• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลงทะเบียนจดแจ้งผู้พิการ

ที่ผ่านมามีคนเถียงกันว่า เวลาจะไปลงทะเบียนเป็นผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ผู้ด้อยโอกาส กับทางราชการเพื่อรับสิทธิอันพึงได้บางอย่าง ควรใช้คำว่า “ลงทะเบียน หรือ ขึ้นทะเบียน” ดี  อย่างไหนจึงจะถูกต้อง
 ภาษาไทย เป็นภาษาที่ดิ้นได้  และบางครั้งก็มีความหมายหลากหลายในคำเดียวกัน  ในธรรมเนียมปฏิบัติของทางราชการ เราจะใช้คำว่า “ลงทะเบียน” กับปัจเจกบุคคล  อันหมายถึงประชาชน หรือผู้รับบริการที่มาขอจดแจ้งกับหน่วยงานของรัฐเพื่อรับสิทธิอันพึงได้ เช่น ลงทะเบียนเป็นสมาชิกธกส., ลงทะเบียนยื่นจำนำข้าว  แต่จะใช้คำว่า “ขึ้นทะเบียน” กับหน่วยงานหรือบริษัทร้านค้า ที่มาจดแจ้งเพื่อรับทำหน้าที่, รับงานไปทำแทนรัฐ เช่น โรงสีรับจำนำข้าวต้องมาขึ้นทะเบียนกับทางรัฐ, โรงพยาบาลเข้าโครงการบัตรทองต้องมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกลาง


ผู้พิการเป็นผู้ด้อยโอกาสประเภทหนึ่งในสังคม  ไม่ว่าจะในทางการศึกษา, การได้รับสวัสดิการด้านอาชีพ, ด้านรายได้, การได้รับการดูแลจากครอบครัว  ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดให้มีการจดแจ้งลงทะเบียนผู้พิการประเภทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดประเภทของความพิการไว้ 6 ประเภทคือ 
1.  ความพิการทางการเห็น 
2.  ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 
3.  ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 
4.  ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมหรือ ออทิสติก 
5.  ความพิการทางสิติปัญญา 
6.  ความพิการทางการเรียนรู้ 

ให้ประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งขณะนี้จะมีอยู่ประมาณ 8 แสนกว่าคนทั่วประเทศ  ให้ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆที่รัฐกำลังดำเนินการให้  โดยรัฐจะออกบัตรประจำตัวและรหัสหมายเลขให้
 ที่ผ่านมา บางครั้งครอบครัว หรือตัวผู้พิการเองบางราย  ก็ยังมิได้จดแจ้งลงทะเบียนดังกล่าว  เพราะอาจไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร, ความเพิกเฉยถูกทอดทิ้ง, การไม่เห็นถึงความสำคัญหรือคุณค่าของการจดแจ้ง, ความยากลำบากในการเดินทางมาจดแจ้ง  หรือแม้กระทั่งปัญหาความอับอายของพ่อแม่ผู้ปกครอง

 

ประโยชน์ของการจดแจ้งลงทะเบียนเป็นผู้พิการนั้น  มีหลายประการนับตั้งแต่
1. ได้รับเงินช่วยเหลือประจำเดือนๆละ 500 บาท จากโรงพยาบาล

2. ได้รับสิทธิพิเศษในการไปรับการรักษาพยาบาลที่ใดก็ได้ ในโรงพยาบาลรัฐ  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการตามภูมิลำเนา หรือใกล้บ้าน

3. ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือกายอุปกรณ์ เช่น รถเข็น, แว่นตา, เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ  การฝึกสอนบำบัดเพื่อแก้ไขความพิการ เช่น การฝึกพูด, การฝึกกินอาหาร, ฝึกเดินในกรณีเคลื่อนไหวไม่ได้ จากหน่วยงานของรัฐ

4. ได้รับสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือดูแล ด้านการศึกษา และอาชีพตามสมควร


พ่อแม่บางคนมีลูกป่วยเป็นโรคเด็กอยู่ไม่สุข (Hyperactive) หรือโรค Autistic ไม่ยอมพาลูกไปลงทะเบียนจดแจ้งเป็นผู้พิการ เพราะอับอายเพื่อนบ้านและสังคม ว่ามีลูกที่ผิดปกติ  ทั้งๆที่ความจริงแล้วเป็นการจำกัดโอกาสของตัวเอง  ในการที่จะได้รับความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกจากสิทธิหลายอย่างที่พึงจะได้รับดังกล่าวข้างต้น


ขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดให้มีการลงทะเบียนจดแจ้งผู้พิการใหม่อีกรอบหนึ่ง  ทั้งนี้เพื่อเตรียมการที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 500 บาท / เดือน ให้เป็นสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้พิการ  จึงขอเชิญชวนผู้พิการ, ผู้ปกครองหรือครอบครัว  ได้ใส่ใจให้ความสำคัญกับการนำผู้พิการไปจดแจ้งดังกล่าว  โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ให้นำผู้พิการไปรับการตรวจ และออกใบรับรองจากแพทย์ถึงชนิดและประเภทของความพิการ  ก่อนนำไปแนบยื่นประกอบการพิจารณาออกบัตรผู้พิการ ของสำนักงานพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดต่อไป....   
 

Tip : บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

คนพิการตาม พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 หรือคนพิการที่ได้รับการตรวจประเมินว่ามี ความพิการอยู่ในเกณฑ์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดและได้รับการลงทะเบียน เป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง(ท.74)สามารถขอรับบริการเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด  พฤติกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็นและรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้

 

ข้อมูลสื่อ

369-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ