• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารปลอดสารพิษ...ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

อาหารปลอดสารพิษ...ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า


“พลังของผู้บริโภค เป็นพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่กำหนดกลไกการตลาดได้” ประโยคข้างต้นเมื่อหลายปีก่อน หลายคนยังไม่แน่ใจ แต่ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกว่าภารกิจนี้เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนจะต้องเริ่มปฏิบัติการในอันที่จะปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพตนเอง และเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ ที่ต้องอยู่ในสภาพ ”หมดทางเลือก” อยู่ร่ำไป เพื่อพบกับ ”ทางเลือกใหม่” กันเสียที

มีตัวอย่างของปฏิบัติการอันชอบธรรมกรณีหนึ่งซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในที่นี้ เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่มีพละกำลังกายอะไรมากมาย แต่เธอมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เธอคิดว่าน่าจะดีที่สุดสำหรับลูกน้อยอันเป็นที่รักของเธอ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพืชผักที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักจะมาจากพื้นที่แหล่งผลิตที่มีการใช้สารเคมีในรูปแบบต่างๆ กันมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นสารพิษฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช ด้วยสภาพความเป็นไปดังกล่าวที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที เหตุการณ์นี้ก็ได้อุบัติขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน

คุณแม่ (ยังสาว) ลูกอ่อนคนหนึ่ง เธอเกิดมีความคิดว่าลูกน้อยของเธอซึ่งอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต และเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย และสติปัญญา เด็กน้อยน่าจะได้รับแต่อาหารที่ดีๆ มีประโยชน์มากกว่าอาหารที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าถูกปนเปื้อนด้วยสารพิษ หลังจากนิ่งนึกตรึกตรองอยู่นาน เธอคิดว่าลำพังเธอคนเดียวคงจะสร้างความฝันนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาไม่ได้ เธอจึงนำความคิดของเธอไปถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้เพื่อนบ้านคนอื่นๆฟัง สรุปว่าทุกคนมีความต้องการเช่นเดียวกับเธอ จึงคิดกันว่าพวกเธอควรจะไปคุยกับสมาคมชาวนาและผู้ปลูกผักทั้งหลาย ซึ่งทางด้านผู้ผลิตก็เห็นดีด้วย จึงปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อไว้ขายกับแม่บ้านกลุ่มนี้ส่วนหนึ่ง

แล้วต่อมาแม่บ้านกลุ่มนี้ก็คิดว่าน่าจะมีคนที่ต้องการผักปลอดสารพิษมากขึ้น จึงได้รวมกลุ่มไปตกลงกับเจ้าของร้านซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้รับซื้อพืชผักปลอดสารพิษเข้ามาขายบ้าง ซึ่งทางซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อเห็นความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น จึงดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่า จากจุดความคิดริเริ่มจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียวเท่านี้สามารถขยายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของผู้บริโภคได้

การคืบคลานของสารพิษสู่วิถีชีวิตผู้บริโภค

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การทำเกษตรกรรมในช่วงนั้นได้เริ่มมีการใช้ปุ๋ยใช้สารพิษฆ่าแมลงกันบ้าง โดยการนำเข้าเทคโนโลยีของบรรดาปัญญาชนที่มีโอกาสไปร่ำเรียนวิชาการทางด้านนี้เป็นผู้นำมาเผยแพร่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังใช้กันไม่มากนัก ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติเขียวขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรครั้งยิ่งใหญ่เนื่องมาจากต้องการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตในทศวรรษที่ 1970 โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์พืชต่างๆ ที่สถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างชาติเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ จุดเด่นของการปฏิวัติเขียว ก็คือ การรับเอาพืชพันธุ์ใหม่ไปใช้ ซึ่งจะต้องใช้ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช และระบบการชลประทานที่ดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตรจากแบบดั้งเดิมไปอย่างมาก แล้วหลังจากที่มีการปฏิวัติเขียวเกิดขึ้นทั่วโลกไม่นาน ประมาณปี 2510 ก็ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย โดยเริ่มแถวพื้นที่ ภาคกลางก่อน เช่น สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการปลูกข้าว (ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเกษตรสมัยใหม่ด้วย) ช่วงแรกสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นก่อน แต่การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชไม่มากนัก หลังจากการนั้นโรคและแมลงก็เพิ่มมาก จึงต้องมีการใช้สารพิษฆ่าแมลงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว

ผลกระทบจากการเกษตรสมัยใหม่

จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำการเกษตร จากแบบดั้งเดิม คือ ทำเพื่อกินเพื่ออยู่ ที่เหลือนำออกขาย ไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ซึ่งจะผลิตพืชชนิดเดียวจำนวนมากๆ เพื่อส่งขายเช่นนี้ นอกจากเกษตรกรต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมากมายแล้ว ยังส่งผลกระทบในด้านต่างๆ อีกด้วย อาทิ

  • ด้านสิ่งแวดล้อม

การใส่ปุ๋ยในปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยรวมอย่างรุนแรง เพราะปุ๋ยจะไปเร่งการใช้อินทรียวัตถุในดิน ทำให้พืชโตเร็วก็จริง แต่จะไม่แข็งแรง ทำให้แมลงทำลายได้ง่าย กลไกนี้จึงเชื่อมโยงไปสู่ความจำเป็นในการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น คือ ต้องใช้สารพิษฆ่าแมลงตามมา ในระยะยาวยังพบว่าการใช้สารพิษฆ่าแมลงจะมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากแมลงมีการปรับตัวเพื่อต้านทานสารเคมีได้มากยิ่งขึ้น และแมลงยังถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกหลานให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ถ้าจะใช้สารพิษฆ่าแมลงให้ได้ผลจึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว

โดยปกติในระบบนิเวศน์มีแมลงที่เป็นศัตรูพืชไม่ถึงร้อยละ 5 เลย ดังนั้นการใช้สารพิษฆ่าแมลงเท่ากับเป็นการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ในเรือกสวนไร่นาไปด้วย นอกจากนี้สารพิษยังมีผลต่อโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าวอีกด้วย โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้สารเคมีมากที่สุด สมัยก่อนในบริเวณนี้ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันสภาพกลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องจากสารพิษที่สะสมตกค้างอยู่ในน้ำในดินที่ใช้ทำการเกษตร จึงทำให้ไม่สามารถเพาะเลี้ยงปลาได้

  • เกษตรกร – ผู้บริโภค

- ได้รับพิษจากสารเคมี

การใช้สารเคมีในระบบการเกษตรนั้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นด่านแรก ก็คือ ตัวเกษตรกรเอง โดยจะได้รับทั้งทางการสูดดม และการสัมผัสทางผิวหนัง และนอกจากนั้นผลจากการใช้สารเคมีนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคอีกด้วยในกรณีที่มีการใช้สารเคมีในพืชผักในปริมาณมาก และเกิดการตกค้างของสารเคมีเหล่านั้น ในร่างกายของผู้บริโภคดังที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว

จากการสำรวจ พบว่า มีชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องตายไปเพราะสารพิษฆ่าแมลง และชาวนาอีกหลายครอบครัวที่ต้องล้มป่วยเพราะได้รับสารพิษ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการแสดงเพียงเล็กน้อยแต่ยังไม่ถึงขั้นล้มป่วย

- ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรกว่าครึ่งต้องประสบปัญหาหนี้สินที่ชดใช้ไม่มีวันหมด ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนที่จำเป็นต้องลงไปกว่าครึ่งของทั้งหมดนั้นเป็นค่าสารพิษฆ่าแมลงและค่าปุ๋ยเคมี และนับวันต้นทุนตัวนี้ก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นตามกลไกของระบบนิเวศน์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในขณะที่ผลผลิตยังได้เท่าเดิม

จากการสำรวจ พบว่า เมื่อก่อนชาวนาต้องลงทุนค่าสารพิษฆ่าแมลง 100- 200 บาท/ไร่ แต่ในช่วงที่แมลงระบาดอาจต้องใช้ทุนถึง 1,000 บาท/ไร่ และยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นพืชผักก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้สารพิษฆ่าแมลงมากขึ้น บางแห่งต้องใช้เป็นหมื่นบาท/ไร่เลยทีเดียว

ผู้บริโภคหันมาหาอาหารปลอดสารพิษ

ในสังคมทุกวันนี้ เราทุกคนต่างมองเห็นความสำคัญเฉพาะหน้าที่ของตน งานของตน โดยลืมมองให้เลยไกลออกไปถึงวิถีชีวิตและการงานของผู้อื่นบ้าง อย่างผู้ผลิตก็ทำหน้าที่ผลิตไป ทำอย่างไร วิธีใดก็ได้ขอให้มีผลผลิตออกมา จะใส่สารเคมีให้ผู้บริโภคได้รับไปบ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยอะไร ทางด้านผู้บริโภคเองก็ทำหน้าที่บริโภคอย่างเดียว พยายามขวนขวายหาเงินหาทองเพื่อให้ได้ซื้อสินค้าหน้าตาสวยๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่มิได้มองว่ากว่าที่ผู้ผลิตจะได้ผลผลิตเหล่านั้นมา ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการที่ยากลำบากมากมายเพียงใด

ฉะนั้น เมื่อใดที่คนเราเห็นอาหารเป็นเพียงสินค้า ผู้ผลิตจะไม่คำนึงถึงผู้บริโภคว่าจะได้รับพิษภัยจากอาหารนั้นแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่ศีลธรรมทางการผลิตและบริโภคต้องเกิดขึ้นเพื่อความเอาใจใส่ต่อกันและกันของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเมื่อนั้นอาหารจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน สำหรับข้อแนะนำต่อไปนี้ขอกล่าวรวมไว้ทั้งในแง่พฤติกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวม เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นแนวทางในอันที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ปลอดสารพิษมากยิ่งขึ้น

  • สนับสนุนผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษ

โดยวิธีที่ต้องช่วยบอกต่อๆกันไปมาอุดหนุนสินค้าของร้านค้า หรือกลุ่มเกษตรกรที่ขายพืชผักปลอดสารเคมี แม้ว่าในขั้นต้นราคาอาจจะแพงกว่าแม่ค้าที่เจือปนสารเคมีทั้งที่ต้นทุนในการผลิตมีราคาถูกกว่าก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนจำนวนมากต้องสูญเสียไปกับการดำเนินการทางการตลาด การขนส่ง เนื่องจากเครือข่ายในการตลาดยังไม่กว้างพอ แต่ในอนาคตหากทุกคนช่วยกันซื้อสินค้าประเภทนี้มากๆ ราคาของสินค้าก็จะลดต่ำลงมาโดยปริยาย

  • ปลูกผักไว้กินเอง

เรื่องนี้อาจจะทำได้ค่อนข้างยากสักหน่อยสำหรับสังคมในเมือง เนื่องจากจำกัดด้วยเนื้อที่ แต่ถ้ามีความตั้งใจจริงก็สามารถทำได้ อาจจะปลูกไว้ในกระถางสำหรับผักที่มีรากไม่ลึกนัก เช่น กะเพรา พริก คะน้า ตะไคร้ มะเขือ หรือแม้แต่ผักกาดขาวที่เรามักไม่ค่อยเห็นปลูกกัน ก็สามารถปลูกในกระถางได้ และเก็บกินได้ทั้งปีถ้ารู้จักวิธีเก็บ คือ ชาวสวนเขาบอกมาว่าให้เด็ดเฉพาะใบล่างแล้วเหลือยอดไว้ อย่าตัดทั้งต้น มันจะแตกใบออกมาให้ได้กินเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ยังมีผักอื่นๆอีกมากมายที่สามารถปลูกได้ในกระถาง แล้วการปลูกผักในกระถางนี้ควรจะปลูกแบบหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า รีไซเคิล (recycle) เนื่องจากดินมีจำกัด มีวิธีการ คือ หลังจากบริโภคแล้วให้นำสิ่งที่เหลือหรือเศษอาหารจากท่อระบายน้ำมาใช้ใหม่ มาทำเป็นปุ๋ย เพื่อหมุนเวียนผลิตอาหารได้อีก

ข้อดีของการปลูกผักกินเอง นอกจากเราจะสามารถควบคุมกรรมวิธีการปลูกให้ปลอดสารพิษได้ด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ปลูกด้วย (แต่อย่าภูมิใจมากเสียจนไม่กล้ากินผักที่ปลูกเพราะเสียดายก็แล้วกัน) และถ้ากิจกรรมนี้ได้มีการทำร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

  • หันมากินผักพื้นเมืองหรือผักไทย

ผักที่เราซื้อ-ขายกันอยู่ในตลาดขณะนี้ ร้อยละ 80-90 เป็นผักที่นำพันธุ์มาจากต่างประเทศ คนที่อยู่ในเมืองจึงมักจะได้กินผักเหล่านี้ประจำ เช่น พวกผักคะน้า กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย หัวกะหล่ำปลี ผักกาดต่างๆจะมีผู้บริโภคจำนวนน้อยมากที่มีโอกาสได้กินผักพื้นเมือง (ผักไทย) และข้อเสียของผักพันธุ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะผักที่ขึ้นในเขตหนาว ถ้านำมาปลูกในเขตร้อนอย่างบ้านเรา จำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องปุ๋ยและสารพิษฆ่าแมลงเป็นพิเศษ ฉะนั้นการพบสารพิษในผักเหล่านี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ถ้าคุณไม่มีเวลาปลูกผักกินเอง อีกทั้งในละแวกบ้านก็ไม่มีร้านค้าอาหารปลอดสารพิษให้ซื้อหาได้ ลองแวะเข้าไปในตลาดสด ถ้าสังเกตให้ดีคุณจะพบว่ามีพ่อค้าแม่ขายที่นำผักพื้นเมืองซึ่งหาได้ยากใส่หาบมาวางขายอย่างละนิดละหน่อย มิใช่ปลูกกันเป็นอุตสาหกรรมทางการเกษตร หรือส่งขายกันคราวละหลายสิบเข่ง

ผักพื้นเมืองที่ว่านี้ ได้แก่ ดอกแค ยอดมะม่วง ยอดมะขาม โสน น้ำเต้า สายบัว ผักปลัง ผักหวาน สะเดา หัวปลี เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปลูกจะปลูกไว้เพื่อดินเอง จึงปลูกไม่มากนัก แต่ในกรณีที่เหลือจากกินก็นำออกมาขาย จึงค่อนข้างจะแน่ใจได้ว่าปลอดสารพิษมากกว่าผักจากต่างประเทศ แต่ถ้าไม่มีทางเลี่ยงจริงๆ การกินผักที่รู้แน่ว่ามีการเจือปนสารพิษ ควรปฏิบัติ ดังนี้

กินผักไม่ซ้ำชนิดกัน
ผักแต่ละชนิดจะมีวิธีการควบคุมดูแลแตกต่างกัน การใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีปราบศัตรูพืชจึงต่างชนิดกัน ดังนั้น การที่คนเรากินผักชนิดเดิมๆ ซ้ำกันทุกวัน โอกาสที่สารเคมีชนิดนั้นๆ จะสะสมอยู่ในร่างกายจนถึงขั้นแสดงอาการก็มีมากขึ้น วิธีเลี่ยงความเป็นพิษได้อย่างหนึ่งจึงควรกินผักไม่ซ้ำชนิดกัน

จัดการผักให้สะอาด
ข้อแนะนำนี้ไม่ขอยืนยันว่าคุณจะปลอดภัยจากสารพิษได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสารเคมีบางชนิดสามารถดูดซึมเข้าไปในเซลล์ของพืชได้ แต่วิธีที่ทำให้ผักสะอาดก็คงจะช่วยได้บ้างในกรณีที่สารเคมีปนเปื้อนอยู่บนผิวภายนอก ซึ่งมีกรรมวิธีต่างๆ อาทิ

- เด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงแล้วเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านนาน 2 นาที สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 54-33

- ล้างให้สะอาดแล้วแช่ผักในอ่างน้ำประมาณ 4 ลิตร นาน 15 นาที สามารถลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 7-33

- ใช้น้ำร้อนลวกผัก สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 50

-ปอกเปลือกหรือลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี จะปลอดภัยมากกว่า

รวมพลังผู้บริโภคอาหารปลอดสารพิษ
ตามที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่าความเคลื่อนไหวของผู้บริโภคเพื่อแสดงออกถึงความต้องการในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักได้รับการขานรับจากผู้ผลิตเสมอ หากเป็นพลังที่เข้มแข็งหรือมีจำนวนมาก ความต้องการนั้นย่อมจะมีอำนาจการต่อรองสูง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคปฏิเสธการลอยกระทงที่ทำจากโฟม แต่กลับหันมาใช้วัสดุธรรมชาติแทน ซึ่งผู้ผลิตก็สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันเหตุการณ์

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า พลังของผู้บริโภคนั้นสามารถเป็นแรงผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ ที่สำคัญในสังคมได้ ความเคลื่อนไหวที่อาจแสดงออกในรูปธรรมได้ก็อย่างเช่น การรวมกลุ่มกันซื้อสินค้าปลอดสารพิษจากแหล่งผู้ผลิตแหล่งเดียวกันเพื่อจะได้สินค้าที่มีราคาถูก เนื่องจากซื้อเป็นจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็จะลดลงไป ถ้าทุกคนช่วยกันซื้อสินค้าปลอดสารพิษมากๆ ในอนาคตตลาดของสินค้าประเภทนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาทดแทนสินค้าที่เจือปนสารพิษได้ ทุกคนก็จะสามารถหาซื้อได้มากขึ้น

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเริ่มกันแล้ว !


หนึ่งโหลวายร้าย

รายงานโดย สารี อ๋องสมหวัง คณะกรมการประสานงานองค์กรเอกชน เพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.)

12 สารเคมีอันตราย (dirty-dozen) หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันดีว่า “ตัวหนึ่งโหลวายร้าย” เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่ถือได้ว่ามีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมสูง เป็นอันตรายกับผู้ใช้และผู้บริโภคผลิตผลนั้นๆ ทำให้ประเทศมากกว่าครึ่งโลกไม่ยินยอมให้มีการนำเข้า หรือใช้สารเคมีกลุ่มนี้ในประเทศของตน องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารเคมีกลุ่มที่เป็นสารที่มีพิษร้ายแรง และมีพิษปานกลางไว้ ดังนี้

กลุ่มที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ 1. ดีบีซีพี 2. กลุ่มเดอะดรินส์ (แอลดริน,ดีลดริน และเอ็นดริน) 3. อีดีบี 4. พาราไทออน & เมทิลพาราไทออน 5. เพนตาคลอโรฟีนอล

และกลุ่มที่เป็นพิษระดับกลาง ได้แก่ 6. 2,4,5-ที 7. แคมฟีคลอร์ (ท็อกซาฟีน) 8. คลอร์เดน & เฮปตาคลอร์ 9. คลอร์ไดเมฟอร์ม 10. ดีดีที 11. กลุ่มเอชซีเอช (บีเอชซี) & ลินเดน และ 12. พาราควอต

สำหรับประเทศไทยได้มีการยกเลิกทะเบียนตำรับ ห้ามจำหน่าย และห้ามนำเข้าสารเคมีกลุ่มนี้บางชนิด ได้แก่ เฮปตาคลอร์ แคมฟีคลอร์ (ท็อกซาฟีน) บีเอชซี 2,4,5-ที ดีดีที (ให้ใช้เฉพาะทางสาธารณสุข) พาราไทออน คลอร์ไดเมฟอร์ม เอ็นดริน แอลดริน และอีดีบี

แต่บางกลุ่มยังอนุญาตให้มีการนำเข้าและจำหน่ายได้ ได้แก่ พาราควอต (กรัมม็อกโซน) แอลดิคาร์บ (เทมิก) คลอร์เดน ลินเดน เมทิลพาราไทออน ดีบีซีพี และเพนตาคลอโรฟีนอล

คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) ในฐานะเป็นองค์กรประสานงานด้านสาธารณสุข ได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เนื่องจากเห็นว่า สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อมสูงมาก และมีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะได้รับอันตรายจากการบริโภคจากการบริโภคหรือใช้ผลผลิตทางการเกษตรนั้นๆ เช่น การใช้พาราไทออนในการปลูกดอกมะลิ การตกค้างของเฮปตาคลอร์ในข้าวและขนมปังเกินค่าความปลอดภัยที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก (FAO/WHO) กำหนด

จากผลการสำรวจจำนวนแบบสอบถามที่ส่งไปยังกลุ่มเกษตรกรทั่วไป เกษตรจังหวัด เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และแม่บ้านจำนวน 1,195 ชุด ได้รับคืน 292 ชุด คิดเป็นร้อยละ 24.43 จาก 69 จังหวัด จังหวัดที่ไม่ได้ตอบแบบสอบถามคืนมา ได้แก่ สมุทรสงครามสมุทรปราการ อ่างทอง และนครปฐม พบว่า สารเคมีที่เพิกถอนทะเบียนตำรับ (ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่าย) เกือบทุกชนิด ยังคงมีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าทั่วๆ ไป

สารเคมีที่เพิกถอนทะเบียนตำรับ ยกเลิกการนำเข้า และห้ามจำหน่าย หากมีการนำเข้าและจำหน่ายถือได้ว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้แก่ เฮปตาคลอร์ แคมฟีคลอร์ (ท็อกซาฟีน) บีเอชซี 2, 4, 5-ที ดีดีที (ให้ใช้เฉพาะทางสาธารณสุข) พาราไทออน คลอร์ไดเมฟอร์ม เอ็นดริน แอลดริน ดีลดริน และอีดีบี ผลการสำรวจ พบว่า หากหลายกลุ่มยังมีการจำหน่ายและการใช้ภายในประเทศ ได้แก่ เฮปตาคลอร์ พาราไทออน ดีดีที เอ็นดริน เดลดริน แอลดริน แคมฟีคลอร์ คลอร์ไดเมฟอร์ม บีเอชซี

จากการสำรวจ พบว่า ในหลายจังหวัดการจำหน่ายสารเคมีที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับในกลุ่ม 12 สารเคมีอันตรายนี้มีปริมาณการจำหน่ายติดอันดับ 1 ใน 3 ของการจำหน่ายสารเคมีทั้งหมดที่จำหน่ายได้ภายในร้าน เช่น ดีดีที ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในร้าน สารเคมีบางร้านในจังหวัดแพร่ อยุธยา กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม หรือเมทิลพาราไทออนขายดีมากเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดสกลนครและอุดรธานี หรือเฮปตาคลอร์ ขายดีมากที่จังหวัดร้อยเอ็ด

จากผลของการสำรวจข้างต้น คปอส.เห็นว่า มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันในการจัดการเก็บสารเคมีที่รัฐฯ ได้ดำเนินการถอนทะเบียนตำรับห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายแล้ว เพราะสารดังกล่าวมีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด เรียกได้ว่าเกือบทุกภูมิภาคของประเทศย่อมสามารถบ่งบอกถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเนื่องจากการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงดังกล่าว และทั้งต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของสารเคมีที่รัฐบาลยังคงอนุญาตให้นำเข้าจำหน่ายและใช้ได้ในประเทศ ก็เห็นสมควรที่จะต้องมีมาตรการเข้ามาควบคุมด้วยการยกเลิกการนำเข้าสารเหล่านี้เสีย เพราะเป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ สามารถก่อให้เกิดมะเร็ง ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ดิน น้ำ เป็นพิษ และทำให้สัตว์ชนิดต่างๆไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างเป็นระบบของสารเหล่านี้ และที่สำคัญรัฐฯ จะต้องมีทางออกให้กับผู้ผลิต เช่น การใช้พืชสมุนไพรทดแทนสารเคมีหรือการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ


เวทีทัศนะ

  • นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ : ตัวแทนจำหน่ายอาหารปลอดสารพิษ (ร้านกรีนการ์เดนท์)

“อาหารเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นข้าว ธัญพืช ถั่วหรือผัก โดยเฉพาะผัก มีสารพิษ สารเคมี สารพิษฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อทุกคนตกค้างอยู่ และยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงอาหารที่เรากิน ไม่ตระหนักถึงการเพาะปลูก ก็จะทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม ร้านกรีน การ์เดนท์ก่อตั้งขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสุขภาพ โดยจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากธรรมชาติที่ไม่มีสารกันบูด สารปรุงแต่ง เราพยายามทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ผลิต และทำงานร่วมกัน โดยเราแนะนำให้ใช้สมุนไพรที่เราผลิตขึ้นเอง ถ้ามีอะไรก็ให้คำปรึกษา และก็เรียนรู้จากเขาด้วย เราไม่เน้นการตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้าย อาศัยความเข้าใจความไว้วางใจและการทำงานร่วมกันระหว่างเรากับเกษตรกรเป็นสำคัญ แต่เราก็จะมีการเช็กยาเป็นบางครั้ง การให้หลักประกันเรื่องราคา เรื่องตลาด ปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรหันมาผลิตแบบปลอดสารพิษมากขึ้น

เรื่องของตลาดยังอยู่ในกลุ่มของคนระดับกลางที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ส่วนคนระดับล่างยังไม่นิยมมากนัก อาจจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะว่าสินค้าประเภทนี้ราคาจะสูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่สูงมากนัก ความจริงแล้วเราไม่ควรมองว่าเป็นสินค้าที่แพง เพราะมีสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ที่ราคาแพงมาก คนก็ยังซื้อหากันได้ แม้แต่คนระดับล่างเองก็ยังใช้ เราไม่ได้เน้นว่าจะผลิตอาหารเป็นสินค้า เพราะถ้าคนเห็นว่าอาหารเป็นสินค้าแล้วเมื่อไหร่ ผู้ผลิตก็จะไม่คำนึงถึงผู้บริโภคว่าจะมีสุขภาพอย่างไร จะได้รับพิษภัยจากอาหารแค่ไหน ฉะนั้นการตลาดจึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคเพื่อสุขภาพตนเองมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้จำนวนผู้บริโภคยังน้อยอยู่มาก เกษตรกรหนึ่งรายก็ผลิตสินค้าได้มากเกินกว่ากำลังซื้อตอนนี้แล้ว แต่แนวโน้มก็ยังมีคนที่สนใจที่จะมีร้านลักษณะนี้หลายแห่ง เช่น ที่เชียงใหม่ ที่สงขลา แต่ต้องพยายามให้เป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าจากธรรมชาติ สินค้าที่ปลอดสารพิษจริงๆ เพราะถ้าหากว่าผู้บริโภคไม่หลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ในระยะสั้น อาจทำให้แพ้สารพิษตายได้ หรือผลในระยะยาวก็จะทำลายไต และเป็นมะเร็ง ฉะนั้นถ้าหากเราหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษได้ ก็เท่ากับว่าเรามีสุขภาพที่ปลอดภัยจากสารพิษเหล่านั้น”

  • วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : นักวิชาการด้านการเกษตร

“การใช้ปุ๋ยเคมีและสารพิษมีผลต่อระบบนิเวศน์ คือต้องใช้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกร และผู้บริโภคเองก็ต้องได้รับพิษภัยจากสารพิษเหล่านั้น ยิ่งใช้ปุ๋ยก็ยิ่งทำให้พืชอ่อนแอ เหมือนคนกินมากจะอ้วนแต่ไม่แข็งแรง ศัตรูของพืชก็ทำลายได้ง่าย จึงต้องใช้สารเคมีในการกำจัด และต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเมื่อแมลงเกิดการพัฒนาภูมิต้านทานขึ้นเรื่อยๆ

เกษตรกรบางครั้งเขาเองก็ไม่กินข้าวที่เขาปลูก ผักเขาที่ปลูกไว้กินเองก็ไม่ใช้สารเคมี ฉะนั้นผู้บริโภคจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีมากที่สุด เกษตรกรเองเขาก็ไม่รับรู้ว่าสิ่งที่ผลิตจะออกไปมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเองก็ต้องกิน กินต่อเนื่อง ชีวิตก็ย่ำแย่ เรื่องนี้เราต้องสร้างมาตรฐานทางศีลธรรม จริยธรรม เรื่องของการผลิตและการบริโภคขึ้นมาใหม่

การเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทางเลือก เป็นหลักการที่คำนึงถึงระบบนิเวศวิทยา อันนี้จะเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษในระยะยาวสำหรับผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็ต้องช่วยกันซื้อ คือตอนนี้เริ่มมีตลาดเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าราคาอาจจะแพงสักหน่อยถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำ แต่ว่าการจัดการเรื่องตลาดยังสูงกว่าธรรมดา แต่ถ้าเราช่วยกันซื้อมากขึ้น กลุ่มเกษตรกรสนใจทำมากขึ้น ราคาก็ต้องถูกลง คือ ถ้าคิดว่าเรื่องสุขภาพปลอดภัยสำคัญก็คุ้ม และสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มีค่ามหาศาล

การตลาดนั้นก็น่าจะมีการบริหารร่วมกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ได้คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ได้ไปเห็นว่าเขาผลิตอย่างไร ชาวบ้านก็ได้เห็นว่าใครกินของเขาบ้าง มันสร้างความสัมพันธ์แบบไม่ผ่านเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงความอยู่รอดของกันและกัน มองในแง่นี้ดีกว่า”

  • จำลอง เต็มเขียว : เกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน จังหวัดแพร่

“เริ่มทำสวนส้มมาประมาณสิบกว่าปีแล้ว ช่วงแรกจะมีปัญหาเกี่ยวกับหญ้า ต้องถาง แต่ช่วงหลังเมื่อเริ่มมีสารเคมีเข้ามา ก็เริ่มหันไปใช้สารเคมีพวกยาฆ่าหญ้าแทนการถาง โดยจะเริ่มฉีดพ่นเมื่อเห็นว่าเริ่มมีหญ้าขึ้นรก อาจมีผลเสียต่อต้นส้มที่ใช้อยู่ปริมาณ 5 ลิตรต่อครั้ง ทุน 400-500 บาท ถ้าถางก็จะปลอดภัยจากสารพิษ แต่หญ้าขึ้นไว แต่ถ้าพ่นยาฆ่าหญ้าก็มีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างอีก สำหรับยาฆ่าแมลงจะพ่นมากพ่นน้อยก็แล้วแต่เจ้าของสวน บางสวนพ่น 7-15 วันต่อครั้ง บางสวนก็ 5 วันต่อครั้ง แต่สวนที่ผมจะทิ้งช่วงให้นานที่สุดประมาณ 20-30 วันต่อครั้ง ถ้าหากไม่เกิดโรคก็ไม่พ่น สำหรับยาก็พยายามเลือกชนิดที่มีอันตรายน้อยหน่อย แต่มีบางส่วนที่ใช้ชนิดรุนแรง แบบน็อก นกบินผ่าน แมลงบินผ่านร่วงทันที จะเริ่มพ่นตั้งแต่เริ่มติดผล และหยุดพ่นก่อนเก็บ 10 วัน

ปุ๋ยจะใส่เฉพาะตอนให้น้ำประมาณ 3 ครั้งต่อรุ่น แต่ละรุ่นประมาณ 11 เดือน สูตรที่ใช้ คือ 15-15-15 ตราหัววัวคันไถ บางสวนอาจใช้ 12-12-24 เพื่อให้มีรสหวาน ฮอร์โมนบางสวนเขาใช้กัน แต่สวนผมไม่ใช้ เรื่องของทำเกษตรแบบธรรมชาตินั้นถ้าหากทำได้คงจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้ผลหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้โรคดื้อยามาก เคยทดลองใช้สมุนไพรเหมือนกัน แต่รู้สึกยุ่งยากในการเตรียม เช่น เมล็ดสะเดาก็หายาก กลิ่นฉุนมากเหมือนกัน บางทีทำให้ปวดหัว แต่ไม่ทราบผลการใช้แน่นอน เพราะไม่ได้ทำต่อเนื่อง หญ้าบางทีก็ใช้วิธีการใช้หญ้าคุมกันเอง คือ หว่านหญ้าพวกไมยราบแล้วกดให้ต้นติดดิน เพื่อคลุมดินกับหญ้าอื่นๆ และทำให้ดินร่วนซุยดีด้วย มีอยู่ปีหนึ่งสวนผมต้นส้มทำท่าจะตายทั้งที่ให้น้ำให้ปุ๋ยเต็มที่ ปีนั้นเลยปล่อยทิ้งไว้ หญ้าขึ้นรกทั้งสวน พอฝนตกหญ้ายุบคลุมดิน ต้นส้มกลับฟื้นขึ้น ออกดอกผลดี ปีนี้ผมก็กะจะไม่ฆ่าหญ้า

ในอนาคตถ้าหากเราพยายามให้ความรู้ความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ ปัญหาในเรื่องการใช้สารเคมีอาจลดลง แต่คนรุ่นเดิมๆที่เคยใช้ยาฆ่าแมลงได้ผลอาจจะไม่ยอมเลิกใช้ และก็ยังมองไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนนัก รัฐฯเองก็ควรจะสนใจเกษตรกรบ้าง อย่ามัวแต่ให้ความสำคัญต่อนักธุรกิจฝ่ายเดียว เพราะถ้าหากเกษตรกรยากจนอยู่เรื่อยแล้ว ใครจะเป็นผู้ผลิตอาหาร คนมีเงินก็คงผลิตไม่เป็นแล้ว ประเทศชาติก็คงเกิดปัญหามากมายทีเดียว”

  • สุทธินี โคมิน : ผู้บริโภค

“มารับลูก ลูกเรียนอยู่แถวนี้ รู้จักร้านนี้ (กรีน การ์เดนท์) เพราะไปเข้าสัมมนาที่ชมรมเพื่อนธรรมชาติจัดขึ้น ฟังแล้วก็เห็นด้วยและดี ถึงราคาจะแตกต่างกันนิดหน่อยก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ผักทางนี้ก็ต้องปลอดภัยกว่าของข้างนอก แต่เสียดายว่าของทางนี้มีให้เลือกน้อยไป เพราะว่าเขาไม่สามารถจะผลิตได้มาก และร้านอย่างนี้จะเป็นที่ยอมรับต่อไป เพียงแต่ว่าทุกคนจะต้องสนับสนุนช่วยกันซื้อมากขึ้น แบบว่าคนที่นิยมอาหารปลอดสารเคมีจริงๆ จะได้ช่วยกันได้ ถ้าคนยังรู้เรื่องราวน้อย ก็มีน้อยคนที่จะมา แต่ที่นี่คนที่รู้แล้วก็จะมา แต่ผักที่นี่มีให้เลือกน้อยชนิดไปหน่อย ทำให้บางอย่างเราต้องไปซื้อจากข้างนอก แล้วคิดว่าร้านอย่างนี้น่าจะมีทั่วประเทศ”


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารปลอดสารพิษ

○ ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน
○ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม
○ คณะกรรมการส่งเสริมและเผยแพร่งานพัฒนา
○ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
○ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
○ กลุ่มอาสาสมัครเพื่อผู้บริโภค
○ สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม
○ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
○ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ
○ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
○ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
○ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคกลาง
○ กองทุนส่งเสริมงานพัฒนาสังคม
○ หน่วยอาสาสมัครแคนาดา (CUSO)
○ ศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา
○ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในอนาคต หวังว่าหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องคงจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการขยายขอบข่ายงานทางด้านอาหารปลอดสารพิษให้เป็นที่แพร่หลายต่อไป

ข้อมูลสื่อ

165-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 165
มกราคม 2536
บทความพิเศษ
สุกาญจน์ เลิศบุศย์
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ