• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2552

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2552 ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 18 ประจำปี 2552


ในครั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ และสาขาการสาธารณสุข มีดังนี้


สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.แอนน์ มิลลส์ (Professor Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย London School of Hygiene and Tropical Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร

 

 


สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร (Dr.Wiwat Rojanapithayakorn) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์คนแรก กระทรวงสาธารณสุข ผู้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100 %

 

 



คุณมีชัย วีระไวทยะ (Mr.Mechai Viravaidya) ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนประเทศไทย ผู้ให้ความรู้ด้านการวางแผนครอบครัวแก่หญิงในชนบทด้วยถุงยางอนามัย

 

 

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติพิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี พ.ศ.2552, 2551 และ 2550 จึงนำเสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และพิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 โดยระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 51 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศ.นพ.แบรี่ เจมส์ มาร์แชล ปี พ.ศ.2548 และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน ปี พ.ศ.2551 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2 ราย คือ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา และ ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ปี พ.ศ.2539


ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์  กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2552 ปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
 

ข้อมูลสื่อ

369-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
กองบรรณาธิการ