที่สลากข้างกระป๋อง แต่ถ้าระยะ 5 วัน
น้ำหนักเพิ่มมากกว่า 100 กรัม ก็ชงให้จางเล็กน้อยต่อไปสักเดือนหนึ่ง จึงค่อยใส่นมตามปริมาณข้างกระป๋อง

เมื่อนมแม่ไม่พอ ต้องเพิ่มนมวัวให้ มีเด็กหลายคนที่ไม่ยอมกินนมผสมบางคนเป็นเพราะไม่ชอบหัวนมยางซึ่งสัมผัสไม่เหมือนหัวนมแม่ บางคนไม่ชอบรสนมผง สำหรับเด็กที่ไม่ชอบนมผง ลองให้กินนมสด แต่ต้องเอามาต้มเสียก่อน แล้วเติมน้ำตาลลงไป เล็กน้อย อย่าให้หวานถ้าเด็กยอมกินก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ให้นมสดก็ยังไม่ยอมกินอยู่ดี เด็กบางคนไม่ยอมดูดนมจากขวด แต่ยอมดื่มจากถ้วย คุณแม่ไม่ควรให้นมด้วยหลอดหยดยา หรือป้อนด้วยช้อนเพราะเสียเวลามาก

ถ้าเด็กไม่ชอบทั้งนมผงและนมสด คุณแม่เลิกให้นมวัวได้ หันไปใช้อาหารเสริมแทน (ดู 121 อาหารเสริม) ถ้าเด็กยังไม่ค่อยพร้อมที่จะกินอาหารเสริมคุณอาจลองให้นมถั่วเหลืองดู (มีของสำเร็จรูปจากต่างประเทศของบริษัทมี้ดจอห์นสัน ชื่อ โปรโซบี(Prosobee) แต่ราคาแพงมาก คุณซื้อถั่วเหลืองมาทำเอง ราคาจะถูกกว่ามาก)

เมื่อนมแม่ไม่ค่อยไหล เด็กจะโกรธ กัดหัวนมเอาบ้าง ดึงหัวนมบ้าง จนเป็นแผล ถ้าเชื้อโรคเข้าไปกลายเป็นโรคเต้านมอักเสบ นมแม่ก็ให้ไม่ได้ เจ็บร้าวไปหมด นมวัวก็ไม่ยอมกิน ทั้งยังร้องกวนทั้งวันทั้งคืน ทำเอาคุณแม่จะเป็นโรคเส้นประสาททีเดียวถ้าเป็นอย่างนี้ คุณอย่าเพิ่งหมดอาลัยตายอยากเสียก่อน เด็กไม่กินนมก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ให้อาหารเสริมแทนได้

 

 

 

 


120.เลี้ยงด้วยนมวัว
คุณแม่ไม่ควรคิดว่า เมื่อเด็กอายุได้ 4 เดือนจะต้องเพิ่มนมให้มากกว่าเดือนที่แล้ว เด็กอายุ 3-4 เดือน กับเด็กอายุ 4-5 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มในอัตราที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ให้อาหารในปริมาณที่เท่ากันได้ถ้าเด็กซน ใช้พลังงานมาก ก็ให้อาหารพวกแป้งน้ำตาลทดแทนพลังงานที่ต้องการเพิ่ม

เมื่อเด็กอายุครบ 4 เดือน และดูท่าทางปริมาณนมที่เคยให้จะไม่พอ ควรให้อาหารเสริมประเภทแป้งหรือซีรีล (ธัญญพืช)ของสำเร็จรูปที่ทำขายมีอาหารเด็กอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาหารเสริมดอยคำ (สองชนิดนี้ ผสมโปรตีนถั่วด้วย)ซีรีแล็ค เนสตุ้ม ฯลฯ ให้มื้อละไม่เกิน 3 กรัม (ประมาณ 2 ช้อนชาก่อนผสมน้ำ) ถ้าให้เพียงมื้อเดียวพอก็ให้มื้อเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้อ้วนเกินไป
สำหรับเด็กที่พอใจกับปริมาณนมเท่ากับเดือนที่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มอะไรให้

ถ้าเด็กกินนมเก่งมื้อละ 180-200 ซี.ซี. วันละ 5 ครั้งและเพิ่มอาหารแป้งให้แล้วยังทำท่าไม่พอ คุณแม่ไม่ควรเพิ่มนมให้ แต่เพิ่มอาหารเสริมให้แทน โดยป้อนน้ำแกงจืดหรือน้ำก๋วยเตี๋ยว (ถ้าเป็นไปได้ควรทำเอง เพราะน้ำก๋วยเตี๋ยวที่ทำขายจะใส่ผงชูรสมาก) ป้อนให้ก่อนมื้อนม เริ่มจาก 1-2 ช้อนชา วันละหนึ่งมื้อ และค่อยๆ เพิ่มจนถึง 20 ซี.ซี. (4 ช้อนชา) ในวันที่ 4-5 ถ้าเด็กชอบก็ให้วันละ 2 ครั้งก่อนมื้อนม แต่ถ้าคุณแม่ไม่ค่อยได้ทำอาหารเอง และจะทำแกงจืดให้ลูกแต่ละทีต้องเสียเวลาตั้งครึ่งค่อนชั่วโมง คุณอาจให้มื้อเย็นมื้อเดียว (โดยแบ่งจากแกงจืดที่ทำสำหรับคนทั้งบ้าน ก่อนใส่น้ำปลา พริกไทย ผงชูรส) อีกมื้อหนึ่งก็ให้น้ำผลไม้ หรือน้ำนมเปรี้ยว (ยาคูลท์ 20 ซี.ซี.เติมน้ำสุก 10-20 ซี.ซี….ราคาแพงหน่อยแต่สะดวกสำหรับคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา)ให้ก่อนมื้อนมข้อสำคัญ คุณแม่อย่าทุ่มเทเวลาให้กับการทำอาหารเด็ก จนลืมพาลูกไปเที่ยว

ถ้าลูกของคุณกินนมครั้งหนึ่ง แล้วอยู่ได้นาน 5-6 ชั่วโมง มื้อหนึ่งคุณแม่อาจชงให้ 200-220 ซี.ซี.ก็ได้ แต่ให้วันละ 4 ขวดพอ กล่าวคือ อย่าให้ปริมาณนมเกินวันละ 1,000 ซี.ซี.ก็แล้วกัน เพราะคุณแม่ที่ลูกกินเก่ง มักเพิ่มนมให้ลูกกินจนอ้วนเอาอ้วนเอาโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ตรงข้ามกับคุณแม่ที่ลูกกินน้อยมักจะไม่สบายใจ เมื่อลูกอายุ 4 เดือนแล้วยังกินนมได้มื้อละไม่ถึง 180 ซี.ซี. และพยายามหาวิธีต่างๆ ที่จะให้ลูกกินนมได้มากขึ้น

เด็กที่กินจุ ถึงแม้อายู 4 เดือนแล้วจะยังกินนมได้ไม่ถึง 180 ซี.ซี. ต่อครั้ง คุณแม่เมื่อเห็นลูกกินนมได้เพียงมื้อละ 150 ซี.ซี.มักเกรงว่าลูกจะขาดอาหาร แต่ถึงแม้เด็กจะกินนมเพียงมื้อละ 140-150 ซี.ซี. ถ้าเป็นนิสัยของเด็กเองซึ่งกินน้อยมาแต่กำเนิด ก็อย่าไปฝืนบังคับเลย เด็กที่กินน้อย วันหนึ่งกินนมเพียง 700 ซี.ซี.ก็มี ถ้าเด็กแข็งแรงดี กลางคืนนอนหลับดีไม่ค่อยกวน แสดงว่าเด็กได้รับอาหารพอเพียง ถึงแม้น้ำหนักจะเพิ่มเฉลี่ยวันละเพียง 15 กรัม ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงลูกจะกินน้อย คุณแม่ก็ไม่รู้สึกเพราะไม่รู้ว่าลูกกินไปเท่าไร มองไม่เห็นจึงไม่เดือดร้อน แต่เมื่อ คุณให้ลูกกินนมจากขวด และมองเห็นด้วยตาว่าลูกกินน้อยจะรู้สึกเดือดร้อน กลัวว่าลูกจะไม่แข็งแรง สำหรับเด็กที่มีนิสัยกินน้อยถ้ากินนมน้อยลงเมื่ออายุเกิน 4 เดือน คุณแม่อย่าฝืนบังคับดุนหัวนมใส่ปากให้เด็กดูด

เด็กที่ไม่ชอบกินนมวัว หลายคน มีพ่อหรือแม่ที่ไม่ชอบกลิ่นนมวัวเหมือนกัน สำหรับเด็กแบบนี้ควรให้อาหารเสริมเร็วหน่อยเพราะมีเด็กหลายคนที่นมผงก็ไม่ยอมกิน นมสดก็ไม่ยอมกิน แต่ถ้าเป็นข้าวตุ๋นล่ะก้อ กินเอากินเอาทีเดียว

 

 

 

 


121.อาหารเสริม

เราให้อาหารเสริมแก่เด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการกินอาหารอื่นนอกจากนม รวมทั้งรู้จักกินอาหารที่เป็นรูปเป็นร่าง ไม่เหลวเหมือนนม เด็กอายุ 4 เดือนกินแต่นมแม่ หรือนมวัวอย่างเดียว จะพอเพียงสำหรับความต้องการของร่างกาย เราไม่จำเป็นต้องรีบให้อาหารเสริม บางคนอาจกำหนดว่า ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่เด็กเมื่ออายุครบ 4 เดือน หรือเมื่อน้ำหนักเด็กถึง 6 กิโล แต่ตัวกำหนดที่แท้จริงคือตัวเด็กเองไม่ใช่น้ำหนักหรืออายุ เพราะถ้าเด็กไม่กินซะอย่างคุณแม่ก็ต้องยอมแพ้อยู่ดี ดังนั้น คุณแม่จะต้องคอยสังเกตว่าเด็กเริ่มอยากกินอาหารอื่น นอกจากนมหรือยัง ถ้าลองให้อาหารเสริมแล้วเด็กไม่สนใจกินเลย ควรหยุดพักไว้ก่อน คอยให้เด็กโตขึ้นแล้วอยากกินขึ้นมาเอง

การกินอาหารเสริมต้องใช้ช้อน ดังนั้นคุณแม่ควรเริ่มจากการหัดให้เด็กรู้จักกินด้วยช้อนเป็น (ดู 105 อาหารเสริม) ถ้าป้อนด้วยช้อนแล้วเด็กไม่ยอมหรือทำหกหมด แสดงว่ายังเร็วเกินไป ถ้าคุณแม่หัดให้ลูกรู้จักกินด้วยช้อนตั้งแต่เดือนที่แล้ว (อายุ 3-4 เดือน) และเด็กชอบกินน้ำแกงจืดหรือน้ำซุปด้วยช้อน คุณแม่เพิ่มอาหารเสริมต่อไปได้

สำหรับเด็กที่นมแม่ไม่พอ และไม่ชอบกินนมวัวแต่ชอบกินน้ำแกงจืด คุณแม่เริ่มให้อาหารเสริมอย่างจริงจังได้ ตั้งแต่เดือนนี้โดยเพิ่มอาหารที่มีรูปร่างสำหรับเด็กอายุ 5-6 เดือนได้เลย (เช่น ข้าวตุ๋น ไข่แดง ฟักทองบด ฯลฯ รายละเอียดจะเขียนในตอนอายุ 5-6 เดือน)

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 


 

ข้อมูลสื่อ

27-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 27
กรกฎาคม 2524