• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเตรียมตัว เพื่อใช้น้ำนมแม่เลี้ยงลูก


ฉบับที่แล้วก็ได้อ่านเรื่องของ อ๊อด ผู้มีความหิวโหย เนื่องจากอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ไม่สามารถหาอาหารอื่นๆ กินได้ นอกจากข้าวสารและผักตามบ้าน ความสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่า ทำไมไม่ให้อ๊อดกินนมแม่ล่ะ เพราะนมแม่ใครๆ ก็รู้ว่า มีประโยชน์, สะดวกจะให้ลูกกินเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องมีขวด ไม่ต้องต้มน้ำ และที่สำคัญ ยังสะอาดเป็นที่สุดกว่าการใช้นมอื่นๆ อีกด้วย นั่นนะซี ! ทำไมล่ะ ! อ๊อดจึงไม่ได้กินนมแม่ ? แม่และยายของอ๊อดตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีน้ำนม”


การที่แม่คนหนึ่งจะให้นมตนเองแก่ลูกที่เกิดมา แม่คนนั้นควรจะได้มีการเตรียมตัวและเตรียมใจ แต่ถ้าเราคิดอย่างต้นๆ ว่า ธรรมชาติก็ได้สร้างน้ำนมให้แก่ผู้หญิงที่มีลูกอยู่แล้ว ข้อนี้เราไม่เถียงท่าน แต่ท่านคงเคยเห็นเด็กที่ผอมหัวโต กำลังดูดนมแม่ที่ผอมซีดเซียวเช่นกัน เต้านมแห้งๆ ของแม่คนนั้นจะมีน้ำนมหรือไม่ เราก็ไม่รู้ได้ นี่แหละ ! เราจึงต้องการให้หญิงผู้เป็นแม่ ได้มีการเตรียมตัวเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดี สามารถมีน้ำนมให้ลูกอย่างเพียงพอ เพราะเราไม่ต้องการเห็นภาพลูกผอมหัวโตและแม่ก็ผอมหัวโต ดังที่เราและท่านคงเคยเห็นกันมาแล้ว


การเตรียมตัวเพื่อใช้ “น้ำนมแม่” เลี้ยงลูก จะต้องเริ่มตั้งแต่ผู้เป็นแม่เริ่มตั้งท้อง แม่ควรจะรู้ว่าน้ำนมของตนนั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร ถึงตรงนี้เราจึงขอนำภาพอวัยวะที่เป็นส่วนประกอบของการผลิตน้ำนมมาให้เห็นกันอย่างง่ายๆ ว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้
“น้ำนมแม่” เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากอาหารที่แม่กินเข้าไป อาหารเมื่อย่อยแล้ว จะดูดซึมเข้าเส้นเลือด ผ่านเข้าทางต่อมน้ำนม ออกสู่ท่อน้ำนมไปยังรูเปิดของน้ำนมที่หัวนม เมื่อเด็กดูดหัวนม น้ำนมก็จะไหลเข้าปากเด็ก

ในขณะที่แม่ตั้งท้อง ต่อมน้ำนมและท่อเก็บน้ำนมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้รู้สึกตึง คัด หรือเจ็บที่เต้านม หัวนมขยายใหญ่ขึ้น สีเข้มขึ้น ระยะใกล้คลอดจะมีน้ำใสๆ สีเหลืองอ่อน ไหลออกมา เราเรียกว่า “น้ำนมเหลือง” ซึ่งจะพบได้ชัดเจนขึ้นในระยะแรกหลังคลอด “น้ำนมเหลือง” นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับลูก เพราะมีสารบางอย่างที่ช่วยไม่ให้เด็กป่วยง่าย และยังช่วย “ขับขี้เทา” ของเด็กอีกด้วย อย่าบีบทิ้ง !!

รูปร่างของเต้านม แต่ละคนแตกต่างกัน แต่แม่ทุกคนไม่ว่าจะมีเต้านมเล็กหรือใหญ่ สามารถให้น้ำนมตนเองแก่ลูกได้ทั้งนั้น หัวนมก็เช่นกัน แม่บางคนมีหัวนมยื่นออกมาชัดเจน เวลาลูกดูดก็ง่าย แต่แม่บางคนหัวนมสั้น หัวนมแบน หรือหัวนมบอด แก้ได้โดย ขณะตั้งท้องเวลาอาบน้ำให้ใช้นิ้วชี้กลางคีบดึงออกมาเบาๆ ทุกวัน จะช่วยให้หัวนมยื่นออกมาได้


อาหาร แม่ในขณะตั้งท้อง สามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ตามแบบที่เคยกินอยู่ เพราะอาหารนอกจากจะสร้างความเจริญเติบโตให้ลูกแล้ว แม่เองยังต้องนำไปเลี้ยงร่างกายของตนเอง และใช้ในการขยายตัวของมดลูก, ของเต้านมและการสร้างน้ำนมอีกด้วย


อาหารที่จำเป็นยิ่ง แต่อาจหาไม่ได้ในท้องถิ่น หรือแม่ไม่เคยชินกับการกิน คือ “น้ำนมสด” แต่ถ้าไม่กินก็ไม่เป็นไร แต่แม่ทุกคน ควรจะได้กินอาหารเหล่านี้ คือ
- ไข่เป็ด หรือไข่ไก่ ถ้ามีไข่นกก็ใช้ได้
- เนื้อสัตว์สุกทุกชนิด เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย หมู ไก่ เป็ด รวมทั้งตับของสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ด้วย
- ปลา กุ้ง กบ เขียด แล้วแต่ชนิดที่หาได้ในท้องถิ่น ที่สำคัญคือ ต้องทำให้สุก
- เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง น้ำเต้าหู้ (นมถั่วเหลือง)
- ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วเหลือง ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วลันเตา อย่างใดอย่างหนึ่งอีกหลายๆ อย่างเท่าที่มี

อาหารดังกล่าวข้างต้น ควรทอดด้วยน้ำมัน หรือปรุงด้วยกะทิ แล้วกินร้อนๆ
- ผักในหมู่บ้านทุกชนิด ไม่จำกัดจำนวน การกินผักจะช่วยให้แม่ท้องไม่ผูกด้วย
- ผลไม้ตามฤดูกาล หรือตามท้องถิ่นที่มี เช่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้า กล้วยหอม มะละกอสุก สับปะรด
ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า เงาะ ฝรั่ง มะยม มะม่วง ฯลฯ
 

 


หลังคลอด แม่แต่ละคนเริ่มมีน้ำนมช้าหรือเร็วแตกต่างกัน แม่ท้องหลังๆ จะมีน้ำนมเร็วกว่าแม่ท้องแรก คือ จะมีหลังคลอด 1-2 วัน แต่แม่ท้องแรกจะมีราววันที่ 3-4 เป็นน้ำใสๆ สีเหลือง ที่เรียกว่า “น้ำนมเหลือง” ต่อมาจึงจะมี “น้ำนมแท้” เป็นสีขาว แม่จะต้องให้ลูกหัดดูดนม แม้ว่าน้ำนมยังไม่มี คือ วันแรกๆ ดูดข้างละ 3-4 นาที วันต่อไป 5 นาที พอเริ่มมีน้ำนมสีขาว ดูดข้างละประมาณ 10 นาที การที่ให้ลูกดูดนม จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมขึ้นมา การอยู่ไฟฟืนร้อนจัดหลังคลอดแบบแม่ของอ๊อดจะทำให้แม่เสียเหงื่อ สารบางอย่างในร่างกายออกไปพร้อมกับเหงื่อด้วย ทำให้แม่อ่อนเพลีย ในระยะหลังคลอดนี้อาหารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างน้ำนมของแม่เช่นกัน นอกจากร่างกายของแม่เองยังต้องการอาหารไปทดแทนเลือดที่เสียไประหว่างการคลอดอีกด้วย อาหารของแม่ในระยะหลังคลอดและตลอดการให้นมลูก แม่สามารถกินอาหารได้ทุกชนิด เหมือนที่กินขณะตั้งท้องและควรได้รับจำนวนมากกว่าเพราะต้องแบ่งให้ลูกทางน้ำนมด้วย แต่ควรเป็นอาหารรสไม่จัด และยกเว้นเครื่องดองของเมา สำหรับยาดองเหล้านั้น ไม่มีประโยชน์ทั้งแก่แม่และลูก


น้ำ แม่ควรได้ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 3-4 ขันขนาดกลาง และถ้าเป็นน้ำอุ่นๆ ยิ่งดี คำกล่าวที่ว่า “แกงเลียง” ช่วยให้แม่มีน้ำนมมาก เป็นสิ่งถูกต้อง ยิ่งถ้าแกงเลียงนั้นใส่กระชายมากๆ โขลกกับปลาย่างแห้งตัวเล็กๆ ทั้งกระดูก ใส่ผักทุกชนิดที่หาได้ ใบแมงลัก กินร้อนๆ “แกงจืด” ก็เช่นกัน ใส่หมู (ถ้ามี) ใส่ไข่ (ถ้ามี) ใส่เต้าหู้ ผัก กินร้อนๆ เช่นกัน

เห็นหรือยังว่า การเตรียมตัวไม่ใช่ของยากเลย เพราะเราทำกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ถ้าแม่คนใดปฏิบัติได้ดังกล่าว แม่คนนั้นจะมีน้ำนมพอเลี้ยงลูกตลอดระยะเวลา 6 เดือน ก่อนจากนั้น อยากจะสรุปเพื่อให้อ่านแล้วจำง่ายๆ อีกครั้งว่า


แม่ที่เลี้ยงลูกด้วย “น้ำนมแม่” ควรมีการเตรียมตัวตั้งแต่ระยะตั้งท้องและปฏิบัติดังนี้ คือ

1. กินอาหารดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
2. ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ หรือน้ำนมสด หรือเครื่องดื่มร้อนๆ รวมอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
3. ให้นมลูกตามเวลาที่กำหนด จะช่วยให้มีการสร้างน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ
4. มีเวลาพักผ่อนในตอนกลางวันบ้าง และควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
5. อย่าให้ท้องผูก พยายามถ่ายอุจจาระทุกวันให้เป็นเวลา
6. หลีกเลี่ยงหรืออย่าใกล้ชิดผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ
7. ทำจิตใจให้สบาย ร่าเริง แจ่มใส เพราะความวิตกกังวล หงุดหงิด จะทำให้น้ำนมน้อย
8. ไม่ควรใช้ ยาดองเหล้า ยาระบาย รวมทั้งยาบางชนิด ซึ่งสามารถผ่านสู่ลูกได้ทางน้ำนม
9. การคุมกำเนิดด้วย “ยาเม็ด” ทำให้มีน้ำนมน้อย ควรใช้วิธีอื่นๆ แทน เช่น การฉีดยา ใส่หวง แต่ถ้าท่านมีลูกเพียงพอแล้ว การทำหมันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ทั้งสามีและภรรยา

 

ข้อมูลสื่อ

33-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 33
มกราคม 2525
อื่น ๆ
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์