• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดอกโสนบ้านนา

                                                                

โสน (อ่าน สะ-โหน๋)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania javaica Miq. เป็นพืชวงศ์ถั่วคือวงศ์ Fabaceae (Papilionaceae) 

ชื่อพ้อง โสนหิน โสนกินดอก (ภาคกลาง) ผักฮองแฮง (ภาคเหนือ) สีปรีหลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ชื่ออื่น Sesbania หรือ Sesbanea  pea 

โสนเป็นไม้สกุลเดียวกับแค เป็นไม้ล้มลุกอายุ 1 ปี พืชตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย จากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 
โสนขึ้นเองตามธรรมชาติ มักพบในพื้นที่ที่มีน้ำขัง ลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นผิวเรียบเป็นเหลี่ยมหรือกลมมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น

ใบประกอบแบบขนนกเรียงตัวแบบสลับบนลำต้น มีหนามแหลมยาว 2 อันที่โคนก้านใบ แต่ละใบมีใบย่อยสีเขียว 10-30 คู่ รูปร่างกลมรียาว 1.2-2.5 เซนติเมตร กว้าง 2-4 มิลลิเมตร

ดอกเป็นช่อเชิงลด หรือเป็นช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง ชอกใบ ซอกกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกย่อย 5-12 ดอก ยาว 2.5  เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ บางครั้งกลีบนอกมีจุดกระสีน้ำตาล หรือสีม่วงแดง กระจายอยู่ทั่วไป

ผลเป็นฝักผอม กว้าง 4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่กลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล มีเมล็ดขนาดเล็กเรียงอยู่ภายใน ฝักแตกเองเมื่อแห้งโดยแตกตามขวางของฝักผล เมล็ดทรงกลมเป็นมันเงามีสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 0.05 เซนติเมร เมื่อออกดอกติดเมล็ดแล้ว ต้นโสนจะค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด

ดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีจารึกในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งก่อกรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นราชธานีนั้น พระเจ้าอู่ทองได้ปักหลักสร้างเมืองสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน (ปัจจุบันเรียกว่า บึงพระราม) ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล โทศก จุลศักราช 712
                                             แถลงปางพระเจ้าอู่            ทองปรา รภเฮย 
                                             จักประดิษฐนครา               ใหม่ยั้ง 
                                             ชีพ่อหมู่พฤฒา                   จารย์จัด การแฮ 
                                             กลบบัตรสุมเพลิงตั้ง           สวดพร้องพุทธมนต์
                                             ชนงานขุดภาคพื้น              ภูมิมณ ฑล เฮย 
                                             สบพระสังข์เศวต กล          กษิรแผ้ว 
                                             เป็นทักษิณวรรต ดล         แสดงศุภ อรรถเอย 
                                             เสร็จกิจพิธีแล้ว                  สืบสร้างการผอง
                                             หนองโสนแนะถิ่นด้าว      เดิมมี ชื่อนา 
                                             ขนานเปลี่ยนนามธานี        เทพไท้ 
                                             ทวาราวดี ศรี                     อยุธยา เฮย 
                                             กรุงกษัตริย์สถิตได้           สี่ร้อยปีปลาย

                                                                                 โคลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

โสนในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ คือโสนหิน โสนคางคก โสนหางไก่ใหญ่ โสนหางไก่เล็ก เนื้อไม้ของโสนใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมเบาของภาคกลาง ไม้โสนใช้ทำเป็นของเล่นเด็กตั้งแต่โบราณ เยื่อไม้ของต้นโสนเป็นไม้เนื้อบาง เบา เหนียว สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ได้อย่างประณีตและงดงาม การใช้ไม้โสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้นั้นมีสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันชาวอยุธยาใช้เนื้อไม้จากต้นโสนชนิดมีลำต้นใหญ่ประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบ เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกจำปา เป็นต้น เป็นรายได้เสริมกับชาวบ้านในท้องถิ่น

ต้นโสนเป็นต้นไม้ล้มลุกพื้นบ้าน ชอบขึ้นอยู่ริมหนอง คลองบึง หรือลำประโดง ขึ้นเองตามธรรมชาติ ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าปลอดสารเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเก็บเองจากต้น ดอกโสนมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกโสนที่เก็บจากต้นที่แช่อยู่ในน้ำ ใครพบดงโสนขึ้นในที่รกร้างชวนกันเก็บดอกมากินกันดีกว่า ดอกโสนมีรสออกหวานเล็กน้อย เหมาะแก่การใช้ประกอบอาหารให้เด็กกิน ปัจจุบันนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพัฒนาไปมาก ชาวจังหวัดอยุธยาอาจจะไม่พบต้นโสนขึ้นอยู่เป็นหนองอย่างในอดีตแล้วก็ได้ แต่ถ้าจะประกอบอาหารให้มองหาตามตลาดนัด อาจยังหาซื้อได้อยู่ในตลาดบางแห่งและตามตลาดนัดต่างจังหวัดในราคา 5-10 บาท

ดอกโสนทำอาหารหวานคาวได้หลายอย่าง เมนูสุดฮิตได้แก่ ดอกโสนผัดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิ กินกับปลาทู และชุบแป้งทอดกรอบกินกับขนมจีนน้ำพริกก็ได้ ใช้วิธีเดียวกับการทำชะอมชุบไข่ทอด หรือจะทำแกงส้มดอกโสนกับปลาช่อนก็มีคนรอกิน ส่วนเมนูง่ายๆ ก็คือ ดอกโสนผัดไข่ หรือไข่เจียวใส่ดอกโสน ดอกโสนจิ้มน้ำพริกมะนาว แกงเผ็ดอะไรก็ได้ใส่ดอกโสน ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ยำดอกโสน
ถ้าใช้ประกอบอาหารหวานก็มีข้าวเหนียวมูนดอกโสน ให้นึ่งดอกโสนพร้อมข้าวเหนียวราว 10 นาทีสุดท้าย มูนกะทิเข้าด้วยกันและกินกับน้ำตาลและมะพร้าวโรยงา

สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยบอกว่า ดอกโสนมีรสจืด มัน เย็น สรรพคุณแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (สรรพคุณเดียวกันกับดอกแค)

สรรพคุณทางโภชนาการพบว่า ดอกโสนให้ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกบำรุงสมอง มีเหล็กบำรุงเลือด ให้วิตามินเอไว้ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บอีก และมีวิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน และวิตามินซี อีกพอสมควร นับว่าเป็นดอกไม้พืชพื้นบ้านที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก

ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม
ส่วนประกอบ                                                         ปริมาณ

ความชื้น                                                                87.7      กรัม
พลังงาน                                                                38         กิโลแคลอรี
ไขมัน                                                                     0.5        กรัม
คาร์โบไฮเดรต                                                       5.9        กรัม
เส้นใย                                                                    2.2        กรัม
โปรตีน                                                                   2.5        กรัม
แคลเซียม                                                              62         มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส                                                             62         มิลลิกรัม
เหล็ก                                                                     2.1        มิลลิกรัม
วิตามินเอ                                                               3,338    หน่วยสากล
วิตามินบี 1                                                             0.13      มิลลิกรัม
วิตามินบี 2                                                             0.26       มิลลิกรัม
วิตามินซี                                                                0.26       มิลลิกรัม
 

ข้อมูลจาก กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ.2558 พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทิน ไกลโคไซด์ (Quercetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside) เป็นองค์ประกอบสำคัญ สารดังกล่าวเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง สารกลุ่มฟลาโวนอยด์มักพบในดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม เนื่องจากฟลาโวนอยด์ดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลต จึงเป็นสารที่ทำหน้าที่ชี้แหล่งน้ำหวานให้กับแมลงที่มาผสมเกสร จัดเป็นกลุ่มสารที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชชั้นสูง

การศึกษาฤทธิ์ชีวภาพของเควอเซทินจากงานวิจัยพบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) หยุดยั้งการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง ระงับการอักเสบ และป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อพบว่าดอกโสนอันเป็นไม้พื้นบ้านมีสารดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นองค์ประกอบจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ และชักชวนกันกินไม้พื้นบ้านอันมีคุณค่ายิ่งตามฤดูกาล

นางเอกวันนี้คือขนมดอกโสน เป็นอาหารพื้นบ้านภาคกลาง ถ้าชาวกรุงหรือภาคอื่นลองทำดูแล้วอร่อยติดใจก็บอกกันต่อๆ ไปด้วยเพื่อรักษาภูมิปัญญาไทยไว้สืบต่อไป ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีในปีใหม่นะคะ

 

                                                    ขนมดอกโสน

ส่วนผสม
ดอกโสน                                       1            ถ้วยครึ่ง
แป้งข้าวเจ้า                                   1            ถ้วย
แป้งมัน                                          2            ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปีบ                                     3/4         ถ้วย
หัวกะทิ                                          3/4         ถ้วย
น้ำ                                                 1/2         ถ้วย
มะพร้าวทึนทึกขูด                          3/4         ถ้วย
ซึ้งนึ่งอาหาร
ถาดนึ่งขนม

วิธีทำ
1. เก็บดอกโสน นำมารูดออกจากช่อ นำไปล้างน้ำให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ

2. นำแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำตาลปีบ ผสมกัน แล้วค่อยๆ ใส่หัวกะทินวดทีละน้อยจนน้ำตาลละลาย จากนั้นจึงใส่กะทิที่เหลือและน้ำ ใส่ดอกโสนเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ถาดพร้อมนึ่ง

3. นำภาชนะบรรจุดอกโสนที่คลุกเคล้าเสร็จแล้วใส่ลงในซึ้ง แล้วนำไปตั้งบนเตาไฟ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ระหว่างที่รอขนมสุก ให้ขูดมะพร้าวเป็นเส้นๆ พักไว้

4. เมื่อขนมสุกแล้วยกลงจากเตา ตักขนมใส่จาน โรยหน้าด้วยมะพร้าวและน้ำตาลทรายตามใจชอบ

               

ข้อมูลสื่อ

369-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
บทความพิเศษ
รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ