• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตวิทยาวัยรุ่น

คนส่วนใหญ่มักบอกว่า จิตวิทยา เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก

“จิตวิทยา ถ้าพูดกันให้เข้าใจให้ละเอียด คงต้องใช้เวลานาน ถ้าเผื่อเราเอาความหมายพอจะใช้งานได้ ก็หมายถึงว่า ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของคนทั้งหมด ที่มันกลายเป็นเรื่องที่ยากและใช้ได้ยากเป็นเพราะว่ามันเป็นวิชาเกี่ยวกับจิตใจคน ซึ่งสลับซับซ้อนยากแก่การเข้าใจ เราก็ยังไม่รู้อะไรมากเท่าที่ควร ในเมื่อเรายังไม่รู้เท่าที่ควร ทำให้เราตั้งทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อจะอธิบายปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคน บางทฤษฏีนำมาอธิบายปรากฏการณ์ในคนๆ หนึ่งได้ แต่อธิบายกับอีกคนหนึ่งไม่ได้ บางอันก็ตรงกันข้าม นี่ก็ทำให้เกิดความสับสน และไม่เข้าใจกันมากขึ้น เว้นไว้แต่ว่าเราจะเข้าใจทฤษฎีนั้นจริงๆ และเลือกใช้ได้ถูกเลยทำให้จิตวิทยากลายเป็นวิชาที่เอามาใช้ได้ยาก”

 

เรื่องจิตวิทยาวัยรุ่นทีพ่อแม่ผู้ปกครองและตัววัยรุ่นเองควรรู้

“พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรรู้ว่า เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น สภาพจิตใจและพฤติกรรมของเด็กจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เด็ก เป็นคนที่หงุดหงิด อยากแยกตัวออกจากพ่อแม่ ไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน ไปสุงสิงกับเพื่อน ชอบทำกิจกรรมต่างๆ ตามกลุ่มเพื่อนฝูง บางครั้งก็เป็นไปในทางสร้างสรรค์ที่ดี ในบางครั้งก็ในทางที่เป็นภัยต่อสังคม มีความคิดที่เป็นของตัวเองมาก บางทีก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่ค่อยสัมผัสกับความจริงเท่าไร บ้างก็เป็นความคิดที่ดีและเป็นประโยชน์มาก แต่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงเพราะใจไม่ว่างพอ นี่คือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ

ตัวการที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นก็คือ การเริ่มต้นทำงานของฮอร์โมนเพศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายทำให้ผู้ชายมีลักษณะทางเพสของผู้ชายมากขึ้น ผู้หญิงก็มีลักษณะของเพศหญิงมากขึ้น ถ้าเรามองในฐานะของผู้ใหญ่ก็ไม่รู้สึกอะไร สำหรับเด็กเอง การเปลี่ยนแปลงอันนี้ก่อให้เกิดความวิตกได้มาก เช่นกลัวว่า จะมีอะไรทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์อย่างผู้ชายที่วาดภาพเอาไว้ก่อนหน้านั้นไหม พอไม่มีหนวดก็ชักกังวลที่มันขึ้นช้าไป จะเตี้ยไปหรือสูงไปหรือเปล่า ? กล้ามทำไมไม่ขึ้นเป็นมัดๆ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะกลัวว่า จะไม่มีรูปร่างสวยงามอย่างที่คิดไว้ กลัวอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ยิ่งกังวลเมื่อมันมาช้าไปหรือเร็วไป

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตอนวัยรุ่นนี้ มีมากที่สุดเมื่อเทียบกับในช่วงอื่นๆ ของชีวิต ในช่วงเด็กอาจเปลี่ยนแค่ความสูงความอ้วน แต่พอวัยรุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดและอวัยวะ ของที่ไม่เคยมี ก็มีขึ้นมา ของที่มีอยู่แล้วรูปร่างก็เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความวิตกกังวล จากการมองดูรูปร่างภายนอกของตัวเอง

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศ ที่ผลักดันให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ในวัยรุ่นนั้นมันเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แล้วก็เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศขึ้นมา ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะจัดการหรือควบคุมกับความรู้สึกทางเพศได้อย่างไร บางทีก็กลัว เอ…เราไปทำอะไรไม่ถูกต้องหรือเปล่า ? หรือจะทำอย่างไรให้ความรู้สึกทางนี้หมดไป ต้องเข้าใจว่าเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไม่ใช่สิ่งไม่ดี มันเป็นสภาพธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติมีให้แล้วไม่ต้องตกใจแล้วก็พยายามหาทางออกที่ถูกต้องของตัวเองว่า ควรจะเป็นวิธีไหน ? แล้วใช้ให้ถูก อาจระบายความรู้สึกกับเพื่อนๆ มันก็ลดความหงุดหงิดได้ หรือใช้กิจกรรมเพื่อช่วยเบนความสนใจ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือกิจกรรมอื่นๆ

นอกจากนั้น การพัฒนาด้านจิตใจ โดยทั่วไปก็ทำให้วัยรุ่นเกิดปัญหาขึ้นเพราะว่าวัยนี้ เป็นวัยที่เด็กเริ่มจะต้องการเป็นตัวของตัวเอง มีความรู้สึกอยากจะผละออกจากพ่อแม่ ถ้าหากพ่อแม่ยังดูแลเขาแบบเล็กๆ อยู่ก็จะไม่ชอบ วัยรุ่นจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่มากกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ในขณะที่พ่อแม่ และผู้ใหญ่อื่นๆ จะมองว่าวัยรุ่นเป็นเด็กมากกว่าที่วัยรุ่นเป็นอยู่จริง ดังนั้นความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ กับวัยรุ่นจึงขัดกัน ความจริงวัยรุ่นอยู่กึ่งกลางระหว่างที่ตัววัยรุ่นคิดกับพ่อแม่คิด ความที่วัยรุ่นมีความรู้สึกอยากเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ทำให้ดิ้นรนออกจากพ่อแม่ พ่อแม่ก็มักเข้าใจว่า “แกยังไม่โต ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ฉันต้องควบคุมแก ฉันต้องสั่งสอนแก” เด็กก็จะรู้สึกต่อต้านมากขึ้น

วัยรุ่นเมื่อผละตนเองจากพ่อแม่ก็จะไปเข้ากลุ่มเพื่อน เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กมีความรู้สึกไม่สบายใจ เคยเล่าให้พ่อแม่ฟัง ก็จะไปเล่าให้เพื่อนฟัง จะกลายเป็นมีความลับกับพ่อแม่ จะไม่พูดกับพ่อแม่ เป็นธรรมชาติของวัยรุ่น ทีนี้ถ้าเผื่อว่าเด็กมีความสามารถในการคบเพื่อนที่ดี พูดแล้วเพื่อนเข้าใจแก ก็เป็นอันว่ามีทางออกของอารมณ์ที่ดี แกก็สามารถปรับตัวเองได้ ตัววัยรุ่นเองต้องเข้าใจว่าการที่รู้สึกอยากจะผละจากพ่อแม่ ต้องการเพื่อน ก็ต้องสำรวจดูว่า มีจุดบกพร่องในเรื่องการคบเพื่อนอย่างไร ควรเลือกเพื่อนอย่างไร จะปรับปรุงตัวอย่างไร เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เข้ากับเพื่อนได้ดี

วัยรุ่นบางคนมีปัญหา ตอนเป็นเด็กไม่ค่อยมีเพื่อน เข้ากับเพื่อนลำบาก พอผละออกจากพ่อแม่ตามแรงผลักดันทางธรรมชาติ ก็ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ขึ้นได้กับเพื่อน ทำให้ถูกโดดเดี่ยว พ่อแม่จึงต้องเข้าใจ พยายามใกล้ชิดเด็ก เข้าใจเด็ก เด็กจะได้เข้ามาพูดจาปรึกษาได้ พร้อมกับช่วยสำรวจตัวเด็กเพื่อแก้ไขในจุดด้อยความสามารถนั้น

ตัววัยรุ่นเมื่อเกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่ ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของพ่อแม่บ้าง รู้จักลดราวาศอกบ้าง จิตใจจะได้ไม่วุ่นวายเกินไป คิดบ้างว่า เราอาจทำอะไรให้พ่อแม่เห็นขวางหูขวางตาเหมือนกันก็ได้ แม้ว่าสิ่งที่ทำนั้นอาจจะไม่ผิดก็ตาม แต่การละทิ้งค่านิยมเก่าๆ และการทำตัวเองเป็นคนที่มีใจกว้างในเรื่องความคิดเห็นเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ วัยรุ่นมักไปติดอยู่กับอุดมการณ์ที่คิดว่าเลอเลิศ และพยายามที่จะดิ้นรนให้ตัวเองหรือสังคมไปถึงจุดนั้น และส่วนใหญ่ กว่าที่เขาจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นไปไม่ได้ เขาก็ต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตไปจนพ้นวัยรุ่นแล้วจึงสำนึกได้ แต่แนวความคิดหรือการไปติดอยู่ในอุดมการณ์เหล่านี้จำเป็นเหมือนกัน ถ้าเผื่อไม่มีแนวความคิดอันนี้มาก่อน แล้วผ่านไปถึงผู้ใหญ่ มันจะไม่มีแรงดันให้เกิดความคิดที่จะสร้างสรรค์ พอเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะเริ่มเข้าใจว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เป็นการช่วยให้เขามองอะไรได้กว้างขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่”

 

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของค่านิยม

“พ่อแม่ ผู้ปกครอง และวัยรุ่น ควรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงจากเมื่อก่อนไปอย่างรวดเร็ว ค่านิยมของผู้ใหญ่กับเด็กจึงต่างกันมาก อย่างเช่น แนวความคิดที่ว่าทำอย่างไรประเทศชาติจึงจะเจริญ ในสมัยพ่อแม่เป็นวัยรุ่น อาจบอกว่า จะทำให้ชาติเจริญ ต้องมีผู้นำที่ดี เข้มแข็ง ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ไม่ต้องกลัวเสียงคัดค้านใดๆ พอรุ่นลูกเป็นวัยรุ่น แนวความคิดของพ่อแม่ก็เป็นเผด็จการแล้ว อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะเห็นว่า ใน 10-20 ปี ความเห็นมันเปลี่ยนเป็นตรงข้ามกัน

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของค่านิยม ทำให้ช่องว่างในการมองปัญหาต่างๆ ในสังคมระหว่างลูกกับพ่อแม่ ผู้ใหญ่ต่างกันมาก ซึ่งตามธรรมชาติ เด็กกับผู้ใหญ่ ก็ขัดแย้งกันอยู่แล้ว ก็เลยมีความขัดแย้งอย่างอื่นทำให้สูงขึ้นไปอีก”


 

ข้อมูลสื่อ

33-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 33
มกราคม 2525
อื่น ๆ
ผศ.นพ.กวี สุวรรณกิจ