• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เถาวัลย์เปรียง รักษาอาการปวด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิจัยพบสารสกัด "เถาวัลย์เปรียง" มีสรรพคุณรักษาอาการปวดเทียบเท่ายาไดโคลฟีแนก และยานาโพรเซน ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เดินหน้ารวบรวมข้อมูลให้องค์การเภสัชฯ ผลิต

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ร่วมกันวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัด "เถาวัลย์เปรียง" ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 70 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา7 วัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันไดโคลฟีแนก (Diclofenac) ขนาด 25 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่7๗ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 ของการรักษาแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีรวมทั้ง ผลข้างเคียง

นพ.จักรธรรม กล่าวต่อว่า การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมการวิจัยทางคลินิกกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเข้าร่วมโครงการจำนวน 125 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน (Naproxen) ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ยาแผนปัจจุบันนาโพรเซนและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิผลและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 กลุ่มมีความพึงพอใจต่อการรักษาร้อยละ 80


นางมาลี บรรจบ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการทดสอบความปลอดภัย และประสิทธิผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัคร สุขภาพดี 59 ราย โดยให้อาสาสมัครกินแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ครั้งละ 1 แคปซูล (200 มิลลิกรัม/แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าอาสาสมัครทั้งหมดไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญและควบคุมคุณภาพให้องค์การเภสัชกรรมแล้ว เพื่อให้มีการผลิตเป็นยาออกจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม และมีการใช้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้นำไปใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ
 

ข้อมูลสื่อ

370-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
กองบรรณาธิการ