• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้อีดำอีแดง

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้ไปทัศนศึกษาที่ถ้ำธารลอด จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจัดโดยชมรมชาวอุตรดิตถ์ ถ้ำธารลอดนี้อยู่ในป่าลึกใกล้บ้านน้ำตกเอราวัณ รถได้หยุดพักที่ปากทางจะเข้าถ้ำธารลอด ผมเองมองไปข้างทางเห็นมีเรือนไม้ใต้ถุนสูงอยู่ 2-3 หลัง ทางด้านหน้ามีตึกชั้นเดียวอยู่หนึ่งหลัง อ่านดูป้ายหน้าตึกได้ความว่า เป็นสถานีอนามัย และเรือนน่าอยู่นั้นเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ผมมีความสนใจจึงเดินลงไปดู ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในนั้นดู ได้ความว่า


สถานีอนามัยนี้เพิ่งสร้างประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ยังมีคนน้อยมาก ผมได้ถามว่ามีคนมาคลอดบ้างไหม ได้รับคำตอบว่าน้อยมาก เพราะประชาชนในบริเวณนี้เป็นกระเหรี่ยงแทบทั้งหมด ผู้หญิงกระเหรี่ยงอายมาก ไม่ยอมมาทำคลอดกระเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ยังคงทำคลอดกันเองอยู่ เมื่อเข้าไปที่อุทยานแห่งชาติใกล้กับถ้ำธารลอด เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กรุณาให้การรับรองอย่างดียิ่ง และได้จัดให้เด็กสาวชาวกระเหรี่ยงมาฟ้อนรำให้ดู ถามดูแต่ละคนมีชื่อเพราะๆ กันทั้งนั้น เช่น ปรียา มัณฑนา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเด็กพวกนี้ยามรับขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ผมมีความเห็นว่า เรื่องของการทำคลอดในระหว่างที่เขายังไม่พร้อมที่จะมาทำคลอดกับเรานี้ เราควรจะทำการสอนให้เขาทำคลอดให้ถูกต้องควบคู่กับการชักจูงให้เขามาทำการรักษาพยาบาลกับเรา องค์การอนามัยโลกก็กำลังส่งเสริมการฝึกอบรมหมอตำแยอยู่ เพราะนอกจากทำคลอดแล้ว หมอตำแยยังอยู่เป็นเพื่อนเพื่อดูแลมารดาและเด็กในระยะแรกด้วย การอบรมควรเน้นไปในด้านการล้างมือทำความสะอาดในการทำคลอดและตัดสายสะดือเด็ก เพื่อป้องกันการติดเชื้อในแม่และเด็ก โดยเฉพาะบาดทะยักสะดือที่เรียกว่า “สะพั้น” ผมมีประสบการณ์การฝึกอบรมชาวเขาที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พบว่าเขามีความสนใจที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการทุกอย่าง ทางฝ่ายพยาบาลได้ไปอบรมหมอตำแยพร้อมทั้งแจกกระเป๋าทำคลอดของยูนิเซฟ เขาได้สนใจศึกษาเล่าเรียนและนำไปปฏิบัติอย่างดียิ่ง


อุทยานแห่งชาติที่ถ้ำธารลอดนี้ สวยงามมากตามธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่และลำธารคดเคี้ยวไปมา มีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้คอยดูแลให้ความสะดวกรวมทั้งห้องสุขาด้วย สะอาดสะอ้านดีมาก วันนั้นมีคนไปเที่ยวมาก เราได้เข้าไปในถ้ำธารลอด ซึ่งมีลำธารไหลลอดถ้ำไปอีกด้านหนึ่ง ภายในถ้ำสวยงามมาก และเมื่อทะลุออกไปเป็นป่าทึบมีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ผมได้รับคำบอกเล่าว่าป่านี้มรภูเขาสูงล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ทางที่เข้าไปได้สะดวกคือ ทางถ้ำนั่นเอง การที่จะตัดไม้เอาออกจากป่านั้นยากมาก เพราะถ้ำเล็กและคดเคี้ยว จึงยังมรต้นไม้อยู่มาก น่าขอบคุณธรรมชาติที่ช่วยป้องกันป่าไม้ไว้เป็นสมบัติของชาติ มีต้นยางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ต้องใช้คน 7 คน เอามือจับกันจึงโอบรอบโคนต้น

 

 


ผมขอเริ่มเรื่องไข้อีดำอีแดง โรคนี้เข้าใจว่าจะมีมากในสมัยโบราณซึ่งมีชื่อนี้อยู่ สมัยนี้พบได้น้อยมาก ในยุโรปและอเมริกาสมัยโบราณมีการระบาด เด็กเจ็บป่วยกันมาก เป็นโรคร้ายแรง บางรายอาจเสียชีวิต ท่านที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวที่ผู้คนไปบุกเบิกอเมริกาในระยะแรก จะพบว่าเด็กมักจะเป็นไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) มีอาการมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมาปิดบ้านห้ามไม่ให้คนเข้าออกจากบ้านเพราะกลัวจะแพร่โรคนี้ออกไป


ผมสนใจเรื่องนี้มาก ได้ไต่ถามพ่อแม่เด็กที่เป็นโรคไข้รูห์มาติคหรือโรคหัวใจรูห์มาติคอยู่เสมอว่า เด็กเคยเป็นไข้อีดำอีแดงมาก่อนหรือไม่ หรือมีเด็กในหมู่บ้านเป็นโรคนี้บ้างหรือเปล่า เราได้เคยไปสำรวจโรคหัวใจรูห์มาติคหลายแห่ง เช่น เกาะสีชัง, อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอบางกอกน้อย รอบๆ โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่พบไข้อีดำอีแดง มีญาติผู้ป่วยบอกเราว่า มีไข้อีดำอีแดงมากในจังหวัดกาญจนบุรี ใกล้ๆ กับโรงงานทำกระดาษ เราก็รีบออกไปสำรวจกัน แต่ก็หาไม่พบ ที่โรงพยาบาลศิริราชนี้ เราพบไข้อีดำอีแดงน้อยมาก

 

สาเหตุ
ไข้อีดำอีแดงเกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สเตร็ปโตคอคคัส (streptococcus) ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ต่อมทอนซิลเป็นหนองหรือผิวหนังเป็นตุ่มหนอง เราได้เคยสำรวจเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสในลำคอของเด็ก ที่เกาะสีชังพบว่าเด็กเป็นโรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสกันมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และในฤดูฝนสูงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่พบผู้ใดเป็นไข้อีดำอีแดงเลย ไข้อีดำอีแดงจะเกิดเฉพาะในรายที่เชื้อสเตร็ปโตคอคคัสปล่อยพิษชนิดพิเศษออกมา ที่เรียกว่า อีริโทรเจนิค ท็อกซิน (erythrogenic toxin, erythro แปลว่าแดง)

 


อาการ
จะทำให้มีไข้สูงประมาณ 1-2 วัน แล้วมีผืนแดงขึ้นรอบๆ คอ ตัวและแขนขา สีแดงจัดมาก บริเวณรอบๆ ผื่นจะมีสีจางลง และเมื่อกดสีจะจางลง สีจะเข้มมากบริเวณข้อพับ เช่น ข้อศอก รักแร้ ขาพับ ผิวหนังจะนูนออกมาคล้ายเวลาขนลุก ลูบดูจะรู้สึกสากๆ รอบๆ ปากจะซีด อาจพบจุดหนองที่ต่อมทอนซิล เพดาน และเยื่อบุปาก ซึ่งจะเป็นตุ่มแหลมๆ ลิ้นฝ่าและตุ่มที่รับรสบนลิ้นจะบวมโตมองคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (เวลานี้ปลูกกันมากที่เชียงใหม่) เมื่อผื่นแดงอยู่ 3-4 วัน จะลอกดำ จึงเรียกว่า ไข้อีดำอีแดง

 


โรคแทรก
อาจมีโรคแทรกที่ร้ายแรง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบและโต หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือบางครั้งบางคราวอาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ มีอันตรายได้ ถ้าหูอักเสบมากๆ เยื่อหูอาจทะลุ ทำให้เป็นโรคหูน้ำหนวกได้

 


โรคติดตาม
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หลังจากไข้อีดำอีแดงหายไปประมาณ 1-2 เดือน อาจมีโรคไตหรือโรคไข้รูห์มาติคติดตามมาได้

โรคไตจะทำให้มีอาการบวม ปัสสาวะน้อย ลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นมากๆ อาจมีอาการหัวใจวายหรือไตวายได้ เป็นอันตรายมาก

โรคไข้รูห์มาติคจะทำให้เกิดโรคหัวใจรูห์มาติค* มีอาการบวม เหนื่อยง่าย ลิ้นหัวใจรั่ว ปวดบวมตามข้อ มือ เท้ากระตุก อารมณ์ปรวนแปร ประเดี๋ยวหัวเราะประเดี๋ยวร้องไห้ ที่เรียกว่าผีเข้า ถ้ามีอาการทางโรคหัวใจมาก อาจต้องทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

การอักเสบของไตและหัวใจนี้ เกิดจากกลไกลบางอย่างจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส เป็นการอักเสบชนิดไร้เชื้อไม่เคยพบเชื้อแบคทีเรียที่ไตหรือหัวใจที่อักเสบเลย

 


การรักษา
ไข้อีดำอีแดงและการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ในคอ ผิวหนัง และที่อื่นๆ

1. ให้เด็กพักผ่อน และกินอาหารอ่อน

2. ให้กินยาเพนนิซิลลิน-วี ครั้งละ 125 มิลลิกรัม ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน แม้ว่าอาการจะหายไปก็ต้องใช้ยาต่อจนครบ 10 วัน เพราะถ้าให้ไม่ครบ 10 วัน จะฆ่าเชื้อไม่หมด อาจทำให้เกิดโรคไตหรือหัวใจรูห์มาติคติดตามมา

 


การป้องกัน
ไข้อีดำอีแดงและการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสเหล่านี้ รวมทั้งโรคไตอักเสบและโรคหัวใจรูห์มาติค
พบมากในเด็กยากจนระหว่างอายุ 5-15 ปี เนื่องจากอาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ขาดอาหาร จึงทำให้มีความต้านทานโรคต่างๆ น้อยลง อีกประการหนึ่ง เด็กยากจนทั้งในเมืองและในชนบท ห้องนอนมักคับแคบ อยู่กันแออัด ทำให้มีการแพร่เชื้อสเตร็ปโตคอคคัสโดยง่าย

วิธีการป้องกันที่สำคัญคือ การปรับปรุงเศรษฐกิจของครอบครัวหรือของชุมชนนั้น เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสาธารณสุขนั้นเกี่ยวข้องกันมาก ถ้าเศรษฐกิจดี การสาธารณสุขก็จะดีขึ้นตาม


ไข้อีดำอีแดงและโรคหัวใจรูห์มาติค เป็นโรคซึ่งป้องกันและรักษาได้ แต่ต้องการการร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้ปกครอง

 

ข้อมูลสื่อ

35-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 35
มีนาคม 2525
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์