• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชวนชม

เดชา ศิริภัทร
ชวนชมความงามรูปแบบที่น่าเชยชม

ไม้ดอกบางชนิดก็ดูเหมือนจะปรับตัวให้เข้ากับ อากาศร้อนในตอนนี้ได้ดี ทำให้มีโอกาสขยายความ    นิยมไปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในเขตร้อน (tropical) และกึ่งร้อน (sub tropical) ไปสู่เขตอบอุ่น (temperate ) ดังเช่น ไม้ดอกที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่าน นั่นคือ ชวนชม

ชวนชม  : ไม้งามจากแดนไกล
ชวนชมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Adenium obesum  Balf. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae เช่นเดียวกับตีนเป็ด และบานบุรี
ลำต้น  ยาว ๑-๒ เมตร ผิวตึงเพราะอวบน้ำ แตกกิ่งก้านได้ดี 
ใบ  สีเขียว ค่อนข้างหนา ผิวใบเป็นมัน เส้นกลาง ใบเป็นสีเขียวเห็นได้ชัดเจน ใบรูปร่างยาวรี ปลายมน โคนใบสอบเข้า ใบจะอยู่ตามปลายกิ่งก้าน
ดอก  เป็นรูปแตร ปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น  ๕ กลีบ ขนาดยาวราว ๕ เซนติเมตร ออกดอกตามปลาย ยอดของกิ่งก้าน

ดอกชวนชมมีหลายสี เช่น สีชมพู แดง ม่วง และสีขาว รวมทั้งมีสีเข้ม สีอ่อน และมีสีเหลือบต่างสีกลางกลีบดอกอีกด้วย ทำให้ดอกชวนชมมีความหลากหลาย 
ชวนชมเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มาจากแดนไกล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชวนชม อาจเดาได้จากชื่อภาษาอังกฤษ  คือ Impala lily เพราะอิมพาลาเป็นสัตว์ของทวีปแอฟริกา  ชวนชมก็มาจากทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกัน ชวนชมเข้ามาในเมืองไทยนับร้อยปีมาแล้ว ดังพบชื่อในวรรณคดีไทยบางเรื่อง โดยอาจเรียกว่า "ชวนชม" ซึ่งหมายถึง "ชวนมอง" นั่นเอง  

ชวนชมเหมาะที่จะปลูกในกระถาง เพราะมีขนาดไม่ใหญ่นัก อีกทั้งลักษณะต้นยังเหมาะแก่การปลูก เป็นบอนไซ เพราะแข็งแรงทนทาน มีทรงต้นและรากที่สามารถทำให้เป็นพูพอนขนาดใหญ่คล้ายต้นไม้โบราณได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบกิ่ง เป็นต้น ปลูกง่าย โตเร็ว แข็งแรงทนทาน  ทนร้อนและแห้งแล้งได้ดี ชอบแดดจัด และออกดอกตลอดทั้งปี บางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ชวนชมจึงนับเป็นไม้ดอกที่น่าปลูกอีกชนิดหนึ่งในยุคโลกร้อนนี้ 

ข้อมูลสื่อ

340-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร