• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดุลยภาพ 'บำบัด' โรค

โดยปกติแล้วเมื่อเรามีอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปวดหัว เป็นหวัด ตัวร้อน ภูมิแพ้กำเริบ หรือปวดท้อง สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ ยาสามัญประจำบ้าน ปวดหัวกินพาราเซตามอล เป็นหวัดก็มีคลอร์เฟนิรามีนเป็นที่พึ่ง หลังจากกินยาไปแล้วอาการเริ่มดีขึ้น แต่บางรายอาจไม่หายขาด 

"ความจริงแล้ว อาการเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เพียงแต่ต้องเริ่มรักษาจากต้นเหตุ และที่สำคัญทุกคนเป็นหมอได้ด้วยตนเอง" คำยืนยันจากผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองด้วย "ดุลยภาพบำบัด" ในงานระพีเสวนาครั้งที่ 3 ซึ่งมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก ร่วมด้วยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันอาศรมศิลป์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดขึ้น โดยมี รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชกรรมฝังเข็ม แนวทางดุลยภาพบำบัด ร่วมเสวนา

รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ กล่าวถึงดุลยภาพบำบัดว่าเป็นสิ่งที่ทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้านด้วยท่าบริหารร่างกายเบื้องต้น 4 ท่า และการฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างถูกวิธี 

"ถ้าขยันบริหาร ฝึกสังเกต และทำความเข้าใจร่างกายตัวเองก็เห็นผลได้ไม่ยาก สังเกตตั้งแต่การกิน การขับถ่าย และอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ...หลักดุลยภาพศาสตร์ไม่เพียงควรเรียนรู้ แต่ทุกคนจำเป็นต้องรู้เอาไว้ว่าโครงสร้างของมนุษย์สมดุลอย่างไร จะเสียสมดุลเมื่อไร โครงสร้างร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อยู่ในท้อง ตอนคลอด หรือตามสิ่งแวดล้อมและอาชีพ หลายคนคิดว่าต้องประสบอุบัติเหตุเท่านั้นโครงสร้างถึงจะเสียสมดุล แต่ไม่ใช่"

"หากใครเคยข้อเท้าแพลง ให้ลองสังเกตแล้วจะพบว่าเคยแพลงเท้าไหนก็จะเป็นซ้ำๆ ที่เท้านั้น แสดงว่าตรงนั้นคือจุดอ่อนของเรา บางคนไม่สนใจปล่อยให้หายไปเอง จากแค่เท้าแพลงปวดที่ข้อเท้าจะเริ่มมีอาการปวดลามไปบริเวณอื่นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว หรือบางคนไม่รู้ว่าตัวเองหน้าเบี้ยว คางเบี้ยว ทั้งที่โครงสร้างผิดรูปนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคภูมิแพ้ เพราะทำให้ระบบทางเดินหายใจติดขัดเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรคในโพรงจมูก"  

รศ.พญ.ลดาวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หากโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่เฉยๆ ได้ ต้องทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ตามธรรมชาติ จะห้ามไม่ให้เด็กคลอด ห้ามไม่ให้เดิน ไม่ให้เล่นกีฬาไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องรู้คือ เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บหรือปวดจะรักษาอาการเหล่านั้นด้วยตัวเองได้อย่างไร ดุลยภาพบำบัดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดำรงชีวิต สอนให้รู้ว่าควรดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ป่วย และหากป่วยแล้วจะทำอย่างไรให้อาการดีขึ้นด้วยตัวเอง หรืออาศัยการดูแลจากคนในครอบครัวโดยไม่ต้องพบแพทย์"  

"ศาสตร์แขนงนี้ไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อต้านการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่นำสิ่งที่การแพทย์ตะวันตกทิ้งไปมาใส่เข้าไปใหม่ เพราะการแพทย์ทั่วไปแก้ไขที่ปลายเหตุ และแยกส่วนอวัยวะแขนขา กล้ามเนื้อ ระบบภายในออกจากกัน เช่น ระบบขับถ่ายตรวจแค่ปัสสาวะออกมาเป็นอย่างไร ตรวจไทรอยด์ก็ดูแค่ฮอร์โมน แล้วรักษาไปตามอาการนั้น ทั้งที่สาเหตุอาจมาจากส่วนอื่น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจระบบโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่ผิดปกติ ถ้ารักษาแบบนี้หายแล้วก็เป็นใหม่อีก แล้วต้องไปหาหมอรับยามาเพิ่ม ไม่หายขาดสักที"

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญแนวทางดุลยภาพบำบัดแนะนำว่า การเริ่มต้นดูแลตัวเองให้เริ่มจากฟังเสียงของร่างกาย เริ่มจากการเรียนรู้ สนใจที่จะปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ออกกำลังกายโดยดูว่าโครงสร้างร่างกายของเราเหมาะกับกีฬาประเภทไหน เลือกกินอาหาร สังเกตการขับถ่าย ควบคุมอารมณ์ และดูแลสิ่งรอบตัว ตั้งแต่ความสะอาดของร่างกายตนเอง เสื้อผ้า ห้องนอน 

หัวใจของดุลยภาพศาสตร์ คือ การดูแลรักษาตนเอง แบบค่อยๆ ใช้เวลา แม้เราจะหลีกเลี่ยงวัฏจักรการเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ได้ แต่หากเรารู้ทันและเข้าใจจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองมาก เพราะจะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

สนใจศึกษาท่าบริหารเพื่อปรับสมดุลร่างกายหรือการบิดขี้เกียจอย่างมีสติ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่  http://healthnet.md.chula.ac.th
 

ข้อมูลสื่อ

369-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
กองบรรณาธิการ