• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นวัตกรรมสุขภาพกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (นครหลวง) ตั้งอยู่ท้องที่อำเภอนครหลวง ถึงแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เบาหวานและความดันโลหิตสูง) ที่ขึ้นทะเบียนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน มีมากถึง 1,400 คน หมุนเวียนมารับบริการที่โรงพยาบาล 1,000 คน อีก 400 คนรับบริการที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน


ทำอย่างไรผู้ป่วยถึงจะดูแลสุขภาพตนเองอย่างจริงจัง?
ผู้ป่วยต้องการอะไรจากการรักษาที่โรงพยาบาล?
เป้าหมายของการรักษาที่แพทย์ต้องการคืออะไร ผู้ป่วยรู้หรือไม่?
ทำไมจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกวัน?

การบริการที่เป็นองค์รวม การฟื้นฟู สร้างเสริมสุขภาพ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกับจำนวนผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาลที่ต้องบริการด้วยความเร่งรีบ?

จากชมรมรักสุขภาพ ถึงการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ชมรมรักสุขภาพ (บึงพระราม) เป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีสุขภาพดี และใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และมีสมาชิกหลายคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาเล่าให้ฟังว่าน้ำตาลดีขึ้น (ผลน้ำตาลในเลือดลดลง) ความดันดีขึ้น (ความดันโลหิตลดลง) ไขมันดีขึ้น (ไขมันในเลือดลดลง) ทำให้คิดว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอมีผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพราะการออกกำลังกายทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น (อ่าน "ชีวิต-งาน-ทรรศนะ" หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 370 หน้า 72-77)

อีกทั้งทุกวันเสาร์และอาทิตย์ต้นเดือน ชมรมรักสุขภาพมีการตรวจร่างกายเบื้องต้นให้สมาชิกด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง แล้วคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI โดยใช้น้ำหนักตัว (กก.) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) 2 ครั้ง วัดความดัน เจาะเลือดตรวจเบาหวาน วัดรอบเอว (ชายไม่เกิน 36 นิ้ว ผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว) เพื่อประเมินและค้นหาความเสี่ยงของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ถ้าพบว่ามีแนวโน้มหรือเข้าข่ายก็จะอธิบายและให้คำแนะนำการรักษาดูแลสุขภาพ ซึ่งมีบางคนพอรู้ว่าน้ำตาลในเลือดสูง ใหม่ๆ ก็รับไม่ได้ เครียด ก็ให้กำลังใจและให้ดูแลเรื่องอาหารการกิน รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการให้โอกาสกับชีวิตตนเอง เกิดความตระหนักว่าตนเองจะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

สำหรับคนที่เป็นมากๆ ให้กำลังใจ อธิบายเรื่องการดูแลตนเองและรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องให้ยอมรับว่าจะต้องรักษา ต้องกินยา ไม่เช่นนั้นหลอดเลือดอาจเสื่อม ต้องให้ความรู้จนเกิดการยอมรับและดูแลตนเอง


ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (นครหลวง) มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้ จึงมีความคิดว่าน่าจะนำการออกกำลังกายมาสู่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาล...

จุดเริ่มต้นที่คลินิกโรคเรื้อรัง... เบาหวาน

โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (นครหลวง) เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงเท่านั้น มีผู้ป่วยเบาหวานมารับบริการและขึ้นทะเบียนไว้ 1,400 คน ที่ผ่านมาก็พยายามหาช่องทาง รูปแบบว่าจะทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างไร เพราะปัจจุบันสำนักงานการพัฒนาคุณภาพบริการประชาชน เร่งรัดให้ลดขั้นตอนบริการ ลดระยะเวลาการรอคอย สำรวจความพึงพอใจผู้รับบริการเป็นประจำ

ปัญหาหนึ่งของโรงพยาบาลชุมชนก็คือแพทย์และพยาบาลมีจำนวนน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอนาน แต่งานสร้างเสริมสุขภาพก็เป็นเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ผู้รับบริการได้รับสิ่งที่ดีมากกว่าการได้รับยาและกลับบ้านไปโดยเร็ว

ดังนั้น การทดลองเพื่อจะหารูปแบบบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบบองค์รวมจึงเกิดขึ้น ปี พ.ศ.2549 ทดลองกับผู้ป่วยเบาหวาน 100 คน ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มจากการหาเป้าหมายการรักษาระหว่างผู้ป่วยกับทีมแพทย์และสหสาขาของโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน... น้ำตาลเท่าไร ความดันเท่าไร และเป้าหมายชีวิตของผู้ป่วยคืออะไร หากต้องการมีชีวิตยืนยาวอยู่กับลูกหลานนานๆ ไม่ต้องการมีโรคแทรกซ้อน ก็ต้องให้ความร่วมมือกันอย่างสม่ำเสมอ ห้ามขาดนัด เมื่อครบ 6 เดือนของโปรแกรมการให้ความรู้  และดูแลตนเองได้แล้ว  สามารถนัดผู้ป่วยมาตรวจห่างออกไป...

 

กระบวนการให้ความรู้

1. กิจกรรมการเรียนรู้ระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง

โดยให้ผู้ป่วยเจาะเลือดก่อนอาหารและหลังอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ว่า อาหารที่กินเข้าไปแต่ละมื้อ มีผลต่อน้ำตาลเพียงใด เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพใจ ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผล ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เช่น ขนมครกที่กินไป 10 คู่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เจาะเลือดตอนเช้า ชาเย็น 1 แก้ว นมเปรี้ยว 1 กล่อง ข้าวผัด 1 จาน ให้ผลน้ำตาลขึ้นถึงเพียงนี้ ผู้ป่วยตกใจมาก
 

2. กิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน

โดยเน้นถึงสาเหตุของโรคเบาหวาน อาการแสดง การดำเนินโรค และภาวะแทรกซ้อน การรักษาและควบคุมโรคเบาหวานโดยการปรับเปลี่ยนวิถีทางดำเนินชีวิต ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักตัว การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ซึ่งบรรยายพิเศษโดยแพทย์ มีการฉายวีดิทัศน์  และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม
ผล ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจชัดเจนว่าภาวะน้ำตาลสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร และจำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้บรรยายเป็นแพทย์ยิ่งสร้างความศรัทธาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างดีและจำได้นาน
 

3. กิจกรรรมออกกำลังกายและนันทนาการ

เพื่อสร้างความตื่นตัวและตระหนักในความสำคัญของการออกกำลังกาย สร้างรูปแบบการออกกำลังกายหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติได้เองที่บ้าน รวมทั้งมีการพูดคุย ซักถาม แจกคู่มือ และให้ผู้ป่วยยืมหนังสือไปอ่านที่บ้าน

ผล ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้บอกว่า อายุมากแล้วออกกำลังกายไม่ไหว จึงต้องให้เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดมาช่วยปรับทัศนคติ สร้างความรู้ที่ถูกต้อง แนะนำผู้ป่วยว่าการออกกำลังกายช่วยให้ยาทำงานดีขึ้น ออกฤทธิ์ดีขึ้น ลดน้ำตาลได้ด้วย ช่วยหัวใจ การไหลเวียนเลือดดี ทำให้ผู้ป่วยกระตือรือร้นอยากออกกำลังกาย และเลือกการออกกำลังกายตามที่ผู้ป่วยในกลุ่มต้องการ เช่นบางกลุ่มเดินรอบๆ โรงพยาบาล บางกลุ่มแอโรบิก บางกลุ่มแค่ยืดเส้นผ่อนคลาย แต่การบ้านของทุกคนคือ  ต้องแกว่งแขนตามตำราจีน 200 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น ใครน้ำตาลเกิน 220 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ต้องแกว่งแขนเพิ่มเป็น 2 เท่า
 

4. กิจกรรมการดูแลเท้า

สาธิตและฝึกปฏิบัติเรื่องการตรวจเท้า การทำความสะอาดเท้า การป้องกันและรักษาดูแลเท้า รวมถึงการบริหารเท้าโดยพยาบาลวิชาชีพ

ผล หลังจากตรวจเท้า พบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเท้าหลายคน และคนชนบท ชาวนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเท้าเท่าไร ต้องนำเพื่อนที่ถูกตัดนิ้ว ตัดขามาเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกของการสูญเสียอวัยวะ ผู้ป่วยเริ่มตระหนักมากขึ้น และนอกจากนี้ได้นำถั่วเขียวมาบด นวดขัดเท้า ประกวดว่าเท้าใครแดง สะอาดกว่ากัน เป็นที่สนุกสนาน
 

5. กิจกรรมพบเภสัชกร

ให้ความรู้เรื่องยาโดยเภสัชกร วิธีการใช้ยา ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาจากการใช้ยา เช่น การลืมกินยา พร้อมทั้งประเมินผลการใช้ยาของผู้ป่วย

ผล เภสัชกรอธิบายยาแต่ละตัวใช้อย่างไร กินยาถูกต้องหรือไม่ และมีการประเมินการกินยาพบว่าผู้ป่วยเบาหวาน 100 คน กินยาถูกต้องจริงๆ แค่ 3 คนเท่านั้น จากการประเมินผู้ป่วยทีละคน พบว่ากินก่อน หลัง ครึ่งเม็ด หนึ่งเม็ด ไม่ได้เก็บยาในตู้เย็นบ้าง แลกยากันกินบ้าง บางครั้งก็งดยากันเอง หรือรู้สึกเวียนศีรษะก็ไม่กินยาจนกระทั่งงดกินยาในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูก... แต่หลังจากให้ความรู้เรื่องการกินยา ปรากฏว่าผู้ป่วยกินยาถูกต้องร้อยละ 99
 

6. กิจกรรมรายการอาหารแลกเปลี่ยน

จัดโดยพยาบาลและนักโภชนากรเป็นผู้ให้ความรู้และจัดทำตัวอย่างรายการอาหารที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน เรื่องลักษณะการกินอาหารที่เหมาะสม ชนิดของอาหารที่ควรกินและไม่ควรกิน การจัดสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายแต่ละคน อายุและการทำงานต่างกันจะกินอย่างไรจึงพอเหมาะ

ผล เรื่องอาหารสำคัญมาก... ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่า 1 ส่วนคืออะไร จึงได้นำของจริงมาให้ดู เช่น ขนมปัง 1 แผ่นเรียกว่า 1 ส่วน เท่ากับข้าว 1 ส่วน เช่น ผู้ป่วยต้องกินข้าว 2 ส่วนคือกินข้าวประมาณนี้ 2 ครั้ง ถ้ากินขนมปังแล้ว จะกินข้าว 2 ทัพพีไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งหมดสิทธิ์แล้วนะ
ถามผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่าทุกวันกินเกินหรือไม่ ปรากฏว่ากินเกินทุกชนิดเลย เกินมานานแล้วด้วย ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นว่าการใช้น้ำมันครึ่งกระทะเวลาทอดปลาแต่ละครั้งมากเกินไป เขาบอกว่าจะต้องกลับไปบอกแม่บ้านให้เปลี่ยนวิธีการ แค่นี้ก็พอใจแล้วว่าผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ของหวานก็เช่นเดียวกันบางทีก็ไม่รู้ว่าอย่างไหนต้องห้าม อย่างไหนกินได้ กินไม่ได้หรือกินได้มากไม่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น

ทุกคนจะต้องจดบันทึกว่ากินอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้าตื่นนอนจนถึงเข้านอน และมาตามนัดครั้งต่อไปต้องนำการบ้านมาส่ง... ส่งแล้วก็จะนำมาอ่าน เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งมีน้ำหนัก 87 กิโลกรัม ตั้งแต่เช้าถึงเย็นกินมากกว่า 10 ชนิด หลังจากอ่านแล้วก็ถามทุกๆ คนว่ากินขนาดนี้มากมั้ย... ช่วยกันโห่ใหญ่เลย และต่อมาการกินอาหารของผู้ป่วยรายนี้ลดลง น้ำหนักลดลง น้ำตาลดีขึ้น (น้ำตาลในเลือดลดลง)
 

7.กิจกรรมทันตสาธารณสุข

บรรยาย สาธิตและฝึกปฏิบัติโดยทันตแพทย์ในเรื่องการดูแลช่องปากของผู้ป่วยเบาหวาน มีการตรวจสอบย้อมฟันว่าคุณแปรงฟันได้ดีหรือยัง

ผล จากเดิมที่ผู้ป่วยคิดว่าแปรงฟันสะอาดแล้ว เมื่อให้ทันตแพทย์ตรวจสอบ ก็ยังแปรงไม่สะอาด และพบว่าแต่ละคนมีฟันอักเสบ ฟันผุ และหลายรายไม่มีฟันจะเคี้ยวอาหาร ทำให้ต้องกินอาหารแบบหยาบ ท้องจึงดูดซึมอาหารได้ไม่ดี ปวดท้องบ่อยๆ  อาหารไม่ย่อย
 

8.การจัดการความเครียด

แนะนำวิธีการคลายเครียดและร่วมกันฝึกปฏิบัติ โดยพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลให้คำปรึกษา 

ผล  พบว่าผู้ป่วยหลายคนเครียดเพราะมีปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ไม่มีอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่จะกินทำให้ควบคุมน้ำตาล ความดันโลหิตสูงไม่ค่อยได้ ถึงแม้แพทย์จะให้ยามากมาย แต่ไม่ได้ช่วยให้การรักษาดีขึ้น เมื่อมีปัญหาแบบนี้ทำให้เจ้าหน้าที่และเพื่อนในกลุ่มเบาหวานเข้าใจกันและกันมากขึ้น
 

9.กิจกรรมส่งเสริมสมาชิกในครอบครัว

โดยการนัดพบสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย 1ครั้ง เพื่อช่วยสนับสนุนการกินยา การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และสนับสนุนพฤติกรรมที่ช่วยการรักษาและควบคุมโรคเบาหวานโดยแพทย์และพยาบาล โดยจัดในวันเข้าค่ายเบาหวาน

ผล เกิดความเข้าใจในการดูแลร่วมกับญาติ โดยให้ญาติเข้ามามีส่วนช่วย เพราะวันหนึ่งตัวเองมีสิทธิ์ได้รับมรดกการเป็นโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน
 

10.การจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์

แต่ละคนเล่าถึงการปฏิบัติเพื่อควบคุมดูแลเบาหวานที่ประสบผลสำเร็จ หรือประสบปัญหา การเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเบาหวาน เพื่อการเรียนรู้และนำไปใช้ต่อ โดยมีพยาบาลวิชาชีพคอยจดคำสนทนา ควบคุมการสนทนา

ผล ทำให้รู้ว่ามีผู้ป่วยหลายคนแสวงหาวิธีการรักษาโรคอยู่ หลายคนกินสมุนไพรก็มาเล่าสู่กันฟัง เกิดการแลกต้นสมุนไพรกันขึ้น
 

11.กิจกรรมฝึกสติ  ธรรมมะเบาใจ

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเบาหวานรับรู้ความรุนแรงของโรค และผลดีของการปฏิบัติตามคำแนะนำ การร่วมกันตั้งเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีการใช้กิจกรรมหรือเกมเป็นบทบาทสมมุติให้รับรู้ถึงการพบและเผชิญกับอาการแทรกซ้อน เช่น การปิดตาป้อนข้าว ป้อนน้ำ เล่าความรู้สึกแลกเปลี่ยนกัน โดยมีพยาบาลเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงให้ผู้ป่วยมีความตระหนักถึงการดูแลตนเองมากขึ้น

ผล ส่วนมากผู้ป่วยเป็นเบาหวานกันมาคนละหลายปี เช่น 4-5 ปีบ้าง บางคน 10 ปีก็มี... น้ำตาลเคยลดบ้างไหม คำตอบคือไม่เคยลด เป็นอย่างนี้มาตลอดชีวิต แล้วจะยอมให้แพทย์หรือพยาบาลแทงเข็มอย่างนี้ทุกเดือนหรือ... แสดงว่าการรักษาไม่ได้ผล ทุกอย่างนี่แพทย์ให้ความรู้มั้ย พยาบาลให้ความรู้มั้ย ห้ามกินแป้ง น้ำตาลก็รู้ ห้ามกินผลไม้หวานก็รู้ น้ำอัดลมห้ามก็รู้ แต่ก็ยังกินอยู่ เพราะอะไร ก็เป็นเพราะว่า "ใจ" ไม่เกิดความตระหนัก บางคนไม่รู้ แยกกลุ่มได้เลยว่ากลุ่มนี้รู้ กลุ่มนี้ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ทำ จึงต้องมาอธิบายแยกกลุ่มกันอีก...

กลุ่มที่ไม่รู้ หมอและพยาบาลให้ความรู้แล้วนะ

กลุ่มที่รู้ รู้แล้วทำไมถึงไม่ทำ... ไม่ทำเพราะอะไร หิวบ้าง ลูกหลานซื้อมากลัวเขาเสียใจบ้าง มันอยากบ้าง ไม่สนใจบ้าง ก็แยกกลุ่มออกมาแล้ววิเคราะห์

ทุกสิ่งทุกอย่างจะย้อนกลับมาที่เป้าหมายตอนแรกว่า เป้าหมายชีวิตในการดูแลเบาหวานของผู้ป่วยคืออะไร... อยากอยู่กับลูกหลานนานๆ ไม่อยากมีภาวะแทรกซ้อน  เพราะฉะนั้นถ้าอยากแต่คุณไม่ทำ ไม่ได้นะ คุณอยากคุณต้องทำเองด้วย ถ้าไม่ทำโรคแทรกแน่นอน ทั้งความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจ
 

12. กิจกรรมการเข้ากลุ่มทำน้ำสมุนไพร

เพื่อให้ผู้ป่วยรู้จักสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ความดัน โดยเฉพาะน้ำมะกรูด  ผู้ป่วยจะนำมะกรูด น้ำผึ้งมาช่วยกันทำ ทำเสร็จให้ผู้ป่วยแจกแก่ผู้มารับบริการทุกคน จากนั้นฝึกกิจกรรมเรื่องสติต่อ นั่นคือให้ผู้ป่วยเบาหวานหลับตาเปลี่ยนกันป้อน ห้ามลืมตาจนกว่าจะดื่มน้ำหมดแก้ว การหลับตาป้อนน้ำส่งผลให้น้ำหก ดื่มไม่สะดวก... ถามผู้ป่วยเบาหวานว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หลับตาแล้วมีคนป้อน มือถูกมัดไว้ด้วย ให้เพื่อนป้อนอย่างเดียว 

 บางคนบอกว่า โอ้โห! ลำบากน่าดูเลย กินไม่สะดวก เพราะมันไม่กระดก บางคนกระดกมากไปสำลักก็มี อะไรแบบนี้ แล้วก็อยากลืมตา อยากมอง แล้วก็เห็นถึงความทรมานว่าไม่ดีเลยนะ
 บอกผู้ป่วยว่านึกออกมั้ย ถ้าคุณดูแลเบาหวานไม่ดี มีโอกาสเป็นอัมพาตและตาคุณบอดด้วย จะยอมได้มั้ย นี่แค่ 5 นาที น้ำแก้วเดียวยังทนไม่ได้เลย แล้วถ้าคุณต้องตาบอดตลอดชีวิตเพราะดูแลเบาหวานไม่ดี ไม่กลัวเหรอถ้าลืมตาไม่ได้อีกเลย นี่แค่ลืมตาไม่ได้เพราะหมอไม่ให้ลืมนะ เขาก็เริ่มรู้สึก แล้วที่โดนมัดมือไม่ให้จับ เวลาน้ำหกอยากจะเช็ดก็ไม่ได้ จะเอามั้ย เป็นเบาหวานแล้วเป็นอัมพาตอย่างนี้ ผู้ป่วยรู้สึกเลยนะ ซึมกันไปเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ จะทำอย่างไร
 มีบางคนบอกว่าไม่เป็นไรหรอกหมอ... ป้าให้ลูกป้อนก็ได้ บางคนบอกว่าลูกฉันไม่เห็นจะเอาใจใส่ ก็ได้ปัญหาครอบครัวขึ้นมาอีกว่าบางคนลูกดูแลเอาใจใส่ดี บางคนมีลูกแล้วลูกไม่เคยไยดี เสร็จแล้ว ก็เริ่มเข้าใจ... ผ่อนคลาย  

เครียดมากไปก็ไม่ได้ เวลาคุยกันก็จะมีหลายคนที่เครียดมากจากปัญหารอบด้าน ก็มีการทักกันและสังเกตว่าผู้ป่วยที่เครียดมากๆ มีผลทำให้น้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะเรียนรู้และสังเกตกันเอง เรียนรู้กันเอง เพราะมีทั้งน้ำตาลขึ้น ความดันขึ้น ซึ่งผู้ป่วยก็จะช่วยกันแก้ปัญหาในกลุ่ม  ผู้ป่วยก่อนกินอาหารจึงสอนให้ผู้ป่วยมีสติเรียนรู้ใจตนเองก่อนว่าอยากกิน ก็รู้ว่าอยากกิน จะได้กินแบบมีสติ นั่นคือพอดี ไม่ได้กินตามกิเลสตามความอยากของปากเพราะมันจะให้โทษตามมา

มีการนัดพยาบาลที่อยู่แผนกให้คำปรึกษามาทำกลุ่ม เรียกว่า group counseling การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ว่าวิธีการผ่อนคลายความเครียดสามารถทำได้หลายอย่างนะ เขาก็มีกิจกรรมให้ เช่น แข่งขันร้องเพลงกันในกลุ่ม มีการนวดผ่อนคลาย มีเกมสนุกๆ ให้เกิดการผ่อนคลาย  และบอกว่าชีวิตคนเรามีแค่นี้ เพราะฉะนั้น ลองยืดชีวิตอีกนิดหนึ่งนะ ถ้าคุณดูแลไม่ดี ชีวิตคุณเหลือแค่นี้เองนะ

 ทั้งหมดที่สอนมา 6 เดือน คุณอยากกินอะไรก็ได้ เพราะคุณรู้หมดแล้ว  วันไหนอยากกิน ก็กินเถิด เพราะตายแล้วอาจจะคับแค้นใจว่าอยากกินก็ไม่ได้กิน แต่กินแล้วต้องมีสติ ต้องรู้ ต้องออกกำลังกาย ให้ทำด้วยตัวเอง แล้วอาการอะไรบ้างที่จะต้องเล่าให้แพทย์ฟังเมื่อมาโรงพยาบาล

 

13. กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ 

เพื่อให้ผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาลมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้ความรู้แบบใหม่ สร้างความสนุกสนาน รื่นเริง และความสุขมากขึ้น โดยมีมีกิจกรรมเข้าฐาน 6 ฐาน ดังนี้ 
1. ฐานกระเพาะ ให้ความรู้เรื่องอาหาร   
2. ฐานเท้า-ฟัน ให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้าและช่องปาก 
3. ฐานสติ ให้ความตั้งมั่นเรื่องการรักษาและการดำเนินชีวิต 
4. ฐานกายา  ให้รู้เรื่องโรคและการรักษา
5. ฐานยา ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง
6. ฐานใจ ให้ความผ่อนคลายในชีวิต เปิดใจรับสิ่งใหม่ ให้จิตใจมีความสุขอยู่กับความพอเพียง   นอกจากนี้ มีการเรียนรู้การใช้ชีวิตทั้ง กิน เล่น เที่ยว ทำงาน และมีการเจาะเลือดก่อน-หลังกินข้าวทุกมื้อเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงแก่ผู้ป่วย

 ผล จากการเข้าค่ายทัศนศึกษา มีการเจาะเลือดตั้งแต่เช้าจดเย็น ก่อนกินข้าว-เจาะหลังกินข้าวเสร็จ-เจาะ ชี้ให้ผู้ป่วยเห็นได้เลยว่าก่อนกินข้าว น้ำตาลต่ำ พอตอนเช้าเริ่มให้กินข้าว น้ำตาลจะขึ้น พอมีกิจกรรมก็จะมีอาหารมาล่อ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฝรั่ง ให้เขากิน มีผู้ป่วยบางคนเผลอกินทองหยอด ฝอยทอง จากนั้นก็เจาะเลือดดูว่าใครน้ำตาลต่ำ ก็จะรู้ว่าคนไหนกินของหวาน กินไอศกรีม คนที่กินผลไม้น้ำตาลไม่ค่อยขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่า อ้อ... กินนมเปรี้ยวแค่กล่องเดียว น้ำตาลขึ้นไปถึง 400 ตกใจมากเลย เขาก็เกิดการเรียนรู้ว่าไม่กินอีกแล้ว เข็ดแล้ว เพราะที่ผ่านมาอยู่บ้านไม่เคยรู้ว่ากินแต่ละวัน น้ำตาลขึ้นขนาดไหน
 จากการทำกิจกรรม 6  เดือนในผู้ป่วยเบาหวาน ปรากฏว่าสถิติที่ออกมาน้ำตาลค่อนข้างลง ความดันค่อนข้างลง นี่คือทำแค่ 6 เดือน แนวโน้มกราฟลง ดีหมดเลย 

ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลบอกว่าการทำกิจกรรมอย่างนี้ดี ถ้าทำกับผู้ป่วยทุกคน คือ 1,000คน
(พ.ศ.2550) จะเป็นอย่างไร เฉลี่ยมีผู้ป่วยมารับบริการวันละ 70-80 คน ทยอยทำไปเรื่อย
 ผลที่ได้ ไม่ค่อยดี เหตุผลคือ กลุ่มใหญ่เกินไป ไม่มีเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย การพูดคุยทำความเข้าใจไม่เหมือนกัน 100 คน ถือว่ากลุ่มใหญ่เกินไป เจ้าหน้าที่ดูไม่ทัน ดูไม่หมด มีบางคนไม่อยากฉีดยาเลย ก็ต้องมีเวลา counselling มาก จนบางครั้งต้องให้เพื่อนช่วยกัน counselling จนกว่าเขาจะยอมรับการฉีดยา และสอนให้ฉีดยากันเอง

การทำกลุ่มทำให้รู้ว่าผลน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี เพราะกลุ่มใหญ่เกินไป เมื่อมาวิเคราะห์จึงพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีผลน้ำตาลมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร คืออยู่ที่ประมาณ 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งไม่ดี ความดันก็ค่อนข้างสูง คือใช้ไม่ได้ ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์พอดี

ทำให้ต้องคัดทำกลุ่มเฉพาะผู้ป่วยที่มีผลน้ำตาลมากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (พ.ศ.2551) นอกนั้นถ้าใครสนใจเข้ากลุ่มก็เข้าได้ ใครไม่สนใจเข้ากลุ่มก็ไม่ว่าอย่างไร
 ทุกเช้าจึงต้องตรวจว่า ใครน้ำตาล 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เรียกเข้ากลุ่มเลย เขาก็รู้แล้วว่าจะต้องถูกจัดเข้าชั้น ปรากฏว่าผลออกมาเริ่มดี ผู้ป่วยมีผลน้ำตาลลดลง และเริ่มควบคุมได้มากกว่าร้อยละ 52 จากเดิมที่ได้แค่ร้อยล30 เท่านั้น แสดงว่ามีผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้นเกินครึ่งหนึ่ง

หลังจากนั้นถามผู้ป่วยว่าวันนี้จะออกกำลังกายอะไร ให้ผู้ป่วยเลือก เช่น เดินรอบโรงพยาบาล ทำกิจกรรมในห้อง รำมวยจีน แอโรบิก ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เมื่อผู้ป่วยเลือกแล้วทีมงานก็จัดให้ตามที่ต้องการ

ปี พ.ศ.2552 หากลุ่มที่จะมาช่วย... กลุ่มมิตรภาพบำบัด นั่นคือคนที่เริ่มเรียนรู้แล้วว่าแพทย์ทำอะไรบ้าง จึงเข้ามาช่วยแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยด้วยกันเอง เช่น ทำน้ำมะกรูดเลี้ยงกันเอง ออกกำลังกาย มีดนตรี ร้องเพลงร่วมกัน พยายามให้ผู้ป่วยช่วยกันทำเอง ไม่ว่าจะวัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก พยายามผลักดันให้ผู้ป่วยดูแลกันเอง แต่ก็ยังทำได้ไม่มาก โดยทำ self-health group มากขึ้น  
ทั้งหมด มีผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์ต่อกัน ผู้ป่วยเริ่มตระหนักที่จะปรับเปลี่ยนตนเองดูแลตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ผลน้ำตาลมีแนวโน้มลดลง ควบคุมความดันและโรคแทรกซ้อนได้ดี นับว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ได้รับความสนใจให้ไปสาธิตให้ความรู้ ถ่ายทอดแบบอย่างการทำงานแก่โรงพยาบาลอื่นๆ ในแต่ละอำเภอที่อยู่จังหวัดเดียวกันด้วยเพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานซึ่งกันและกัน

นอกจากการทำกิจกรรมกับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ทีมงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (นครหลวง) ทำกิจกรรมดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ด้วยการจัดตั้งชมรมลดความดัน และทำกิจกรรมกับคลินิกโรคหอบหืดซึ่งมีผู้ป่วยภูมิแพ้ หอบหืดเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการตั้งชมรมปอดใสๆ ใส่ใจสุขภาพ

การดูแลผู้ป่วยโรคอะไรก็ตาม จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา และที่สำคัญก็คือตัวผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดที่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ รวมถึงมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง มุ่งมั่นที่จะรักษาตนเอง และปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของตนเองตามคำแนะนำของบุคลากรอย่างเคร่งครัด 

ข้อมูลสื่อ

372-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
บทความพิเศษ
สมพร วัชระศิลป์