อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า หัวข้อข้างบนเป็นละครเวทีเรื่องใหม่ หรือภาพยนตร์สุดฮิตที่กำลังจะเข้าฉายนะครับ เพราะว่าสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยายใดๆทั้งสิ้น
ขณะนี้ในประเทศไทย ตัวเลขจากสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่าในปี 2552 มี แพทย์ทั้งประเทศ 3.9 หมื่นคน ทำงานอยู่ในกรุงเทพ 1.5 หมื่นคน (38.5%) เหลือทำงานอยู่ในต่างจังหวัด 75 จังหวัดแค่ 2 หมื่นกว่าคน ไปอยู่ต่างประเทศ 492 คน และไม่ทราบที่อยู่อีก 1,334 คน
ขณะนี้สัดส่วนแพทย์ ต่อประชากรประมาณ 1 : 1,800 คน ซึ่งเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขที่เหมาะสมคือประมาณ 1 : 1,500 คน แต่ปัญหาก็คือถ้าดูการกระจายตามภาคต่างๆ
กรุงเทพ 1 : 500 คน
อิสาน 1 : 12,000 คน (แย่ที่สุดในประเทศ)
เหนือ 1 : 9,000 คน
มหาวิทยาลัยต่างๆผลิตแพทย์ได้เองประมาณ 1,200 คน / ปี, กระทรวงสาธารณสุขร่วมผลิตสมทบได้ประมาณ 300 คน / ปี อีกไม่นานคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้ถึง 1,800 คน/ ปี
แต่แม้จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเท่าใดก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงพยาบาลจังหวัดเล็กๆ, โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล ก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำในบางพื้นที่ส่อแววจะทวีความขาดแคลนรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
3-4 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนแพทย์ถูกดึงอาจารย์ไปกว่า 400 - 500 คน ไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหนึ่งก็เพื่อไปดูแลชาวต่างประเทศ แพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็อยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน แพทย์ในโรงพยาบาลชัยภูมิทุกสาขารวมกันซึ่งต้องดูแลประชากรทั้งจังหวัด 1.14 ล้านกว่าคน มีเพียงแค่ 28 คน เทียบไม่ได้กับแพทย์ในแผนกอายุรกรรมแผนกเดียวของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และน้อยกว่าจำนวนแพทย์บางแผนกในมหาวิทยาลัยชนิดมองไม่เห็นฝุ่น....
ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำลังพัฒนาความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยบางแห่ง ในการสร้างแพทย์ "แนวใหม่" ที่ยินดีและเต็มใจที่จะทำงานในชนบท โดยเน้นกระบวนการฝึกอบรมที่ใช้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นฐานการฝึกอบรม ที่เรียกว่า "ทำงานไปเรียนรู้ไป (In-Service Training) โดยแพทย์เหล่านี้จะถูกคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมในสถาบันที่ "คัดสรร" แล้วทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของการเป็น "แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว" ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นแพทย์ประจำครอบครัวที่พร้อมจะให้คำปรึกษา, เข้าใจแนวคิดเชิงสังคม, วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน รู้จักผังเครือญาติ, มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ได้ทั้งในการส่งเสริมป้องกันโรค, การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งในเชิงปัจเจก, ชุมชน และสังคม
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสมเด็จย่าและทุนกว. ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นระยะเวลาเบื้องต้น 3 ปี ในการจัดระบบหลักสูตร, พัฒนาสถาบันที่ฝึกอบรม, ครูแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถาบันหลักและสถาบันสมทบ เพื่อให้เราได้แพทย์แนวใหม่ ที่ยินดีและเต็มใจจะทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในชนบทได้เป็นระยะเวลานานๆ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ร่วมลงทุนและสนับสนุนการผลิตแพทย์ในลักษณะนี้ เพื่อไปทำงานในพื้นที่
ผู้สนใจติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
ช่วยกันหาหนทางให้ชนบทไทยมีแพทย์พอเพียงกันเถิดครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือวันนี้ วันหน้า โรงพยาบาลในเมืองจะได้ลดความแออัดลงเสียที
โครงการ "แพทย์คืนถิ่น" เพื่อชาวชนบท
- อ่าน 3,033 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้