• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

Empowerment กับการเสริมพลังสร้างสุขภาพ

การป้องกันคือการรักษาที่ดีที่สุด หรือ "สร้าง" นำ "ซ่อม"

กระบวนการ "สร้าง" ได้รับความสำคัญมากขึ้น

คำว่า Empowerment ก็เริ่มถูกพูดถึงกันมากขึ้นตามไปด้วย ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะผลักดันแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม

 

ที่มาและความหมายของ Empowerment

คำว่า empower เกิดจากการรวมตัวของคำ 2 คำ คือคำว่า em และคำว่า power
คำว่า em (หรือ en) เป็นคำอุปสรรค (คำเสริมนำหน้าคำเพื่อให้เกิดความหมายใหม่) ที่ให้ความหมายถึง "การทำให้เกิดขึ้น" เมื่อนำมารวมกับคำว่า power ที่แปลว่า "พลัง" จึงเกิดคำว่า  "empower" ซึ่งมีความหมายว่า "ทำให้เกิดพลัง" หรือ "สร้างเสริมพลัง"
"Empowerment" เป็นคำนามของกริยา empower จึงแปลว่า "การสร้างเสริมพลัง" นั่นเอง

 

ความหมายอย่างกว้างของ Empowerment

Empowerment หรือ "การสร้างเสริมพลัง" มีความหมายทั้งกว้างและเจาะจง ลองอ่านคำตอบคำถามข้างล่างนี้ เราก็จะเข้าใจความหมายอย่างกว้างของ Empowerment ได้ชัดเจนขึ้น

ถาม : การสร้างเสริมพลัง คืออะไร?
ตอบ : คือการทำให้เกิด ทำให้มี ทำให้ตระหนัก ทำให้เชื่อมั่น ทำให้ได้ใช้ ได้พัฒนา "ศักยภาพ" ที่มีอยู่ในตน ให้แปรรูปออกมาเป็นพลังที่สร้างสรรค์

ถาม : สร้างเสริมพลังให้ใคร?
ตอบ : ก็สร้างเสริมให้กันได้ตั้งแต่ ให้ตนเอง ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงาน หรือองค์กร

ถาม : พลังอะไร?
ตอบ : พลังอันหลากหลาย เช่น พลังกาย พลังใจ พลังความคิด พลังปัญญา พลังทางการบริหาร พลังทางเศรษฐกิจ พลังทางการเมือง พลังทางสังคม พลังทางจิตวิญญาณ

ถาม : จะสร้างเสริมพลังไปทำไม?
ตอบ : ให้เกิดมีพลังทำในสิ่งที่ควรทำอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และมีพลังที่จะพัฒนาพลังนั้นให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป

จะสังเกตได้ว่า ความหมายที่สำคัญยิ่งของ Empowerment คือ การกระตุ้นเร้าให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักในศักยภาพที่ตนมี และดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่และเต็มใจ เพื่อปรับปรุงพัฒนาวิถีชีวิต วิถีการทำงาน ให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ความหมายอย่างเจาะจงของ Empowerment

ส่วนความหมายอย่างเจาะจงของ Empowerment คือการพูดถึงการเสริมพลังในขอบเขตเนื้อหา และกลุ่มเป้าหมายที่เจาะจงมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่มีการนำมาใช้กันมากในต่างประเทศก็คือ "Empowerment ทางด้านการบริหารจัดการ" หรือที่นิยมเรียกว่า "การสร้างเสริมพลังอำนาจ" (แนวคิดแบบตะวันตกมักออกแนว "อำนาจนิยม") หมายถึง การสร้างกระบวนวิธีที่ทำให้คนทำงานในองค์กรได้ดึงเอาความสามารถของตนออกมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่พลังอำนาจที่ใช้ในการบริหารจัดการงานในหน่วยงานหรือองค์กรเป็นหลัก

ปัจจุบันนี้หน่วยงานทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุขของไทย ก็ได้เริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว

 

แนวคิดเรื่อง "พลังอำนาจ"

คนที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือต้องทำงานผ่านผู้อื่น (เช่นผู้บริหารทั้งหลาย) ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นจะต้องได้รับการร่วมมือด้วยดีจากผู้อื่นด้วยทั้งนั้น

"พลังอำนาจ" ในการทำให้ผู้อื่นทำตามจุดมุ่งหมายของตนเองจึงมีความสำคัญมาก แต่ "อำนาจ" ชนิดไหนเล่าที่เหมาะสมและให้ผลได้ดีทั้งระยะสั้นและต่อเนื่องไประยะยาว

ถ้าเฝ้าดูความเป็นไปของอำนาจในประวัติศาสตร์โลก จะพบว่ามีการใช้ "อำนาจ" ที่มีพลังมหาศาลอยู่ ๒ ชนิด คืออำนาจสมมุติ และอำนาจที่แท้จริง

 

อำนาจสมมุติ

อำนาจสมมุติคืออำนาจที่ได้รับการมอบหมาย แต่งตั้ง สถาปนา (หรือยึดอำนาจ) ขึ้น จากคน กลุ่มบุคคล เช่น ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ผู้จัดการมีอำนาจสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชา หรือจอมเผด็จการฮิตเลอร์มีอำนาจสั่งประหารใครก็ตามที่ตนรังเกียจหรือเป็นภัยคุกคามต่อตน 

อำนาจเหล่านี้มีลักษณะชั่วคราวไม่ยั่งยืน มีอยู่ได้ใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่นานก็แปรเปลี่ยนไป และที่สำคัญ ต้อง "ขึ้นอยู่กับผู้รับรองอำนาจ" นั้นด้วย ถ้ามีผู้ยอมรับอำนาจนั้นอยู่ อำนาจนั้นก็ใช้ได้ ถ้าไม่มีผู้ยอมรับอำนาจนั้นแล้ว อำนาจนั้นก็หมดสิ้นไป จึงเรียกได้ว่าเป็นเพียง "อำนาจโดยสมมุติ" เท่านั้นเอง
ปัจจุบัน เวลาพูดถึงใครว่าเป็น "ผู้มีอำนาจ" มักจะหมายถึงอำนาจในลักษณะนี้ ซึ่งหมายถึงอำนาจที่ใช้จัดการกับคนอื่น "สั่งการให้คนอื่นทำสิ่งที่ตนต้องการ" (ผู้บังคับบัญชา = บังคับ+บัญชา) ผู้เผด็จการทั้งหลายนิยมใช้อำนาจชนิดนี้เพื่อสร้าง "ความกลัว" ขึ้นเพื่อปกครอง ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า "ถ้าเราสามารถทำให้ใครกลัวเราได้  เราก็มีอำนาจเหนือคนคนนั้น"  

แต่เขามักลืมความจริงข้อหนึ่งว่าความกลัวจะสร้างความไม่พอใจซึ่งสะสมเป็น "ความโกรธ" และความโกรธที่คุกรุ่นสะสมตัวกันมากเข้าก็จะกลั่นตัวเป็น "ความเกลียด" พอความเกลียดสะสมตัวรุนแรงขึ้นมาเมื่อไร สิ่งที่ตามมาก็คือ "ความไม่กลัว" (อันเราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์โลก ของการลุกขึ้นสู้อย่างอาจหาญของผู้ที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงเพื่อล้มล้างการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม)เมื่อความไม่กลัวปรากฏตัวขึ้น "อำนาจที่ต้องอาศัยความกลัว" ก็หมดสิ้นไป

มีอำนาจ → สร้างความกลัว → ความโกรธ→ ความเกลียด →ความไม่กลัว→หมดอำนาจ

เพราะฉะนั้น อยากให้เป็นข้อเตือนใจ "ผู้มีอำนาจ" (ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจระดับการบ้านหรือการเมือง) ทั้งหลาย ให้ระลึกถึงความจริงนี้ให้ดีๆ เพราะวันที่หมดอำนาจวาสนานั้น "กรรม" ที่ทำไว้ จะส่งผลคืนสนองได้รวดเร็วยิ่งกว่าศาลตัดสินคดีทุจริตของผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายเท่านัก ถ้าฉลาด (มีปัญญา) พอ ก็ขอแนะให้ใช้ "อำนาจสมมุติ" ที่มีอยู่ตอนนี้  สร้าง "อำนาจที่แท้จริง" เสียโดยไวเถิด

 

อำนาจที่แท้จริง

เป็นอำนาจตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง (สำนวนจีนว่าเป็น "อำนาจของฟ้าดิน") มีพลัง มีความมั่นคงและยั่งยืน มากกว่าอำนาจสมมุติหลายร้อยหลายพันเท่า 

ตัวอย่างของอำนาจชนิดนี้ ก็คือ "อำนาจของความรัก" ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการสร้างความรักความศรัทธาให้เกิดขึ้นในจิตใจคนได้  ทำให้คนรักใคร่ ชื่นชม นับถือ และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม เป็นอำนาจที่จะทำให้คน "ทำสิ่งที่ควรทำ" ให้เรา ให้โลก ให้สังคม "ด้วยความเต็มใจ"   เป็นอำนาจของ "ผู้นำ" ที่แท้จริง (ไม่ใช่อำนาจแบบ "ผู้บังคับบัญชา") จึงเป็นพลังตามธรรมชาติที่ทรงพลังและยั่งยืน

แล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้ใครมารักเราได้ล่ะ? คำตอบคือ "ทำไม่ได้หรอก" เพราะการที่ใครจะรักใคร มันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวของคนแต่ละคน เราทำได้แต่เพียง "สร้างความรักที่จริงใจและแจกจ่ายความรักนั้นออกไป" เท่านั้นเอง เมื่อใดที่เรามีความรัก ความหวังดี อันยิ่งใหญ่ (มหาเมตตา) ในจิตใจของเรา และเราได้ลงมืออย่างสุดกำลัง เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนด้วยความรักนั้น (มหากรุณา) เมื่อนั้น กระแสแห่งรักบริสุทธิ์ของเราก็จะมีพลังที่จะชำแรกแทรกซึมเข้าสู่จิตใจสู่การรับรู้ของผู้คนได้เอง

ตัวอย่างเช่น ท่านมหาตมะ คานธี ที่ใช้วิถีชีวิตแห่งการเกื้อกูลตลอดชีวิต สร้าง "พลังแห่งรักและศรัทธา" ปลุกใจคนอินเดียทั้งชาติ ให้รวมพลังกันพาประเทศประกาศเอกราชจากอังกฤษได้ หรือที่ใกล้ตัวกว่านั้น ก็ดู "ในหลวงของเรา" นี่แหละ ทรงเป็น "มหาราช มหาบุรุษ" ผู้เป็นที่รวมจิตใจ เป็นที่รักและศรัทธาของคนไทยทั้งชาติ ชนิดที่ไม่อาจหาผู้ใดเสมอเหมือนได้เลย

มีความดี→สร้างประโยชน์ →ความรัก →ศรัทธา →ทำตาม/ทำให้ด้วยความเต็มใจ→อำนาจที่ยั่งยืน

อำนาจที่แท้จริงชนิดนี้ ไม่มีวาระเกษียณอายุราชการ ไม่ขึ้นกับวาระการดำรงตำแหน่ง  จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง  คนเขาก็ยังคงรักใคร่นับถือ และพร้อมที่จะทำตามหรือทำให้ตลอดไป    ก็หวังว่าผู้อ่านทั้งหลายจะเห็นความสำคัญและหมั่นสั่งสม "พลังอำนาจที่แท้จริง" ชนิดนี้ให้เกิดขึ้นและเพิ่มพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป

 

การเสริมพลังสร้างสุขภาพ (Health Empowerment)

เมื่อนำเรื่องของ "การสร้างเสริมพลัง" มาใช้ใน "มิติทางสุขภาพ" ก็จะได้ศัพท์คำใหม่คือ Health Empowerment หรือเรียกเป็นภาษาไทยเพราะๆ ว่า "การเสริมพลังสร้างสุขภาพ" ซึ่งหมายถึง กระบวนวิธีที่จะให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ภายในตน มาใช้ในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

"การเสริมพลังสร้างสุขภาพ" เป็นกลไกที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของแนวทาง "สร้าง" นำ "ซ่อม" ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านสุขภาพองค์รวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือปัญหาด้านสุขภาพองค์รวมที่ร้ายแรง ที่อาจจะเกิดตามมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง

เปรียบได้กับการใช้รถยนต์โดยไม่เคยใส่ใจตรวจเช็กสภาพเครื่อง ไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่เคยเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ ไม่เคยตรวจเช็กน้ำมันเบรก ก็รับประกันได้เลยว่า รถก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลงมากๆ มีปัญหาขึ้นมาก็ต้องเข้าอู่ซ่อมกันนานๆ เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง และที่สำคัญอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

ในแง่ของสุขภาพ การ "สร้างสุขภาพ" กันไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้ไม่ต้องเข้าอู่ "ซ่อมสุขภาพ" ตอนที่สุขภาพเสียหายไปหนักหนาแล้ว เพราะไม่แน่หรอกนะว่าเข้าอู่ซ่อมแล้วจะ "ซ่อมได้" ทุกปัญหาทุกครั้งไป (ของบางอย่างเสียแล้วเสียเลย)

 

แนวทางสร้างเสริมสุขภาพ-คนธรรมดาคือพระเอก

กระแสหลักเรื่องสุขภาพของสังคมไทยที่ผ่านๆ มา เราให้ความสำคัญกับการ "ซ่อม" นำหน้า คือใช้ชีวิตอย่างไม่ค่อยจะใส่ใจดูแลนัก พอป่วยไข้ขึ้นมาก็วิ่งโร่ไปหาคุณหมอให้ช่วยรักษาให้ (จนคุณหมอเองก็จะป่วยไข้ตามไปด้วยแล้ว เพราะรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมหาศาลไม่ไหว) แนวทางอย่างนี้ คุณหมอเป็นพระเอกชัวร์  

แต่ทิศทางของการสร้างเสริมสุขภาพนั้น คุณหมอทำให้ไม่ได้ เป็นเรื่องตัวใครตัวท่าน  เพราะสุขภาพขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตทั้งหมดของคนคนนั้น ใส่ใจดูแลดี ก็มีสุขภาพดี ไม่สนใจดูแล ก็ได้สุขภาพแย่ๆ ไปตามที่เป็น บนทิศทางการดูแสสุขภาพเช่นนี้ คนธรรมดาสามัญเป็นพระเอกเต็มตัว  คุณหมอเป็นได้เพียง "เพื่อนพึ่งพายามยาก" เท่านั้น

หลายๆ คนพอได้รับแจ้งว่า "คุณนั่นแหละคือพระเอก" ปัญหาที่ตามมาก็คือ "จริงหรือ? เป็นพระเอกได้จริงๆ หรือ?" "เป็นอย่างไรล่ะ ไม่เคยเป็น ทำตัวไม่ถูก" เพราะเคยแต่รับบทเป็นตัวประกอบมาตลอดชีวิต เรามาลองดูกันว่าเป็นพระเอกนี่ควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

 

คุณสมบัติของพระเอก

1. พระเอกต้องมุ่งมั่น
ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากสภาพที่ต่ำต้อย ยากลำบาก หรือมีอุปสรรคขวากหนามใดๆ คนเป็นพระเอกจะไม่ท้อแท้หรือท้อถอย จะดำรงจิตใจที่มุ่งมั่น ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งมวล อย่างไม่ครั่นคร้ามลังเล

2. พระเอกต้องฉลาด
พระเอกจะคิดเป็น รู้จักสังเกตเรียนรู้ เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ มองเห็นภาพรวม รู้เท่าทันผู้ร้าย มองเห็นปัญหาและทางแก้ปัญหา (ในขณะที่คนอื่นมองไม่ออกหรือคิดไม่ถึง)

3. พระเอกต้องมีบทบาทนำ
นี่เป็นคุณสมบัติข้อสำคัญที่สุดของการเป็นพระเอก ถ้าไม่มีบทบาทนำ ก็คงไม่มีใครเขาเรียกว่าเป็นพระเอก  เพราะฉะนั้น พระเอกต้องมีความเชื่อมั่นที่จะ "พึ่งพาตนเอง" แก้ปัญหาด้วยตนเอง แสดงศักยภาพ ใช้ความสามารถที่มี ทำสิ่งที่ควรทำ แก้ไขสิ่งที่ควรแก้ อย่างรวดเร็วและไม่รั้งรอ

4. พระเอกต้องทำได้สำเร็จ
ภาพยนตร์จะจบเรื่องไม่ได้  ถ้าภารกิจของพระเอกยังไม่บรรลุเป้าหมาย  คนเป็นพระเอกจะใช้คุณสมบัติทุกข้อเพื่อที่จะบากบั่นพากเพียร ดำเนินภารกิจต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง (แม้อาจจะต้องล้มแล้วล้มอีกกี่ครั้งก็ตาม)  จนบรรลุถึงความสำเร็จได้อย่างน่าชื่นชม

สรุปอีกครั้งได้ว่า คุณสมบัติของพระเอก ที่สำคัญมีดังนี้ คือ

                    มุ่งมั่น   ฉลาด   มีบทบาทนำ   ทำได้สำเร็จ

ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนมีอยู่แล้วในตนเอง เพียงแต่อาจจะอ่อนกำลังไปหน่อย (เพราะไม่ค่อยได้ใช้) ควรต้องกลับมาให้ความสำคัญ และดึงเอาศักยภาพเหล่านี้ออกมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้การ "สร้าง" สุขภาพของตน ปรากฏผลอย่างยั่งยืน

 

สุขภาพองค์รวม

เมื่อก่อน เวลาพูดถึง "สุขภาพ" ก็นึกถึงแค่ "ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้" เท่านั้นจบ   ปัจจุบันเราพบแล้วว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องมองสุขภาพเป็น "สุขภาวะ" หลายๆ ด้านประกอบกันอยู่ ดังนี้

สุขภาวะทางกาย : มีร่างกายที่แข็งแรง มีพลานามัยดี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน

สุขภาวะทางจิต : มีจิตใจแจ่มใส เบิกบาน มีความสุขสงบในจิตใจ

สุขภาวะทางสังคม : มีความสัมพันธ์ที่ดี (เป็นมิตรและเกื้อกูล) ต่อผู้อื่น ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ปัญญา) : มีปัญญา เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต มีความมั่นคงทางอารมณ์ (วุฒิภาวะ) มีศรัทธาในความดีและยึดมั่นในวิถีชีวิตที่ดีงาม

สุขภาวะทั้ง 4 ด้าน เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง สัมพันธ์และส่งผลเกระทบต่อกันเป็นหนึ่งเดียว  ประกอบรวมกันเป็น "สุขภาพองค์รวม" ที่มิอาจแยกจากกัน การจะ "สร้างเสริมสุขภาพ" จึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ นี้ ให้ครบถ้วน รอบด้าน และสอดคล้องส่งผลเกื้อกูลกัน

 

"พลังเอราวัณ 3 ประสาน" พลังสู่ความสำเร็จ

การจะทำอะไรให้สำเร็จนั้น ที่จริงไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้รู้เคล็ดวิชาและหมั่นฝึกปรือให้เข้าขั้นเท่านั้น เคล็ดลับสำคัญที่จะขอแอบเอามาฝากกันวันนี้คือ "พลังเอราวัณ 3 ประสาน" ซึ่งเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถนำไปใช้นำทางสู่ความสำเร็จทุกชนิดในโลกได้อย่างมีประสิทธิผล

"เอราวัณ" เป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ (ซึ่งเป็นมหาเทพของเหล่าเทพทั้งปวง) เป็นพาหนะของผู้ยิ่งใหญ่ จึงมีความหมายถึง การเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพระดับสุดยอด ในการนำพาเราไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ช้างเอราวัณเป็นช้าง 3 เศียรที่ทรงพลานุภาพยิ่ง เปรียบได้กับพลังสำคัญ 3 ชนิด ที่จะต้องผูกพันเชื่อมโยงทำงานร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนเป็นเศียรทั้ง 3 ของช้างตัวเดียวกัน
องค์ประกอบสู่ความสำเร็จของ "พลังเอราวัณ 3 ประสาน" ก็คือ...
1. พลังใจ (heart)
2. พลังสมอง (head)
3. พลังทำ (ปฏิบัติ) (hand)

เวลาที่ต้องการจะทำอะไรให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ขอให้คำนึงถึงและสร้างเสริมพลังทั้ง ๓ นี้ให้ครบถ้วน  (ถ้าจะจำง่ายๆ ก็ "heart-head-hand" นี่แหละ) ใช้ได้ทั้งกับการเปลี่ยนแปลงตนเองและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

 

แค่ให้ความ "รู้" ยังไม่พอ   ต้องสร้างความ "ตระหนักรู้"

ปัจจุบันนี้ เวลาต้องการให้ใครเปลี่ยนแปลงอะไร ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการให้ "ความรู้"    ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี แต่มักจะได้ผลน้อย เพราะคนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนหรือไม่สนใจจะเปลี่ยนนั้น ถึงรู้ (ว่าไม่)ดีก็ไม่เปลี่ยน! เพราะฉะนั้น การ "สร้างความพร้อมทางด้านจิตใจ" หรือ "สร้างจิตใจให้เกิดความพร้อม" จึงเป็น "ความสำคัญลำดับแรก" ที่ต้องมาก่อน (หรืออย่างน้อยก็มาพร้อมๆ กับ) การให้ความรู้

                       "ตระหนักรู้"  =  "ตระหนัก" + "รู้"

 "ตระหนัก" คือ เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ ว่า "มันสำคัญจริงๆ นะ" ถึงขั้นยอมรับลงไปถึงจิตถึงใจ อันจะทำให้ "มีใจ สนใจ ใส่ใจ ตั้งใจ" จนทำให้เกิดความต้องการ ความมุ่งมั่น ที่จะเข้าถึงคุณค่านั้น

เมื่อ "ตระหนัก" แล้ว สนใจตั้งใจแล้ว "ความรู้" ที่ได้จึงจะเป็นสิ่งที่มีค่า มีความหมาย  เพราะจะเป็นเครื่องมือที่เขาอยากได้ เพื่อใช้ในการสร้างคุณค่าที่ต้องการ นั่นคือ นำความรู้ที่ได้ไปลงมือ "ปฏิบัติ" ให้บังเกิดผลขึ้นมาได้จริงๆ

                               ตระหนัก" + "รู้" →"ทำ"             

                      สร้างแรงใจ →ให้ความรู้ →นำสู่ปฏิบัติ

ช้างเอราวัณต้องมี 3 เศียร (ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น เอราวัณหัวขาด) การจะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องทำทั้ง 3 เรื่องสำคัญ ให้ครบถ้วน เพียงพอ ต้องสร้างพลังทั้ง 3 พลังให้เข้มแข็งและสอดประสานกัน แล้วจะเกิดพลังขับเคลื่อนมหาศาลที่ทะลุทะลวงอุปสรรคทุกชนิดสู่ความสำเร็จได้จริง

เรื่องที่ 1 ต้องสร้างจิตใจให้มีความพร้อม (พลังใจ) - (heart)
: ให้สนใจใส่ใจ ให้เห็นคุณค่า ให้รักจะทำ ให้มุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดหมาย

เรื่องที่ 2 ต้องมีความรู้ความเข้าใจ (พลังสมอง) - (Head)
: ให้เกิดความรู้ ความคิด มุมมอง การวิเคราะห์วิจัย การเชื่อมโยง การเห็นภาพรวม 

เรื่องที่ 3 ต้องลงมือปฏิบัติ (พลังทำ) - (hand)
: ทดลองฝึกฝน สร้างวินัย ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุงแก้ไข พัฒนาสร้างสรรค์
ที่ว่า "พลังเอราวัณ 3 ประสาน" เป็นพลังสำคัญแห่งความสำเร็จนั้น ลองทบทวนดูก็ได้ว่า อะไรๆ ที่ทำแล้วไม่สำเร็จนั้น เป็นเพราะอะไร แล้วจะพบเองว่า ต้องเกิดจากการขาดพลังตัวใดตัวหนึ่ง (หรืออาจจะหลายตัว) ใน "พลังเอราวัณ 3 ประสาน" นี่แหละ เช่น "มีความรู้แต่ไม่อยากทำ" "สนใจจะทำแต่ไม่มีความรู้" "ใฝ่ฝันจะทำและมีความรู้อยู่แล้วมากมาย แต่รีๆ รอๆ ไม่ได้ลงมือทำจริงสักที" เช่นนี้เองที่เป็นที่มาของความไม่สำเร็จทั้งหลาย ถ้าวิเคราะห์ให้เจอว่าพลังชนิดไหนที่ยังอ่อนแรงอยู่ แล้วก็เร่งสร้างเสริมเติมเต็มเสีย คนเราถ้า "มีใจเต็มร้อย มีความรู้เต็มเปี่ยม และลงมือทำเต็มที่" จะทำอะไรก็สำเร็จได้แน่นอน

 

การเสริมพลังสร้างสุขภาพ โดยใช้ "พลังเอราวัณ 3 ประสาน

ถึงตอนนี้ เรารู้แล้วว่าสุขภาพองค์รวมนั้นคือ การสร้างเสริมสุขภาวะให้ครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน เรายังรู้จัก "พลังเอราวัณ 3 ประสาน" ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ อันเป็นเคล็ดลับ เป็นเครื่องมือสร้างพลังสู่ความสำเร็จ ทีนี้เราก็ลองเอาเครื่องมือที่เรารู้จักนี้ มาประยุกต์เข้ากับเนื้อหาหรือเป้าหมายทางสุขภาพองค์รวมของเรา เราก็จะพบว่า มีพื้นที่ของสิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญหรือเป็นเป้าหมายการปฏิบัติการของเรา อยู่ 12 พื้นที่ ดังนี้

  

กิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นกิจกรรมที่หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้จัด หรืออาจเป็นกิจกรรมส่วนบุคคลของผู้รักสุขภาพเป็นผู้ทำเองและทำอยู่แล้วเป็นปกติก็ได้ บางกิจกรรมอาจเน้นวัตถุประสงค์ที่อยู่ในพื้นที่เดียวบนตาราง ขณะที่บางกิจกรรมอาจส่งผลครอบคลุมพื้นที่หลายพื้นที่ก็เป็นได้

เช่น กิจกรรม "เดินออกกำลังกายยามเช้า" และกิจกรรม "เต้นแอโรบิกยามเย็น" ก็ถือเป็น "กิจกรรมภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางกาย" ด้วยกัน (จะอยู่ล่างสุดซ้ายสุดในตารางด้วยกัน) เพียงแต่การเดินยามเช้าเป็นเรื่องส่วนบุคคล การเต้นแอโรบิกเป็นเรื่องที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานหรือชุมชน 

ส่วนกิจกรรม "Self-help Group สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง" (ซึ่งเป็นการประชุมพบปะอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน) ถือเป็นกิจกรรมที่ "สร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะทางกาย" กับเป็น "กิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต-ทางสังคม" ไปพร้อมๆ กัน เพราะผู้เข้าร่วมได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับโรคที่มีประสบการณ์ตรง ได้แรงใจจากความสำเร็จของเพื่อนร่วมโรค ช่วยผ่อนคลายความกังวล และมีความสัมพันธ์ที่ดี มีเพื่อนเพิ่มขึ้นที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ยิ่งกว่านั้น สำหรับผู้ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่มีประโยชน์ให้ผู้อื่น ก็จะตระหนักถึง "ความมีคุณค่าในตนเองจากการทำสิ่งที่ดีงาม" อันถือเป็น "กิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (ปัญญา)" ด้วย จะเห็นได้ว่า กิจกรรมนี้ครอบคลุมหลายพื้นที่ในตาราง (ถือเป็นกิจกรรมที่ให้ผลในหลายมิติ)


ตารางข้างต้นนี้อาจใช้เป็น "แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ" ได้ทั้งระดับบุคคลและองค์กรเพื่อให้รับรู้และตระหนักว่าการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมนั้น มีหลายเรื่องหลายมิติที่สำคัญและสัมพันธ์ ส่งผลต่อกันและกัน การทำเรื่องใดเพียงเรื่องเดียวเป็นหลักโดยละเลยมิติสัมพันธ์ด้านอื่นๆ จะไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสุขภาวะแบบองค์รวม

จากตารางนี้ เราสามารถใช้เพื่อตรวจสอบการใช้ชีวิตของเรา (ระดับบุคคล) หรือขอบข่ายการทำงานด้านสุขภาพขององค์กรว่า เท่าที่ทำอยู่ เป็นอยู่ ทำอยู่ตรงไหนแค่ไหน ยังละเลยหรือไม่ครอบคลุมเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้ "สร้างเสริมเติมเต็ม" ส่วนที่ยังพร่องยังขาดอยู่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์  เหมือนจิ๊กซอว์แต่ละตัวเมื่อถูกวางลงอย่างถูกต้องตรงตำแหน่ง ภาพรวมที่มีความหมายก็จะค่อยๆ ปรากฏสมบูรณ์มากขึ้นทุกครั้งไป 


สรุปว่า การสร้างเสริมสุขภาพนั้น คนธรรมดาที่รักสุขภาพนี่แหละเป็นพระเอก และ พระเอกคนนี้ไม่ได้ขี่ม้าขาวแต่ขี่ช้างเอราวัณ ดังนั้น ถ้ารู้จักใช้ "พลังเอราวัณ ๓ ประสาน" กับ "การเสริมพลังสร้างสุขภาพ" อย่างถูกต้องแล้ว ภาพรวมของชีวิตที่ทุกคนปรารถนา คือชีวิตที่มีคุณภาพ มีสุขภาพ (สุขภาวะองค์รวม) ที่แข็งแรง มีคุณค่า (ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น) และมีความสุขแท้ที่ยั่งยืน ก็จะ บรรลุถึงได้ด้วยพลังที่มีอยู่แล้วของเราแต่ละคน นั่นเอง
 

ข้อมูลสื่อ

368-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 368
ธันวาคม 2552
บทความพิเศษ