• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปทุมมา ไม้ดอกพันธ์ุไทย

เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ
ปทุมมา ไม้ดอกพันธุ์ไทยในตลาดโลก

ชาวต่างประเทศนิยมปทุมมามากกว่าคนไทย และเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "ทิวลิปสยาม"
ฉบับที่แล้วได้นำเสนอไม้ดอกพันธุ์ไทยแท้ชนิดหนึ่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาจากป่าธรรมชาติจนสามารถส่งออก สู่ตลาดโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ นั่นคือกระเจียว อันเป็นพืชในวงศ์ Curcuma เช่นเดียวกับขมิ้น และขิง  พืชในวงศ์นี้อีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำออกมาจากป่าธรรมชาติ และพัฒนาเป็นไม้ดอกส่งออกที่มีชื่อเสียงคู่กันกับกระเจียว ซึ่งจะนำมาเสนอในตอนนี้ คือปทุมมา

ปทุมมา : ช้างเผือกจากป่าไทย
ปทุมมา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma alismatifolia อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับกระเจียว ขิง ขมิ้น ฯลฯ เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดินทำหน้าที่สะสมอาหาร เรียกว่า เหง้า หรือหัว 
ราก เป็นรากฝอย รากบางส่วนสะสมอาหารใกล้ปลายราก ทำให้รากบวมเป็นตุ่มขนาดใหญ่สีขาว  
ลำต้น เป็นลำต้นเทียมเกิดจากตาข้างของเหง้า ประกอบด้วย กาบใบห่อรวมตัวกันแน่น งอกพ้นดินขึ้นมาในฤดูฝน
ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหอก มีขนาดต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ดอก ออกที่ปลายยอดของลำต้นเทียม ลักษณะเป็นช่อดอกแน่น มีใบประดับโอบรอบโคนช่อดอกย่อย ทำให้เห็นใบประดับเรียงซ้อนกัน โดยเรียงกันเป็นเกลียวหรือเป็นแถว ช่อดอกมีลักษณะคล้ายทรงกระบอกหรือกระสวย 
ส่วนโคนของใบประดับเชื่อมติดกันเกิดเป็นลักษณะคล้ายถ้วยซ้อนกัน  ดอกจริงจะอยู่ในซอกของใบประดับ แต่ละใบประดับจะมีดอกอยู่รวมกันหลายดอก ดอกในช่อเดียวกันจะบานไม่พร้อมกัน  ปกติปทุมมาจะออกดอกในฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม  และจะทิ้งดอกและใบเหลือแต่เหง้า หรือลำต้นใต้ดินในฤดูหนาว  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นระยะพักตัว จนถึงฤดูฝนจึงงอกใบขึ้นพ้นพื้นดินอีกครั้งหนึ่ง

ปทุมมามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางส่วนของภาคตะวันตกของไทยประวัติของปทุมมาเริ่มจาก พระยาวินิจวนันดร พบดอกไม้พื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อท้องถิ่น ว่า กระเจียวบัว เพราะรูปร่างช่อดอกคล้ายดอกบัวจึงนำไปถวาย พระวินัยโกศล วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ จึงเปลี่ยนจากกระเจียวบัว เป็นปทุมมา ต่อมา ดร.พิศิษฐ์  วรอุไร ได้นำปทุมมาขึ้นไปปลูกในพื้นที่วิจัยของโครงการหลวงห้วยทุ่งจ๊อ ราวปี พ.ศ.๒๕๑๙

ปทุมมาต้นนั้นได้ชื่อว่า พันธุ์เชียงใหม่ และเริ่มมีการส่งออกเหง้าของปทุมมาพันธุ์นี้ไปต่างประเทศครั้งแรก ราวปี พ.ศ.๒๕๒๘ โดยคุณอุดร คำหอมหวาน
ต่างประเทศให้ความนิยมปทุมมามากกว่าคนไทยเองเสียอีก โดยนิยมเรียกปทุมมาเป็นภาษาอังกฤษว่า Siam Tulip หรือทิวลิปสยามนั่นเอง เนื่องจากมีลักษณะคล้ายต้นทิวลิปหลายอย่าง เช่น ปลูกจากเหง้า มีลำต้นเทียม และดอกคล้ายบัว เป็นต้น 
 

ข้อมูลสื่อ

338-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร