• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินอย่างไร เมื่อเป็นโรคกระเพาะ

คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่มีชีวิตประจำวันเคร่งเครียดวุ่นวายยุ่งเหยิง จนกระทั่งเวลากินอาหารก็กินอย่างเร่งรีบ บางครั้งก็กินไม่เป็นเวลา ที่แย่กว่านี้ก็ต้องอดอาหารบางมื้อหรือกว่าจะได้กินก็ล่วงเลยมื้ออาหารไปนาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ โรคกระเพาะอาจถามหาได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนี้

รู้จักโรคกระเพาะ

โรคกระเพาะมักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียดหรือจุกแน่น ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้ เป็นได้ทั้งเวลาก่อนกินอาหารหรือหลังกินอาหารใหม่ๆ และเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าวตอนเช้ามืด หรือก่อน นอนตอนดึกๆ ก็ปวดท้องโรคกระเพาะได้เช่นกัน

อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากภาวะมีกรดใน กระเพาะอาหารมาก กรดนี้ก็ไประคายเคืองกระเพาะจนทำให้เกิดแผลที่ผนังของกระเพาะอาหารหรือที่ลำไส้เล็กตอนบน บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เวลาเป็นมักจะปวดนานครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร อาการปวดท้องจะบรรเทาลงถ้าได้กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมหรือกินยาลดกรด

โรคกระเพาะหรือเรียกเป็นทางการว่าโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นคำรวมๆ หมายถึงแผลที่เกิดขึ้น ในเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร ดังนั้น จึงพบว่าการเกิดแผลได้ตั้งแต่บริเวณหลอดอาหารส่วนล่าง กระเพาะอาหาร และ ลำไส้เล็กส่วนต้น ตำแหน่งที่พบแผลได้บ่อยคือกระเพาะอาหารส่วนปลาย และระหว่างรอยต่อกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กส่วนต้น

คนที่เป็นโรคกระเพาะถ้าไม่ได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร (มีอาการอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระดำ) กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ (มีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ) กระเพาะลำไส้ตีบตัน (มีอาการปวดท้องรุนแรงและอาเจียนทุกครั้งหลังกินอาหาร)

โรคกระเพาะมีสาเหตุหลักมาจากกรดและน้ำย่อย อาหารที่หลั่งออกมาแล้วไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร และความบกพร่องของเยื่อบุกระเพาะที่ไม่สามารถต้านทานกรดได้ดี ส่วนสาเหตุรองลงมาหรือปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะหนักขึ้น คือภาวะความ เครียด วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด
ผู้ที่ต้องทำงานหนักพักผ่อนน้อยแต่ต้องมีการแข่งขันสูง เช่น นักธุรกิจที่ต้องคอยกังวลอยู่กับกำไรขาดทุน มักพบว่าเป็นโรคกระเพาะกันมาก บางคนจึงเรียกโรคกระเพาะว่า "โรคของนักบริหาร" แต่พ่อบ้านแม่เรือนผู้ที่มีความรับผิดชอบทั้งงานบ้านและที่ทำงาน ถ้าเคร่งเครียดจากการทำงานแล้ว กลับมาถึงบ้านยังมีเรื่องให้วิตกกังวล ทำให้นอนไม่หลับและไม่ได้พักผ่อนเท่าที่ควร ก็มีโอกาสเป็นโรคกระเพาะได้เช่นกัน

ปัจจัยส่งเสริมการเป็นโรคกระเพาะที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อุปนิสัยการกินที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารอย่างรีบเร่ง กินไม่เป็นเวลา อดอาหารบางมื้อ และการกินสารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มน้ำชากาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกาเฟอีนมาก การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เบียร์ เป็นประจำ และการกินยาบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ เช่น การกินยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสตีรอยด์ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระเพาะได้

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบในปัจจุบันว่า การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในกระเพาะอาหาร ที่มีชื่อว่า "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร" ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เพราะเชื้อนี้ทำให้ผนังกระเพาะอาหารอ่อนแอลง จึงมีความทนต่อกรดและ น้ำย่อยลดลง เชื้อนี้ยังอาจทำให้แผลหายช้า หรือทำให้แผลที่หายแล้วเกิดเป็นแผลซ้ำได้อีก และยังพบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย ดังนั้นคนเป็นโรคกระเพาะควรได้รับการตรวจว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้หรือไม่ และอาจจำเป็นต้องใช้ยากำจัดเชื้อนี้ด้วย

อาหารกับโรคกระเพาะ
เมื่อเป็นโรคกระเพาะก็ต้องรักษา ซึ่งมีวิธีการรักษาอยู่หลายแนวทางในปัจจุบัน เช่น การใช้ยาลดกรด ยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะ หรือยาแผนปัจจุบันต่างๆ รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ ขมิ้นชัน กล้วย ว่านหางจระเข้ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะกินยาแนวใดโดยทั่วไปควรกินยาอย่างน้อย ๔-๘ สัปดาห์ติดต่อกัน และสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การรักษาโรคกระเพาะหายเร็วขึ้น คือการปฏิบัติตนให้เหมาะสมในเรื่องการกินอาหาร และการรู้จักพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจด้วย
ในบางรายที่เริ่มมีอาการโรคกระเพาะอาจหายจากอาการโรคกระเพาะได้ง่ายๆ เพียงรู้จักปฏิบัติตนในเรื่องการกินการอยู่ให้เหมาะสม และสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงและกำลังกินยารักษาโรคกระเพาะอยู่นั้น ก็จะมีอาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหากใช้หลักการกินอาหารดังต่อไปนี้
ข้อปฏิบัติแรกสุดที่คนเป็นโรคกระเพาะและเราทุกคนควรทำคือ การกินอาหารให้ตรงเวลา เมื่อถึงเวลามื้ออาหารควรหาอาหารกินทันที เพื่อให้กรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาได้ทำหน้าที่ในการย่อยอาหารแทนที่ จะไปกัดทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและสำไส้ และในขณะกินอาหารควรดื่มน้ำบ้าง เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น และควรดื่มน้ำมากๆ ระหว่างมื้อให้ได้วันละ ๘-๑๐ แก้ว

ปริมาณอาหารที่กินแต่ละมื้อไม่ควรมากเกินไป
เพื่อให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ในการย่อยอาหารแต่ละครั้งไม่ทำงานหนักจนเกินไป การกินอิ่มเกินไปจะทำให้อาการของโรคกระเพาะหายช้า ขณะเดียวกันการปล่อยให้ท้องหิวเกินไปก็ไม่เป็นผลดีกับโรคกระเพาะ คนเป็นโรคกระเพาะจึงอาจแบ่งอาหารที่กินออกเป็น ๓ มื้อ และกินอาหารว่างระหว่างมื้อ เพื่อไม่ให้ ท้องว่างนานเกินควร การกินแต่ละครั้งก็ให้กินแต่พออิ่ม เมื่อหิวจึงกินใหม่ แต่ไม่ควรกินจุบจิบหรือถี่จนเกินไป เพราะการกินอาหารจุบจิบจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรด และน้ำย่อยออกมาตลอดเวลาและมากขึ้น ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าได้ นอกจากนี้ หลังกินอาหารแต่ละครั้งควรอยู่ในท่านั่งหรือยืนไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างดีที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนนอนอย่างน้อย ๒-๓ ชั่วโมง

อาหารที่กินควรเป็นอาหารที่ครบหมวดหมู่ และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย ขณะกินอาหารก็ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อาหารจำพวกเนื้อสัตว์และไขมันจะย่อยยากกว่าอาหารจำพวกข้าว-แป้ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงจำพวกอาหารทอด อาหารผัดที่ใช้น้ำมันมาก สำหรับเนื้อสัตว์ควรปรุงให้สุก เพราะเนื้อสัตว์ที่ดิบๆ สุกๆ จะย่อยได้ยากขึ้น เนื้อสัตว์จำพวก ปลา กุ้ง ไก่ จะย่อยได้ง่ายกว่าเนื้อวัวหรือเนื้อหมู และควรเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่เหนียวหรือมีการสับหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ต้มหรือนึ่งจนสุก ดังนั้นระหว่างที่เป็นโรคกระเพาะจึงควรหลีกเลี่ยงการกินสเต๊กชิ้นใหญ่ๆ

ในอดีตคนเป็นโรคกระเพาะอาจเคยได้รับคำแนะนำให้ดื่มนมบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลามีอาการปวดท้อง เพราะนมเป็นอาหารที่มีความเป็นด่างสูงจะไปช่วยล้างฤทธิ์กรด แต่ในปัจจุบันไม่ได้แนะนำเช่นนี้แล้ว เพราะนมมีโปรตีนสูงอาจไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยออกมามาก จึงแนะนำให้ดื่มนมตามปกติของคนคนนั้น เช่น ดื่มวันละ ๑ แก้ว โดยไม่จำเป็นต้องดื่มเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการโรคกระเพาะก็ให้กินยาลดกรดหรือยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือยาสมุนไพรที่ตนใช้รักษาอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะ

คนเป็นโรคกระเพาะควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นน้ำย่อย ได้แก่อาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด เช่น แกงรสเผ็ดจัด ของดอง น้ำอัดลม น้ำชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกาเฟอีนมาก อาหารที่แข็งหรือมีกากมาก ตลอดจนอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด อาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นเซลล์ให้ผลิต น้ำย่อยมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าแผลในกระเพาะ จะหายสนิทจริงๆ หรือถ้าเป็นไปได้ควรจะหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการกินอาหารดังกล่าวตลอดไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะซ้ำอีก

สำหรับผู้ที่นิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรงดหรือลดปริมาณการดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ลง และไม่ควรดื่มก่อนอาหารหรือขณะที่ท้องว่างอย่างเด็ดขาด เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร คนเป็นโรคกระเพาะที่สูบบุหรี่ควรพยายามลดหรือเลิกสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าลง และมีโอกาสเกิดเป็นแผลซ้ำใหม่ได้ง่ายกว่าคนไม่สูบบุหรี่

นอกจากเรื่องอาหารดังกล่าวแล้ว คนเป็นโรคกระเพาะควรจะมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่รู้จักผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ โดยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การออกกำลังกาย วาดภาพ ร้องเพลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดทุกชนิด ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคกระดูก ไขข้ออักเสบ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องกินยาป้องกันโรคกระเพาะร่วมไปด้วย

จะเห็นได้ว่าการรู้จักกินเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระเพาะอาหารไม่ยากเลย เพียงแต่มีอุปนิสัยการกินที่ดี และมีการดำเนินชีวิตที่ไม่เร่งรีบจนเกินไป มีเวลาใส่ใจในสุขภาพของตนเองบ้างเท่านั้น คนที่เคยเป็นโรคกระเพาะแม้แผลจะหายแล้ว ก็ยังต้องใส่ใจในเรื่องสุขภาพของตนเองและระมัดระวังเรื่องอาหารการกินตลอดไป มิฉะนั้น แผลในกระเพาะอาหารอาจกลับมาหาคุณอีกเมื่อใดก็ได้

ข้อมูลสื่อ

311-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
เรื่องน่ารู้
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ