• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประหยัดค่ายาได้อย่างไร

คำถาม จะประหยัดค่ายาได้อย่างไร?

ค่ายา ปัญหาหนึ่งที่สำคัญต่อการรักษาโรค

ยิ่งนับวันมนุษย์โลกก็จะมียาชนิดใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน ส่งผลยกระดับคุณภาพชีวิตและอายุยืนมากขึ้น แต่ท่ามกลางข่าวดีเรื่องการคิดค้นวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ ให้มีทางเลือกในการรักษาพยาบาลมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับวิธีการรักษาด้วยยาใหม่ๆ ก็คือ ราคายา ซึ่งนับวันจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งยาชนิดใหม่ๆ ราคายิ่งสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด เม็ดหนึ่งราคาประมาณ 50 บาท (จนมีผู้ป่วยหลายคนอุทานว่า แพงกว่าค่าอาหารในแต่ละมื้อเสียอีก...จนต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวัง... ไม่กล้าทำหล่นหาย...เพราะราคาแพงมาก!!!) หรือยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีการคิดค้นยาใหม่ๆ ขึ้นมากมายเช่นกัน ส่วนหนึ่งก็จะช่วยชีวิตของผู้ป่วยให้ทุกข์ทรมานน้อยลง และช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวยิ่งขึ้น แต่ราคายารักษาโรคมะเร็งก็สูงขึ้นเช่นกัน จนในบางครั้งการรักษามะเร็งต้องใช้เงินเป็นหลักหมื่น หรือหลักแสน เป็นต้น

ราคายาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นปัญหาและอุปสรรคหนึ่งของการรักษา บางคนต้องขายที่ดินขายนาไร่มารักษาโรค บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้เป็นค่ายาค่ารักษาโรค ถ้าหายก็ดีไป (ไม่หายก็ตายกันไป) หลายรายที่หายจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต้องกลับไปแก้ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ แทน ต้องหาเงินมาใช้หนี้สินจากการรักษาโรค เหมือนหนีเสือปะจระเข้ แก้ปัญหากันไม่จบไม่สิ้น

"อโรคยา ปรมา ลาภา-ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
" จึงขอให้พวกเรารักษา "สุขภาวะ" ของตนของท่านให้ดีที่สุด คงไว้ซึ่งความไม่ประมาท เพราะถึงแม้ว่าจะมียาใหม่ที่ก้าวหน้าหรือทันสมัยเพียงใด แต่อุปสรรคหนึ่งที่เหมือนเป็นก้างขวางคอหรือไอ้เข้ขวางคลอง คือ ราคายา ที่นับวันจะสูงมากขึ้นๆ จนเป็นปัญหา ทำให้เกิดภาวะล้มละลายด้านสุขภาพ คือ รักษาโรคให้หายได้ แต่ผู้ป่วยหรือครอบครัวล้มละลาย ต้องขายเรือกสวนไร่นามารักษาพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมไทยและสังคมโลก
ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงแนวทางในการทุเลาปัญหาเรื่องราคายา ที่เป็นปัญหาหนักอกให้ลดขนาดลงบ้าง ไม่มากก็น้อย จะได้ช่วยทุเลาปัญหาด้านค่ารักษาพยาบาลได้บ้าง

 

มีประกันสุขภาพ..หรือไม่?

เริ่มต้นด้วยคำถามว่า "มีประกันสุขภาพ...หรือไม่?" ในที่นี้หมายถึง ประกันสุขภาพทุกประเภท เช่น การประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ ในอดีตเรียกกันว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค แต่ในปัจจุบันไม่ต้องจ่าย 30 บาทแล้ว) การประกันสังคม (สำหรับผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน) สวัสดิการข้าราชการ ประกันสุขภาพเอกชน เป็นต้น เหตุผลที่ต้องถามเรื่องนี้ก็เพราะว่า ถ้ามีประกันสุขภาพ จะมีคนอื่นที่ช่วยจ่ายค่ายาและค่ารักษาพยาบาลแทนเรา และไม่ต้องจ่ายค่ายาด้วยตนเอง หรือถ้าจำเป็นต้องจ่ายค่ายา อาจจะจ่ายเพียงบางส่วน ไม่ต้องจ่ายทั้งหมด ดังนั้นการมีประกันสุขภาพ ก็จะช่วยลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นได้อย่างดี

เรื่องนี้นับเป็นความดีความชอบของรัฐบาลไทยหลายยุคสมัยที่ได้นำแนวคิดประกันสุขภาพมาใช้กับสังคมไทย จนปัจจุบันมีการประกันสุขภาพหลายชนิดช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพไปรับการรักษาได้อย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าจะยังมีปัญหาอยู่บ้างบางส่วน ก็คงจะต้องพัฒนาปรับปรุงแก้ไขระบบประกันสุขภาพของไทยให้ดียิ่งขึ้น

 

การรักษาโดยไม่ใช้ยา การปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน

สิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ พร้อมๆ กับเป็นยารักษาโรคหลายๆ โรคได้อย่างดี ก็คือการปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจเรียกว่า "การรักษาโดยไม่ใช้ยา" ได้แก่ "4 อ" อันประกอบด้วย อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย และอากาศ ล้วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ช่วยลดความเสี่ยง ลดอันตรายกับสุขภาพ ได้ด้วยหลัก 4 อ.

เริ่มต้นด้วยการรักษาอารมณ์ให้ไม่เครียดจนเกินไป รู้จักผ่อนคลายอย่างเหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ ตามมาด้วยการรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป และให้หลากหลายชนิดไม่ซ้ำซาก เสริมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำอาทิตย์ละ 3 ครั้ง (วัน) ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป และสุดท้ายอยู่ในสภาวะแวดล้อมของอากาศที่ดี

ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้หลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น ทั้งยังทำให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถปรึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเองกับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือบุคลากรทางสาธารณสุขต่างๆ ได้

 

การลดค่าใช้จ่ายด้านยา

ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยา มีแนวทางในการประหยัดค่ายาได้ง่ายๆ ดังนี้
1. การทบทวนยาที่จำเป็นจริงๆ
2. การเลือกใช้ยาสามัญที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทน
3. การแบ่งเม็ดยา
4. การใช้ยาสูตรผสม
5. การเลือกแหล่งจำหน่ายยา
6. จำนวนการสั่งซื้อยา
 

1. การทบทวนยาที่จำเป็นจริงๆ

หลักการแรกของการใช้ยา คือ ควรใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ ดั่งคำขวัญของยาที่ว่า "ยามีคุณอนันต์ และโทษมหันต์" ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ยา จึงควรนำยาทั้งหมดของตนเองมาปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรให้ช่วยทบทวนและพิจารณาดูว่า ยาชนิดใดที่จำเป็นสำหรับโรคใด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาหลายชนิด ในบางกรณีอาจได้ยาซ้ำซ้อนกันได้ อาจทำให้ร่างกายได้รับยาเกินขนาด ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ และเป็นการสิ้นเปลืองยาอีกด้วย
 

2. การเลือกใช้ยาสามัญที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทน

ขั้นนี้ ลองปรึกษาหารือกับแพทย์ที่ให้การรักษา หรือเภสัชกร ถึง "ยาสามัญที่ราคาถูกกว่า" มาทดแทน ทั้งนี้เพราะแพทย์ส่วนใหญ่นิยมหรือคุ้นเคยกับการจ่ายยาต้นตำรับ ซึ่งมักมีราคาแพงกว่ายาสามัญซึ่งเป็นตัวยาชนิดเดียวกัน ขนาดเท่าเทียมกัน และให้ผลการรักษาเหมือนกัน แต่มีราคาย่อมเยากว่าประมาณร้อยละ 20 ขึ้นไป จนยาบางชนิดราคายาสามัญมีราคาถูกกว่าเป็นสิบเท่าก็มี ตัวอย่างเช่น ยาลดไขมันในเลือด พบว่าตัวยาเดียวกัน แต่ยาต้นตำรับมีราคาเป็นสิบเท่าของยาสามัญ เป็นต้น
 

3. การแบ่งเม็ดยา

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยลดค่ายาได้ ก็คือ การแบ่งเม็ดยา เพราะมียาเป็นจำนวนมากที่มีหลายขนาด เช่น ยาลดไขมันในเลือด มีในขนาดเม็ดละ 10, 20 และ 40 มิลลิกรัม ให้เลือกใช้
ถ้าแพทย์สั่งจ่ายยาในขนาด 10 มิลลิกรัมให้กับเรา เราอาจเลือกใช้ยาในขนาด 10 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด หรือยาในขนาด 20 มิลลิกรัม จำนวนครึ่งเม็ด หรือยาในขนาด 40 มิลลิกรัม จำนวน 1 ใน 4 ของเม็ดก็ได้ ซึ่งถ้าหักเม็ดแล้วมีราคาถูกกว่า เราก็อาจเลือกใช้ยาหักเม็ด เพื่อประหยัดค่ายาได้

นอกจากนี้ กรณีที่ต้องใช้ยาหักเม็ด ขอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากห้องยาช่วยหักครึ่งเม็ดให้ เพราะห้องยาส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์สำหรับหักเม็ดยาและให้บริการเรื่องนี้อยู่แล้ว ประกอบกับถ้าผู้ป่วยไปหักเม็ดยาด้วยตนเอง อาจหักได้ไม่ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุมักหักเม็ดยาได้ไม่ดีไม่สม่ำเสมอ และบางคนก็ทำเม็ดยาตกหล่น ทำให้สูญเสียยาไปได้จากการหักยา (ยิ่งยามีขนาดเล็ก จะยิ่งหักได้ยากยิ่งขึ้น)
 

4. การใช้ยาสูตรผสม

ประเด็นที่ 4 นี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาหลายชนิด และโชคดีที่มีการผลิตยาหลายชนิดในเม็ดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการผลิตยาหลายชนิดในเม็ดเดียวกัน จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น เพรากินยาเม็ดเดียวดีกว่ากินยาหลายเม็ด และยังอาจมีราคาถูกกว่าได้ ถ้าราคายาของหลายอย่างในเม็ดเดียวกันมีราคาถูกกว่าการแยกเม็ดยา ก็จะช่วยประหยัดค่ายาได้
 

5. การเลือกแหล่งจำหน่ายยา

ในประเด็นที่ 5 นี้ ราคายาของบ้านเรามีราคาแตกต่างกัน โดยทั่วๆ ไป ในยาชนิดเดียวกัน พบว่า "ราคายาที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาลหรือร้านขายยา" ในประเด็นนี้จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากปรึกษาแพทย์และขอจ่ายค่าธรรมเนียมแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน และขอใบสั่งยาเพื่อนำมาซื้อยาเองภายนอก (บางรายอาจยอมซื้อยาที่โรงพยาบาลเอกชนเพียงบางส่วน และซื้อยาส่วนใหญ่ภายนอกโรงพยาบาล) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
 

6. จำนวนการสั่งซื้อยา

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเพื่อช่วยประหยัดค่ายา คือ การซื้อครั้งละมากๆ หรือ "ซื้อโหล...ถูกกว่า" เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาชนิดนั้นเป็นประจำเป็นเวลานานๆ การซื้อครั้งละมากๆ จะช่วยต่อรองราคา และลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง

ดังนั้นในผู้ป่วยที่ต้องจ่ายเงินซื้อยาด้วยตนเอง และต้องการประหยัดค่ายา อาจปรึกษากับแพทย์ผู้สั่งใช้ยา หรือเภสัชกรทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่ร้านยา เพื่อช่วยท่านประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ไม่ว่าจะด้วยการทบทวนยาเท่าที่จำเป็นจริงๆ การแนะนำการปรับปรุงการดำเนินชีวิตประจำวัน การเลือกใช้ยาสามัญทดแทนที่ถูกกว่า การหักเม็ดยา การเลือกใช้ยาผสม การเสาะแสวงหาแหล่งจำหน่ายที่ถูกกว่า และการซื้อครั้งละมากๆ ทั้งนี้เพื่อคงประสิทธิภาพในการรักษา และช่วยประหยัดค่ายา ซึ่งนับวันจะมีราคาสูงขึ้น เป็นภาระค่าใช้จ่าย เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย ให้ทุเลาลงได้บ้างไม่มากก็น้อย สวัสดีครับ

 

ข้อมูลสื่อ

369-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด