• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุ้มบุญ

ในที่สุดร่างกฎหมายอุ้มบุญ ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว   ยังมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปอีกในรัฐสภา ในขณะที่คู่สมรสบางคู่หรือคุณแม่บางคนตัดสินใจคุมกำเนิดหรือทำหมันเพราะไม่ต้องการมีบุตรหรือตัดสินใจทำแท้ง แต่ก็มีใครบางคนหรือคู่สมรสบางคู่กลับต้องการบุตรมากเหลือเกิน

ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์สามารถสนองความต้องการ ได้มากขึ้น มีทางเลือกหลายอย่างสำหรับคนที่ต้องการเป็นพ่อแม่ แต่มีบุตรยากเพราะอาจจะมีความบกพร่องได้หลายสาเหตุ
ทางการแพทย์มีวิวัฒนาการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการมีบุตรได้หลายวิธี เช่น
- การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF : in Vitro Fertilization)
- การทำกิฟต์ (GIFT : Gamete Intra Fallopian Transfer)
- การทำซิฟต์ (ZIFT : Zygote Intra Fallopian Transfer)
- การทำอิ๊กซี่ (ICSI : Intra Cytoplasmic Sperm Injection)
มีกรณีที่เหมาะสมอย่างอื่นอีก เช่น การตั้งครรภ์แทน หรือเรียกกันว่าอุ้มบุญมาใช้ให้ได้ผลตามที่ประสงค์

วิธีการตั้งครรภ์แทนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและประเด็นทางกฎหมายค่อนข้างมาก ยังอาจจะพาดพิงไปถึงการนำไปสู่ประเด็นทางอาชญากรรมหรือขบวนการค้ามนุษย์ได้ด้วย การออกกฎหมายเพื่อรองรับต่อกรณีดังกล่าวจึงมีความสำคัญและให้สอดคล้องกับจริยธรรม ศีลธรรม และกฎหมายบ้านเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การที่ประมวลกฎหมาย แพ่งได้บัญญัติไว้ว่าบุคคลที่คลอดจากหญิงคนใดก็จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงคนนั้น

อุ้มบุญเป็นการนำตัวอ่อนไปฝากให้หญิงคนนั้นอุ้มท้องแทน เมื่อคลอดแล้วจะถือว่าเป็นบุตรของคู่สมรส ที่ต้องการมีบุตรย่อมเป็นไปไม่ได้ภายใต้กฎหมายเดิม จึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายให้เป็นบุตรของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรแต่อาจจะไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติหรือโดยวิธีอื่น จึงต้องให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน

การดำเนินการผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย บางครั้งก็อาจจะไม่สามารถให้ไข่และอสุจิของทั้งคู่ได้ อาจจะจำเป็นต้องรับบริจาคไข่หรืออสุจิของบุคคลอื่นอีก  แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีอสุจิของสามีและไข่บริจาคหรืออสุจิบริจาคกับไข่ของภริยา อย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเชื่อมโยงของปัจจัยทางพันธุกรรม ไม่ใช่ทั้งไข่และอสุจิก็ไม่ใช่ของคู่สมรสทั้งคู่เลยแถมยังไปฝากให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนอีกด้วย อย่างนี้น่าจะไปขอรับเด็กอื่นมาเป็นบุตรบุญธรรมจะดีกว่า

ร่างกฎหมายนี้ก็ได้บัญญัติไว้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางนี้แล้ว การผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาคต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียม ทั้งผู้ขอรับบริการและผู้บริจาคไข่หรืออสุจิต้องผ่านการตรวจประเมินความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
กฎหมายบัญญัติให้ชัดเจนว่าบุตรเป็นของใครเพราะหากภายหลังมีการแย่งบุตรกันเกิดขึ้นเพราะคนที่อุ้มท้องอาจจะรักเด็กเพราะมีความผูกพันจากการตั้งครรภ์ที่มีระยะเวลายาวนาน หรือคู่สมรสอาจปฏิเสธเด็กที่เกิดมาในภายหลังเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เด็กมีความไม่สมบูรณ์บางประการ เป็นต้น รวมถึงกรณีที่คู่สมรสได้เสียชีวิตก่อนทารกเกิดก็จะต้องให้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายไปก่อนจนกว่าจะมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นใหม่ แต่ผู้บริจาคไข่หรืออสุจิไม่มีสิทธิและหน้าที่ใดๆ

กฎหมายห้ามไม่ให้บุพการีเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน เช่น คุณแม่หรือคุณยาย อาจจะมีปัญหาการนับญาติซึ่งจะมีผลกระทบต่อตัวเด็กเอง รวมทั้งกฎหมายที่ต้องให้มีการป้องกันไม่ให้เป็นการรับจ้างอุ้มบุญหรือทำเป็นการค้าเพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
ห้ามการโฆษณาความประสงค์ที่จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น
ห้ามกระทำการเป็นนายหน้า
ห้ามซื้อ ขาย เสนอซื้อเสนอขาย นำเข้าหรือส่งออก
ห้ามสร้างตัวอ่อนเพื่อใช้ในกิจการอื่นนอกจากการรักษาภาวะมีบุตรยาก
ห้ามสร้างมนุษย์โดยวิธีการอื่นนอกจากการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่

ร่างกฎหมายนี้ยังต้องมีการเผยแพร่ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป ความคิดเห็นที่หลากหลายในแง่มุมต่างๆ จะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ผลการพิจารณาเป็นเช่นไรจะนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านรับทราบต่อไป

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

364-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 364
สิงหาคม 2552
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย