• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่เดือนถึงห้าเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                                  

 

 

สภาพแวดล้อม

 

 

125. ของเล่น
เด็กอายุ 4 เดือน สามารถใช้มือจับของเล่นได้แน่นพอควร ส่วนใหญ่พอจับของเล่นได้จะเอาเข้าปาก ดังนั้นของเล่นของเด็กวัยนี้ต้องสะอาด
ของเล่นสำหรับเด็กวัย 4-5 เดือน ส่วนใหญ่ทำด้วยพลาสติกรูปร่างต่างๆ กัน เวลาสั่นมีเสียงดัง หัวนมหลอกเด็กก็ชอบ ระวังอย่าให้ของเล็กๆ แก่เด็ก เพราะจะกลืนเข้าไปติดคอเกิดอันตรายได้

ของเล่นแบบที่ไขลานแล้วมีเสียงเพลง ไม่เหมาะสำหรับให้เด็กเล่นเอง เพราะเด็กจะจับฟาดหน้าตัวเอง ของเล่นแบบนี้คุณแม่ใช้สำหรับหลอกเด็กเวลาร้องไห้ หลอกให้คลานเข้ามาหา หรือถ้าเด็กคอเอียง (ดู 61 คอเอียง) คุณแม่หลอกให้เด็กหันคอมาทางด้านที่หันลำบาก

ของเล่นประเภทปลาตะเพียนที่แขวนไว้เหนือเตียงเด็กบ้านไหนๆ ก็มักจะมี เวลาแขวนต้องแน่ใจว่ายึดแน่นเรียบร้อยดี อย่าให้ตกลงมาทับเด็ก

ของเล่นสำหรับเด็ก คุณไม่ต้องซื้อของราคาแพงเพราะสำหรับเด็กแล้วของราคาถูกแพงมีค่าเท่ากัน ที่จริงเด็กสนใจของใช้ในบ้านมากว่าของเล่นเสียอีก ช้อน ชาม พลาสติก กะละมัง กล่องพลาสติก เอาอะไรใส่เขย่าแล้วมีเสียงดัง ฯลฯ เป็นของเล่นอย่างดีสำหรับเด็ก โดยคุณแม่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ

 


 

 

 

126. พี่ (ป้องกันโรคติดต่อ)
เมื่อพี่คนโตเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล มักจะติดเชื้อต่างๆ กลับมา เช่น หัด คางทูม อีสุกอีใส ถ้าคนพี่เป็นโรคเหล่านี้ คุณแม่มักสงสัยว่าจะติดน้องอายุ 4-5 เดือนหรือไม่ สำหรับหัด จะไม่ติดเด็กที่อายุเพิ่งครบ 4 เดือน แต่ถ้าอายุใกล้จะ 5 เดือน เด็กบางคนอาจติดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง เด็กบางคนก็ไม่ติด

การที่เด็กอายุเท่ากันมีภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน เพราะภูมิคุ้มกันโรคที่รับจากมารดาไม่เท่ากัน แม่บางคนมีภูมิคุ้มกันมาก บางคนก็น้อย เด็กที่รับภูมิคุ้มกันมาก อายุ 5 เดือนแล้วจะยังไม่ติดโรค เด็กที่รับมาน้อย ภูมิคุ้มกันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ พอใกล้ 5 เดือน ก็ไม่สามารถป้องกันโรคหัดได้ แต่ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง เมื่อเป็นโรคอาการจึงไม่มาก

สมัยนี้เวลาเด็กเป็นหัด หมออาจฉีด แกมม่า โกลบุลิน เป็นสารที่อยู่ในเลือดส่วนที่เรียกว่า พลาสม่า (plasma) เด็กอายุ 5 เดือนมีลักษณะเหมือนคนที่ฉีดแกมม่า โกลบุลินเข้าไป คือ อาจไม่ติดหัดหรือถ้าติดก็เป็นน้อย ดังนั้น ถ้าเด็กอายุ 4-5 เดือน มีพี่ที่เป็นหัด ควรให้ติดจากพี่เสียเลย ไม่ต้องแยกห้อง ให้อยู่ห้องเดียวกันได้ ถ้าเด็กติดหัด แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็จะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่ติดก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันและอาจเป็นหัดเมื่อเริ่มไปโรงเรียน นอกจากจะพาไปฉีกวัคซีนป้องกันไว้ (วัคซีนป้องกันหัดนี้ ราคาแพงมาก)

เด็กอายุ 4-5 เดือน จะไม่ติดโรคคางทูม เพราะยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่รับมาจากแม่เหลืออยู่
เด็กจะเริ่มติดอีสุกอีใสตั้งแต่ 3 เดือน ถ้าพี่เป็นอีสุกอีใส ไม่ต้องแยกน้องอายุ 4-5 เดือนออก เพราะถ้าไม่ติดโรคอีสุกอีใสตอนนี้ ไปเป็นเอาตอนโต อาการจะหนักกว่าเป็นตอนนี้

ถ้าบังเอิญลูกคนพี่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแล้วเกิดเป็นโรคนี้ขึ้น เด็กอายุ 4-5 เดือน ซึ่งยังฉีดวัคซีนป้องกันโรคไม่ครบติดโรคได้ และถ้าเป็นจะทรมานมาก คุณแม้ต้องพยายามอย่าให้ติดโรค แต่ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคไอกรน ก็กินเวลาหลายวัน ระยะแรกที่คนพี่เริ่มไอคุณแม่มักคิดว่าเป็นหวัด พอรู้ว่าเป็นไอกรนก็ติน้องเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าพี่เป็นไอกรน ต้องแยกน้องออกทันที ถ้าหลังจากนั้นอีกไม่นาน เด็กแสดงอาการเป็นหวัด (ไอ จาม มีน้ำมูก) ให้พาไปหาหมอตรวจดูว่าเป็นไอกรนหรือเปล่า โรคไอกรนถ้ารักษาเร็ว โดยใช้ยาปฏิชีวนะ (เตตร้าซัยคลีน) จะช่วยให้อาการไม่หนัก หมอบางคนชอบฉีดสเตร์ปโตมัยซิน แต่อาจมีผลทำให้เด็กหูหนวกได้ ไม่ควรฉีด ถ้าแยกน้องจากพี่แล้ว เกินหนึ่งอาทิตย์ เด็กไม่แสดงอาการหวัด แสดงว่าเด็กไม่ได้ติดโรค ถ้าแยกพี่จากน้องลำบาก ควรให้พี่คาดผ้าปิดปากเหมือนที่หมอใช้

ถ้าพี่เป็นคอตีบ ไข้อีดำอีแดง บิด จะต้องเข้าโรงพยาบาล ส่วนน้อง ควรตรวจร่างกายอย่างละเอียด
ถ้าพี่เป็นโรคผิวหนัง ซึ่งมีเม็ดพอง (pemphigus) จะติดน้องได้ อย่าให้เข้าใกล้กัน ถ้าพี่เป็นเม็ดพองที่แขนและขา ควรพันผ้าพันแผลไว้ เพื่อไม่ให้หนองไปติดอะไรต่ออะไรและต้องพยายามรักษาให้หายเร็วๆ
ถ้าน้องเป็นผด อย่าเพิ่งให้พี่ไปปลูกฝี เพราะถ้าเกิดหนองฝีของพี่ไปติดบริเวณที่ผดแตก คนน้องจะเกิดอาการอักเสบที่ผด เป็นหนองและเป็นแผลเป็นน่าเกลียด

เด็กอายุ 4-5 เดือน ถ้าติดหวัดจากพี่ถึงแม้ไข้จะไม่สูงนัก แต่ถ้าไอและคัดจมูก เด็กจะอึดอัดทุรนทุรายคุณแม่ควรระวังอย่าให้ติดหวัดกัน
ถ้าพี่เป็นตาแดงมีขี้ตา ระวังอย่าให้เข้าใกล้น้อง และคอยเตือนไม่ให้พี่ขยี้ตา แต่ส่วนมากมักไม่สำเร็จเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นตอของโรคตาแดง อาจจะติดตามลูกบิดประตู มือจับตู้ ลิ้นชัก ฯลฯ ดังนั้น เวลาคุณแม่จะทำอะไรให้ลูกคนเล็ก ต้องล้างมือให้สะอาด พี่น้องไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน ไม่อาบน้ำในอ่างเดียวกัน

 

 

 


127. ภูมิอากาศ
ในช่วงอากาศร้อน เด็กจะรู้สึกเบื่ออาหาร ถ้าดูท่าทางเด็กไม่ค่อยอยากกิน ก็ยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมอย่างจริงจัง เพียงแต่หัดให้รู้จักกินด้วยช้อนก็พอ ถ้าเด็กไม้ยอมกินนมอย่าฝืนบังคับ ลองแช่นมให้เย็นประมาณ 10 องศาเซลเซียส เด็กอาจจะยอมกิน ถ้าเด็กชอบน้ำแกงจืดหรือซุปก็ป้อนให้ด้วยช้อน

ถ้าคุณอยู่แฟลตหรือห้องแถวที่ค่อนข้างอับลม ควรพาลูกออกรับลมนอกบ้านให้มาก
ในระยะที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาขึ้นไป ถ้าให้นอนหมอนน้ำแข็ง เด็กจะหลับดีขึ้นและช่วยป้องกันไม่ให้เป็นผดที่หัวด้วย ถ้าเด็กเป็นผดที่หัวต้องระวังอย่าให้อักเสบ เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนทุกวัน ในกรณีที่เปลี่ยนทุกวันไม่ได้ เอาผ้าเช็ดตัวปูบริเวณหัวนอนแล้วเปลี่ยนเฉพาะผ้าเช็ดตัวทุกวัน ควรอาบน้ำให้เด็กบ่อยๆ แต่ไม่จำเป็นต้องถูสบู่ให้ทุกครั้ง

 

 

 

 


128. ตัวร้อน
เด็กอายุ 4-5 เดือนไม่ค่อยเป็นโรคที่มีไข้สูง ถ้ามีไข้สูงอาจเป็นโรคหูอักเสบต่อมน้ำเหลืองใต้คางอักเสบหรือเป็นฝีที่ก้นเหมือนเด็กในช่วงอายุ 3-4 เดือน (ดู 112 ไข้สูง) เนื่องจากอาการไข้ของเด็กเกิดขึ้นจากการอักเสบ เด็กจะเจ็บบริเวณที่อักเสบด้วย ดังนั้น ถ้าเด็กมีไข้และร้องแสดงความเจ็บปวด คุณแม่ควรสังเกตดูบริเวณดังกล่าว หู ใต้คาง ก้น (แต่คุณแม่คงดูข้างในหูของเด็กด้วยตัวเองไม่ได้)

เด็กอายุ 5 เดือนบางคน เมื่อปวดหูจะเอามือมาไว้ที่หูเหมือนจะบอก แต่คุณแม่ส่วนใหญ่มักไม่รู้ ถ้าเด็กเป็นโรคหูชั้นกลางชั้นกลางอักเสบ วันรุ่งขึ้นบริเวณหูจะเปียก ถ้าคุณแม่สังเกตเห็น ก็นับได้ว่าเป็นคนช่างสังเกต ส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าลูกเป็นอะไร ก็ต่อเมื่อหมอบอก

สาเหตุของไข้เด็กที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคหวัด แต่เด็กอายุเท่านี้ ถึงเป็นหวัด ไข้จะไม่ค่อยสูง ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่มีอาการคัดจมูก ไอหรือปวดศีรษะ ก็แสดงว่าลูกติดหวัดแม่ ส่วนใหญ่ไข้มักสูงประมาณ 37.5 องศาเท่านั้น

ถ้าเด็กมีตุ่มเต็มหัวหรือมีฝีที่หัว เด็กอาจมีไข้ประมาณ 38 องศาได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่มักไม่ตกใจ เพราะคงพาลูกไปรักษาอาการที่หัว และหมอคงเตือนไว้แล้วว่าเด็กอาจเป็นไข้

สำหรับโรคส่าไข้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่เด็กอายุ 4-5 เดือนก็เป็นได้ ถ้าเป็นไข้จะไม่สูงและผื่นจะออกเร็ว เด็กที่เป็นเร็ว อาจเป็นโรคนี้อีกครั้งเมื่ออายุเกินขวบขึ้นไป


(อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

29-0027
นิตยสารหมอชาวบ้าน 29
กันยายน 2524