ช่วงที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ.2508-2511) นั้น บริเวณส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีสภาพเป็นป่าโปร่งผลัดใบ จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีโอกาสเดินสำรวจจากบริเวณหอพัก ไปทางสนามบินขอนแก่น พบว่าบนต้นไม้หลายต้นมีกล้วยไม้เกาะติดอยู่ และกล้วยไม้ส่วนใหญ่ที่พบเป็นกล้วยไม้ที่ชื่อ เขาแกะ
ขอขอบคุณภาพจากหนังสือ กล้วยไม้เมืองไทย โดย รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทอง สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ชื่อเขาแกะ มีที่มาจากลักษณะพิเศษของกล้วยไม้ชนิดนี้ เช่นเดียวกับที่มาของชื่อรองเท้านารีนั่นเอง กล่าวคือชื่อรองเท้านารี มาจากลักษณะของปากหรือกระเป๋าที่มีรูปร่างคล้ายหัวรองเท้าแตะของผู้หญิง ส่วนชื่อเขาแกะมาจากลักษณะของใบที่โค้งสลับกันในทางตรงกันข้าม
เขาแกะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchostylis coelestsis Rchb.f. อยู่ในวงศ์ย่อย Epidendroidiae เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง เป็นกล้วยไม้ประเภท อิงอาศัย กล่าวคือ เกาะอยู่ตามต้นไม้โดยมีรากแบบรากอากาศ เป็นส่วนเกาะติดกับเปลือกต้นไม้ เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง ชื่ออื่น ๆ ของเขาแกะคือ เขาควาย เอื้องขี้หมา และ Blue Foxtail Orchid
ลำต้น ของเขาแกะ เป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างเตี้ย ตั้งตรง เจริญเติบโตทางยอด
ใบ ออกเรียงสลับซ้ายขวา โคนใบเป็นแผงชิดกันแน่น ปลายใบโค้งลงเล็กน้อย มองดูคล้ายเขาแกะ หรือเขาควาย แผ่นใบบางและเหนียวห่อเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร
ดอก เป็นช่อตั้งตรง ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกเบียดกันแน่น ขนาดดอกราว 1.5-2.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขนานแกมรูปไข่ กลีบทั้ง 5 กลีบมีสีขาว ขอบกลีบมีขลิบเป็นสีม่วงคราม บางต้นอาจมีสีออกไปทางแดง หรือไปทางสีน้ำเงินก็มี ปลายกลีบมน กลีบปากรูปลิ่ม มีเดือย ดอกแบนและปลายโค้งลง ดอกบานทนนาน ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีกลิ่นหอม ช่วงเวลาที่ออกดอก คือฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
แหล่งกำเนิดของเขาแกะ คือบริเวณป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งผลัดใบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยพบในทุกภาคยกเว้นภาคใต้
เขาแกะถูกนำไปผสมกับกล้วยไม้ชนิดอื่นหลายชนิด โดยเฉพาะในสกุลแวนดา และสกุลใกล้เคียงกัน เนื่องจากต้องการลักษณะเด่นของเขาแกะคือ เลี้ยงง่าย ช่อดอกตั้ง และมีสีม่วงคราม ซึ่งหาได้ยากในกล้วยไม้ทั่วไป นับเป็นกล้วยไม้ที่มีอนาคตในการพัฒนาเป็นกล้วยไม้ประเภทกระถางหรือเป็นไม้ตัดดอกได้ดี
- อ่าน 9,847 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้