• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต

อวัยวะสำคัญที่เรียกว่าไต

ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากของร่างกาย มีหน้าที่หลักคือคอยกำจัดของเสียต่างๆ ที่ละลายอยู่ในเลือด โดยการกรองและขับทิ้งในรูปของน้ำปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ของร่างกาย ช่วยควบคุมปริมาณน้ำและความดันโลหิต และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย

ไตเป็นอวัยวะที่ฝังตัวอยู่ในช่องท้องด้านข้าง ทั้งซ้ายและขวาของกระดูกสันหลัง โดยมีหลอดเลือดขนาดใหญ่ และมีท่อส่งน้ำปัสสาวะที่กรองและขับทิ้งไปเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ และรอสะสมให้มีจำนวนหนึ่งในขนาดที่เหมาะสมจึงถูกขับออกจากร่างกาย

 

โรคไตเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต

ถ้าการทำงานของไตมีความผิดปกติ ก็จะส่งผลเสียกับเจ้าของไต เพราะจะทำให้น้ำและของเสียต่างๆ ไม่ถูกขับทิ้งออกไปตามปกติ มีการสะสมของน้ำและของเสียอยู่ในร่างกายมากขึ้น ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว ง่วงซึม สับสน มึนงง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดเจนจากอาการบวมน้ำที่เท้าและขาทั้งสองข้าง เวลากดเบาๆ ที่ผิวหนังของหน้าแข้งของท่อนขา ประมาณ 1-2 นาที แล้วยกมือออก จะปรากฏรอยบุ๋มของบริเวณที่กดนั้นได้ ซึ่งในคนทั่วไปจะไม่พบความผิดปกตินี้

นอกจากนี้ อาจพบไข่ขาวปนมาในน้ำปัสสาวะ อาการซีด เม็ดเลือดแดงลดน้อยลง และเหนื่อยง่ายได้
คนทั่วไปที่ไม่เคยเกิดปัญหาเรื่องไตมาก่อน เคยเป็นปกติดี ก็จะต้องหมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติของร่างกายเหล่านี้ ถ้ามีอาการบวมน้ำ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร จะได้รับการตรวจวินิจฉัย ป้องกัน หรือรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยให้เป็นมากๆ แล้วไปรักษา จะยุ่งยาก รักษาลำบาก และหายได้ยาก

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไต

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ไตทำงานผิดปกติ สามารถจัดตามสาเหตุได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้

1. โรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการทำลายไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคผิดปกติของภูมิคุ้มกันตนเอง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในไต โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นต้น

2. ลักษณะเฉพาะของบุคคล อันได้แก่ อายุที่มากขึ้น และประวัติของคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคไต

3. พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นต้น

4. การใช้ยาที่มีอันตรายต่อไต
ในที่นี้ขอขยายความเรื่องโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคไต และยาที่มีอันตรายต่อไต

 

โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

โรคที่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคไตคือ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
บรรดาโรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการทำลายไต พบว่าโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดคือเบาหวาน รองลงมาได้แก่ความดันโลหิตสูง

ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทำลายไต และเป็นโรคไตเพิ่มอีกโรคหนึ่งได้ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ช้าหลังอดอาหารมาทั้งคืน ซึ่งปกติแล้วควรมีระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารมาทั้งคืน มีค่าอยู่ระหว่าง 70-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ขอเสริมเล็กน้อยว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะได้ผลดี ต้องดำเนินการ 2 ด้านคู่กันคือ ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่ง และปรับขนาดหรือปริมาณของอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ที่เรียกว่าคาร์โบไฮเดรตให้มีปริมาณเหมาะสม

สิ่งสำคัญก็คือจะพึ่งด้านใดด้านหนึ่งเป็นสรณะเพียงด้านเดียวไม่เพียงพอ จะต้องพึ่งทั้ง 2 ด้านจึงจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลดี และควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดผลดีที่สุดต่อสุขภาพของเรา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นโรคที่ 2 โรคที่ 3 ที่จะตามมาได้ในอนาคต


โรคที่จะต้องระมัดระวังต่อจากเบาหวานก็คือโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงนี้ นอกจากเสี่ยงต่อโรคไตแล้วยังเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด (สาเหตุของหัวใจวาย) และโรคหลอดเลือดสมอง (สาเหตุของอาการอัมพฤกษ์และอัมพาตได้) ซึ่งก็คล้ายคลึงกับโรคเบาหวาน ที่จะต้องใช้ 2 ทางควบคู่กัน คือการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี อันได้แก่ การลดความเครียด รู้จักพักผ่อน การออกกำลังกาย งดหรือเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้ามี) ลดพุง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ระดับความดันโลหิตมีค่าต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรของปรอท ก็จะเป็นผลดีกับผู้ป่วย

ขอฝากเคล็ดไม่ลับที่จะช่วยให้มีพลังใจหรือกำลังใจในการรักษาระดับของโรคทั้ง 2 ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือ หาเพื่อนคุยเรื่องการดูแลสุขภาพ อาจจะเป็นเพื่อนร่วมโรค (เป็นโรคเดียวกันก็จะยิ่งดี) และหมั่นตรวจเช็กระดับของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นประจำ และตรวจเช็กเพิ่มเติม เมื่อโอกาสอำนวย ก็จะช่วยเตือนและรักษาการปฏิบัติตัวที่ดีของเรา

 

ยาที่มีอันตรายต่อไต

ยาที่มีผลต่อไต ได้แก่ ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (หรือ NSAIDs) ยาปฏิชีวนะ ยาลิเทียม สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ และยาลิเทียม เป็นยาสั่งจ่ายโดยแพทย์หรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงยา NSAIDs (อ่านว่า "เอ็นเสด") ซึ่งมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง

ยา NSAIDs ประกอบด้วย ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กลุ่มเก่า และยากลุ่มค็อกทูอินฮิบิเตอร์ (COX II inhibitors) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี จึงมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายกรณีที่มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดข้อ ปวดฟัน ใช้ลดไข้แก้ตัวร้อน และใช้ลดการอักเสบ บวม แดง ร้อน จากการอักเสบของข้อ และกล้ามเนื้อต่างๆ

ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้รักษาตามอาการ หมายความว่าถ้ามีอาการก็ให้ใช้ยา และเมื่อหายดีแล้วหรืออาการทุเลาลงแล้วก็ขอให้หยุดยา ไม่จำเป็นต้องใช้ติดต่อกันจนหมด เพราะยากลุ่มนี้จะส่งผลลดเลือดไปเลี้ยงที่ไต และส่งผลต่อการทำงานของไตได้

อีกปัญหาหนึ่งที่พบเกี่ยวกับยานี้คือ เรื่องความซ้ำซ้อนของการได้ยา เช่น ผู้ป่วยปวดข้อไปหาหมอคนที่หนึ่ง ก็จะได้ยากลุ่มนี้อยู่แล้ว ถ้ามีอาการไข้หวัดและไปหาหมอคนที่ 2 ก็อาจได้ยาลดไข้ แก้ตัวร้อน แก้ปวดหัว ซึ่งก็เป็นยากลุ่มนี้เช่นกัน เมื่อได้ใช้ยาของแพทย์ทั้ง 2 คน ก็จะเกิดการซ้ำซ้อนของการใช้ยา เป็นการเพิ่มพิษของยาที่มีต่อไตให้มากขึ้นได้

นอกจากผลเสียของยา NSAIDs ที่มีต่อไตแล้ว ยานี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้บ่อยอีกด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

 

การใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต

ตั้งแต่ต้นจะพูดถึงการหลีกเลี่ยงการทำลายไต ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคและยาที่จะมีผลต่อไตได้ และต่อไปจะกล่าวถึงการใช้ยาของผู้ป่วยโรคไต

 

ยาส่วนใหญ่ขับออกจากร่างกายทางไต

ส่วนใหญ่ของยาที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกขับหรือกำจัดออกจากร่างกายทางไต ส่วนใหญ่ ขับทิ้งออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะประมาณว่า ร้อยละ 80-90 ของยาทุกชนิดที่มีใช้กันอยู่บนโลกนี้จะถูกขับทางไต ส่วนที่เหลืออีกเล็กๆ น้อยๆ จะถูกขับออกทางอุจจาระหรือปอด

การที่ยาถูกขับออกทางปัสสาวะนี้ เป็นผลให้ระดับของยาในร่างกายลดต่ำลง และหมดฤทธิ์ของยาลงด้วย

 

ผู้ป่วยโรคไต จะใช้ยาเหมือนผู้ป่วยทั่วๆ ไปไม่ได้

ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องไต ไตเสื่อม หรือไตทำงานได้ลดน้อยลง ปริมาณยาที่อยู่ในร่างกายก็จะถูกขับทิ้งได้น้อยลง เป็นผลให้ยาอยู่ในร่างกายได้นานยิ่งขึ้น และ/หรือมีปริมาณสูงขึ้น

ถ้าผู้ป่วยโรคไตได้รับยาขนาดเดียวกันกับผู้ป่วยที่ไตทำงานปกติ ก็จะส่งให้ระดับยาสะสมอยู่ในร่างกายนานขึ้น และ/หรือระดับสูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดพิษ เป็นอันตรายกับผู้ป่วย และอาจถึงแก่ชีวิตได้

 

ผู้ป่วยโรคไต ห้ามซื้อยากินเอง

ผู้ป่วยโรคไตจะใช้ยาเหมือนผู้ป่วยทั่วๆ ไปไม่ได้ เพราะแพทย์มีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับระดับการทำงานของไต ทั้งนี้เพื่อคงผลการรักษาที่ดี พร้อมทั้งผดุงความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยโรคไต
ดังนั้น ก่อนใช้ยาเพิ่มเติม ผู้ป่วยโรคไตจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้แนะนำการใช้ยาอย่างเหมาะสม ไม่เกิดอันตรายเพิ่มเติมกับไต และได้ยาขนาดที่เหมาะสมกับภาวะการทำงานของไตแต่ละคน

 

ข้อมูลสื่อ

366-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด