• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าเดือนถึงหกเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

                                      
 

 

 

ลักษณะของทารก

 

 

135 ลักษณะของทารกระยะ 5-6 เดือน

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว เด็กอายุ 5-6 เดือนจะเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น มีกำลังมากขึ้น และสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น อยากรู้อยากเห็น อยากจับต้องของทุกอย่าง ถ้าคุณแม่อุ้มอยู่ เด็กจะมือขยุ้มจมูกคุณแม่ ลองยื่นของเล่นไปใกล้ๆ เด็กจะเอามือคว้า คว้าของอะไรได้เด็กจะแกว่งเล่นหรือเอาเข้าปากอม ขาของเด็กจะแข็งขึ้น มักจะถีบผ้าห่มออกจากตัว บางครั้งก็ยกขาฟาดที่นอนตึงๆ เวลาอุ้มให้ยืนบนตักเด็กจะเหยียดขายืนตรงได้ครู่หนึ่ง บางครั้งจะถีบเท้ากระโดด เด็กบางคนก็พลิกคว่ำหงายเองได้ แต่ไม่มีข้อกำหนดอะไรว่าเด็กอายุ 5 เดือน จะต้องทำไอ้โน่นไอ้นี่ได้ เด็กบางคนชอบอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวอาจทำอะไรได้ช้ากว่าเด็กอื่น เด็กที่ไม่ชอบถีบขากระโดดก็มีมาก เด็กอายุเท่านี้ ถ้าจับนั่งแล้วใช้หมอนยันด้านหน้าเอาไว้ ส่วนใหญ่จะนั่งได้ เด็กบางคนสามารถนั่งได้โดยไม่ต้องมีอะไรยันนาน 10-15 นาที เด็กบางคนชอบนั่งตัวงอเหมือนกุ้งแล้วเอาปากยื่นไปดูดนิ้วเท้า


เด็กจะรู้จักสิ่งรอบตัวมากขึ้น จำหน้าแม่ได้ จะยิ้มเมื่อเห็นหน้าแม่และบางครั้งร้องไห้เมื่อเห็นคนแปลกหน้า หรือเวลาแม่เดินห่างออกไป ถ้าของเล่นตกจากเตียง เด็กจะพยายามหาดู
เด็กแต่ละคนมีความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมต่างกัน จะเห็นได้ชัดเวลาถูกฉีดวัคซีน เด็กบางคนไม่ร้องเลย บางคนถูกฉีดไปแล้วสักพักจึงร้อง บางคนพอถูกเข็มจิ้มปุ๊บร้องทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงลักษณะเฉพาะตัวของเด็กซึ้งติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ใช่เรื่องที่จะสอนกันได้

เด็กที่ค่อนข้างซนจะนอนน้อย เด็กที่ชอบอยู่เฉยๆ จะนอนมากทั้งกลางวันกลางคืน โดยทั่วไปเด็กจะนอนน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น พอถึงวัยนี้เด็กส่วนใหญ่จะนอนตอนเช้า 1-2 ชั่วโมง และตอนบ่ายอีก 2-3 ชั่วโมง ตอนกลางวันเล่นมาก ตอนกลางคืนจึงนอนหลับดีขึ้น เด็กที่เคยตื่น 2 หนตอนกลางคืนจะลดลงเหลือหนเดียว ที่เคยตื่นหนเดียว จะไม่ตื่นเลยนอนรวดเดียวถึงเช้า

ตอนกลางวัน เด็กเห็นอะไรต่ออะไรมากขึ้น บางครั้งตกใจบ้าง กลัวบ้าง พอตกกลางคืนเด็กอาจฝันถึงสิ่งที่เห็นตอนกลางวัน นอนอยู่ดีๆ แผดเสียงร้องไห้ขึ้นมาเฉยๆ ก็มี เด็กที่ไม่เคยเจ็บตัวเลย เมื่อถูกฉีดวัคซีนครั้งแรก เด็กจะร้องลั่นไปหมด พอตกกลางคืนอาจเริ่มนิสัยร้องกวนตอนกลงาคืน เพราะกลัวเข็มฉีดยาจนฝั่งใจก็มี

เด็กที่มีนิสัยร้องกวนตอนกลางคืน คือ นอนอยู่ดีๆ ก็ร้องไห้เหมือนตกใจกลัวอะไรสักอย่าง แล้วร้องไม่หยุด ไม่ยอมนอน ทำความลำบากเดือดร้อนให้คุณพ่อคุณแม่เป็นอันมาก นิสัยนี้ส่วนใหญ่มักเริ่มเมื่อเด็กอายุได้ 5 เดือน เพราะเด็กเริ่มรู้จักความดีใจและความกลัว


สำหรับนิสัยขับถ่ายของเด็กในวัยนี้ เด็กส่วนใหญ่จะอึวันละ 1-2 ครั้ง เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่บางคนอาจถ่ายวันละ 4-5 ครั้งก็มี แต่เด็กบางคนท้องผูกต้องสวนทวารทุก 2 วัน เด็กที่ท้องผูกเป็นประจำน้อยคนที่จะหายทันทีที่เริ่มอาหารเสริม เพราะอาหารเสริมในระยะแรกเรายังไม่ให้อาหารพวกผักที่มีเส้นใยช่วยในการขับถ่าย แต่ถ้าคุณแม่ให้เด็กกินพวกผลไท้และนมเปรี้ยวมากๆ เด็กหลายคนจะถ่ายสะดวกขึ้น

เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับเด็กในวัยนี้ คือ เด็กที่เริ่มอาหารเสริมมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยกินข้าวตุ๋น (เหมือนโจ๊ก) มาตลอด และถึงเดือนนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นข้าวต้ม เด็กอาจอึเหลวขึ้นและบ่อยขึ้นเหมือนท้องเสีย เมื่อเด็กมีอาการท้องเสียด้วย สาเหตุต่างๆ (เช่น กินมากเกินไปหรือเป็นหวัด ก็ท้องเสียได้) ถ้าคุณแม่ตกใจหยุดให้อาหารเสริมทั้งหมดกลับไปให้แต่นมแม่หรือนมผสมแต่อย่างเดียว อึเด็กจะเหลวต่อไปไม่ยอมแข็ง หมอโรคทั่วไปซึ่งไม่ใช่กุมารแพทย์ (หมอเด็ก) โดยตรง และไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการของทารก เมื่อแม่บอกว่าลูกท้องเสีย มักจะสั่งให้หยุดอาหารเสริมและให้แต่นมเพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า และให้น้ำเกลือเด็กแทนเพื่อให้อาหารพอเพียง ถ้าทำอย่างนั้นแม้หลายวันผ่านไป อึเด็กก็จะไม่ยอมแข็งสักที หมอจึงฉีดน้ำเกลือให้เด็กทุกวัน คุณแม่เห็นลูกถูกฉีดยาด้วยเข้มอันเบ่อเริ่มทุกวันก็คิดว่าลูกอาการหนัก ทางฝ่ายเด็ก ตามปกติอารมณ์ดียกเว้นเวลาพาไปหาหมอ และเวลาหิวเพราะกินแต่นมอย่างเดียวอาหารไม่พอจึงร้องหิวเวลาเห็นแม่กินข้าว เด็กจะทำท่าอยากกินด้วย เด็กที่กินอาหารเสริมได้มากแล้ว เมื่อถูกหยุดอาหารอื่นกลับไปให้แต่นมอย่างเดียวทำให้มีอาการท้องเสียนั้น อาการท้องเสียจะไม่หายถ้าไม่กลับไปให้อาหารเสริมเช่นเดิม


สำหรับเด็กที่ไม่ดื้อและฉี่ไม่บ่อย ถ้าคุณแม่อุ้มนั่งกระโถน บางครั้งจะฉี่ลงกระโถนให้คุณแม่ได้ชื่นใจ แต่การทำอย่างนี้ไม่มีผลในการฝึกให้ลูกนั่งกระโถนเป็น เพียงแต่ช่วยประหยัดผ้าอ้อมหรือกางเกงให้คุณแม่ซักน้อยลงไปบ้างเท่านั้น ส่วนเด็กที่ฉี่บ่อยคุณแม่อย่าเสียเวลาจับนั่งกระโถนเลย เพราะไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร


เมื่อเด็กอายุเกิน 5 เดือนแล้ว อาการอาเจียนทุกครั้งหลังให้นมจะหมดไป ยกเว้นในกรณีที่กินมากเกินไป เช่น วันไหนอากาศร้อน คุณแม่ให้กินน้ำผลไม้เด็กกระหายน้ำจึงกินเข้าไปมาก เมื่อให้นมตามหลังเด็กกินมากเกินไปอาจอาเจียนออกมาได้ หรือในกรณีของเด็กที่มีเสมหะมาก เมื่อไอตอนกลางคืน อาจอาเจียนเอานมที่กินเข้าไปออกมาด้วย อาการอาเจียนแบบนี้ไม่ใช่โรค สิ่งที่แสดงว่าเด็กไม่ได้เป็นอะไรคือ หลังอาเจียนเด็กจะร่าเริงตามปกติหรือนอนหลับสบาย


แต่ถ้าเป็นกรณีที่อยู่ดีๆ เด็กก็ร้องจ้า แสดงความเจ็บปวดขึ้นมา ร้องสัก 3-4 นาที แล้วหยุดร้องเป็นปกติสัก 4-5 นาที แล้วกลับร้องอีก พอให้นมก็อาเจียนออกมาหมด อาการอย่างนี้ให้คิดถึงโรคลำไส้กลืนกัน (ดู หัวข้อ 132 ลำไส้กลืนกัน) ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลใหญ่ที่มีหมอผ่าตัดทันที ถ้ารีบไปทันกาลอาจหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด


การให้อาหารเสริมนั้น ความพร้อมของเด็กสำคัญที่สุด ถ้าเด็กยังนั่งไม่ได้ กว่าคุณแม่จะป้อนข้าวตุ๋นให้สัก ¼ ถ้วย ก็คงจะทุลักทุเลเต็มที คุณแม่ควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อเห็นว่าเด็กแสดงท่าอยากกิน ถ้าเด็กยังไม่พร้อม ถึงคุณแม่จะป้อนให้ เด็กจะเอาลิ้นดุนออกมาหมด แสดงว่ายังเร็วเกินไปที่จะเริ่มอาหารเสริม แต่ถ้าเด็กยื่นมือมาคว้าช้อนเหมือนอยากกินอีก คุณแม่เริ่มให้อาหารเสริมได้ และถึงแม้เด็กจะชอบกินข้างตุ๋นหรือขนมปังต้มนม (ขนมปังฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับนม อาจใส่เกลือหรือเนยนิดหน่อยเพื่อให้อร่อยขึ้น) มากเพียงไรก็ตาม คุณแม่อย่าเพิ่มปริมาณให้รวดเร็วเกินไป ถ้าใน 10 วัน น้ำหนักเด็กเพิ่มมากกว่า 300 กรัมขึ้นไป แสดงว่าเด็กกินมากเกินไป


เด็กบางคนไม่ชอบกินของเละๆ ประเภทข้าวตุ๋นหรือขนมปังต้ม แต่จะชอบกินแห้งๆ พวกขนมฝรั่งหรือขนมปังกรอบ คุณแม่ก็อย่าฝืนบังคับให้ลูกกินของไม่ชอบแทนที่จะทะเลาะกับลูกเรื่องกินข้าว คุณแม่ให้ลูกกินไข่กินปลา เพื่อให้ได้โปรตีนจากสัตว์ไปพลางก่อน พอลูกมีฟันล่างฟันบนก็ให้กินข้าวสวยนิ่มๆ เลยก็ได้ (ที่จริงเด็กไม่ได้ใช้ฟันเคี้ยวหรอก)การให้อาหารเสริม ไม่ใช่การสอนศีลธรรมให้ลูกเพราะฉะนั้นของที่ลูกไม่ชอบก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกกิน

นอกจากโรคลำไส้กลืนกันแล้ว เด็กอายุ 5-6 เดือน จะยังไม่เป็นโรคร้ายแรงอะไร ถ้าคุณแม่พาลูกไปหาหมอบ่อยๆ โอกาสที่จะติดโรคติดต่อต่างๆ ก็มีมาก (ดังที่เขียนไว้ในตอนช่วงอายุ 4-5 เดือน) เด็กอายุเกิน 5 เดือนจะติดหัดได้ แต่ถ้าเป็นระยะนี้ ภูมิต้านทานโรคหัดจากแม่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง อาการจึงไม่มาก สำหรับโรคหูอักเสบและโรคหลอดลมอักเสบคล้ายหืดนั้น เด็กช่วงอายุนี้ก็ไม่เป็น


เมื่อเด็กขาแข็งแรงขึ้น อุบัติเหตุตกเตียงและตกระเบียงจะมีมากขึ้นตามลำดับ
โดยทั่วไป ช่วงอายุ 5-6 เดือน คือช่วงที่คุณแม่มักเน้นเรื่องอาหารเสริม แต่อาหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเราเท่านั้น อย่าทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการปรุงอาหารและป้อนอาหารลูก ที่จริงเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นโลกภายนอก อยากให้คุณแม่เน้นเรื่องนี้มากกว่า พาลูกออกเที่ยวนอกบ้านให้มาก ถ้ามีสนามหญ้าก็ปูเสื่อให้เด็กเล่นกลางสนาม ดูรถแล่น ดูคนแปลกหน้าเดินผ่านไปมา เด็กจะรู้สึกสนุกสนานพยายามเคลื่อนตัวไปข้างหน้า เป็นการออกกำลังกายไปในตัว แต่ถ้าลูกของคุณเป็นเด็กเฉยๆ ไม่ชอบเคลื่อนไหว ควรหัดกายบริหารให้บ้าง

  


การเลี้ยงดูเด็ก

 

 

136 เลี้ยงด้วยนมแม่
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่แต่เพียงอย่างเดียวมาตลอด พออายุครบ 5 เดือน เด็กจะแสดงอาการให้เห็นว่าอยากกินอาหารอื่นบ้าง เช่น เวลาคุณพ่อคุณแม่กำลังรับประทานอาหารเด็กจะยื่นมือมาบ้าง ขยับปากจุ๊บจั๊บบ้าง ถ้าเด็กแสดงท่าทางอย่างนี้ คุณแม่เริ่มให้อาหารเสริมได้ทันที

คุณแม่บางคน เมื่อเด็กอายุใกล้จะ 6 เดือน นมแม่ซึ่งเคยพอ กลับเริ่มไหลน้อยลงไม่พอให้ลูกกิน ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณแม่ให้นมผสมเพิ่มได้ (เริ่มให้จากวันละ 1 ขวด 180 ซี.ซี.) แต่เด็กซึ่งถูกเลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวมาตลอด มักไมยอมดูดนมจากขวด คุณแม่ลองใส่ถ้วยให้ดื่มดู ถ้าเด็กไม่ชอบนมผงลองเปลี่ยนไปให้นมสด (ต้องต้มให้เดือดเสียก่อน) เวลาให้นมวัวควรให้หลังอาหารเสริม ใช้ช้อนตักป้อนสัก 3-4 ช้อน พอเด็กคุ้ยเคยดีก็ยกถ้วยให้ดื่มเลย

เด็กบางคนไม่ยอมกินนมวัวเลย ไม่ชอบทั้งนมผงและนมสด ในกรณีเช่นนี้ ลองให้นมถั่วเหลืองดูและเพิ่มปริมาณอาหารเสริมให้เร็วหน่อยเพื่อให้อาหารพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ถ้านมแม่ไหลน้อยมาก เด็กหิว จะยินดีกินอาหารเสริมทำให้เพิ่มปริมาณได้เร็ว
ในกรณีที่เด็กท้องผูก 2-3 วัน จึงจะถ่ายสักครั้งและเวลาถ่ายร้องโอดโอย ลองให้นมเปรี้ยว (โยเกิร์ต) ดู เด็กที่ถ่ายวันละ 2 ครั้งขึ้นไป ถ้าให้นมเปรี้ยว ส่วนใหญ่จะถ่านบ่อยขึ้น


เมื่อนมแม่ไม่พอ จำเป็นต้องเพิ่มนมวัวให้เด็ก คุณแม่มักสงสัยว่า ควรให้ปริมาณเท่าไร เรื่องปริมาณนมที่ให้นี้ กะเอาได้จากอัตราเพิ่มของน้ำหนักเด็ก เด็กอายุ 5-6 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มเฉลี่ยวันละประมาณ 15 กรัม ถ้าใน 10 วัน น้ำหนักเด็กเพิ่มเพียง 120-130 กรัม ลองเพิ่มนมวัวให้อีกวันละหนึ่งขวด ถ้าน้ำหนักเพิ่มไม่ถึง 100 กรัมใน 10 วัน ให้เพิ่มนมวัววันละ 2 ขวด หลังจากนั้น ถ้าน้ำหนักเด็กเพิ่ม 150 กรัมใน 10 วัน ก็ให้นมวัวในปริมาณนั้นต่อไป


คุณแม่บางคนน้ำนมไหลดีมาก เด็กอายุเกิน 5 เดือน แล้วก็ยังมีนมให้พอ น้ำหนักเด็กเพิ่มวันละ 15 กรัมขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กอายุเกิน 5 เดือนแล้ว เราควรให้อาหารเสริมอย่างอื่นด้วย โดนเริ่มจากปริมาณน้อยๆ และให้อาหารตามสะดวก ไม่ต้องให้ตามตาราง (จะกล่าวถึงในตอนต่อไป)


เหตุผลที่เราให้อาหารเสริมแก่เด็กวัยนี้ ทั้งๆ ที่น้ำนมแม่พอเพียง คือ น้ำนมแม่มีธาตุเหล็กน้อย ถ้าให้แต่นมแม่ เด็กจะขากธาตุเหล็ก สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 4 เดือนนั้น ถึงแม้ในน้ำนมจะมีธาตุเหล็กน้อย แต่เด็กได้รับธาตุเหล็กจากแม่ตอนที่อยู่ในท้องและสะสมเอาไว้ออกมาใช้จนถึง 4 เดือน เมื่อเด็กอายุเกิน 5 เดือนแล้ว ธาตุเหล็กที่สะสมไว้จะลดน้อยลง โดยเฉพาะเด็กที่น้ำหนักแรกคลอดไม่ถึง 2.5 กิโลกรัม ธาตุเหล็กจะลดน้อยลงอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 เดือน เนื่องจากร่างกายต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างสารฮีโมโกลบินในเลือด ถ้าไม่เพิ่มธาตุเหล็กให้ เด็กจะเป็นโรคโลหิตจางเมื่ออายุราว 6 เดือน เราป้องกันโรคนี้ได้โดยการให้อาหารเสริมแก่เด็กตั้งแต่อายุ 5 เดือน (ทั้งนมแม่และนมวัวมีธาตุเหล็กน้อย) โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อย ควรให้อาหารเสริมเร็วหน่อย


เมื่อเด็กกินอาหารเสริมได้มากขึ้น ปริมาณนมแม่ที่ให้จะลดลง แต่ในช่วงอายุนี้ ปริมาณอาหารเสริมที่เด็กกินยังน้อยมาก คุณแม่ให้นมแม่เหมือนเช่นเคยได้


(อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

32-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 32
ธันวาคม 2524