• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

แพทย์แผนจีน
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ มองจากทัศนะแพทย์แผนจีน (๒)

ประสบการณ์ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บและการดำรงชีพ ทำให้ก่อเกิดแนวคิดการดูแลสุขภาพในหลายๆ ด้านทัศนะแพทย์จีนต่ออาหารและยา
การลองถูกลองผิดในการเสาะหาว่าอะไรคืออาหาร ทำให้มนุษย์ค้นพบยาในช่วงเวลาเดียวกัน พืชและสัตว์บางอย่างกินแล้วทำให้อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นพิษ บางอย่างกินไปแล้วรู้สึกสดชื่น แข็งแรง ทำให้หายหรือบรรเทาจากการเจ็บป่วยก็จัดเป็นอาหารหรือยา คนจีนเรียกพืชที่มีคุณสมบัติทางยาว่า "เปิ๋นเฉ่า"
และเป็นที่มาของ "อาหารและยามีแหล่งที่มาเดียวกัน"

วิวัฒนาการในการใช้อาหารเป็นยาของจีนมีมาช้า นานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ตัวอย่างเช่น
ราชวงศ์ซาง () (๑๖๐๐-๑๑๐๐ ก่อนคริสต์ศักราช) มีเสนาบดีชื่อ ยี่ยิน มีความเชี่ยวชาญในการปรุงอาหารเพื่อการรักษา ได้เขียนหนังสือชื่อ ทัวเย่ลุ่น
ราชวงศ์โจว () (๑๑๐๐-๒๒๑ ก่อนคริสต์ศักราช) มีการจัดแบ่งฝ่ายแพทย์เป็น ๔ ฝ่าย ซึ่งมีการแพทย์ฝ่ายโภชนาการรวมอยู่ด้วย มีหน้าที่รับผิดชอบปรุงอาหารเพื่อการรักษาโรคและบำรุงร่างกาย
ราชวงศ์สุย-ถัง (ค.ศ.๕๘๑-๙๐๗)
แพทย์จีนชื่อดัง ซุนซือเหมี่ยว ได้เขียนหนังสือชื่อ เชียนจินเอี้ยวฝาง ซึ่งมีบทที่เกี่ยวข้องกับ "โภชนบำบัด" บางข้อความกล่าวถึงบทบาทของยาและอาหาร เช่น ฤทธิ์ของยารุนแรง เปรียบเสมือนการใช้กำลังทหาร ซึ่งเป็นการทำลาย เกิดความเสียหายง่าย แต่การใช้อาหารมีความนุ่มนวลกว่า
  อาหารสามารถขจัดเสียชี่ (สิ่งก่อโรค) บำรุงอวัยวะภายใน ผ่อนคลายจิตอารมณ์ทำให้เลือดและพลังไหลคล่อง
  ถ้าจะรักษาโรคให้ใช้อาหารรักษาก่อน ถ้ารักษาด้วยอาหารไม่หาย จึงค่อยพิจารณาการใช้ยา
ซุนซือเหมี่ยว พบว่าการกินข้าวกล้องช่วยรักษาโรคเหน็บชาได้
อาหารสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลและต่อมไทรอยด์จากสัตว์รักษาโรคคอพอก
ตับของสัตว์รักษาตามัวในที่มืด
รกสัตว์ใช้รักษาวัณโรค
ราชวงศ์ถัง เหมิ้งสี่  ได้เขียนตำราเกี่ยวกับโภชนบำบัด เล่มแรก ชื่อ "สือเหลียวเปิ่นเฉ่า"
ราชวงศ์หยวน  (ค.ศ.๑๒๖๐-๑๓๖๘) พ่อครัวเอกของราชสำนัก ฮู-ซือ-ฮุ่ย  ในปี ค.ศ. ๑๓๓๐ ได้เขียนหนังสือตำราเกี่ยวกับโภชนบำบัด เล่มสมบูรณ์เนื้อหาเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยการบริโภค ตำรับอาหารเพื่อการรักษาโรค ชื่อ ยิ่น-ซ่าน-เจิ้ง-เอี้ย
ราชวงศ์หมิง  (ค.ศ.๑๒๖๘-๑๖๔๔)  หลี่สื่อเจิ่น (พ.ศ.๒๐๖๑-๒๑๓๖) ผู้เขียน   เปิ่นเฉ่ากัวมู่  ได้กล่าวถึงสมุนไพรที่เป็นพืชและสัตว์อยู่รวมกันกว่า ๑,๘๙๒ ชนิด สมุนไพรบางชนิดใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันได้
      
ลักษณะพิเศษของอาหารและยา
ลักษณะพิเศษของอาหารและยา ตามทัศนะแพทย์ แผนจีน
๑. อาหารและยามีคุณสมบัติทั้ง ๔ คือเย็น ค่อนข้างเย็น อุ่น ร้อน
๒. อาหารและยา มีรสทั้ง ๕ คือ หวาน เผ็ด เปรี้ยว ขม เค็ม (รสจืดจัดอยู่ในหวาน รสฝาดจัดอยู่ในเปรี้ยว)
๓. อาหารและยามีการเข้าเส้นลมปราณ หรือเข้าสู่อวัยวะภายในที่แน่นอน
๔. อาหารและยามีกำหนดกลไกการเคลื่อนที่พลังของร่างกาย (การขึ้น-ลง เข้าใน ออกนอก) 
      
จุดเด่นของการป้องกันและรักษาของแพทย์แผนจีน
การแพทย์จีนมีจุดเด่นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การปรับปรุงสมดุลแบบองค์รวม 
กลไกการเกิดโรค เกิดจากพลังพื้นฐานของร่างกาย  (เจิ้งชี่ ) อ่อนแอ ปัจจัยก่อโรค (เสียชี่) แข็งแกร่งกว่า การปรับสมดุลจึงมุ่งเน้น ๒ ด้าน คือการขจัดเสี่ยชี่ และบำรุงเจิ้งชี่ ปรับสมดุลยินหยาง
มองความสัมพันธ์เชื่อมกันของส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตด้วย
๒. การวินิจฉัยแยกแยะสภาพผู้ป่วย
เนื่องจากพื้นฐานร่างกาย ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมของแต่ละปัจเจกชนต่างกัน การเลือกใช้อาหารหรือ ยาให้เหมาะสม จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยแยกแยะสภาพ ที่เป็นจริงจึงจะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ แพทย์จีนในวิธีการวินิจฉัยทั้ง ๔ มอง ดม ฟัง  ถาม จับสัมผัส มีหลักการวินิจฉัยที่คุ้นเคยกันมากคือ หลักปา-กัง-เปี้ยน-เจิ้ง  คือจำแนกร้อน-เย็น, นอก-ใน, พร่อง-แกร่ง, ยิน-หยาง นำมาสรุปลักษณะองค์รวมใหญ่ๆ เพื่อกำหนด แนวทางการรักษา
อ่านต่อฉบับหน้า

ข้อมูลสื่อ

340-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล