• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าเดือนถึงหกเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

                                          
 

 

 

การเลี้ยงดู

 

 

142.การเพิ่มอาหารเสริมและปัญหาต่างๆ ในการให้อาหารเสริม
เด็กแต่ละคนต้องการอาหารในปริมาณไม่เท่ากัน เด็กบางคนกินเก่งบางคนกินน้อย ปริมาณอาหารที่ให้ไว้ในตารางอาหารเสริมไม่ใช่ปริมาณที่คุณแม่ต้องบังคับให้ลูกกินตามนั้น ถ้าเด็กไม่อยากกินก็ไม่ต้องให้ คุณแม่เกือบทุกคนมีแนวโน้มที่จะฝืนให้ลูกกินอาหารอยู่บ่อยๆ เพราะกลัวลูกได้อาหารไม่พอ คุณแม่ต้องทำใจให้ได้ว่าเมื่อลูกไม่อยากกินก็ไม่ต้องให้

การให้อาหารเสริมควรเริ่มให้จาก 1-2 ช้อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นวันละ 1-2 ช้อน เด็กที่ไม่ค่อยชอบกินอาหารเสริมในช่วงนี้มักเป็นเด็กที่พิถีพิถันเรื่องรสชาติของอาหาร เด็กบางคนคุณแม่ใส่น้ำตาลในขนมปังต้มนมมากไปนิดเดียว พอชิมรสคำแรก คำต่อๆ ไปจะไม่ยอมกินก็มี เด็กแบบนี้มักไม่ชอบกินมันบดหรือฟักทองบด อาหารเด็กอ่อนสำเร็จรูปก็ไม่ยอมกิน คุณแม่อาจต้องลองให้ชิมอาหารหลายๆ ชนิดดู ถึงจะรู้ว่าลูกชอบอะไร บางครั้งพอเจออาหารที่เด็กชอบมักจะให้กินมากเกินไป ถ้าระบบย่อยอาหารของเด็กรับได้ก็ไม่มีปัญหา แต่บางครั้งวันรุ่งขึ้นเด็กจะถ่ายบ่อยขึ้น เช่นเคยอึวันละครั้งเดียวกลับเพิ่มเป็น 2 ครั้งและอึเหลว ในกรณีเช่นนี้ถ้าคุณแม่มั่นใจว่าอาหารที่ให้ลูกสะอาดเพียงพอ (ตอนทานอาหารล้างมือฟอกสบู่อย่างดี เครื่องใช้ในการเตรียมอาหารลวกด้วยน้ำเดือดก่อนใช้) คุณก็เดาได้ว่าลูกอึบ่อยและเหลวขึ้นเพราะกินมากเกินไปซึ่งไม่มีอันตรายอะไร คุณแม่อย่าดูที่ลักษณะอุจจาระอย่างเดียว ต้องดูเด็กด้วย ถ้าเด็กร่าเริงดี กินนมดียิ้มบ่อย ไม่มีไข้ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องงดอาหารเสริม แต่ให้น้อยลงเล็กน้อย ถ้าเด็กกินได้ก็ไม่เป็นไร วันรุ่งขึ้นเด็กคงถ่ายวันละครั้งตามเดิม การหยุดให้อาหารเสริมและลดปริมาณนมทุกครั้งที่เด็กอึบ่อยและเหลวขึ้น แล้วค่อยเริ่มใหม่จาก 1 ช้อนเมื่อเด็กถ่ายปกตินั้น หมอไม่เห็นด้วย เพราะวกกลับไปกลับมาอย่างนี้บ่อยๆ เด็กเลยไม่พัฒนาเรื่องกินสักที


เมื่อเด็กกินอาหารเพิ่มมากขึ้น เด็กจะอึบ่อยขึ้น ถ้าเด็กถ่าย 2 ครั้งติดๆ กัน อึครั้งที่ 2 จะเหลว เด็กซึ่งเคยกินอาหารเด็กอ่อนมื้อละ 5 ช้อน เมื่อเพิ่มเป็น 10 ช้อน มักจะถ่ายบ่อยขึ้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้าคุณแม่ไม่ได้ลดปริมาณนมที่ให้และให้อาหารเพิ่มขึ้นตามปกติแล้วเด็กยังร่าเริงดี น้ำหนักก็เพิ่มขึ้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องอึ


เด็กบางคน เมื่อเพิ่มอาหารเสริมให้เล็กน้อย ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปทันที เด็กบางคนก็ไม่เป็นไร เด็กที่อึเหลวเมื่อเพิ่มอาหารเสริมให้มักจะถูกหาว่าระบบย่อยไม่ดีต้องลดนม ลดอาหารเสริม เด็กแบบนี้เมื่อเริ่มให้อาหารเสริมสักระยะหนึ่ง น้ำหนักมักจะลดลง ที่น้ำหนักลดเพราะทุกคน “กลัวอึ” จึงลดนมและลดอาหาร เมื่อเด็กขาดอาหารน้ำหนักตัวย่อมลดลง เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ถ้าคุณแม่พาลูกไปหาหมอแล้วเจอหมอดี ซักถามอาการอย่างละเอียดแล้วบอกว่าเด็กไม่ได้ป่วยไข้อะไร และพูดให้กำลังใจให้คุณแม่เลี้ยงลูกตามปกติ ให้นมและอาหารเสริมเพิ่มขึ้นตามธรรมดาก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญไปเจอหมอประเภทที่พอรู้ว่าเด็กอึเหลวก็ไม่พูดพล่ามทำเพลง จับฉีดยาทันทีแล้วสั่งงดอาหารให้กินแต่น้ำหวานกับน้ำชา จะเป็นผลร้ายต่อเด็ก คนที่รู้ดีที่สุดว่าลูกป่วยหรือไม่คือคุณแม่ (ที่เลี้ยงลูกเอง) ถ้าเด็กร่าเริงแข็งแรงดีเหมือนทุกวัน ไม่มีไข้ รู้สึกหิวและกินอาหารได้ปกติแสดงว่าเด็กไม่ได้ป่วย ถ้าคุณแม่รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดเวลาทำอาหารให้ลูก ก็ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะท้องเดิน


บางวัน เมื่อคุณแม่ให้ลูกกินใบตำลึง แครอท แตงโมฯลฯ ผักพวกนี้อาจไม่ย่อย ปนออกมากับอึเขียวๆ แดงๆ เป็นก้อน แต่ไม่เป็นไร เด็กทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เด็กไม่ได้ท้องอืดหรือท้องเสียแต่อย่างใด

เมื่อเริ่มให้อาหารเด็กอ่อนแล้วเด็กอึเหลว ใครๆ มักจะหาว่าเป็นเพราะอาหาร แต่ที่จริงเด็กเป็นหวัดก็อึเหลวได้ ถ้าเด็กยังกินนมดีและแสดงท่าอยากกินอาหารเสริม แสดงว่าเด็กไม่ได้เป็นอะไรมาก อาการหวัดก็คงไม่หนักหนาอะไร

เด็กที่มีเสียงครืดคราดอยู่ในหน้าอกเป็นประจำ เราะมีเสมหะมากและกำลังให้หมอรักษาอยู่ โดยหมอบอกว่า “เป็นโรคหลอดลมอักเสบ” หรือ “เป็นหืดในเด็กเล็ก” คุณแม่ให้อาหารเสริมได้ตามแต่เด็กต้องการ น่าแปลกที่เด็กแบบนี้มักมีระบบย่อยที่แข็งแรง ท้องไม่ค่อยเสียง่ายๆ

เด็กจะท้องเสียเนื่องจากอาหารเสริมเฉพาะในกรณีไม่ได้รักษาความสะอาดอย่างเพียงพอ อาจจะล้างมือไม่สะอาดหรือไม่ได้ลวกเครื่องใช้ด้วยน้ำเดือดพอแล้วบังเอิญมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ เมื่อเด็กท้องเสียเพราะเชื้อโรค เด็กจะมีไข้อารมณ์ไม่ดีร้องกวน ไม่ค่อยยอมกินนมตามปกติ ถ่ายบ่อยถ้ามีอาการเช่นนี้ คุณแม่ต้องพาไปหาหมอรักษา


เด็กจะชอบอาหารเด็กอ่อนหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่รสชาติอย่างเดียว อยู่ที่อารมณ์ของเด็กด้วย เด็กต้องรู้สึกสนุกสนานเวลากินอาหาร ดังนั้น เวลากินอาหาร เด็กไม่ควรอยู่ในท่านอนเหมือนถูกจับหยอดอาหาร ควรให้เด็กนั่งกินถ้าเด็กยังนั่งเองไม่ได้ คุณแม่อาจเอาใส่ในเก้าอี้สำหรับเด็กหรือเก้าอี้หัดเดินแล้วใช้หมอนหรือเบาะช่วยให้นั่งได้
คุณแม่บางคนเน้นบรรยากาศในเวลากินอาหารของลูกมากเกินไป อยากให้ลูกกินมากๆ จึงพาตระเวนเที่ยวชมทิวทัศน์นอกบ้านไปพลาง ป้อนข้าวไปพลาง กินข้าวแต่ละมื้อใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง อย่างนี้ก็ทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัยไม่รู้จักแบ่งเวลาเล่นเวลากิน แถมยังต้องกินข้าวคลุกขี้ฝุ่นอีกด้วย

 

 

 

 

 

143. ควรเริ่มให้ขนมเมื่อไร
เด็กส่วนใหญ่เมื่ออายุเกิน 5 เดือน จะแสดงท่าอยากกินอาหารอื่นนอกเหนือจากนม คุณแม่ลองเอาขนม (เช่น ขนมฝรั่ง เวเฟอร์ ขนมกล้วย คุกกี้ ฯลฯ) ใส่ปากให้ เด็กจะดีใจคุณแม่ก็ดีใจไปด้วย
เราไม่มีข้อบังคับอะไรว่าจะต้องเริ่มให้ขนมเด็กเมื่อไรคุณแม่ส่วนใหญ่จัเริ่มให้ขนมเด็กเองตามธรรมชาติ เมื่อเห็นลูกทำท่าอยากกินและเป็นขนมที่ลูกพอจะกินได้ บางครั้งคุณย่าคุณยายที่มาเยี่ยม มักเอาขนมมาฝากและเป็นผู้เริ่มให้ขนม ซึ่งเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี เมื่อเด็กเห็นหน้าคุณย่าคุณยายจะจำได้ว่าเป็นคนที่เอาของอร่อยๆ มาให้บ่อยๆ

การให้ขนมเด็กไม่จำเป็นต้องกำหนดเวลาที่ให้ ขนมชิ้นสองชิ้นจะไม่มีผลเท่าใดต่อปริมาณอาหารหลัก บางครั้งคุณพ่ออาจให้ขนมลูกตอนกลับจากทำงานเพื่อสร้างสายสัมพันธ์บ้างก็ได้
เด็กบางคนไม่ชอบขนมหวาน แต่ชอบของเค็ม เช่น ขนมปังกรอบรสเค็ม ข้าวเกรียบกุ้ง ฯลฯ ขนมที่ให้เด็กอ่อนต้องเลือกของที่สะอาด ถ้าเป็นขนมที่ทำเองได้ยิ่งดี เพราะมั่นใจได้ว่าสะอาด ถ้าเป็นขนมที่ทำเองได้ยิ่งดี เพราะมั่นใจได้ว่าสะอาดปลอดภัย ขนมเด็กไม่ควรมีรสหวานหรือเค็มจัด ไม่ควรใส่สีหรือสารเคมีต่างๆ เวลาซื้อคุณแม่ควรอ่านสลากข้างกล่องว่ามีส่วนผสมอะไรอยู่บ้าง น่าเสียดายที่การควบคุมคุณภาพสินค้าประเภทอาหารของบ้านเรายังแย่มากจนไม่กล้าซื้อขนมให้เด็กเล็กๆ กิน ยิ่งคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านไม่ค่อยมีเวลาแม้แต่จะทำอาหารเด็กอ่อนอยู่แล้วเรื่องขนมไม่ต้องพูดถึง ถ้าลำบากเกินไปก็ไม่ต้องให้ เพราะขนมไม่ใช่ของจำเป็น เราให้เด็กเพราะเด็กชอบ อยากให้เด็กรู้สึกดีใจและเป็นสุขเวลาได้ขนมเท่านั้น
*ฝึกนิสัยขับถ่าย ดูหัวข้อ 123 ฝึกนิสัยขับถ่าย

 

 

 

 

 

144.เลี้ยงลูกให้แข็งแรง
เด็กอายุ 5-6 เดือนนี้ สามารถรับรู้เกี่ยวกับสภาพรอบตัวได้มากขึ้น เด็กจะสนใจสิ่งต่างๆ ให้ลูกพร้อมทั้งฝึกให้ลูกแข็งแรง

เด็กวัยนี้บางคนนั่งได้แล้ว บางคนใช้หมอนช่วยนั่งได้คุณแม่ใส่รถเข็นพาไปเที่ยวได้สะดวก ไม่ต้องอุ้มจนเมื่อย ดังนั้น ถ้ามีเวลาควรพาลูกออกนอกบ้านประมาณวันละ 3 ชั่วโมง ตอนเช้าหรือตอนเย็น ถ้าแดดยังร้อน เลือกหาที่ร่มๆ ไม่มีมดมียุง จอดรถเข็นให้เด็กชมนกชมไม้หรือดูรถแล่นเพลินกว่าอยู่ในบ้านเป็นไหนๆ

เมื่อพาลูกออกนอกบ้าน คุณแม่พยายามคุยกับลูกให้มากที่สุด เด็กจำชื่อสิ่งต่างๆ จากภาษาของคุณแม่ ถ้าคุณแม่เงียบเหมือนคนใบ้อยู่ตลอดเวลา เด็กจะพูดได้ช้า เวลาเห็นแมวเดินมา คุณแม่ควรชี้ให้ลูกดูแล้วพูดกับลูกไปเรื่อยๆ เช่น “แมวตัวนี้ท่าทางซนเหมือนลูกนะ” “แมวมันร้องเหมียวเหมียว” ฯลฯ พอเห็นดอกไม้ก็บอกลูกว่า “สวยจังนะ” การคุยกับลูกนอกจากจะสอนภาษาให้ลูกแล้ว ยังฝึกทักษะให้ลูกสนใจในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ อีกด้วย


เมื่อเด็กเริ่มเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้อิสระขึ้น คุณแม่ต้องสนับสนุนให้ลูกใช้อวัยวะต่างๆ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เห็นว่าลูกเป็นเด็กชอบอยู่เฉยๆ เลี้ยงง่ายไม่กวน เลยปล่อยให้อยู่บนเตียงทั้งวัน เวลาลูกตื่น คุณแม่จับลงมาอยู่บนพื้นเพื่อให้เด็กหัดคลาน เอาของเล่นมาวางล่อข้างหน้า ให้ลูกพยายามมาเอาบ้าง ชูขึ้นลงเพื่อให้เด็กชูคอเป็นการบริหารคอบ้างจับมือเด็กดึงเบาๆ เพื่อให้เด็กยกตัวขึ้นบ้าง ฯลฯ


นอกจากจะฝึกร่างกายลูกให้แข็งแรงแล้ว คุณแม่ควรฝึกจิตใจลูกให้เข็มแข็งบ้าง เพื่อไม่ให้เด็กเป็นลูกแหง่ติดแม่อยู่ตลอดเวลา ควรฝึกให้ลูกรู้จักอยู่คนเดียวบ้าง โดยให้ลูกเล่นคนเดียวบนเตียง เลือกของเล่นที่ปลอดภัย เล่นคนเดียวได้ให้เล่น ถ้าเตียงแคบไปเด็กไม่ยอมอยู่ อาจต้องให้คุณพ่อทำกรงใหญ่ๆ (เรียกว่า playpen หรือ baby circle) ให้ ตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์หวายอาจมีขุย หรือสั่งทำก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ หาเครื่องเรือนมากั้นให้ก็ได้ แต่ต้องตรวจดูความปลอดภัยอย่างถี่ถ้วน ต้องไม่มีขอบหรือสันแหลมๆ ให้เด็กเอาหัวลอดเข้าไปติด เวลาปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวต้องแอบย่องมาดูบ่อยๆ เผื่อเด็กเกิดทำอะไรที่คุณแม่คาดไม่ถึงจริงๆ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
 

( อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

35-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 35
มีนาคม 2525