- ยารักษางูสวัด มีจริงหรือ?
- ครั้งแรกเป็น "อีสุกอีใส"
- ครั้งที่สองเป็น "งูสวัด"
- งูสวัด...มักเป็นในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย
- อาการสำคัญของโรคงูสวัด
- งูสวัด...ถ้าพันรอบเอวจะตาย...จริงหรือ?
- ยารักษางูสวัด...มีจริงหรือ?
- จะให้ได้ผลดี...ควรเริ่มใช้ยาอะซัยโคลเวียร์ให้เร็วที่สุด
- เป็นงูสวัดไปรักษากับหมอจีน ดีไหม?
- การดูแลแผลของูสวัด
ยารักษางูสวัด มีจริงหรือ?
โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ้างในประเทศไทย มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Varicella zoster virus หรือเรียกย่อๆ ว่า VZV เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 โรค คือ โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด
ครั้งแรกเป็น "อีสุกอีใส"
เมื่อร่างกายของเราได้สัมผัสเชื้อไวรัสชนิดนี้ในครั้งแรก มักจะมีอาการไข้ ตัวร้อนมาก่อนสัก 2-3 วัน แล้วจึงเริ่มมีตุ่มน้ำใสเต่งๆ รูปร่างของตุ่มน้ำใสจะคล้ายหยดน้ำบนใบบัว ขึ้นกระจายทั่วตัว และขึ้นเป็นรุ่นๆ เป็นระลอกๆ หลายรุ่น เมื่อเราสังเกตช่วงใดช่วงหนึ่งของโรคนี้ จะพบเห็น "ตุ่มสุก ตุ่มใส" (ตุ่มน้ำใสทั้งที่เพิ่งเริ่มเป็น และตุ่มน้ำใสที่เต่งเต็มที่แล้ว) กระจายอยู่ทั้งร่างกาย ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า "โรคอีสุกอีใส" (ปัจจุบันบางคนมีความเห็นว่า "อี" เป็นคำที่ไม่สุภาพ จึงตัดคำว่า "อี" ออกเสีย และเรียกโรคนี้ว่า "โรคสุกใส")
ครั้งที่สองเป็น "งูสวัด"
เชื้อไวรัส VZV นี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งมักเกิดในเด็ก และจะหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย และรอเวลาที่เหมาะสมกับการเพิ่มจำนวนของไวรัส หรือเวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันลดลง อดนอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี หลังจากที่เป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว และพบมากในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุบางคนจะมีภูมิต้านทานลดต่ำลงหรืออ่อนแอลง
เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ไวรัสที่หลบอยู่ ณ ปมประสาทก็จะกลับออกมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้จะแสดงอาการของ "โรคงูสวัด"
ดังนั้น งูสวัด จึงมีสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส VZV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นครั้งแรกจะเป็น "โรคอีสุกอีใส" แต่เมื่อกลับมาเป็นอีก จะเป็น "โรคงูสวัด" นั่นเอง (การใช้ยารักษาก็เป็นเช่นเดียวกัน)
งูสวัด...มักเป็นในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว จะมีเชื้อไวรัส VZV สะสมหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย พร้อมทั้งคอยรอเวลาว่าเมื่อใดที่ร่างกายของเราอ่อนเพลีย หรือมีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เชื้อไวรัสชนิดนี้จะฉวยโอกาสออกมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นงูสวัดได้
ดังนั้นวิธีง่ายๆ ในการป้องกันการเป็นงูสวัดก็คือ การรักษาสุขภาวะที่ดีของร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เชื้อไวรัสก็จะไม่ออกมาเพิ่มจำนวน และแสดงอาการของโรคอีกได้
อาการสำคัญของโรคงูสวัด
อาการของโรคงูสวัด แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนลึกๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ ทั้งนี้เพราะช่วงนี้ภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มเพิ่มจำนวน เกิดการติดเชื้อ ณ ระบบประสาท จึงมีอาการปวดแสบร้อนลึกๆ ในระดับเส้นประสาท
หลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมาณ 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เริ่มมีผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่งๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่มๆ เป็นแนวยาวๆ ตามเส้นประสาทของร่างกาย เป็นหย่อมๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ตุ่มน้ำใสเต่งๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผล ต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
เมื่อตุ่มแตก และแผลหายดีแล้ว (ระยะที่ 3) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดแสบร้อนลึกๆ ตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ในบางคนอาจเกิดได้อีกเป็นเดือน หรือหลายๆ เดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปวดแสบร้อนลึกๆ หลังจากที่แผลหายดีแล้วเป็นปีๆ
งูสวัด...ถ้าพันรอบเอวจะตาย...จริงหรือ?
เนื่องจากรอยโรคของงูสวัดส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มน้ำใสเต่งๆ เรียงเป็นกลุ่มๆ เป็นแนวยาวตามเส้นประสาทซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ยังไม่เคยพบผู้ที่เป็นงูสวัดทั้ง 2 ด้านของร่างกายเลย (ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียมากๆ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเป็นงูสวัดแล้ว โรคจะลุกลามมากกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้)
ผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นงูสวัดมักจะหายได้เอง เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อพบว่าไวรัสมารุกราน ก็จะเริ่มกระบวนการทำงานและจัดการกับเชื้อไวรัสได้ในที่สุด จึงไม่เคยพบงูสวัดชนิดที่เป็น 2 ด้าน หรือพันรอบเอว
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นงูสวัดก็จะหายเองเป็นปกติ แต่ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ และไม่เคยพบคนตายจากงูสวัดเลย
สรุป "งูสวัด...ถ้าพันรอบเอวจะตาย...จริงหรือ?" เป็นความเชื่อ...แต่ไม่เป็นความจริง
ยารักษางูสวัด...มีจริงหรือ?
ปัจจุบันมียาต้านไวรัสชื่อ อะซัยโคลเวียร์ (acyclovir) ซึ่งมีการใช้ยานี้มากว่า 20 ปีแล้ว เป็นยาที่ได้ผลดี เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส VZV จึงได้ผลดีทั้งผู้ป่วยโรคงูสวัด และอีสุกอีใส (รวมถึงโรคเริมด้วย) มีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาทา และยาฉีด
แต่ยานี้เป็นยาที่แปลกกว่ายาอื่นในแง่วิธีใช้ เพราะยาชนิดนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย แถมมีระยะเวลาออกฤทธิ์ในร่างกายสั้น จึงมีวิธีใช้ที่มีความถี่มากกว่ายาทั่วไป ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคงูสวัดและอีสุกอีใส ควรได้รับยาเม็ดในขนาด 800 มิลลิกรัม กินวันละ 5 ครั้ง ทุก 4 ชั่วโมง (ยกเว้นเวลากลางคืน) และควรใช้ติดต่อกันนาน 7-10 วัน
นอกจากยาชนิดกินแล้ว ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจให้ยาแก่ผู้ป่วยในรูปแบบของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง ขนาดครั้งละ 500 มิลลิกรัม หยดเข้าสู่หลอดเลือดดำวันละ 5 ครั้ง และควรใช้ติดต่อกันนาน 7-10 วันเช่นกัน
ส่วนยาอะซัยโคลเวียร์ชนิดครีมทาภายนอกนั้น ไว้ใช้สำหรับโรคเริม แต่ใช้ไม่ได้ผลกับงูสวัดและอีสุกอีใส
นอกจากยาอะซัยโคลเวียร์แล้วยังมียาอีก 2 ชนิดคือ วาลาซิโคลเวียร์ (valaciclovir) และแฟมซิโคลเวียร์ (famciclovir) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกับยาอะซัยโคลเวียร์ แต่มีข้อดีกว่าคือ กินวันละ 3 ครั้งเท่านั้น (ยาอะซัยโคลเวียร์ ต้องกินวันละ 5 ครั้ง)
อย่างไรก็ตามยาทั้ง 2 ชนิด (วาลาซิโคลเวียร์และแฟมซิโคลเวียร์) ยังมีราคาค่อนข้างสูง เพราะมีแต่ผู้ผลิตต้นตำรับของแต่ละรายเท่านั้น ไม่เหมือนกับยาอะซัยโคลเวียร์ที่ปัจจุบันหมดสิทธิบัตรคุ้มครองเอกสิทธิ์ของยาแล้ว (น่าจะเรียกว่า "ผูกขาด" มากกว่า) หลังจากที่หมดสิทธิบัตร ทำให้มีผู้ผลิตจำนวนมากผลิตยาอะซัยโคลเวียร์ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคายาชนิดนี้ถูกลงจากเดิมหลายเท่าตัว และเมื่อใช้ยาเหล่านี้แล้วก็ได้ผลดีในการรักษาเหมือนเช่นเดิม
ถึงตอนนี้ขอตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า "เมื่อยาหมดสิทธิบัตรแล้ว ราคายาจะถูกลงมาก"
จะให้ได้ผลดี...ควรเริ่มใช้ยาอะซัยโคลเวียร์ให้เร็วที่สุด
เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ยาจึงมีประโยชน์ในช่วงที่ไวรัสกำลังเพิ่มจำนวน คือตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนในระยะแรก (ยังไม่ขึ้นตุ่มน้ำใส) จนถึงระยะที่ ๒ ก่อนที่ตุ่มน้ำใสจะแตกออก โดยทั่วไปจึงแนะนำว่า ควรใช้หลังจากพบตุ่มน้ำใสแล้วไม่เกิน 2-3 วันจึงจะได้ผลดีที่สุด
ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการปวดหัว บริเวณกลางกระหม่อม และที่หน้าผากมาประมาณ 2-3 วัน ต่อมามีผื่นขึ้นที่กลางกระหม่อม และลามมาที่หน้าผาก เป็นตุ่มน้ำใสเต่งๆ คาดว่าต่อไปเชื้อไวรัสอาจลามมาที่ตา และอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้
ในรายนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับเป็นยาอะซัยโคลเวียร์ชนิดเม็ด ขนาด 800 มิลลิกรัม กินวันละ 5 ครั้ง (ทุก 4ชั่วโมง) เมื่อได้ใช้ยาไปเพียง 1-2 วัน ตุ่มน้ำใสก็หยุดการลุกลาม และหยุดอยู่แค่ที่หน้าผาก (ยังไม่ลามเข้าที่หนังตาและลูกตา) พร้อมทั้งตุ่มน้ำใสเริ่มเหี่ยวลง ไม่เต่งเหมือนเดิม เมื่อใช้ยาต่ออีก 4-5 วัน ก็ตกสะเก็ด ต่อมาจึงหายเป็นปกติ
ดังนั้น การใช้ยาชนิดนี้เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จึงควรให้ยาให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดการลุกลามของโรค แต่ถ้าโรคงูสวัดลุกลามเต็มที่แล้ว เช่น เมื่อผู้ป่วยเริ่มตกสะเก็ดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้แล้วก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสแต่อย่างไร กับเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุอีกด้วย
การใช้ยาทุกครั้งจะต้องมองถึงความคุ้มค่า และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เป็นงูสวัดไปรักษากับหมอจีน ดีไหม?
อีกประเด็นหนึ่งที่พบได้บ่อยเมื่อผู้ป่วยเป็นงูสวัด คือ การไปรักษาแบบแพทย์แผนจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจ่ายยาสมุนไพรมาปิดพอกทับที่ตุ่มและแผลของงูสวัด
จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า การนำสมุนไพรจีนมาพอกปิดที่ตุ่มน้ำใสและแผลของงูสวัดนั้นเกิดประโยชน์น้อย ไม่คุ้มค่า คืออาจจะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง แต่ผลเสียที่ตามมาค่อนข้างมาก คือมักทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แผลของงูสวัด และทำให้แผลหายช้าลงกว่าปกติ
ปัจจุบันจึงไม่แนะนำให้ไปพอกยาจีนที่ตุ่มและแผลของงูสวัดแล้ว ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันที่ได้ผลดีกว่าอย่างชัดเจน ถ้าผู้ป่วยงูสวัดที่ต้องการใช้ยา จึงแนะนำให้ใช้ยาอะซัยโคลเวียร์เป็นดีที่สุด "คุ้มค่า ปลอดภัย และประหยัด"
การดูแลแผลของูสวัด
นอกจากนี้ เมื่อตุ่มน้ำใสแตกเป็นแผลเปิด ก็ควรดูแลสุขอนามัยของแผลเช่นเดียวกับแผลทั่วไป เช่น การล้างแผลและทำแผลให้สะอาด ปราศจากเชื้อแบคทีเรีย ในรายที่มีแผลเป็นจำนวนมาก อาจพิจารณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะคล็อกซาซิลลิน (cloxacillin) เพื่อช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรีย ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปแกะเกาที่ตุ่มน้ำใสหรือแผล เพราะจะทำให้ลุกลามเป็นมากขึ้น หายยากขึ้นด้วย
ถึงตอนนี้คงจะกระจ่างแล้วว่ายารักษางูสวัดนั้นมีจริงและได้ผลดี ในการเลือกใช้ยาควรพิจารณาถึง "3 ป" ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประหยัด เพื่อให้ได้ใช้ยาอย่างพอเพียง ไม่มาก หรือน้อยเกินไป เป็นการใช้ที่คุ้มค่า
- อ่าน 118,776 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้