• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณเอาหัวหรือก้นออก

 
เคยมีเรื่องที่ถามกันใ วงสนทนาสนุกๆว่าเมื่อตอนคุณคลอดออกมาจำได้หรือไม่ว่า คุณเอาหัวหรือเอาก้นออก หมายความว่า คุณคลอดท่าหัวหรือท่าก้น

คำถามที่สูติแพทย์มักถูกคุณแม่ถามเสมอก็คือ " ลูกกลับหัวหรือยัง " ท่าของทารกในครรภ์จึงมีความสำคัญต่อการคลอด นอกจากสูติแพทย์จะใช้วิธีคลำทางหน้าท้องประกอบกับการใช้หูฟัง (stethoscopes) เพื่อจะให้รู้ว่าทารกอยู่ในท่าไหน ช่วงก่อนคลอด

สูติแพทย์นอกจากจะตรวจหน้าท้องแล้ว พอปากมดลูกเปิด ก็จะตรวจภายใน (โดยใช้นิ้วมือสอดเข้าทางช่องคลอด)  เพื่อดูว่าเป็นกะโหลกศีรษะ เป็นหน้า หรือเป็นก้น เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าทารกอยู่ในท่าอะไร

นอกจากนี้ สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ หรือที่เรียกว่าเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะทราบท่าของทารกได้อย่างแม่นยำ โดยทั่วไปเมื่อทารกอยู่ในครรภ์ระยะอายุครรภ์แรกๆท่าของทารกในครรภ์ยังไม่แน่นอน อาจมีการหมุนตัวเฉียงไปเฉียงมาบ้าง ท่าขวางบ้าง ท่าศีรษะบ้าง และจะมีส่วนหนึ่งที่อยู่ใน ท่าก้น แล้วหมุนตัวกลับมาเป็นท่าศีรษะเพราะในช่วงอายุครรภ์น้อยๆ ทารกยังตัวเล็ก น้ำคร่ำก็มาก ทารกในครรภ์จึงขยับไปมาได้โดยสะดวก

เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 21-24  สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะอยู่ในท่าก้นประมาณร้อยละ 33  แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นทารก มีขนาดโตขึ้นส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่ในแนวตั้งจนถึงอายุครรภ์ประมาณ 37-40 สัปดาห์ จะเหลือเป็นท่าก้นเพียงร้อยละ 6  สุดท้ายเมื่อเข้าสู่ระยะคลอดจะเหลือเป็นทารกท่าก้นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ทารกที่คลอดท่าก้น ส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบสาเหตุ แต่จะมีปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อท่าของทารกในครรภ์เป็นท่าก้น เช่น ครรภ์แฝด แฝดน้ำ ภาวะน้ำคร่ำน้อยหรือน้ำคร่ำมากเกินไปในครรภ์ ทารกในครรภ์ผิดปกติ เช่น ทารกหัวบาตร ทารกไม่มีสมอง รกผิดปกติ หรือมีเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน

ระยะคลอด การที่ทารกอยู่ท่าก้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยทารกมีความเสี่ยงต่อการคลอดยาก มักสัมพันธ์กับปัจจัย หลายอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า ทารก มีน้ำหนักตัวน้อย ภาวะรกเกาะต่ำ หรือสายสะดือย้อย

ปกติทารกในครรภ์เมื่อครบกำหนดจะมีขนาดศีรษะ ใหญ่กว่าก้น หรือขนาดอุ้งเชิงกราน การคลอดปกติเมื่อทารกคลอดส่วนศีรษะแล้วส่วนอื่นก็จะสามารถคลอดตามมาได้ เว้นแต่ถ้าทารกโตมากก็อาจจะติดไหล่ได้ แต่ถ้าคลอดทารกในท่าก้นจะต้องเสี่ยงต่อการที่ก้นออกมาแล้วศีรษะติดอยู่ ไม่สามารถคลอดศีรษะออกมาได้หรือออกยากต้องใช้เวลานานหรือต้องมีการช่วยคลอดท่าก้น

วิธีการทำคลอดศีรษะภายหลังคลอดก้นแล้ว ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น ภาวะขาดอากาศอย่างรุนแรง ทารกอาจถึงกับเสียชีวิตได้ หรือได้รับบาดเจ็บจากแรงกดของทางออกอุ้งเชิงกราน หรือจาก การดึงรั้งจากการช่วยคลอด การตัดสินใจว่าจะให้คลอด ทางช่องคลอดจึงมีความสำคัญมาก

เมื่อทราบว่าเป็นท่าก้นในระยะก่อนหรือขณะเจ็บครรภ์คลอด สูติแพทย์จะประเมินปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ ขนาดของทารกว่าตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ช่องเชิงกรานแคบหรือรูปร่างของทางออกอุ้งเชิงกรานชนิดที่อาจทำให้ คลอดยาก ศีรษะทารกอยู่ในท่าเงย ไม่เจ็บครรภ์แต่มีเหตุ จำเป็นต้องให้คลอด เช่น เนื่องจากมีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือน้ำเดินก่อนกำหนดนาน มดลูกหดรัดตัวไม่ดีทารกท่าก้นที่มีการเหยียดขาหรือมีเท้าเป็นส่วนนำ อายุครรภ์ก่อนกำหนดซึ่งมีโอกาสเป็นอันตรายต่ออวัยวะทารก ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เคยมีประวัติการคลอดทารกเสียชีวิตหรือทารกได้รับบาดเจ็บจากการคลอด ในครรภ์ก่อน หรือเหตุผลสุดท้ายคือหญิงตั้งครรภ์ต้องการทำหมัน เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ สูติแพทย์จะตัดสินใจ ผ่าตัดคลอดมากกว่าที่จะให้คลอดทางช่องคลอด เพื่อลดภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น ท่าของทารกในครรภ์มารดาจึงมีความสำคัญ ในการตรวจครรภ์แต่ละครั้งแพทย์จะมีการคลำท่าทารกทางหน้าท้องเพื่อทราบว่าทารกอยู่ในท่าศีรษะ ท่าก้น หรือท่าขวาง ตลอดจนการคลำว่าศีรษะได้เข้าสู่ภายในอุ้งเชิงกรานแล้วหรือยัง

คำถามที่หญิงตั้งครรภ์มักจะถามสูติแพทย์เมื่อใกล้ คลอดว่า  "หัวลงหรือยัง และจะคลอดเองได้หรือไม่ " หากพบว่าเป็นท่าขวางแพทย์จะทำการผ่าตัดคลอด อย่างแน่นอน หากเป็นท่าก้นแพทย์จะประเมินก่อนว่าจะสามารถคลอดทางช่องคลอดโดยมีความเสี่ยงน้อย หรือไม่ โดยหารือร่วมกันกับมารดา ถ้าไม่แน่ใจก็จะแนะนำ ให้ผ่าตัดคลอดดีกว่าครับ เว้นแต่กรณีที่เจ็บครรภ์มาถึงโรงพยาบาลฉุกเฉินก้นโผล่แล้วหรือไม่สามารถเตรียมผ่าตัดได้ทันแล้วจึงต้องพยายามทำคลอดท่าก้น ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นความเสี่ยงจากการคลอดบุตร

ดังนั้น เมื่อทราบว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ จึงต้องใส่ใจแล้วปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจและวางแผนการคลอดร่วมกัน และเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอดจะต้องมาโรงพยาบาลโดยมิชักช้า

ขอให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกท่านอย่ากังวลใจ สูติแพทย์ที่ดูแลจะคอยให้คำแนะนำที่ดีและปลอดภัย

ข้อมูลสื่อ

363-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย