• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝากครรภ์ สำคัญไฉน ?

 
วันนี้ ขอเขียนเรื่อง “การฝากครรภ์” สักที
การฝากครรภ์ไม่ใช่ของใหม่ แต่คนสมัยใหม่ควรปฏิบัติ
การฝากครรภ์คืออะไร….คุณคงทราบและเข้าใจดี แต่ถ้าผมจะอธิบายอีกครั้งก็คงไม่เป็นไรใช่ไหมครับ เผื่อว่าบางทีคุณอาจจะยังไม่แจ่มแจ้ง


การฝากครรภ์ ก็คือการที่คุณมอบกายที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ของคุณให้อยู่ในความดูแลของบุคคลหรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคลอดเป็นอย่างดี
บุคคลเหล่านี้ได้แก่ผู้ใด….แพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ หรือผู้ที่ทำหน้าที่ทำคลอดและดูแลครรภ์อยู่เป็นประจำ เป็นบุคคลที่คุณเลือกเฟ้นมาช่วยดูแลตัวคุณได้ทั้งนั้น ว่าแต่คุณสะดวกแบบไหน


สะดวกไม่สะดวกบางครั้งสถานที่ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน คุณสะดวกจะไปฝากที่ไหนก็เลือกเอาที่นั่นแหละครับ…สถานที่ในที่นี้ผมหมายถึงสถานที่ๆ เขาทำคลอดได้นะครับ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานผดุงครรภ์ หรือสถานพยาบาลทั้งหลายที่ระบุว่ารับฝากครรภ์ทำคลอดเป็นอันว่าใช้ได้ทั้งนั้น


การฝากครรภ์ต้องมีประโยชน์แน่ๆ ถึงได้แนะนำให้ฝากครรภ์

ประการแรก แพทย์หรือบุคคลที่คุณไปฝากครรภ์ด้วยจะได้ช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติตัวในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ ทั้งก่อนและภายหลังคลอด และการเลี้ยงดูลูก เมื่อคลอดออกมาแล้ว

ประการที่สอง เมื่อคุณได้ฝากครรภ์แล้ว ความวิตกกังวลในเรื่องท้องจะได้ผ่อนคลายลงไป สุขภาพจิตดีขึ้น

ประการที่สาม เมื่อมีโรคแทรกซ้อน หรือมีอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ แพทย์ตรวจพบแล้วจะได้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา

ประการที่สี่ คุณจะรู้วันกำหนดคลอด ถึงแม้ว่าส่วนมากจะไม่ถูกเป๊ะแต่ก็ใกล้เคียง คุณจะได้เตรียมตัวเตรียมใจได้ล่วงหน้า

ประการที่ห้า อย่างน้อยเมื่อฝากครรภ์แล้ว คุณจะได้มีที่คลอดอย่างถูกหลักการแพทย์ มิใช่ว่าอยู่จนเจ็บท้องคลอดแล้ว ยังไม่ทราบว่าไปคลอดที่ไหนดี…แบบนี้เห็นทีจะฉุกละหุกแน่


ทีนี้การฝากครรภ์ ถ้าจะให้เป็นไปอย่างราบรื่น คุณก็ควรจะมีการเตรียมตัวกันบ้าง สิ่งที่ต้องเตรียม มีอะไรบ้าง….

ประการที่หนึ่งประวัติส่วนตัวทั้งในปัจจุบันและอดีต ว่าเคยเจ็บป่วยอะไรหรือไม่ เคยผ่าตัดหรือเปล่า

ประการที่สอง…ประวัติของครอบครัว มีบุคคล ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย มีใครเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด วัณโรค มีคลอดแฝด หรือมีโรคเรื้อรังอะไรบ้างหรือไม่

ประการที่สามประวัติของรอบเดือน ที่สำคัญ วันที่มีรอบเดือนรังสุดท้ายนั้น เมื่อใด เพราะอันนี้สำคัญ แพทย์จะได้นำมาคำนวณ หาวันกำหนดคลอดต่อไป

ประการที่สี่…เป็นประวัติเกี่ยวกับการคลอดที่ผ่านมาในอดีต ถ้ามี เคยคลอดลูกตัวโตไหม น้ำหนักเท่าไร คลอดยากคลอดง่าย เจ็บท้องอยู่นานหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น มันมีประโยชน์ต่อคุณเองทั้งนั้น


ถ้าจะถามว่า จะเริ่มฝากท้องเมื่อไหร่ดี
ตอบได้ง่ายๆ และจำได้ง่ายๆ ก็คือ รู้ว่าท้องเมื่อไหร่ก็ไปฝากท้องเสียเมื่อนั้น หรือไม่ควรเกินท้องสามเดือน
 

  

เมื่อตัดสินใจ หรือเลือกสถานที่ได้แล้ว คุณก็ไปพบแพทย์ หรือพยาบาลผดุงครรภ์ เพื่อฝากครรภ์ดังกล่าวแล้ว แพทย์ก็จะซักประวัติของคุณ ประวัติอย่างที่ผมแนะนำให้คุณเตรียมตัวไปนั่นแหละ เมื่อซักประวัติเรียบร้อยแล้ว แพทย์ก็จะตรวจร่างกายของคุณโดยละเอียดตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยทีเดียว เพื่อตรวจดูว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีก็จะได้ทำการรักษาให้ สมมุติว่า ปลอดโปร่งดี จากนั้นคุณก็จะถูกเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เลือดที่เจาะไปก็เพียงเล็กน้อย บางคนพอหมอบอกขอเจาะเลือด หน่อยนะ ถึงกับหน้าซีด


เลือดที่เจาะไปนั้น ก็เพื่อดูความเรียบร้อยของร่างกายคุณว่ามีอะไรแทรกซ้อนที่จะมีอันตรายต่อคุณเองและทารกในครรภ์ หรือไม่ เป็นการเจ็บตัวที่ได้ผลเกินคุ้ม…แน่ะว่ายังกะโฆษณา


การไปฝากครรภ์ มิใช่ไปเพียงครั้งเดียวแล้วก็เลิกกันจนกว่าจะคลอดแล้วค่อยโผล่ไปหาแพทย์อีกครั้ง
ครับ…ต้องไปพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัด
ถ้าการตั้งครรภ์ปกติดี ระยะครรภ์อ่อนๆ อาจจะเดือนครึ่งถึงสองเดือนไปพบแพทย์ครั้งพอครรภ์แก่ขึ้นสักห้าเดือนหกเดือน อาจจะไปเดือนละครั้ง จากนั้นค่อยถี่ขึ้นเป็นเดือนละสองครั้ง จนอาทิตย์ละครั้งอะไรทำนองนี้…อันนี้คุณไม่ต้องจำหรอกครับ แค่ปฏิบัติตามที่แพทย์เขานัดให้ก็ดีถมถืดแล้ว

และแน่นอนที่สุด ถ้ามีอาการไม่ชอบมาพากล มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ คุณก็จะต้องไปพบแพทย์ บ่อยขึ้น และแพทย์ก็จะนัดคุณบ่อยขึ้นเช่นกัน
 

  


อาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่ว่านั้น ที่พบได้ไม่ยากนัก เช่น มีเลือดออกกะปริดกะปรอยเป็นอาการของการแท้ง มีอาการบวมตามเนื้อตามตัว ปวดศีรษะมากๆ อาจเป็นอาการครรภ์เป็นพิษ เหล่านี้คุณต้องพบแพทย์บ่อยขึ้นแน่นอน


โลหิตจางก็ทำนองเดียวกันครับ…ในคนไทยเราพบได้บ่อย ส่วนมากเพราะขาดธาตุเหล็ก ตอนตั้งครรภ์ธาตุเหล็กมีความจำเป็นมาก จำเป็นในการสร้างเลือดให้ทั้งลูกและทั้งแม่…ขาดไปเมื่อไหร่ เป็นเกิดโลหิตจางเมื่อนั้น…และทำไมแพทย์จึงต้องให้ยาบำรุงมากินอยู่เสมอๆ …ก็เพราะเหตุนี่เอง เพราะในยาบำรุงอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ที่มีความจำเป็นยิ่งกว่าทองซะอีก


แต่น่าเสียดายที่มีอยู่ไม่น้อย มองข้ามความจำเป็นของยาบำรุงขณะตั้งครรภ์ไป แพทย์ให้ยามากิน แต่หาได้กินไม่ ด้วยเหตุผลว่า กลัวอ้วน
โถ…ไม่อ้วนหรอกครับคุณ
ยาบำรุงทำให้ร่างกายแข็งแรงต่างหากและป้องกันโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็กด้วย เมื่อโลหิตไม่จางคุณก็จะแข็งแรง


มีประชาชนจำนวนไม่น้อย เป็นคนขี้โรคเพราะโลหิตจาง ดังนั้นได้ยาบำรุงมาแล้ว ก็จงตั้งหน้าตั้งตากินเข้าไปเถิดครับ…กินตามที่คุณหมอท่านแนะนำเป็นดีที่สุด แล้วโรคโลหิตจางจะห่างจากตัวคุณไป


โรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีก
ที่ทำให้คุณต้องพบแพทย์บ่อยขึ้น เบาหวาน…จะเป็นมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ บางคนปกติไม่เป็นเบาหวาน แต่พอตั้งครรภ์ขึ้นมาก็อาจมีเบาหวานแอบแฝงเข้ามาก็เป็นได้ หลังคลอดก็หายไป แบบนี้แพทย์ก็ต้องดูแลคุณเป็นพิเศษยิ่งขึ้น เพราะอันตรายต่อทารกมีมากขึ้นด้วย


ตับไต ไส้พุง เมื่อมันผิดปกติขึ้นมาระหว่างการตั้งครรภ์ คุณก็จะได้รับการดูแลมากยิ่งขึ้น แต่คุณก็เบาใจได้ เมื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์มีอยู่หลายอย่างที่คุณอาจทำให้แพทย์ต้องลำบากใจนับตั้งแต่วันแรกที่ไปฝากครรภ์ จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไม่ได้ เลยไม่รู้กันว่าตอนนี้กี่สัปดาห์ กี่เดือนแล้ว… แน่ละดูจากขนาดก็พอบอกได้ แต่ถ้าดูทั้งจากขนาดด้วย…อายุครรภ์ด้วยมันก็ยิ่งแน่นอนกว่า


การไม่มาตามที่แพทย์นัด การไม่กินยาตามที่แพทย์แนะนำเหล่านี้เป็นสิ่งที่แพทย์มักจะพบเสมอๆ มันไม่ค่อยจะดีใช่ไหมคุณ
เอาละสมมุติว่า คุณก็มาฝากครรภ์แล้วแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว เจาะเลือดแล้วทุกอย่างปกติหมดแพทย์ก็จะนัดคุณมาตรวจครรภ์เป็นครั้งๆ ไป ตามความเหมาะสมแห่งเวลา


จนกระทั่งตั้งครรภ์ได้ประมาณ 36 อาทิตย์ หรือเหลืออีกเดือนจะคลอด ถ้าเป็นครรภ์แรก แพทย์ก็มักจะตรวจวัดเชิงกรานให้กับคุณด้วย วัดเชิงกรานกันไปทำไม…ก็เพื่อจะดูว่า คุณพอจะคลอดเองทางช่องคลอดได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็จะได้เตรียมวันผ่าตัดคลอด…หมายความว่าเชิงกรานของคุณแคบเกินไป หรือเด็กโตเกินไป คือไม่มีความสมดุลย์กันระหว่างตัวเด็กกับช่องเชิงกราน แบบนี้ถ้าปล่อยให้คลอดเองก็อาจเกิดอันตรายได้ การวัดเชิงกรานจึงช่วยในกรณีเช่นนี้

วัดเชิงกรานแล้ว ยังไม่แน่ใจ ก็อาจส่งไปเอ็กซเรย์เชิงกรานร่วมด้วยสองแรงแข็งขันก็ดูจะทำให้มั่นใจขึ้นมาถึงตอนนี้ คุณก็คงจะถูกเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง


เลือด…ก็คงได้รับการตรวจเหมือนกับตอนมาฝากครรภ์ครั้งแรก
เมื่อถึงเวลาใกล้กำหนดคลอดแพทย์จะให้คำแนะนำแก่คุณว่าเมื่อไหร่ควรจะมาโรงพยาบาลหรือสถานที่ๆีคุณคิดว่าจะไปคลอด


ปวดท้องคลอด…น้ำเดิน…หรือมีมูกเลือด เป็นอาการที่มักจะบอกให้คุณๆ ทราบว่าถึงเวลาที่จะต้องไปโรงพยาบาลกันแล้ว
จากนั้นไม่นาน คุณก็จะได้ลูกน้อย ออกมาชมโลก อยู่ในอ้อมกอดที่อบอุ่นของคุณ ก็เป็นอันสิ้นสุดการฝากครรภ์


มาถึงบรรทัดนี้ เผอิญถ้าคุณกำลังตั้งท้องอยู่ ผมก็ขอกระซิบถามคุณเพียงนิดเดียวว่า ฝากครรภ์แล้วหรือยังครับ…ถ้าฝากแล้ว ก็แล้วกันไป ถ้ายังไม่ฝากก็อย่าได้นิ่งนอนใจนะครับ แล้วคุณจะได้เรียนรู้ว่าการได้ฝากครรภ์นี้น่ะมีประโยชน์…ช่วยคุณได้มากที่สุด อย่างที่ผมเขียนมานั่นแหล่ะครับ
 

ข้อมูลสื่อ

31-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 31
พฤศจิกายน 2524
นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ