• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหอบจากอารมณ์

บางคนเมื่อมีเรื่องขัดใจ หรือมีอารมณ์เครียด ก็เกิดอาการหายใจหอบลึก และมือเท้า 2 ข้างจีบเกร็งคล้ายเป็นตะคริว อาจมีอาการแน่นิ่งไม่พูดไม่จา หรือเอะอะโวยวาย คล้ายเสียสติ สร้างความตกใจให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่พบเห็น บางชุมชนเข้าใจว่าเป็น "โรคผีเข้า" พาไปทำพิธีไล่ผีตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมักจะหายได้เช่นเดียวกับพาไปรักษาที่โรงพยาบาล

อาการดังกล่าวแพทย์เรียกว่า "กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน" หรือ "โรคหอบจากอารมณ์" ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ ไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ และสามารถแก้ไขด้วยวิธีง่ายๆ


* ชื่อภาษาไทย

โรคหอบจากอารมณ์, กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน, กลุ่มอาการหายใจเกิน
 

* ชื่อภาษาอังกฤษ 

Hyperventilation Syndrome, Psychogenic Dyspnea
 

* สาเหตุ

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มในการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก (แทนกะบังลมและกล้ามเนื้อท้อง) ซึ่งทำให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพและมักมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ ที่สำคัญได้แก่ ความเครียดทางจิตใจและอารมณ์ (เช่น ความกลัว วิตกกังวล โกรธ ขัดใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นต้น) บางครั้งก็ถูกกระตุ้นด้วยอาการเจ็บปวดรุนแรง (เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบ หายใจลึก หรือหายใจเร็ว ส่งผลให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากเกิน เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (alkalosis) และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดอาการผิดปกติของร่างกายหลายระบบพร้อมๆ กัน

                              

 

 


* อาการ

ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการระบายลมหายใจเกิน เช่น หายใจลึก หายใจถี่ หรือทั้งลึกและถี่ ซึ่งมักเกิดขึ้นทันทีหลังจากมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจหรือมีความเครียดทางอารมณ์ บางรายอาจเกิดหลังจากมีอาการเจ็บปวดรุนแรง

 

อาจบ่นปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เจ็บหน้าอก แน่นอึดอัดในหน้าอก ชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า หรือมีลมในท้อง ท้องอืดเฟ้อ

อาจมีอาการร้องเอะอะโวยวาย ดิ้นไปมา สับสน ประสาทหลอน หรือนอนแน่นิ่งเหมือนเป็นลม บางรายมีอาการหลับตามิดและขมิบหนังตาแน่น

ผู้ป่วยมักมีอาการมือและเท้าจีบเกร็งทั้ง 2 ข้างคล้ายเป็นตะคริว ทั้งนี้เนื่องจากเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาลูกโซ่จากการระบายลมหายใจเกิน จึงเกิดอาการชักเกร็ง (tetany หรือ carpopedal spasm) ของมือและเท้า

อาการเหล่านี้ อาจทุเลาได้เอง ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมตัวเองให้กลับมาหายใจแบบปกติ แต่ถ้ายังมีการหายใจผิดปกติ อาการเหล่านี้ก็จะเป็นต่อเนื่อง อาจนานเป็นชั่วโมงๆ ทำให้ญาติตกใจกลัว จนต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักไม่มีอาการหายใจผิดปกติและมือเท้าจีบเกร็งให้เห็นเด่นชัด ผู้ป่วยมักบ่นว่ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก รู้สึกหายใจไม่อิ่มหรือแน่นอึดอัดในหน้าอก นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เวียนศีรษะ ศีรษะโหวงๆ หรือรู้สึกโคลงเคลง ชาหรือเสียวๆ บริเวณรอบปากหรือปลายมือปลายเท้า มีลมในท้อง คลื่นไส้ และมักมีอาการถอนหายใจหรือหาวบ่อย

ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ มีความรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล มีปมด้อย ขาดความอบอุ่นทางจิตใจ หรือมีปัญหาในการปรับตัว

ในรายที่เป็นเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการไม่เด่นชัดแบบรายที่เป็นเฉียบพลัน ถ้าให้ผู้ป่วยหายใจลึกและเร็ว (นาทีละ 30-40 ครั้ง) ก็มักชักนำให้เกิดอาการมือและเท้าจีบเกร็ง และถ้าให้หายใจในกรวยกระดาษ อาการต่างๆ ก็มักจะทุเลาได้

 

* การแยกโรค

ในรายที่มีอาการหายใจหอบ อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น
• ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ไอ เจ็บหน้าอกร่วมด้วย

• หืด ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจเสียงดังวี้ด มีประวัติเป็นโรคหืดมาก่อน หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคหืด

• ภาวะเลือดเป็นกรด/ช็อก ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นเบาหวาน (แต่ขาดการรักษา) ตกเลือดรุนแรง ท้องเดินหรืออาเจียนรุนแรง เป็นไข้เรื้อรัง ซีด กินไม่ได้มาหลายวัน

• สำลักสิ่งแปลกปลอม ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น หลังสำลักอาหารหรือกลืนเมล็ดผลไม้ ในเด็กอาจมีประวัติเกิดอาการหายใจลำบากขณะเล่นเหรียญสตางค์ กระดุม ของเล่นชิ้นเล็กๆ หรือเมล็ดผลไม้

• หัวใจวาย ผู้ป่วยมักมีอาการเท้าบวม หรือเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือมีประวัติเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน หรือความดันเลือดสูง
จะเห็นว่าอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก มักเกิดจากสาเหตุร้ายแรง ซึ่งควรพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ในรายที่มีอาการมือเท้าจีบเกร็ง อาจเกิดจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากภาวะขาดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ที่พบบ่อยมักเกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (จะเห็นรอยผ่าตัดเป็นแนวขวางบริเวณใต้ลูกกระเดือก) แล้วผ่าตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์เข้า ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีกินเป็นประจำ เพื่อเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด

 

 

 

ในรายที่มีอาการเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดจุกบริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่ และร้าวขึ้นคอ ขากรรไกร หรือต้นแขน มักพบในผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง คนอ้วน สูบบุหรี่จัด หรืออายุมาก

• โรคถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกแรงทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกาย มักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานับสิบปีขึ้นไป

 

* การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโรคหอบจากอารมณ์ จากประวัติและอาการแสดงเป็นหลัก หากผู้ป่วยไม่มีประวัติการเจ็บป่วยอื่นๆ มาก่อน แล้วอยู่ๆ มีอาการหายใจหอบหืด และมีอาการมือและเท้าจีบเกร็งชัดเจน เกิดขึ้นหลังจากมีเรื่องขัดใจหรืออารมณ์เครียด ก็สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้ และให้การดูแลรักษาได้ทันที

ในรายที่อาการไม่ชัดเจน หรือสงสัยมีสาเหตุจากโรงทางกาย (เช่น โรคปอด โรคหัวใจ) หรือมีประวัติการเจ็บป่วยอื่นๆ (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง มีไข้ ซีด) แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

 

* การดูแลตนเอง

ถ้าหากมีอาการชัดเจน (หรือมีเรื่องขัดใจ เกิดอาการหายใจหอบลึก ต่อมาสักครู่มีอาการมือเท้าจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ) หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบจากอารมณ์มาก่อน และคราวนี้มีอาการซ้ำเดิมอีก สามารถให้การดูแลเบื้องต้นด้วยการใช้กระดาษทำเป็นรูปกรวย (มีรู 0.5-1.0 เซนติเมตร ตรงปลายกรวย) หรือใช้ถุงกระดาษ (เจาะรูขนาดเดียวกัน) นำมาครอบปากกับจมูกของผู้ป่วยพอแน่น ให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยหรือถุงกระดาษ หรืออาจใช้ผ้าห่มคลุมโปงให้ผู้ป่วยหายใจอยู่ภายในโปงนั้น วิธีการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยสูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปในร่างกายเพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งจะช่วยแก้ไขภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้มือเท้าหายจีบเกร็งและอาการต่างๆ ทุเลาได้ ปกติมักจะได้ผลภายใน 10-15 นาที

ควรหลีกเลี่ยงวิธีการดังกล่าวหากสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคทางกาย หรือไม่มั่นใจว่าเป็นโรคหอบจากอารมณ์

ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
• มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันเลือดสูง

• กินอาหารไม่ได้มาหลายวัน เป็นไข้ ท้องเดินรุนแรง อาเจียนรุนแรง เจ็บหน้าอกรุนแรง หรือสงสัยสำลักอาหาร หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ

• ตรวจพบมีภาวะซีด บวม หายใจมีเสียงดังวี้ด ปากเขียว ตัวเขียว หมดสติ

• ให้การดูแล 15-30 นาทีแล้วไม่ทุเลา

• กังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง

 

* การรักษา

ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบจากอารมณ์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยกระดาษหรือถุงกระดาษแบบเดียวกัน

ถ้าไม่ทุเลาภายใน 15-30 นาที แพทย์อาจพิจารณาให้ยากล่อมประสาทกินหรือฉีด (ถ้ากินไม่ได้)
เมื่อทุเลาแล้ว แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ และให้คำแนะนำในการผ่อนคลายความเครียด และวิธีป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ

 

* ภาวะแทรกซ้อน

ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงใดๆ

 

* การดำเนินโรค

เมื่อได้รับการดูแลถูกต้อง อาการจะทุเลาได้ภายใน 15-30 นาที
เมื่อหายแล้ว ต่อไปยังอาจกำเริบได้อีกถ้ามีความเครียดทางอารมณ์
ในรายที่รู้จักฝึกวิธีป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ อาจทำให้อาการห่างหายไปได้

 

* การป้องกัน

ผู้ที่เคยเป็นโรคหอบจากอารมณ์ ควรหาทางป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
• ฝึกหายใจด้วยท้อง โดยสังเกตว่าเวลาหายใจเข้าท้องจะป่อง หายใจออกท้องจะแฟบ
• ฝึกวิธีผ่อนคลายความเครียด ด้วยการออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ เจริญสติ

 

* ความชุก

พบได้ประมาณร้อยละ 6-10 ของคนทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย โดยพบมากในช่วงอายุ 15-55 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า และพบว่าพ่อแม่หรือบุตรของผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป โดยยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม

 

ข้อมูลสื่อ

369-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553