• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศิริราชเปลี่ยนตับจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่-ความสำเร็จครั้งแรกในไทย

                             


เมื่อเดือนธันวาคม 2552  ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว "ศิริราชเปลี่ยนตับผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย"  โดยมีศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมคณะฯ  ตึกอำนวยการชั้น 2โรงพยาบาลศิริราช

อาจารย์ ดร.นายแพทย์ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร
หัวหน้าทีมผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ กล่าวว่า ทีมแพทย์เปลี่ยนตับปัจจุบันได้ทำการรักษาเปลี่ยนตับแก่ผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2545 ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่เปลี่ยนตับให้แก่ผู้ป่วยมากที่สุดของประเทศไทย จำนวน 98 ราย การผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง  ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 85 ซึ่งผู้ป่วยที่สมควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ได้แก่

1. ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งระยะสุดท้ายจาก โรคไวรัสตับอักเสบบี, ซี และการดื่มแอลกอฮอล์

2. ผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย

3. ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะเริ่มแรกที่ไม่มีการแพร่กระจาย เป็นต้น

เหตุดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะท้องมาน ซึม ขาดสติจากสารพิษคั่งในสมอง เลือดออกจากทางเดินอาหาร เส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก การติดเชื้อในช่องท้อง ทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมักจะต้องได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาล ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับมี 2 วิธี

1. การเปลี่ยนตับจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งผู้ป่วยรอเปลี่ยนตับจะต้องรอตับบริจาค โดยเฉลี่ยใช้เวลานานหลายเดือนหรือปี ทำให้บางครั้งไม่สามารถเปลี่ยนตับให้ผู้ป่วยได้ทันท่วงที

2. การเปลี่ยนตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ สามารถเปลี่ยนตับจากผู้ใหญ่มาสู่เด็ก เช่น บิดา มารดาให้บุตร และจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่ ซึ่งในกรณีหลังยังไม่เคยมีการผ่าตัดสำเร็จในประเทศไทยเลย

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเลือกผู้บริจาคในการเปลี่ยนตับครั้งนี้  เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนตับจากผู้บริจาคผู้ใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วยผู้ใหญ่เป็นครั้งแรก การบริจาคจากผู้ที่มีชีวิตอยู่จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา บุตร พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา หรือในกรณีสามี ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยผู้บริจาคต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โรคตับอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง มะเร็ง หัวใจและปอด และโรคจิต

การผ่าตัดเปลี่ยนตับจากผู้ที่มีชีวิตอยู่มีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าคิวรออวัยวะตับนาน ตับที่ได้จะเป็นอวัยวะที่มีการทำงานสมบูรณ์และสามารถวางแผนการผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสมได้

สำหรับผู้ป่วยรอเปลี่ยนตับรายนี้ มีบุตร 3 คน เพศชาย 1 คน หญิง 2 คน ทุกคนมีความประสงค์ที่จะผ่าตัดบางส่วนของตับให้แก่บิดา หลังจากการตรวจวินิจฉัยร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว พบว่า สภาพร่างกายโดยรวมของบุตรชาย โดยเฉพาะตับเหมาะสมต่อการผ่าตัดบริจาคตับกลีบขวาให้แก่บิดา ทีมแพทย์จึงตรวจสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ ไต และการตรวจทางเอกซเรย์ ได้แก่ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT scan ซึ่งจำเป็นในการประเมินปริมาณของตับที่จะนำไปเปลี่ยนและส่วนของตับที่เหลือ นอกจากนี้ยังจะตรวจดูเส้นเลือดต่าง ๆ ที่เลี้ยงอวัยวะตับอย่างละเอียดเพื่อให้การตัดเลาะเส้นเลือดเกิดความปลอดภัยทั้งอวัยวะตับที่จะนำไปเปลี่ยนกับตับส่วนที่เหลืออยู่ ซึ่งในการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 28 นาที

ในระหว่างการผ่าตัดของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ความดันโลหิตและสภาพร่างกายทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่พบภาวะวิกฤติ ทั้งคู่มีการสูญเสียเลือดน้อย และไม่มีการให้เลือด สารกันเลือดแข็ง หรือเกล็ดเลือดในระหว่างการผ่าตัดและภายหลังการผ่าตัดเลย แพทย์สามารถนำท่อช่วยหายใจออกได้ ทั้งคู่กลับมาพักฟื้นร่างกายที่หอผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ โดยไม่ต้องเข้าพักรอดูอาการในห้องไอซียูแต่อย่างใด  สภาพร่างกายของทั้งคู่มีการฟื้นตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจของแพทย์ โดยเฉพาะการทำงานของตับใหม่ที่ใส่เข้าไปเริ่มทำงานได้ทันที โดยดูจากการที่ตับมีเลือดมาเลี้ยงได้ดี ตับเริ่มมีการสร้างน้ำดีตั้งแต่ระหว่างการผ่าตัด จากผลเลือดที่ตรวจเป็นระยะๆ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และเริ่มกินอาหารได้หลังจากได้รับการผ่าตัด 24 ชั่วโมง

ในการเปลี่ยนตับจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่นั้น นับว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก แพทย์จะต้องมีทักษะความชำนาญในการผ่าตัด เพราะต้องผ่าตัดกลีบขวาของตับซึ่งมีประมาณร้อยละ 60 ของเนื้อตับทั้งหมด และต้องเลาะและเย็บตัดเชื่อมต่อเส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญยิ่งที่จะบ่งชี้ถึงความปลอดภัยในชีวิตของทั้งคู่

ปัญหาและอุปสรรคในการรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนตับ คือ มีผู้บริจาคเพียง 1.2 รายต่อประชากร 1 ล้านคน นั่นคือ ใน 1 ปีมีผู้บริจาคอวัยวะประมาณ 100 รายต่อปีเท่านั้น แต่จำนวนผู้ป่วยรอเปลี่ยนตับในประเทศไทยประมาณ 150-200 รายต่อปี จากตัวเลขในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาจึงพบว่าผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนตับต้องเสียชีวิตก่อนได้รับตับสูงถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด และมีแนวโน้มจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี

จากความสำเร็จของการเปลี่ยนตับจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอีกก้าวของวงการแพทย์ไทย ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้ายได้กลับมามีคุณภาพชีวิตและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
 

ข้อมูลสื่อ

370-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
กองบรรณาธิการ