• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

 

 ด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาอย่างไรบ้างครับ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น

ขอเริ่มที่เรื่องอายุก่อน อายุที่เราถือว่าอยู่ในวัยรุ่นคือ อายุระหว่าง 11-20 ปี สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กชาย เริ่มประมาณอายุ 12-14 ปี เด็กหญิงก็ 11-13 ปี ซึ่งจะเริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายก่อน ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ซึ่งแบ่งดังตารางที่แสดง 

                                                      การเปลี่ยนแปลงของเด็กสู่วัยรุ่น

                           เด็กชาย                                                                             เด็กหญิง

                                                                    ทางร่างกาย

1.ส่วนสูงและน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดเมื่ออายุย่างเข้าประมาณ 12-14 ปี( ส่วนสูงเห็นชัดเจนกว่าน้ำหนัก 

1. เมื่ออายุย่างเข้าประมาณ 10-13 ปี(เด็กหญิงจะโตเร็วกว่าเด็กชาย 1-2 ปีในช่วงนี้จึงสูงกว่าเด็กชายวัยเดียวกันเล็กน้อย) 

2.ไขมันใต้ผิวหนังบางลง ทำให้แลดูผอมลง 

 2.ไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้น

3.กล้ามเนื้อจะเจริญเติบโตมากกว่าเด็กหญิง ไหล่จะกว้างกว่าเด็กหญิง 

3.สะโพกจะกว้างกว่าเด็กชาย 

                                                                        ทางเพศ

                                                         จะเปลี่ยนแปลงตามลำดับดังนี้ 

1.อัณฑะจะใหญ่ขึ้น บริเวณผิวหนังหุ้มอัณฑะจะหนาเป็นรอยย่น และสีคล้ำขึ้น 

1.เต้านมจะเริ่มมีขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

2.มีขนขึ้นที่หัวเหน่า 

2.มีขนขึ้นปริเวณหัวเหน่า(บางครั้งอาจขึ้นพร้อมๆกับหน้าอกก็ได้) 

3.อวัยวะเพศจะเริ่มใหญ่และยาวขึ้น 

3.กระดูกสะโพกจะขยายออก เริ่มมีไขมันที่แถวบริเวณสะโพกมากขึ้น

4.เต้านมเริ่มใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า นมแตกพาน ส่วนมากเป็นทั้ง 2 ข้างและไม่เจ็บแต่จะมีบางคนเป็นข้างเดียวหรือเจ็บก็เป็นของปกติ แต่จะยุบเองภายใน 6 เดือนถึงหนึ่งปีถ้าไม่ยุบถือว่าผิดปกติ

4.ประจำเดือน จะมีครั้งแรกหลังจากเด็กหญิงโตอย่างรวดเร็ว พอถึงสุดระยะเต็มที่ก็คือ หลังจากส่วนสูงและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเร็วเต็มที่ หญิงไทยในกรุงเทพฯอายุเฉลี่ยประมาณ 12 ปีครึ่ง จะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก แต่ในชนบทอาจมีช้ากว่านี้ (ขึ้นกับกรรมพันธุ์ เขื้อชาติ อาหารการกิน สภาพแวดล้อมและอื่นๆ) ใน 2 ปีแรกประจำเดือนอาจจะมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นปกติ 

5.เริ่มมีขนรักแร้ หนวดเครามีมากน้อยขึ้นกับเชื้อชาติ ตนไทยเราปกติมีน้อย(โดยจะขึ้นหลังจากขนที่หัวเหน่าขึ้นแล้วประมาณ 1 ปี)

 

6.เสียงแตก เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งสุดท้ายของเด็กชาย(เกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่มาจากลูกอัณฑะที่เจริญเต็มที่แล้ว มากระตุ้นให้เซลล์ที่กล่องเสียงเปลี่ยนแปลงทำให้เสียงแตก) กล่องเสียงและลูกกระเดือกจะโตเร็วกว่าเด็กหญิง

 

 หมายเหตุ

1.เชื่ออสุจิของชายจะมีขึ้น ต้องรอให้อัณฑะเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีแต่ระยะเวลาไม่แน่นอน

 

1.ขนรักแร้นั้น ผู้หญิงก็มีได้ แต่ไม่มากเหมือนชาย

2.การเปลี่ยนแปลงทางเพศในชาย บางคนอาจจะช้าจนถึงอายุ 18 ปีก็ได้ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นของปกติ อาจมีผิดปกติบ้าง

2.ประจำเดือนที่มาในปีแรกๆมักไม่มีการตกไข่ 

 

3.เสียงไม่แตกเพราะไม่มีฮอร์โมนเพศชาย 

 การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เหมือนกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชายคือ พอเข้าวัยรุ่ยอวัยวะภายในทุกอย่างก็จะโตขึ้น เช่น หัวใจ ตับ ไต มีอวัยวะอยู่ประเภทเดียวที่ไม่โตเลย แต่กลับฝ่อลง คือ พวกระบบน้ำเหลือง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ต่อมทอนซิล จะมีขนาดเล็กลง เพราะฉะนั้น บางทีต่อมทอนซิลในเด็กๆ อายุสัก 8-9 ขวบที่ใหญ่ อาจจะรอได้จนระยะวัยรุ่น มันจะเล็กลงได้ ไม่ต้องรีบร้อนไปผ่าตัด

ต่อมอะดีนอยด์อีกอย่างหนึ่ง เป็นต่อมทอนซิลที่อยู่ในบริเวณคอ ถ้าโตมากจะทำให้เด็กบางคนหายใจทางปาก พอเข้าสู่วัยรุ่นต่อมนี้ก็ยุบลงได้ ส่วนสมองนั้น ในวัยรุ่นมักไม่โตอีกแล้ว สมองมันจะเจริญเติบโตมากในตอนวัยเด็กราวๆ 2 ปีแรก และโตเต็มที่ตอนอายุประมาณ 6 ปี

 

เรื่อง “ฮอร์โมน” เกี่ยวข้องอย่างไรบ้างครับ

เรื่อง “ฮอร์โมน” เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของวัยรุ่นนั้น ต้อพูดย้อนหลังถึงตอนเด็กๆ เพราะเกี่ยวข้องกันคือ เด็กตั้งแต่หลังคลอดนี่ จะมีการเจริญเติบโตได้ มีฮอร์โมนสำคัญอยู่ 2 ตัว คือ ฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์และฮอร์โมนที่เกี่ยวการเจริญเติบโต

 

 

ฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์ มีความสำคัญมากในเด็ก ถ้าขาด เด็กจะตัวเตี้ยแคระไปถึงเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะเฉพาะคือ ส่วนลำตัวจะยาวกว่าแขนขา พอโตถึงวัยรุ่น รู้ก็สายไปแล้ว จึงควรรู้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ

อันที่สองคือ ฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตนั้น ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ ก็แน่นอน จะเจริญเติบโตไม่ได้ ฮอร์โมนนี้มาจากต่อมใต้สมอง ถ้าขาด จะไม่โตแต่สัดส่วนของร่างกายจะปกติ เหมือนกับผู้ใหญ่ย่อส่วน สัดส่วนดีหมด

ในวัยรุ่น ฮอร์โมนทั้งสองตัวก็ยังมีส่วน แต่น้อยลง ถ้าขาดมานานจนถึงอายุเข้าวัยรุ่น จะช่วยแก้ไขได้ไม่มาก ฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดในวัยรุ่นคือ ฮอร์โมนเพศ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจริญทางเพศอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางร่างกายด้วย ในวัยเด็ก ฮอร์โมนเพศก็มีแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากต่อมหมวกไต ซึ่งมันจะหลั่งฮอร์โมนเพศได้บ้าง

ย่างเข้าวัยรุ่น เริ่มต้นจะมีฮอร์โมนมาจากต่อมใต้สมองหลั่งออกมา อันนี้ไม่มีใครทราบว่าอะไรเป็นตัวสั่งให้ฮอร์โมนตัวนี้ออกมา คงเป็นไปตามธรรมชาติ พอฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองนี้ออกมา ก็หมายความว่าเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนอันนี้เป็นฮอร์โมนเพศ จะมากระตุ้นอวัยวะเพศ ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ถ้าเป็นหญิง ก็มีรังไข่ ฮอร์โมนเพศนี้จะไปกระตุ้นรังไข่ให้หลั่งฮอร์โมนเพศหญิงหรือเรียกว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ถ้าเป็นเพศชาย เขาก็มีอัณฑะ ฮอร์โมนนี้ก็กระตุ้นให้อัณฑะหลั่งฮอร์โมนเพศชายหรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนเทสโตรเตอโรน (Testosterone) เพราะฉะนั้นมีฮอร์โมนเพศ 2 อัน อันหนึ่งเป็นนายอยู่ที่ต่อมใต้สมอง แล้วก็มากระตุ้นอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นรังไข่หรือลูกอัณฑะให้หลั่งฮอร์โมนเพศนั้นๆ ออกมาอีกทีหนึ่ง ฮอร์โมนทั้งสองก็จะกระตุ้นทั้งร่างกายคือ ให้ร่างกายสูงขึ้น (สำคัญคือ ส่วนสูงต้องมากกว่าน้ำหนัก) สำหรับทางเพศก็แยกไป ทำให้เป็นเพศชายหรือหญิงชัดขึ้น

 

วัยรุ่นจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่อไร

ก็ประมาณอายุ 20-21 ปี เราถือการหยุดการเจริญเติบโตทางด้านส่วนสูง เด็กจะเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็วอยู่ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง หลังจากนั้นจะโตต่อไปอย่างช้าๆ เด็กหญิงมักหยุดโตเมื่ออายุ 15-16 ปี ส่วนเด็กชายอาจสูงขึ้นได้อีกจนอายุ 20 ปี

 

 

ส่วนสูงนั้น มันขึ้นกับกระดูกยาว ซึ่งส่วนหัวท้ายของกระดูกเป็นตำแหน่งให้กระดูกเจริญเติบโตงอกยาวขึ้นได้เรื่อยๆ พอถึงช่วงหนึ่ง บริเวณนี้มันจะหยุด เหมือนกับว่ามันปิดหัวปิดท้าย พอมันปิดหัวปิดท้ายเมื่อไร กระดูกมันจะไม่งอกออกในด้านส่วนยาวแล้ว มันจะเติบโตก็ด้านส่วนกว้าง เพราะฉะนั้นที่หัวท้ายของกระดูกยาว เช่น กระดูกท่อนแขน ท่อนขา มันปิด ก็หยุดโตและตัวที่ทำให้หัวท้ายปิดก็คือ ฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงนี่แหละ

ถ้าเผื่อเด็กอายุสัก 15 ปี แล้วยังไม่โตสักที ลักษณะทางเพศ ก็ยังไม่มีสักที พ่อแม่เด็กบางคนกังวล ตัวเด็กบางคนก็กังวล เกิดไปซื้อยามากินเพราะอยากโต หรือวัยรุ่นอยากมีหนวดมีเครา อยากเป็นผู้ใหญ่ ก็ไปซื้อฮอร์โมนจาร้านขายยามากิน นี่ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะจริงอยู่ เมื่อกินเข้าไปแล้ว เรื่องการเจริญเติบโตทางเพศก็เกิดขึ้น มีหนวดมีเคราขึ้น แต่ฮอร์โมนเพศมันมีข้อเสียอันหนึ่งคือ มันไปปิดหัวท้ายกระดูก พอปิดปั๊บ มันก็ไม่โต เด็กก็ไม่สูงขึ้น ทำให้กลายเป็นตัวเตี้ยไป แทนที่จะได้สูงกว่านี้ เพราะฉะนั้นการให้ฮอร์โมนเพศในวัยรุ่น สำคัญมาก ควรระวัง

 

ฮอร์โมนมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติอย่างไรบ้าง

ว่าที่จริงแล้ว สาเหตุความผิดปกติที่เกิดในช่วงวัยรุ่น เกิดจากฮอร์โมนนั้นน้อยมากเหลือเกิน ที่เกิดผิดปกตินั้น บางทีมันมีสาเหตุอื่น ปัจจัยอื่นเยอะแยะ แต่คนมักโทษผิดมาลงที่ฮอร์โมนกัน

ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหน่อยก็เป็นเรื่องของคอ คอพอกซึ่งโดยมากเกิดกับวัยรุ่นหญิง เนื่องจากต่อมธัยรอยด์ทำงานมาก มักทำให้วัยรุ่นหญิงตกอกตกใจว่าคอของตนเองทำไมโต อันนี้ถ้าไม่มีอาการอย่างอื่น ไม่ต้องไปหาหมอ ถ้าพ้นวัยรุ่น ก็จะยุบ มีบางคนเลยวัยรุ่นแล้วยังไม่ยุบ ก็ถือว่าปกติถ้าไม่มีอาการ ถ้าคอพอกเป็นพิษ จะมีอาการร่วมด้วยอย่างเช่น ใจสั่น ขี้ร้อน กินจุ แต่ผอมลง อย่างนี้ก็ต้องไปรักษา

 

 

เรื่องสิวอีกอย่าง ที่จริงก็ไม่เกิดจากฮอร์โมนโดยตรง เพียงแต่มันไปกระตุ้นต่อมไขมันตามหน้า ลำคอ หน้าอก ที่มีมากกว่าที่อื่น ทำให้มีการอุดตันของท่อไขมันและมีเชื้อโรคซ้ำเติมเข้าไป ก็เกิดสิวขึ้น เกี่ยวกับฮอร์โมนก็ในแง่นี้เท่านั้น

 

อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างปัญหาของร่างกายที่เกิดกับวัยรุ่น

ผมว่าสามารถพูดรวมๆ ได้ทั้งหญิงและชาย ปัญหานี้มีอยู่ 2 อย่างคือ ร่างกายและเพศ เช่น
เรื่องอ้วนไปผอมไป ส่วนใหญ่ไม่มีโรคอะไร เกี่ยวกับเรื่องอาหารเป็นสำคัญ กินมากไปก็อ้วนไป เพราะช่วงนี้มันเป็นช่วงที่อะไรต่ออะไรมันเติบโตเร็วมาก แต่ถ้าอ้วนมากในวัยนี้ก็มีส่วนทำให้เป็นผู้ใหญ่แล้วจะอ้วนไปเรื่อยๆ การแก้ไขเรื่องอ้วนไปผอมไปนี้ ถ้าไม้ได้มีโรคอะไรก็คงต้องแนะนำเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย

เรื่องสูงไปเตี้ยไปนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไร มันเป็นเรื่องช้าไปเร็วไปมากไปน้อยไป เป็นของปกติ ที่ผิดปกติเกิดจากโรคมีเหมือนกัน แต่พบน้อย

ต่อมาเรื่องปัญหาทางเพศเช่นว่า เป็นสาวเป็นหนุ่มเร็วหรือช้ากว่ากำหนด อันนี้เป็นเรื่องปกติได้เหมือนกัน มันอาจจะช้าไปเร็วไปกว่าธรรมชาติได้ เรื่องอกเล็กอกใหญ่ รวมทั้งเรื่องขนาดอวัยวะเพศของชาย ถ้าลักษณะทางเพศอย่างอื่นไม่ปกติ แสดงว่าไม่เกี่ยวกับฮอร์โมน

ในวัยรุ่น ผมเห็นว่าเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเขาเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเขาเป็นสิ่งปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องไปกังวล เดือดร้อน ต้องไปหายามากิน หรือไปหาหมอ และถ้ามีอะไรผิดปกติ ก็จะได้รีบๆ มาหาหมอ ก่อนที่จะสายไปหรือรักษาลำบาก

 

 

ข้อมูลสื่อ

33-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 33
มกราคม 2525
อื่น ๆ
ผศ.นพ.สาธิต วรรณแสง